
ภาพจำจากทหารหน้าแนว บันทึกความทรงจำแห่งประวัติศาสตร์สงครามเพื่อสันติของคนในชาติที่ถูกลืม
“ตัวผมมีกล้องแค่2ตัว ไม่ติดอาวุธใดๆทั้งสิ้น เพราะเชื่อมั่นว่าทหารของเราจะดูแลกันเองได้”
แม้จะอยู่ในวัย 88 ปี แต่นี่ยังเป็นคำตอบจากความทรงจำที่แจ่มชัดของพันเอกสมจริง สิงหเสนี นายทหารนอกราชการแห่งกองทัพบก ต่อคำถามของทีมงาน ThaiArmedForce.com ที่ได้ย้อนถามถึงรูปแบบการทำงานของช่างภาพสนาม ที่จำเป็นต้องพกอาวุธประจำกายหรือไม่? ในห้วงเวลาที่ความขัดแย้งในประเทศปะทุถึงขั้นรุนแรงสูงสุดในช่วงของสงครามประชาชนระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับกองทัพไทยในห้วงปีพ.ศ.2521-2531ที่นับเป็นช่วงเวลาวิกฤติสูงสุดของประเทศ จากความแตกแยกทางความคิด ลัทธิความเชื่อ รวมไปถึงภัยคุกคามจากต่างประเทศ

จากความสงสัยในภาพถ่ายประวัติศาสตร์ของสงครามการต่อสู้กับกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศ กับภาพถ่ายที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์แห่งการการเปิดยุทธการแห่งชัยชนะ ด้วยความมุ่งหวังที่จะคืนความสันติในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย ที่ห้วงเวลาหนึ่งคือพื้นที่ภายใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยโดยสมบูรณ์ ภายใต้ชื่อยุทธการผาเมืองเผด็จศึก 1,2 และ3 อันเป็นที่มาของการเดินไปค้นหาคำตอบยังกองพลทหารราบที่4 จังหวัดพิษณุโลก เพื่อพบกับผู้มีบทบาทในการบันทึกภาพถ่ายประวัติศาสตร์นี้ด้วยตัวเอง
จากประสบการณ์ในการทำงานที่สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง5และเข้าประจำการในกองการภาพ กรมทหารสื่อสาร คือพื้นฐานสำคัญในการทำงานของพันเอกสมจริง สิงหเสนี ตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตราชการ จนได้เข้าสู่พื้นที่การรบในประเทศในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และทำหน้าที่เป็นผู้บันทึกและรายงานข่าวในพื้นที่การรบครั้งสำคัญในทุกสมรภูมิจนเกษียณอายุราชการ

ภาพถ่ายที่ถูกบันทึกและได้กลายเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของปฏิบัติการทางการทหารยุคใหม่ของกองทัพไทย คือ ภาพการส่งกำลังรบเข้าพื้นที่ปฏิบัติงานด้วยเฮลิคอปเตอร์จำนวนมาก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในห้วงเวลาของยุทธการผาเมืองเผด็จศึก2 ในปีพ.ศ.2524 เพื่อทำการเข้าตีและโอบล้อมที่ตั้งของกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อันเป็นยุทธการใหญ่ที่กองทัพบกนำแนวคิดและยุทธวิธีที่ได้รับประสบการณ์มาจากการบในสงครามเวียดนาม เพื่อใช้คุณลักษณะพิเศษของอากาศยานอย่างเฮลิคอปเตอร์ นำกำลังพลจำนวนมากนำส่งเข้าสู่พื้นที่การรบได้อย่างรวดเร็ว โดยในวันนั้นใช้เฮลิคอปเตอร์แบบUH-1D จำนวน10ลำ ทำการบินลำเลียงพล โดยมีUH-1Dติดอาวุธทำหน้าที่เป็นกันชิป บินคุ้มกันหมู่บิน อีก2ลำ โดยมีเฮลิคอปเตอร์บัญชาการอีก1ลำ พันเอกสมจิตร ได้ทำการบันทึกภาพในพื้นที่รับส่งที่ใช้ถนนข้างกองอำนวยการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก เป็นพื้นที่ลานจอดฮ.ชั่วคราว ซึ่งเป็นภาพที่น่าตื่นใจสำหรับช่างภาพผู้บันทึกเหตุการณ์ในครั้งนั้น ที่เรียกได้ว่าเป็นปฏิบัติการ “Dust off”เต็มรูปแบบของกองทหารไทย และแนวยุทธวิธีใหม่นี้ก็จะมาซึ่งผลแพ้ชนะในการรบขั้นต่อไป

พลเอก พิจิตรกุลวนิชย์ และพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ได้ร่วมกันทำหน้าที่บัญชาการรบกลางอากาศโดยทั้ง2ท่านเป็นนายทหารที่ผ่านการรบในสงครามเวียดนามมาแล้วด้วยเช่นกันและมีการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติมาก่อนหน้านี้ถึง6เดือนเพราะการนำยุทธวิธีการรบยุคใหม่มาใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก พันเอกสมจิตรได้ร่วมทำการบินในเฮลิคอปเตอร์บัญชาการ และเป็นพยานในการบินลำเลียงพลทางอากาศครั้งประวัติศาสตร์นี้ แม้จะไม่ได้เป็นตามแผนที่วางไว้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อเข้าสู่พื้นที่ LZ (พื้นที่ลงจอด) ที่กำหนดไว้บางจุด ก็ถูกยิงต่อต้านอย่างรุนแรง จนต้องนำส่งกำลังพลลงห่างจากพื้นที่เป้าหมาย แต่เฮลิคอปเตอร์ทุกลำก็ปลอดภัยและนำส่งกำลังทหารทั้งได้ทันเวลา แม้ว่าเฮลิคอปเตอร์บางลำจะมีรอยกระสุนฝากไว้บนตัวเครื่องแต่ก็ไม่ได้รับความเสียหายร้ายแรงแต่อย่างใด ภาพถ่ายชุดนี้จึงเป็นเสมือนบันทึกประวัติแห่งความสำเร็จทางการทหารของกองทัพบกต่อสงครามภายในประเทศในขั้นแรก

นับตั้งแต่เปิดจนปิดยุทธการที่เป็นการดำเนินงานทางการทหารควบคู่ไปกับการงานเมืองตามนโยบาย 66/23 ทำให้กลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์มีทางเลือกที่จะเข้าสู่แนวทางสันติด้วยการยอมวางอาวุธและเข้าร่วมพัฒนาชาติไทย จนเข้าสู่การปิดฐานปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ทีละแห่ง พันเอกสมจิตรได้ออกภาคสนามบันทึกภาพเหตุการณ์นี้เหล่านี้โดยตลอดจนถึงการยุติการสู้รบระหว่างกันอย่างเป็นทางการในปีพ.ศ.2525
แม้ว่าการสู้รบในประเทศจะเข้าสู่ห้วงเวลาของสันติภาพแล้ว แต่ภารกิจของพันเอกสมจริงยังไม่ยุติลงเมื่อต้องรับหน้าที่ช่างภาพสนามในสงครามใหญ่อีกครั้งหนึ่งแต่ครั้งนี้ไม่ใช่การรบกับคนไทยด้วยกันแต่เป็นการรบกับกำลังต่างชาติเต็มรูปแบบ ที่เรารู้จักกันในชื่อการรบที่บ้านร่มเกล้า อันเป็นยุทธการใหญ่ก่อนที่ประเทศไทยจะสามารถยุติความขัดแย้งทั้งในและต่างประเทศได้อย่างสมบูรณ์

พันเอกสมจริงได้เล่าถึงเกร็ดการทำงานภาคสนามซึ่งท่านได้กล่าวถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากสงครามเวียดนามมีส่วนสำคัญมากเพราะทำให้เห็นรูปแบบการทำงานของหน่วยช่างภาพสนามของกองทัพสหรัฐอันเป็นสิ่งที่นำมาปรับใช้กับการทำงานในประเทศ เพราะภาพถ่ายและข่าวก็เป็นส่วนหนึ่งการปฏิบัติการทางการทหาร มีความสำคัญต่อขวัญและกำลังใจของแนวหลัง บางครั้งก็อาจส่งผลในแง่จิตวิทยาที่มีผลต่อการแพ้ชนะในการรบด้วยซ้ำ
ความรวดเร็วในการทำงานต่อการส่งกลับไปยังส่วนหลัง ทำให้บ่อยครั้งการล้างอัดรูปนั้นในส่วนของภาพนิ่งต้องทำกันในพื้นที่ส่วนหน้าทันที ส่วนฟิลม์ภาพเคลื่อนไหวจะถูกส่งล้างที่ ททบ.5 ในทุกภารกิจ เพราะไม่เพียงแต่เป็นการบันทึกภาพเพื่อการประชาสัมพันธ์แต่ภาพถ่ายบางชุดเป็นถ่ายภาพทางยุทธวิธีเพื่อใช้ในการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชาด้วย

ด้วยพื้นฐานการฝึกฝนการถ่ายภาพและการถ่ายภาพในยุคนั้นเป็นกล้องฟิลม์ขาวดำ ที่จะบันทึกภาพได้ม้วนละ36รูปเท่นั้น การกดชัทเตอร์แต่ละรูปจึงต้องคำนึงถึงความสำคัญในขณะนั้น แต่ในห้วงชุลมุนของการรบหรืออยู่ในการปะทะ พันเอกสมจริงได้กล่าวกับเราว่า ก็ต้องยอมรับว่าเป็นการรัวกดชัทเตอร์ไว้ก่อน คุณภาพหรือองค์ประกอบจะเป็นอย่างไรค่อยว่ากันทีหลัง แม้ว่าจะเป็นอย่างทีพันเอกสมจิตรได้กล่าวไว้ แต่ทีมงานTAFที่ได้มีโอกาสชมภาพต้นฉบับที่ได้บันทึกไว้ก็ต้องยอมรับว่าว่าภาพที่ออกมากลับมีความลงตัวทั้งองค์ประกอบภาพ และคุณภาพความคมชัด ในยุคที่การปรับค่าการทำงานของกล้องต้องทำด้วยมือล้วนๆ เป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงความชำนาญในการทำงานภาคสนามของพันเอกสมจิตรได้เป็นอย่างดี

ในงานภาคสนามพันเอกสมจริงจะใช้กล้องเพียง2ตัว คือกล้องภาพนิ่งของCanon และกล้องภาพยนตร์อย่างละหนึ่งตัวเท่านั้นเพื่อความคล่องตัว ไม่การเปลี่ยนเลนส์นอกจากเลนส์ที่ติดอยู่กับตัวกล้องเท่านั้นเพื่อความคล่องตัว ภาพทุกช็อตที่ถ่ายออกมาจึงเหมือนภาพที่บันทึกผ่านวิวไฟน์เดอรในมุมมองของช่างภาพในสถานการณ์นั้นจริงๆ หากอยากได้ภาพที่ใกล้ชิดก็ต้องวิ่งเข้าหาพื้นที่นั้นด้วยตัวเองเพราะไม่มีเลนส์ซูมระยะไกลติดตัวไปด้วย การทำงานแบบกระสุนเฉี่ยวผ่านหัวหลายภาพก็ได้ถูกบันทึกเอาไว้เป็นประจักษ์พยานในการทำหน้าที่ในครั้งนั้น ในบางภารกิจช่างภาพสนามก็ต้องถูกปิดล้อมจากฝ่ายตรงข้ามเช่นเดียวกับทหารหลัก ถูกตัดขาดจากการส่งเสบียงจนต้องหาน้ำดื่มจาการตัดหยวกกล้วยกันกลางสนามรบได้กลายเห็นหนึ่งในประสบการณ์ชีวิตที่พันเอกสมจริงได้รับมาแล้ว

ผลงานภาพถ่ายของพันเอกสมจริงทั้งหมดได้กลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ ในวันที่ประเทศไทยอยู่ในจุดเปลี่ยนสำคัญ จากยุคสมัยแห่งสงครามและความขัดแย้ง มาสู่ห้วงเวลาสันติภาพและการพัฒนา เป็นประจักษ์พยานของความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายในการยุติความขัดแย้ง ด้วยแนวทางแห่งการพัฒนาคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็นชาติแรกในภูมิภาคที่สามารถหยุดยั้งการรุกคืบของลัทธิคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จ เป็นโดมิโน่ตัวสุดท้ายที่ไม่ยอมล้ม ตามทฤษฏีโดมิโน่ที่หลายๆฝ่ายเคยคาดว่าไทยก็ไม่อาจต้านทานการรุกรานจากกองกำลังคอมมิวนิสต์ได้
“ในเวลานั้นพวกเราสูญเสียกันมากจริงๆ อยากคนรุ่นหลังได้รับรู้ว่าทุกหลักกิโลบนเส้นทางตัดผ่านเขาค้อ แทบจะแทนที่ด้วยหนึ่งชีวิตของทหารของเราที่แลกมากับทางเส้นนี้”
คือหนึ่งในถ้อยคำสำคัญที่พันเอกสมจริงได้ฝากเอาไว้ให้กับพวกเรา

ThaiArmedForce.com
ขอขอบคุณ
พล.อ.ศิริ ทิวะพันธุ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 3
พ.อ.สมจริง สิงหเสนี ช่างภาพสนาม Royal Thai Army Combat camera
พล.ต.อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 4
พ.อ.เทอดศักดิ์ งามสนอง รอง ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 4 (ท่านที่1)
พ.ท.ทรงพล อุ่นสมบัติ หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน กองพลทหารราบที่ 4
ร.ต.ภาณุสรณ์ ราชสุวอ นายทหารประวัติศาสตร์ กองพลทหารราบที่ 4