
เพื่อเน้นย้ำความสัมพันธ์และหลักการของการฝึกร่วมทางการทหารระหว่างกองทัพเรือสหรัฐและกองทัพเรือไทย คือ “การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางยุทธการร่วมกัน” ผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการที่73ของกองทัพเรือสหรัฐได้เปิดโอกาสพิเศษให้สื่อมวลชนไทย ขึ้นชมภายในของเครื่องบินลาดตระเวนและปราบเรือดำน้ำแบบ โบอิ้ง P-8 โพเซดอน ที่มาร่วมการฝึกCARAT2019ในครั้งนี้ที่กองบินทหารเรือ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าอุปกรณ์ทุกอย่างภายในเครื่องบินลำนี้มีความทันสมัยและเป็นพื้นที่หวงห้ามสำหรับสื่อมวลชนต่างประเทศมาโดยตลอด แม้แต่การได้รับเชิญให้เข้าเยี่ยมชมของทีมงานTAFที่ลังกาวี มาเลเซีย ที่เราสามารถเดินชมได้ทุกพื้นที่ภายในตัวเครื่อง แต่ก็อยู่ภายใต้กฎการห้ามบันทึกภาพเด็ดขาด ต้องฝากกล้องถ่ายภาพและอุปกรณ์มือถือไว้กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยด้านนอกตัวเครื่อง นี้จึงเป็นโอกาสพิเศษมากที่สื่อมวลชนไทยได้รับอนุญาตให้ทำการบันทึกและเผยแพร่ภาพในตัวเครื่องP-8ได้อย่างใกล้ชิดในครั้งนี้

P-8 ที่มาร่วมการฝึกกะรัตในครั้งนี้ คือหนึ่งในP-8Aจำนวน98ลำที่กองทัพเรือสหรัฐมีอยู่ในประจำการจากจำนวนที่สั่งสร้าง122ลำ โดยมาจากฝูงVP-8 “ Patron 8 ”มีที่ตั้งในสถานีการบินทหารเรือแจ็คสันวิลล์ ฟลอริด้า อันมีเกียรติประวัติในการรบมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่2 ในฐานะฝูงบินไล่ล่าเรือดำน้ำ เครื่องหมายเลข 849 ที่เราได้ขึ้นชมในวันนี้เป็นเครื่องที่มาปฏิบัติงานในภาคพื้นแปซิฟิก จากที่ตั้งในฐานบินมิซาว่าประเทศญี่ปุ่น ด้วยสมรรถนะของP-8ทำให้พวกเขาบินเดินทางมายังอู่ตะเภาได้โดยตรงภายในเวลา7ชั่วโมง และด้วยขีดความสามารถเติมเชื้อเพลิงในอากาศยังทำให้P-8มีพิสัยการบินได้ไกลและมีความเร็วมากกว่าเครื่องP-3ที่ประจำการก่อนหน้าหลายเท่าตัว

แม้ภายนอกP-8 คือเครื่องบินโดยสารแบบโบอิ้ง737-800 ซึ่งทำให้P-8มีปัญหาในการซ่อมบำรุงน้อยมากจากการที่สามารถใช้ชิ้นส่วนอะไหล่จากระบบของพลเรือนได้ทันที แต่เมื่อคุณก้าวเข้าไปในตัวเครื่องทุกอย่างจะเป็นคนละรูปแบบกับการจัดวางพื้นที่ของการใช้งานภาคพลเรือนที่เราคุ้นเคยโดนสิ้นเชิง
ตั้งแต่บันไดขึ้นเครื่องP-8มีการติดตั้งบันไดแบบพับเก็บได้ในลำตัว สำหรับการใช้งานในฐานบินส่วนหน้าและไม่ต้องเสียเวลารอการสนับสนุนรถบันได เมื่อก้าวเข้าไปในตัวเครื่องคุณจะพบที่นั่งเบาะนวมที่พอจะเทียบได้ว่าเป็นชั้นบิสซิเนสคลาสเพียง2ที่นั่ง แต่หลังจากพื้นที่ตรงนี้เก้าผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจะหันไปด้านหลังทั้งหมด ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดวางที่นั่งของกองทัพเรือสหรัฐ ที่ใช้หลักนิยมของอากาศยานที่ปฏิบัติงานบนดาดฟ้าเรือบรรทุกเครื่องบิน เพราะหากเครื่องต้องลงกระแทกพื้นอย่างรุนแรงด้านหลังของมนุษย์จะรับแรงกระแทกได้ดีกว่า และธรรมชาติการลงจอดบนเรือส่วนด้านหน้าจะได้รับความเสียหายมากกว่า เมื่อผู้โดยสารปลดเข็มขัดนิรภัย ก็จะสามารถอพยพ ทางประตูด้านหลังซึ่งเป็นทางเข้าออกหลักเครื่องบินลำเลียงทางการทหาร ( แต่P-8ไม่มีประตูแรมป์ท้ายนะ! )

ถึงแม้จะเปิดกว้างให้เราบันทึกภาพภายในได้ แต่นายทหารประจำเครื่องก็ได้เน้นย้ำถึงพื้นที่บางส่วนที่ขอให้คณะสื่อไทย งดการบันทึกภาพบางคอนโซล ส่วนคอนโซลที่เขาเคยเข้มงวดเขาก็บอกว่าไม่มีปัญหา เพราะเขาปิดจอภาพทั้งหมดดักทางพวกเราเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะเริ่มพาทัวร์กันตั้งแต่ห้องนักบินไปจนท้ายเครื่อง โดยP-8 จะแบ่งพื้นที่ภายในเป็น3ตอน คือส่วนปฏิบัติงานและห้องโดยสาร ส่วนพักผ่อนและอุปกรณ์ประมวลผล และส่วนบรรจุและติดตั้งโซโนบุย

พื้นที่สำคัญส่วนแรกคือ พื้นที่ติดตั้งโมดูลคอนโซลปฏิบัติงานจำนวน 5 คอนโซล สำหรับการเฝ้าตรวจจับทั้งใต้น้ำ และผิวน้ำจากอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่ติดตั้งอยู่รอบตัวP-8 รวมไปถึงกับเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารจากยานโดรนUAVแบบอื่นๆเพื่อดำเนินการวางแผนการยุทธได้ทันทีในอากาศ เก้าอี้ของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจะหันไปด้านหลังขณะทำการบินขึ้นและลงจอด เมื่อเครื่องอยู่ในเพดานบินปกติแล้วก็จะปรับตำแหน่งหันไปหาคอนโซลได้ ส่วนเก้าอี้ของผู้โดยสารมี6ที่นั่ง จะไม่สามารถปรับตำแหน่งได้ และไม่มีหน้าต่าง ไม่มีจอภาพเพื่อความบันเทิง ไม่มีไฟอ่านหนังสือ หรือถาดวางอาหารอย่างแน่นอน จากความเห็นของเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องที่เราลองถามว่า ถ้าไม่มีหน้าที่บนอากาศแล้วต้องมีเหตุให้ต้องนั่งอยู่ตรงนี้นานๆจะรู้สึกอย่างไร คำตอบที่ได้คือ “คุณจะรู้สึกโดดเดี่ยวมากๆครับ”

ส่วนที่ 2 ของพื้นที่ภายในP-8 เป็นพื้นที่พักผ่อนพร้อมอุปกรณ์ประมวลผล หรือ อุปกรณ์อื่นที่เขาอาจไม่อยากบอกเราเพราะพื้นที่อีกฝั่งคือจุดที่ขอไม่ให้มีการบันทึกภาพ เก้าอี้ชุดนี้ยังถูกใช้เป็นพื้นประชุมย่อยของเจ้าหน้าที่หากมีการบรี๊ฟภารกิจกันในอากาศ
ส่วนท้ายสุดของตัวเครื่องคือพื้นที่บรรจุเก็บและปล่อยโซโนบุย อาวุธหลักในการจัดการกับเรือดำน้ำของเครื่องบินแบบนี้ โซโนบุยคือทุ่นตรวจจับขนาดเล็กที่จะถูกหย่อนลงทะเลในพื้นที่เป้าหมายที่ระบบตรวจจับบนเครื่องทราบพิกัดโดยรวมแล้ว โซโนบุยที่ถูกหย่อนลงน้ำจะส่งคลื่นตรวจจับผ่านผิวน้ำเพื่อให้ได้ตำแหน่งที่แน่ชัดก่อนทำการการใช้อาวุธที่ติดตั้งอยู่บนเครื่อง หรือส่งข้อมูลให้เรือรบที่อยู่ในพื้นที่ทำลายเรือดำน้ำข้าศึกได้อย่างแม่นยำ ซึ่งP-8มีพื้นที่จัดเก็บโซโนบุยได้96ลูก ที่มีระบบการปล่อยแตกต่างจากP-3 โอไรอ้อน ที่ต้องบรรจุโซโนบุยเอาไว้นอกตัวเครื่องและต้องทำการโหลดตั้งแต่ก่อนขึ้นบิน ในขณะที่ระบบของโพเซดอนมีความยืดหยุ่นในการใช้งานมากกว่า เพราะเจ้าหน้าที่สามารถทำการโหลดและปล่อยโซโนบุยจากภายในตัวเครื่อง ผ่านแค๊ปซูลปรับความดันจำนวน4ชุดที่เราเห็นในภาพประกอบ โดยยังมีท่อปล่อยสำรองอีกหนึ่งท่อเป็นการปล่อยแบบแมนน่วล สำหรับการปล่อยโซโนบุยในระดับเพดานบินต่ำ พื้นที่ส่วนนี้ยังเป็นที่บรรทุกสัมภาระที่จำเป็นต่อการบำรุงรักษาเครื่องภาคพื้นเมื่อต้องไปวางกำลังนอกพื้นที่ฐานของตัวเอง ทั้งอุปกรณ์ซ่อมบำรุง ฝาครอบป้องกันFOD และแม้แต่ล้ออะไหล่สำรอง!

การจัดวางในตัวเครื่องยังเป็นอากาศยานทางการที่เน้นใช้งานทางทะเล ที่เราจะเห็นชุดแพฉุกเฉินสีเหลืองติดตั้งอยู่ข้างประตูเข้าออกในทุกจุดเพื่อการพร้อมใช้งานหากเครื่องต้องลงฉุกเฉินกลางทะเลและเมื่อทำการปฏิบัติงานจริงเจ้าหน้าที่ทุกนายจะต้องสวมหมวกป้องกันศีรษะตามรูปแบบทางการทหารทุกนาย ดังที่เราได้เห็นหมวกที่ตกแต่งสไตล์ชาวเรือสหรัฐวางพร้อมใช้งานในทุกจุดบนตัวเครื่อง

ด้วยขีดความสามารถที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับP-3 เราจึงสามารถเรียกได้ว่า P-8 คือโบอิ้ง737 เวอร์ชั่นติดอาวุธที่พร้อมใช้งานในการรบทางทะเลได้ทันที เมื่ออยู่ในสภาวะสงครามพื้นที่ใต้ปีกของP-8 สามารถติดตั้งได้ทั้งระเบิด และอาวุธโจมตีเรือผิวน้ำระยะไกลได้ 6ตำแหน่ง และพื้นที่บรรจุตอร์ปิโด หรือทุ่นระเบิดสำหรับทำลายเรือดำน้ำได้อีก5ลูก จากพื้นที่จัดเก็บด้านท้ายเครื่อง
การได้ขึ้นชมอุปกรณ์ภายในของP-8ของกองทัพเรือสหรัฐในครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นขีดความสามารถในการปฏิบัติงานเฝ้าตรวจทางทะเลของพวกเขาได้มากขึ้น และยิ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีของกำลังพลฝ่ายไทยที่ได้ร่วมขึ้นฝึกปฏิบัติงานกับอากาศยานแบบนี้ทั้งในตัวเครื่องขณะทำการบิน และทำการบินร่วมกับเครื่องบินตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำแบบฟ็อคเกอร์F-27 ของกองบินทหารเรือ ซึ่งเป็นสิ่งพิสูจน์ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นของกองทัพเรือทั้ง2ชาติได้เป็นอย่างดี
TAF ขอขอบคุณ
– Rear Admiral Murray Joe “JT” Tynch, III พลเรือจัตวา เมอเรย์ โจ “เจที” ทินช์ที่3 ผู้บัญชาการกองกำลังที่73 หน่วยส่งกำลังบำรุงภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก
-นักบินและกำลังของฝูงบินVP-8 และสถานฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย
-ฝูงบิน 102 กองบินทหารเรือ กองทัพเรือ
