ถ้าจะกล่าวถึง #พลเอกเปรมติณสูลานนท์ ในความทรงจำของใครหลาย ๆ คนอาจมีหลายแง่มุมแตกต่างกันไป แต่สำหรับผู้สนใจด้านการทหารและความมั่นคงแล้ว คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวถึงคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่นำไปสู่ “วันเสียงปืนดับ” หรือการยุติการสู้รบระหว่าง #รัฐบาลไทย และ #พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ #พคท.
คำสั่งนี้เปลี่ยนกระบวนทรรศน์ของการต่อสู้กับ พคท. จากการใช้กำลังทหารเข้าโจมตีอย่างรุนแรงเพียงอย่างเดียว ไปสู่การใช้มิติทั้งการทหารและการเมืองควบคู่กันไป โดยมีแนวนโยบายหลักคือเน้นการต่อสู้ด้านการเมืองอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเพื่อลดทอนแนวร่วมของ พคท. และเปลี่ยนจากการต่อสู้ด้วยอาวุธมาเป็นการต่อสู้ด้วยสันติวิธีด้วยการดำเนินนโยบายที่เป็นกลาง
————————-
นโยบายนี้นำไปปฏิบัติผ่านแนวการปฏิบัติ 9 ข้อโดย TAF ขอสรุปดังนี้
1. เน้นการตัดสินใจที่รวดเร็วของรัฐบาล สร้างความสำนึกรักแผ่นดิน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของการปกครองของประชาชน โดยย้ำว่างานการเมืองจะเป็นการขี้ขาดผลแพ้ชนะของการต่อสู้กับ พคท. และการทหารจะต้องสนับสนุนงานการเมืองเป็นสำคัญ
2. คืนความยุติธรรม ขจัดความไม่เป็นธรรมตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ สร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน
3. ประสานประโยชน์ระหว่างชนชั้น เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตัวอย่างเป็นธรรม และให้ตระหนักว่าประชาชนไทยทุกชนชั้นต่างรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาธิปไตยทั้งสิ้น
4. ส่งเสริมการปกครองตนเองของคนทุกกลุ่ม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง ให้ถือความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ
5. ส่งเสริมขบวนการประชาธิปไตย
6. ภารกิจของเจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหารมีทั้งการใช้กำลังและการเมืองเพื่อกดดันและตัดทอนความสามารถของกำลังติดอาวุธของ พคท. อย่างเหมาะสม โดยการใช้กำลังอาจมีขอบเขตต่างกัน แต่ทางการเมืองจะต้องทัดเทียมกัน
7. ปฏิบัติต่อผู้หลงผิดอย่างเพื่อน ให้ความช่วยเหลือและทำความเข้าใจปัญหา ซึ่งข้อนี้ต่อมาทำให้เกิดการเปิดรับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย
8. ให้ความสำคัญต่อการต่อสู้ทางการเมืองสูงสุดเพื่อขัดขวางการสร้างสถานการณ์ปฏิวัติและสงครามประชาชน
9. ให้ความสำคัญกับการข่าวและการประชาสัมพันธ์
————————-
จะสังเกตุได้ว่า นโยบายนี้วางกรอบการทำงานให้กองทัพปฏิบัติภารกิจทางทหารตามนโยบายทางการเมืองอย่างเคร่งครัด เนื่องจากรัฐบาลไทยตระหนักแล้วว่าการเกิดขึ้นของ พคท. นั้นมีมูลเหตุจากการเมือง ทั้งการเมืองในประเทศและการเมืองระหว่างประเทศ การจะเอาชนะ พคท. ได้จึงจำเป็นจะต้องใช้การเมืองเป็นตัวหลักและให้การทหารสนับสนุนการเมือง
#พลเอกเปรม อาจจะได้แนวคิดในการเอาชนะ พคท. ด้วยแนวทางทางการเมืองตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ซึ่งต้องทำสงครามแย่งชิงมวลชนกับ พคท. เพราะตระหนักว่าชาวบ้านไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่รัฐ จึงต้องต่อสู้ทางความคิดด้วยการชี้แจง ประชาสัมพันธ์ เพื่อดึงประชาชนมาเป็นฝ่ายเดียวกับทางราชการ และเมื่อนั้นก็จะส่งเสริมให้ชาวบ้านสามารถดูแลตนเองได้ แนวคิดนี้นำไปสู่การประยุกต์เพื่อจัดตั้ง #ทหารพราน ซึ่งเป็นรูปแบบของกองกำลังติดอาวุธที่ไม่ใช่ทหารในเวลาต่อมา
รัฐบาลไทยใช้เวลาราว 3 ปี ในการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ประกอบกับสถานการณ์ #สงครามเย็น ที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ฝ่ายสังคมนิยมโซเวียตเริ่มอ่อนกำลังลงและเกิดความขัดแย้งกับฝ่ายจีน ซึ่งส่งผลต่อการสนับสนุน พคท. และทำให้เกิดความขัดแย้งของ พคท. สายจีนและ #เวียดนาม จนแยกตัวออกเป็นสองพรรค ผลจากการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน เพื่อให้จีนยุติการสนับสนุน พคท. ตั้งแต่ปี 2518 ทำให้การสู้รบทั้งหมดยุติลงในปี 2526
————————-
เมื่อมองในมุมมองการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งเป็นภาพใหญ่ขึ้น #จีน กับ #โซเวียต ที่แตกคอกันเองทำให้ #สหรัฐเมริกา ตัดสินใจเปิดความสัมพันธ์ทางการทูต โดยเฉพาะนโยบาย #การทูตปิงปอง ที่โด่งดังจนจำไปสู่การเยือนจีนครั้งประวัติศาสตร์ของประธานาธิบดีนิกสันเพื่อพบปะกับประธานเหมา เจ๋อตุง ถือเป็นการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตของสองขั้วมหาอำนาจโลก การเปิด #สงครามสั่งสอน ของจีนต่อ #เวียดนาม ซึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้งของแนวคิดการปกครองระหว่างจีนและเวียดนามที่สนับสนุนโดยโซเวียต ได้ส่งผลโดยตรงต่อการที่เวียดนามต้องถอนทหารออกจาก #กัมพูชา เป็นจำนวนมากกลับไปรับมือด้านชายแดนจีน ทำให้ไทยซึ่งกำลังกังวลต่อภัยคุกคามจากเวียดนามที่อาจโจมตีไทยผ่านกัมพูชานั้นได้รับผลพลอยได้ และความตึงเครียดผ่อนคลายลง
รัฐบาลไทยในสมัยนั้นได้ดำเนินการรุกทางทหารทูตอย่างต่อเนื่อง ทั้งการโจตีและกดดันทางการทูตต่อเวียดนามผ่านการรวมตัวของ #อาเซียน เพื่อกดดันให้เวียดนามเข้าสู่โต๊ะเจรจา อันเป็นผลลัพธ์ที่ส่งผลให้เกิดนโยบาย #เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ในสมัยรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่สามารถยุติภาวะ #สงครามเย็น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างสมบูรณ์ จนทำให้โดมิโน่ตัวต่อไปคือไทยไม่ล้มลงตาม #ทฤษฎีโดมิโน่
ทั้งหมดนี้คือสถานการณ์ที่พลเอกเปรมมีส่วนร่วมทั้งในการสนับสนุน วางแผน ตัดสินใจ หรือปฏิบัติไม่มากก็น้อย ตามบทบาทและหน้าที่ในตอนนั้นของพลเอกเปรม
ซึ่งทำให้เห็นว่า การที่พลเอกเปรม ถูกขนานนามว่าเป็น #รัฐบุรุษ จากการมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ประเทศไทยรักษาอธิปไตยเอาไว้ได้นั้น คงเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว และการสูญเสียพลเอกเปรมในครั้งนี้ อาจถือได้ว่าเป็นการสูญเสียนายทหารที่มีบาทสำคัญต่อพลวัตรและภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งภูมิภาคคนหนึ่ง
TAF ขอแสดงความเสียใจและขอแสดงความอาลัยต่อการจากไปของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโสมา ณ โอกาสนี้ ถือเป็นควาสูญเสียครั้งใหญ่ของไทยครั้งหนึ่งครับ
ข้อความในคำสั่งที่ 66/2523 ฉบับเต็มอยู่ในกล่องคอมเมนท์ครับ
อ้างอิง
https://th.wikisource.org/…/%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%A…/2523
https://th.wikipedia.org/…/%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B…
https://th.wikipedia.org/…/%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B…