
ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศไทย ได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมของ 10 ชาติอาเซียน เกี่ยวกับทัศนะของอาเซียนว่าด้วยอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on Indo-Pacific: AOIP) สังเกตุไหมครับว่าเราไม่ใช้คำว่า”เอเซีย”แต่เลือกใช้คำว่า”อินโด-แปซิฟิก” แทน มันมีนัยยะครับ

อินโด-แปซิฟิก เป็นศัพท์ที่สหรัฐอเมริกาใช้เรียกภูมิภาคนี้ โดยรวมพื้นที่ชายฝั่งตะวันตกของอินเดียไปถึงมหาสมุทรแปซิฟิก ครอบคลุมเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ไปจนถึงหมู่เกาะแปซิฟิก เพื่อเป็นการขยายภาพของภูมิภาคให้กว้างขึ้นและลดทอนความสำคัญของจีนลง เพราะถ้ามอง “เอเซีย” แบบเดิมหลายคนมักคิดว่า”จีน”คือพี่ใหญ่ของเอเชีย แต่เมื่อขยายพื้นที่ให้ใหญ่ขึ้นเป็น”อินโด-แปซิฟิก” อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และสหรัฐ จะถูกรวมเข้ามาด้วยทันที คำจำกัดความนี้ถูกใช้ในการประกาศแนวคิด FOIP หรือ “อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” (Free and Open Indo-Pacific) ในการประชุม APEC CEO Summit ที่เวียดนามเมื่อปีที่แล้ว

แนวคิดการขยายพื้นที่แบบนี้ไม่ใช่แค่สหรัฐที่ทำครับ จีนก็ทำในชื่อ Belt and Road (BRI) เป็นโครงการที่จีนพยายามจะรื้อฟื้นเส้นทางสายไหมที่มีจีนเป็นศูนย์กลางขึ้นมาอีกครั้ง ประกอบไปด้วย เส้นทางสายไหมทางบก(Belt)เชื่อมจีนเข้ากับ เอเซียกลาง รัสเซีย ยุโรป และเส้นทางสายไหมทางทะเล (Road) ลากยาว ตั้งแต่เกาหลี ญี่ปุ่น อาเซียน อินเดีย ปากีสถาน ไปจบที่ตุรกี ซึ่งถ้าจีนทำสำเร็จจะสามารถขยายอิทธิพลของตัวไปได้เกินครึ่งโลกผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆใน 60 ประเทศที่เส้นทางนี้พาดผ่าน
เท่ากับว่าที่อาเซียนเลือกที่จะใช้คำว่า”อินโด-แปซิฟิก” เป็นการส่งสัญญาณว่าอาเซียนต้องการหาเพื่อนมาช่วยคานอำนาจของจีนที่กำลังขยายลงมายังภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าแถลงการณ์ฉบับนี้จะมีนัยยะถึงการไม่ยอมรับอิทธิพลของจีนแต่ก็ไม่ได้ระบุว่าอาเซียนจะเลือกอยู่ข้างใครเช่นกัน
อาจเพราะยุทธศาสตร์ FOIP ของอเมริกาคือการเปิดหน้าปะทะกับจีนตรงๆทำให้อาเซียนเลือกที่จะมองความคำว่า อินโด-แปซิฟิก ต่างจากอเมริกา ในทัศนะของอาเซียนว่าด้วยอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on Indo-Pacific: AOIP) มีข้อแตกต่างดังนี้
1.อาเซียนมองตัวเองเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค”อินโด-แปซิฟิก” (ASEAN Centrality) โดยพิจารณาจากภูมิศาสตร์ ที่ด้านซ้ายเป็นมหาสมุทรอินเดีย ด้านขวาเป็นมหาสมุทรแปซิฟิก มีอาเซียนตั้งอยู่ตรงกลาง ตัวเป็นตัวประสานประโยชน์ระหว่างสองมหาสมุทร
2.อาเซียนมุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างกันเป็นหลัก ไม่ใช่การแข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจ เพราฉะนั้นอาเซียนจะไม่เลือกข้างแต่เรียกร้องให้ชาติมหาอำนาจแสวงหาความร่วมมือระหว่างกันแทน
3.อาเซียนเน้นความร่วมมือออกเป็น 3 ด้านคือ
– ความร่วมมือทางทะเล ตรงนี้มีนัยยะคือการถ่วงดุลการรุกคืบของจีนในทะเลจีนใต้
-การพัฒนาอย่างยังยืน(Sustainable Development Goals) ที่จัดทำขึ้นโดย UN มีเป้าหมายในช่วยแก้ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ เช่น ความยากจน ความไม่เท่าเทียม สภาวะโลกร้อน และสันติสุข เพื่อเสริมแนวคิด “ ไม่เป็นการทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (เท่ากับว่าอาเซียนไม่เลือกเดินตามแนวทางของจีนหรืออเมริกา แต่เลือกเดินสายกลางแทน)
-การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน ตรงนี้มีนัยยะคืออาเซียนเปิดรับความร่วมมือในด้านโครงสร้างพื้นฐานจากทุกทางไม่ว่าจะเป็นจีน อเมริกา อินเดีย ญี่ปุ่น รวมทั้งออสเตรเลียด้วย
โดยรวมแล้ว AOIP เป็นเพียงก้าวแรกของการประกาศแนวทางเป็นกลางและจุดยืนของอาเซียนที่มีต่อภูมิภาค”อินโด-แปซิฟิก”เท่านั้น ไม่ใช่การสร้างกรอบความร่วมมือใหม่แต่อย่างใด โดยมีกรอบใหญ่คือแนวคิด ASEAN Centrality ซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดออกไปได้อีกหลายทางในอนาคต
source อาเซียนวางตัวอย่างไร ภายใต้ศึกจีน-สหรัฐฯ ยุทธศาสตร์สหรัฐและทรรศนะอาเซียน ว่าด้วย‘อินโด-แปซิฟิก’ : โดย ดร.ชัยยงค์ สัจจิพานนท์ ASEAN Outlook on Indo-Pacific