
จากข่าวการจัดหารถเกราะ #M1126 #Strkyer จากสหรัฐอเมริกาผ่านโครงการ FMS จำนวน 37 คัน และได้มาเพิ่มอีก 23 คัน รวมเป็น 60 คัน เท่ากับว่าตอนนี้จะเหลือราคาคันละ 50 ล้านบาทแล้ว (ถือว่าถูกมาก เมื่อเทียบกับรถระดับ Stryker ที่ราคามือหนึ่งสูงราว 140 ล้านบาท) TAF จึงขอเชิญชวนมาทำความรู้จักกับโครงการ FMS กันดีกว่าครับ
FMS หรือ Foreign military sales นั้นเป็นโครงการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐเพื่อขายอาวุธให้กับประเทศพันธมิตร โดยเป็นโครงการที่มีเฉพาะสหรัฐเท่านั้น (เพราะประเทศอื่นใช้ชื่ออื่น!?! ไม่มุกนี่พูดจริง 🙂 ) ซึ่งเป็นโครงการที่ลูกค้าต่างชาตินั้นไม่ได้ซื้ออาวุธโดยตรงจากบริษัทของสหรัฐ แต่จะเป็นการซื้อผ่านรัฐบาลสหรัฐซึ่งจะทำหน้าที่บริหารโครงการและจัดการการฝึกและส่งกำลังบำรุงให้
โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐมอบหมายให้สำนักงานความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคงหรือ #DSCA (Defense Security Cooperation Agency) เป็นผู้รับผิดชอบในการลงนามสัญญาจัดหากับบริษัทในสหรัฐเสมือนเป็นตัวแทนของรัฐบาลต่างประเทศ และจะบริหารสัญญา ความคืบหน้าในการพัฒนา ผลิต ส่งมอบ รวมถึงดูแลการส่งกำลังบำรุงและการสนับสนุนด้านอะไหล่ให้
นอกจากนั้น ถ้าประเทศลูกค้าต้องการ ยังสามารถร้องขอให้กองทัพสหรัฐทำการฝึกกำลังพลให้ด้วยก็ได้ผ่านโครงการ International Military Education and Training หรือ #IMET และยังสามารถใช้งบประมาณของประเทศลูกค้าเอง หรือขอกู้เงินจากรัฐบาลสหรัฐผ่านโครงการ United States Foreign Military Financing หรือ FMF ก็ได้เช่นกัน
ข้อดีของการจัดหาผ่าน FMS ก็คือการเป็นสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ ทำให้มีความน่าเชื่อถือสูงกว่า รวมถึงสามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกของสหรัฐในการสนับสนุนการดำเนินการตามสัญญาได้ และการรับการฝึกจากกองทัพสหรัฐก็ทำให้ประเทศลูกค้าได้รับการฝึกจากหน่วยผู้ใช้จริงที่มีประสบการณ์ในการรบและการปฏิบัติภารกิจจริง นอกจากนั้น รัฐบาลต่างประเทศที่เป็นลูกค้าไม่จำเป็นจะต้องมีความเชี่ยวชาญในการบริหารสัญญาภายใต้กฎหมายและกฎระเบียบของสหรัฐมากนัก เพราะ DSCA ทำหน้าที่บริหารสัญญาให้ทั้งหมด เมื่อการผลิตอาวุธเสร็จสิ้น บริษัทผู้ผลิตก็จะส่งมอบอาวุธให้กับ DSCA ที่จะมีบทบาทในการตรวจรับและ DSCA จะทำหน้าที่ส่งต่อให้กับประเทศลูกค้าอีกครั้งหนึ่ง
แต่ทั้งนี้ ข้อดีก็มีข้อเสีย ซึ่งก็คือราคาในการจัดหาผ่าน FMS นั้นจะสูงกว่าการจัดหาโดยตรงกับบริษัทผู้ผลิต (Commercial Contract) เสมออย่างน้อย 3% ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารสัญญาที่ DSCA เรียกเก็บ และการซื้อผ่าน FMS นั้นก็ยังคงต้องมีบริษัทตัวแทนในประเทศไทยเป็นผู้ประสานงานอยู่เช่นเดียวกัน
และตามกฎหมายแล้ว การขายอาวุธหลักที่มีมูลค่ามากกว่า 14 ล้านเหรียญ อุปกรณ์หรือบริการทางทหารที่มีมูลค้ามากกว่า 50 ล้านเหรียญ หรือการจ้างออกแบบและก่อสร้างทางทหารที่มีมูลค่ามากกว่า 200 ล้านเหรียญนั้น รัฐบาลสหรัฐจะต้องแจ้งต่อ #สภาคองเกรส ล่วงหน้า 30 วัน (15 วันในกรณีที่ประเทศลูกค้าเป็นสมาชิก #NATO หรือญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ถ้าสภาคองเกรสไม่คัดค้าน รัฐบาลจึงจะอนุมัติการขายได้ ซึ่งหน่วยงานที่ทำหน้าที่แจ้งต่อคองเกรสก็คือ DSCA นั่นเอง
โดยส่วนมากแล้ว การจัดหาอาวุธจากสหรัฐของไทยนั้นจะจัดหาผ่านโครงการ FMS แทบทั้งสิ้น มีไม่กี่โครงการเท่านั้นที่เป็นการจัดหาแบบ Commercial Contract เช่น โครงการจัดหาเรดาร์ AN/TPS-77 ของกองทัพอากาศที่ลงนามสัญญากับ Lockheed Martin โดยตรง ไม่ได้ผ่าน DSCA ของรัฐบาลสหรัฐ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีอีกโครงการหนึ่งของรัฐบาลสหรัฐซึ่งเน้นไปที่การขายอาวุธส่วนเกินของกองทัพสหรัฐให้กับต่างประเทศก็คือโครงการ #EDA หรือ Excess Defense Article ซึ่งรับผิดชอบโดย DSCA เช่นเดียวกัน โครงการนี้จะเน้นไปที่การจัดหาอาวุธที่เกินความต้องการกองทัพสหรัฐแล้ว โดยเป็นการขายให้กับต่างประเทศในราคาไม่แพง และยังสามารถว่าจ้าง DSCA เพื่อให้กองทัพสหรัฐหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องทำการปรับปรุงฟื้นสภาพของยุทโธปกรณ์ก่อนส่งมอบได้อีกด้วย ซึ่งประเทศไทยก็มีการจัดหายุทโธปกรณ์ผ่านโครงการ EDA หลายโครงการเช่นเครื่องบินขับไล่ F-16ADF เฮลิคอปเตอร์ UH-1H และ AH-1F เป็นต้นครับ
ทุกท่านสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับการขายอาวุธหลักให้กับต่างประเทศหรือการขายยุทโธปกรณ์ส่วนเกินให้กับต่างประเทศผ่านเว็บไซต์ของ DSCA ได้จาก Link ด้านล่างนี้ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมดครับ