เผยแพร่ครั้งแรก 01/02/2013
หลังจากรอคอยมากว่าสิบปี เมื่อเดือนกันยายน 2555 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติงบประมาณให้กองทัพเรือจัดหาเรือฟริเกตสมรรถนะสูงจำนวน 2 ลำ มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท หลังจากกองทัพเรือไม่สามารถผลักดันโครงการจัดหาเรือดำน้ำ Type-206A ได้สำเร็จ
เรือฟริเกตจากโครงการนี้น่าจะเป็นเรือที่ทันสมัยที่สุดของกองทัพเรือ และน่าจะเป็นเรือที่ทันสมัยที่สุดแบบหนึ่งของภูมิภาคแถบนี้ ถ้ากองทัพเรือสามารถใช้งบประมาณเต็มจำนวนที่ได้รับการอนุมัติไว้ และแน่นอนว่าโครงการนี้ดึงดูดความสนใจจากอู่ต่อเรือและผู้ผลิตระบบอิเล็กทรอนิกส์ทางทะเลชั้นนำจากหลายประเทศ ซึ่งจะต้องแข่งขันกันเพื่อให้ได้สัญญามูลค่าราว 1 พันล้านเหรียญสหรัฐด้วยเวลาอันจำกัด
TAF Editorial ฉบับแรกวันนี้ ขอเสนอการวิเคราะห์ถึงที่มาที่ไปของโครงการ ตัวเลือกที่อาจได้รับการพิจารณา รวมถึงความเป็นไปได้สำหรับผลลัพธ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นถ้าแบบเรือใดได้รับการคัดเลือก
จากเรือดำน้ำสู่เรือผิวน้ำ
หลังจากความพยายามในการผลักดันโครงการมากว่า 1 ปี ผ่านการตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมถึง 3 คน ในที่สุดกองทัพเรือก็ประสบกับความล้มเหลวในการผลักดันโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำชั้น Type-206A จากประเทศเยอรมันนี เนื่องจากคณะรัฐมนตรีไม่สามารถพิจารณาอนุมัติได้ทันตามกำหนดเส้นตายของประเทศเยอรมันนี และทำให้การนำเรือดำน้ำกลับเข้ามาประจำการในกองทัพเรือไทยอีกครั้งต้องกลายเป็นความฝันต่อไป
แต่หลังจากความวุ่นวายและความสับสนภายในกระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือเองเริ่มหมดไป ในเดือนกันยายน 2555 กองทัพเรือได้รับอนุมัติงบประมาณจำนวน 3 หมื่นล้านบาท หรือ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อจัดหาเรือฟริเกตจำนวน 2 ลำ ตามโครงการจัดหาเรือฟริเกตุสมรรถนะสูงของกองทัพเรือที่ถูกเลื่อนโครงการมากกว่า 10 ปี เนื่องจากปัญหางบประมาณ ภายหลังจากได้รับการอนุมัติงบประมาณไม่นาน กองทัพเรือก็ออกคำขอข้อมูล (Request For Information: RFI) เพื่อขอข้อมูลเบื้องต้นของแบบเรือฟริเกตุต่าง ๆ ตามความต้องการ ซึ่งตามมาด้วยการออกคำร้องขอข้อเสนอ (Request For Proposal: RFP) ในเดือนพฤจิกายน 2555 ซึ่งหลังจากนั้น กองทัพเรือและรัฐบาลจะต้องทำการเจรจากับผู้ผลิตจากประเทศต่าง ๆ ที่ตอบรับ RFP มา เพื่อลงรายละเอียดถึงข้อเสนอ ระบบอาวุธ แผนการทางการเงิน และสิ่งที่กองทัพเรือและประเทศจะได้รับ โดยตามแผนงานของกองทัพเรือนั้น คาดว่ากองทัพเรือน่าจะพร้อมที่จะส่งคำแนะนำให้คณะรัฐมนตรีตัดสินใจเลือกแบบเรือผู้ชนะได้ภายในเดือนมีนาคม 2556 ซึ่งกองทัพเรือและรัฐบาลจะต้องทำการเจรจาขั้นสุดท้ายเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้กองทัพเรือลงนามในสัญญาต่อไป ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2556 นี้
ดังนั้น ณ ตอนนี้เราจึงอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายที่ประเทศผู้ผลิตแต่ละประเทศจะต้องแข่งขันกันเสนอข้อเสนอเพื่อที่จะชนะสัญญานี้ให้ได้ภายในกลางปีนี้ ซึ่งนำมาสู่ข้อสังเกตุแรกของ TAF ที่ว่า ระยะเวลานับจากการออก RFI ในราวเดือนตุลาคม 2555 จนถึงการลงนามในสัญญาในเดือนพฤษภาคม 2556 หรือเพียงราว 7 เดือนเท่านั้น ถือว่าใช้เวลาค่อนข้างสั้นและกระชั้นชิดมาก เทียบกับการจัดหาเรือในลักษณะนี้ทั่วไปซึ่งน่าจะต้องใช้เวลาตั้งแต่การออก RFI จนถึงการลงนามในสัญญาถึงราว 2 – 3 ปี ตรงนี้อาจจะอนุมานได้ว่า กองทัพเรือเตรียมตัวสำหรับโครงการนี้มาช่วงหนึ่งแล้ว แต่ในอีกมุมหนึ่งก็แปลว่า อู่ผู้ต่อเรือไม่น่าจะมีเวลามากพอที่จะออกแบบและนำเสนอแบบเรือแบบใหม่ให้กับกองทัพเรือ ด้วยเวลานับจาก RFI จนถึงการต้องส่งข้อเสนอตาม RFP เพียง 2 – 3 เดือนเท่านั้น ดังนั้น แบบของเรือและแผนแบบของระบบอาวุธและระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ จึงน่าจะมาจากแผนแบบที่แต่และอู่มีอยู่ในปัจจุบัน
เรายังไม่ทราบแน่ชัดว่า ความต้องการของกองทัพเรือใน RFP นั้นมีรายละเอียดอะไรบ้าง แต่จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า กองทัพเรือมีความต้องการเรือฟริเกตุขนาดระหว่าง 2,000 – 3,000 ตัน จำนวนสองลำ โดยอาจจะแบ่งจัดหาครั้งและ 1 ลำ (แบ่งโครงการเป็นสองระยะ) คุณลักษณะก็คือ ต้องสามารถรองรับการปฏิบัติการของเฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตันได้ ต้องใช้เครื่องยนต์ทั้งเครื่องยนต์ดีเซล และ/หรือเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ ต้องสามารถทำความเร็วได้สูงกว่า 25 น็อต โดยจะต้องมีระบบอาวุธคือ ปืนเรือขนาด 76 มิลลเมตร จรวดนำวิถีต่อต้านเรือผิวน้ำ จรวจนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ปืนกล และระบบป้องกันตนเองระยะประชิดหรือ CIWS
ยังไม่มีข้อมูลมากนักว่าบริษัทใดบ้างได้ตอบรับ RFP ของกองทัพเรือไทย แต่ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ปรากฏพบว่า บริษัทเหล่านี้น่าจะตอบรับ RFP ของกองทัพเรือ
- Lockheed Martin จากสหรัฐอเมริกา เสนอแบบเรือ Littoral-combat ship (LCS) ชั้น Freedom
- Blohm + Voss จากเยอรมันนี เสนอแบบเรือ MEKO A-200
- Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering (DSME) จากเกาหลีใต้ เสนอแบบเรือ DW3000H 4. Hudong-Zhonghua Shipbuilding จากประเทศจีน เสนอแบบเรือ Type-054T
ตัวเลือกของกองทัพเรือไทย
ตัวเลือกทั้ง 4 คือเรือในตระกูล MEKO จากเยอรมัน DW3000H จากเกาหลีใต้ Type-054T จากจีน และ Littoral-Combat Ship ในชุด USS Freedom จากสหรัฐอเมริกาต่างมีจุดเด่นจุดด้อยที่ต่างกันออกไป แต่ก็สามารถพูดได้ว่าทั้ง 4 แบบนั้นเป็นเรือที่มีประสิทธิภาพสูงด้วยกันทั้งสิ้น
TAF สอบถามไปยัง Lockheed Martin ถึงความเห็นของการเสนอแบบเรือ LCS เข้าแข่งขันในประเทศไทยในครั้งนี้ และได้รับคำตอบจาก Keith D. Little ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Lockheed Martin กลับมาว่า
“We’re currently evaluating the Thai RFP as we do with all potential opportunities and we’d prefer not to comment further on a competitive bid. We believe the Lockheed Martin Multi-Mission Combat Ship is an attractive configuration for international navies, developed based on interest we have received from around the world.”
(เรากำลังประเมินคำร้องขอข้อเสนอของไทยรวมถึงพิจารณาความเป็นไปได้ต่าง ๆ และเรายังขอที่จะไม่แสดงความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแข่งขันในครั้งนี้ เราเชื่อว่าแบบเรือรบอเนกประสงค์ของ Lockheed Martin นั้นเป็นแบบเรือที่น่าสนใจสำหรับกองทัพเรือของหลายประเทศ ซึ่งเราพัฒนาขึ้นมาจากความสนใจที่เราได้รับจากทั่วโลก)
ซึ่งหมายถึง Lockheed Martin ก็ไม่ได้พูดชัดเจนว่าแบบเรือที่ Lockheed Martin จะเสนอให้กองทัพเรือไทยนั้นเป็นแบบเรือ LCS แต่เมื่อพิจารณาจากแบบเรือที่ Lockheed Martin มีอยู่ในมือแล้ว ทำให้ไม่น่าจะมีแบบเรืออื่นนอกจากเรือชั้น USS Freedom ของ Lockheed Martin แต่อย่างใด
นอกจากนั้นเรายังสอบถามไปยัง Saab และ Thales เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับโครงการนี้ แต่ทั้งสองบริษัทยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใด ๆ เนื่องจากอาจเป็นช่วงที่อยู่ในระหว่างการพิจารณและการส่งข้อเสนอ จึงไม่สามารถให้ความเห็นได้ ส่วน Blohm + Voss และ Hudong-Zhonghua Shipbuilding ไม่ได้ตอบ email ของเรา และ Daewoo Shipbuilding ไม่มีข้อมูลการติดต่อที่ใช้งานได้ (email ของอู่ใช้ไม่ได้แล้ว)
เรือชั้น USS Freedom ต่อเพื่อเข้าแข่งขันตามโครงการ Littoral-Combat Ship ของกองทัพเรือสหรัฐที่ต้องการจัดหาเรือขนาดเล็ก (เมื่อเทียบกับมาตราฐานของกองทัพเรือสหรัฐ) ที่มีราคาไม่แพงเพื่อปฏิบัติการสนับสนุนเรือพิฆาตชั้น DD(X) หรือเรือพิฆาตชั้น Zumwalt โดยตัวเรือสามารถปฏิบัติการในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone: EEZ) และสามารถรับภารกิจได้หลากหลายตามแต่จะต้องการ โดยระบบต่าง ๆ บนตัวเรือนั้นออกแบบให้เป็นโมดูล (Modular Design) เพื่อทำให้แบบเรือเพียงแบบเดียวสามารถปฏิบัติภารกิจได้หลากหลายด้วยการเลือกโมดูลให้เหมาะสมกับภารกิจนั้น ๆ โดยในครั้งแรกนั้นกองทัพเรือสหรัฐให้ทั้ง Lockheed Martin และ Austal USA (บริษัทลูกของอู่ Austal ของออสเตรเลีย) ออกแบบและต่อเรือออกมาใช้งานจริงจำนวนหนึ่งเพื่อหาว่าแบบเรือใดเหมาะสมที่สุด โดย Lockheed Martin ได้ต่อเรือชั้น USS Freedom ส่วน Austal USA ต่อเรือชั้น Independence และต่อมากองทัพเรือสหรัฐได้เปลี่ยนการตัดสินใจที่แทนที่จะเลือกแบบเรือผู้ชนะเพียงแบบเดียว เปลี่ยนเป็นให้อู่ทั้งสองทำการต่อเรือทั้งคู่เพิ่มอีกแบบละ 10 ลำเพื่้อนำเข้าประจำการ โดยข้อมูลงบประมาณของสภาคองเกรสระบุว่า เรือในโครงการ LCS แต่ละลำน่าจะมีราคาราว 430 – 440 ล้านเหรียญสหรัฐต่อลำ หรือราว 12,900 – 13,200 ล้านบาทต่อลำ
ข้อด้อยของ LCS น่าจะเป็นระบบอาวุธและเครื่องยนต์ที่กองทัพเรือไทยไม่คุ้ยเคย เช่นการใช้เครื่องยนต์ดีเซล Colt-Pielstick ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ MAN และเครื่องยนต์กังหันก๊าซของ Rolls-Royce ใช้ระบบอำนวยการรบ COMBATSS-21 ของ Lockheed Martin หรือระบบเรดาร์ TRS-3D ของ EADS เป็นต้น ซึ่งการเปลี่ยนโมดูลของระบบอาวุธให้เข้ากับระบบอาวุธที่กองทัพเรือไทยใช้งานอยู่อาจต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
อีกด้านหนึ่ง ในงาน Defense & Security 2012 ที่ผ่านมา อู่ Daewoo Shipbuilding and Marine Engineering หรือ DSME ของเกาหลีใต้ได้แสดงแบบเรือชั้น DW3000H ซึ่งเสนอให้กองทัพเรือไทยพิจารณา และเชื่อว่า DSME เป็นหนึ่งในผู้ที่ตอบรับ RFP ของกองทัพเรือไทยในครั้งนี้
จุดเด่นของเรือชั้นนี้น่าจะอยู่ที่ระบบอาวุธที่กองทัพเรือไทยมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดี เช่นระบบเรดาร์ I-Mast 500 จาก Thales ระบบ Electro-Optic แบบ MIRADOR ปืนเรือขนาด 76 มิลลเมตรของ Oto Melara และจรวดต่อสู้อากาศยานแบบ ESSM ซึ่งติดตั้งอยู่ในระบบท่อยิงทางดิ่ง Mk.41 เป็นต้น
จะสังเกตุได้ว่าที่ผ่านมาเกาหลีใต้พยายามขยายตลาดการส่งออกอาวุธมายังประเทศไทย โดยนอกจากการเสนอเรือดำน้ำ Type-209 ที่ปรับปรุงใหม่และรถถัง K1A1 แล้ว ยังได้เสนอเครื่องบินฝึกแบบ T-50 เพื่อแข่งขันกับ M-346 ในโครงการจัดหาเครื่องบินฝึกเพื่อทดแทนเครื่องบินขับไล่/ฝึกแบบ L-39ZA/ART อีกด้วย การเสนอเรือชั้น DW3000H จึงเป็นอีกหนึ่งความพยายามในการเปิดตลาดอาวุธของเกาหลีใต้ในประเทศไทย ซึ่งถ้าสำเร็จก็อาจจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับระบบอาวุธอื่น ๆ ของเกาหลีใต้ในอนาคต
สำหรับเรือในตระกูล MEKO นั้น เรายังไม่ทราบว่าทางผู้ผลิตจากเยอรมันเสนอแบบแผนเรือชั้นใดให้กับกองทัพเรือไทย แต่จากขนาดที่กองทัพเรือไทยต้องการ เราคาดว่าน่าจะเป็นเรือในชุด MEKO A-200 ที่มีขนาดใหญ่เคียงกับเรือชั้น Valour ของกองทัพเรือแอฟริกาใต้ แต่อาจปรับระบบอาวุธมาใช้ระบบอาวุธที่กองทัพเรือไทยมีใช้งานอยู่แล้วเช่น จรวดต่อต้านเรือผิวน้ำ Harpoon หรือจรวดต่อสู้อากาศยาน ESSM ส่วนระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ นั้นกองทัพเรือสามารถเลือกระบบเรดาร์ ระบบอำนวยการรบ โซน่าร์ และระบบอื่น ๆ ตามที่กองทัพเรือต้องการได้ ซึ่งไม่น่าจะยากเกินความสามารถของผู้ผลิตซึ่งมีประสบการณ์ในการออกแบบเรือในตระกูล MEKO ที่แตกต่างกันถึง 16 ชั้นสำหรับกองทัพเรือ 13 ชาติทั้วโลก
หรือในอีกแง่หนึ่ง ผู้ผลิตคือ Blohm + Voss อาจเสนอแบบแผนของเรือชั้น ANZAC ซึ่งมีลักษณะการวางระบบเครื่องยนต์ ระบบอาวุธ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ใกล้เคียงกับระบบอาวุธที่กองทัพเรือไทยมีใช้งานอยู่แล้วค่อนข้างมาก โดยอาจจะปรับแบบของเรือให้ทันสมัยขึ้นเท่านั้น ก็จะสามารถตอบสนองต่อความต้องการของกองทัพเรือไทยได้ทันที
แต่ทั้งหมดนี้จะต้องพิจารณาด้วยเงื่อนไขใหม่ถ้าต้องพูดถึงเรือชั้น Type-054T Jiangkai II ของอู่ Hudong-Zhonghua Shipyard Huangpu Shipyard ประเทศจึน เนื่องจากระบบอาวุธต่าง ๆ ที่ติดตั้งอยู่บนเรือชั้นนี้ (เปรียบเทียบกับระบบอาวุธมาตราฐานของชั้น Type-054A ที่ประจำการในกองทัพเรือจีน) เป็นระบบอาวุธที่จีนผลิตเอง เช่น เรดาร์ตรวจการณ์แบบ Type-382 ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ HZ-100 จรวดต่อสู้อากาศยานแบบ HQ-16 จรวดต่อต้านเรือผิวน้ำ C-803 เป็นต้น เนื่องจากเป็นระบบอาวุธที่กองทัพเรือไทยไม่คุ้นเคย แม้ว่ากองทัพเรือไทยจะเคยใช้ระบบอาวุธและระบบอิเล็กทรอนิกส์ของจีนในเรือชุดเรือหลวงนเรศวรและเรือชุดเรือหลวงเจ้าพระยาก็ตาม เนื่องจากระบบอาวุธและระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ติดตั้งบนเรือชั้น Type-054T นั้นมีก้าวหน้ากว่าระบบที่ติดตั้งบนเรือของไทยทั้งสองชุดเป็นอย่างมาก ถ้ากองทัพเรือไทยเลือกระบบอาวุธจากจีน อาจทำให้ต้องทำการเรียนรู้ใหม่ และที่สำคัญคือต้องสำรองอาวุธและอะไหล่สำหรับระบบอาวุธแบบใหม่เพิ่มเติม
แต่ถ้ากองทัพเรือเลือกทางเลือกเดิมที่เคยทำเมื่อครั้งต่อเรือชุดเรือหลวงปัตตานีคือการต่อเรือจากจีนแต่ใช้ระบบอาวุธของตะวันตกนั้น จีนอาจปฏิเสธทางเลือกนี้ในคราวนี้ เนื่องจากจีนน่าจะต้องการขายระบบอาวุธและระบบอิเล็กทรอนิกส์ของตนมากกว่าการรับต่อเรือเพียงอย่างเดียวซึ่งได้กำไรน้อย และไม่ได้เป็นการเปิดตลาดใหม่ให้กับระบบอาวุธของจีนอีกด้วย
Offset และข้อเสนอพิเศษ ตัวแปรที่ไม่อาจมองข้าม
แต่นอกจากประสิทธิภาพของตัวเรือที่ต้องพิจารณาแล้ว ข้อมูลบางส่วนยังระบุว่า กองทัพเรือจะใช้ข้อเสนอด้านการชดเชยย้อนกลับและตอบแทนทางอุตสาหกรรม (Offset and Industrial Cooperation) เป็นข้อกำหนดหลักข้ดหนึ่งในการพิจารณา
ทั้งนี้ ประเทศไทยยังไม่มีนโยบาย Offset แห่งชาติ ซึ่งกำหนดสัดส่วนที่ชัดเจนของ Offset ที่จะต้องได้รับถ้ามีการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์จากต่างประเทศถึงมูลค่าที่กำหนดไว้ ดังนั้น ที่ผ่านมา การรับ Offset และ Industrial Cooperation ของแต่ละโครงการจัดหาในแต่ละเหล่าทัพจึงค่อนข้างกระจัดกระจายและขาดการจัดการที่ชัดเจน ขาดความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น ๆ ในภาครัฐ รวมถึงขาดการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนที่เพียงพอ ดังเช่นที่ปรากฏในโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ Gripen และโครงการจัดหารถเกราะล้อยาง BTR-3E1
สำหรับในกรณีของกองทัพเรือนั้น ที่ผ่านมามีหลายโครงการที่กองทัพเรือได้รับ Offset และ Industrial Cooperation กลับมา แต่ก็ด้วยข้อจำกัดเดียวกันจากการที่ไม่มีนโยบาย Offset นั่นก็คือการไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนว่ากองทัพเรือ และอุตสาหกรรมในประเทศไทยจะได้รับเทคโนโลยีอะไร หรือได้รับการลงทุนเท่าไหร่เมื่อคุณกับตัวคุณทางเศรษฐศาสตร์แล้ว ทำให้ประโยชน์ที่ชัดเจนและจับต้องได้เพียงอย่างเดียวจากโครงการที่ผ่าน ๆ มาก็คือการเปิดโอกาสให้อู่ในประเทศได้รับเทคโนโลยีการต่อเรือ ได้งานจากกองทัพเรือ และได้รับงานในการบูรณาการณ์ระบบบนเรือบางระบบ โดยมูลค่าของ Offset และ Industrial Cooperation ที่ได้นั้นขึ้นอยู่กับข้อเสนอของผู้ผลิตเท่านั้น แต่ก็นับว่าโครงการของกองทัพเรือหลายโครงการมีการจัดการที่ดีกว่าโครงการอื่น ๆ ของแต่ละเหล่าทัพ
สำหรับโครงการจัดหาเรือฟริเกตสมรรถนะสูงในครั้งนี้ มีข้อมูลจากหลายแหล่งระบุว่า กองทัพเรือและรัฐบาลต้องการได้รับ Offset และ Industrial Cooperation ซึ่งข้อเสนอ Offset ของผู้ผลิตจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกแบบเรือผู้ชนะ ซึ่งถือว่าเป็นการก้าวไปอีกขั้นในการยกระดับความสำคัญของ Offset และ Industrial Cooperation จึงทำให้มีความเป็นไปได้ว่า อาจมีข้อเสนอที่เปิดโอกาสให้อู่ในประเทศเช่น อู่กรุงเทพ ทำการต่อเรือฟริเกตชั้นนี้ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะทำให้อู่ในประเทศได้พัฒนาทักษะในการต่อเรือฟริเกต จากที่ผ่านมาเคยทำการต่อเรือขนาดเล็กและเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเท่านั้น และทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศ รวมถึงเป็นประสบการณ์ที่อู่ในประเทศสามารถนำไปใช้เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของตนและสร้างโอกาสในการรับงานจากทั้งในและต่างประเทศได้ในอนาคต
แต่ทั้งนี้ อุปสรรคที่สำคัญก็คือความพร้อมของอู่ในประเทศเอง โดยอู่เอกชนส่วนใหญ่นั้นมีขนาดเล็กเกินกว่าจะที่ต่อเรือขนาด 2 – 3 พันตันได้ ส่วนอู่กรุงเทพซึ่งเช่าอู่ราชนาวีมหิดลอดุลเดชในการต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งนั้นก็ยังประสบปัญหาความไม่พร้อมของอุปกรณ์และเครื่องมือในการต่อเรือในระดับนี้ การลงทุนจัดซื้อเครื่องมืออาจทำให้ราคาค่าต่อสูงขึ้นจนกดดันการจัดสรรงบประมาณได้ รวมถึงความไม่พร้อมด้านสถานที่ ที่อู่ราชนาวีมหิดลอดุลเดชมีอู่ขนาดใหญ่เพียงอู่เดียว เนื่องจากการสร้างอู่แห่งที่สองด้านข้างอู่แห่งแรกนั้นยังไม่ได้รับการอนุมัติ การต่อเรือฟริเกตอาจต้องใช้เวลาหลายปี ซึ่งอาจส่งผลประทบต่อการซ่อมบำรุงเรือต่าง ๆ ที่กองทัพเรือมีใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรือหลวงจักรีนฤเบศรและเรือหลวงสิมิลันที่จำเป็นต้องใช้อู่ราชนาวีมหิดลอดุลเดชในการซ่อมทำใต้แนวน้ำเท่านั้น เพราะตัวเรือมีขนาดใหญ่มากจนอู่อื่นไม่สามารถรับงานได้
การต่อเรือในประเทศจึงมีโอกาสไม่มากนักที่จะเกิดขึ้น เว้นแต่ว่ารัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมในการจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือ และอาจจะต้องจัดสรรงบประมาณในการสร้างอู่แห่งที่สองเพิ่มเติม
ความเป็นไปได้สำหรับ Offset และ Industrial Cooperation ในโครงการนี้จึงอาจจะอยู่ที่การเปิดโอกาสให้บริษัทไทยทำการบูรณาการณ์ระบบอาวุธและระบบอิเล็กทรอนิกส์ของเรือในชุดนี้ ในลักษณะเดียวกับที่กองทัพเรือได้ให้ Saab ร่วมมือกับ Avia Satcom ในการบูรณาการณ์ระบบอำนวยการรบ 9LV เข้ากับระบบตรวจจับและระบบอาวุธของเรือชุดเรือหลวงนเรศวรที่กำลังทำการปรับปรุงอยู่ในขณะนี้ นอกจากนั้น ประเทศผู้ผลิตอาจถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตชิ้นส่วนบางชิ้นที่ไทยมีความสามารถในการผลิตได้ เพื่อทำการผลิตสนับสนุนการต่อเรือชั้นนี้ ซึ่งถ้ากองทัพเรือและรัฐบาลทำการเจรจาให้บริษัทผู้ผลิตซื้อชิ้นส่วนเหล่านั้นไปเป็นชิ้นส่วนและอะไหล่มาตราฐานของอุปกรณ์นั้นที่ผลิตจากประเทศผู้ผลิตได้ ก็จะทำให้บริษัทไทยสามารถเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของผู้ผลิตระดับโลก ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสและผลักดันให้อุตสาหกรรมทางทหารของไทยสามารถเติบโตได้ ดังเช่นที่ไทยใช้โมเดลนี้ได้อย่างประสบความสำเร็จยิ่งกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย
สรุป
คงอีกไม่นานนักเราจึงจะทราบว่า แบบแผนเรือแบบใด ของบริษัทใด และประเทศไทย ที่จะได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะในการแข่งขันในครั้งนี้ และเราจะได้ทราบว่า นอกจากการที่กองทัพเรือจะได้เรือรบแบบใหม่แล้ว อุตสาหกรรมในประเทศของไทยจะได้รับประโยชน์อะไรจากการจัดหาในครั้งนี้บ้าง
ตัวเลือกที่น่าจะเป็นไปได้น้อยที่สุดก็คือเรือชั้น USS Freedom ของตระกูล LCS ของสหรัฐ เนื่องจากมีการออกแบบระบบอาวุธและระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ต่างจากมาตราฐานของกองทัพเรือไทยค่อนข้างมาก ตัวเลือกจึงน่าจะเหลืออยู่ที่สามประเทศที่เหลือ ซึ่งน่าจะมีจุดเด่นแตกต่างกันไป เช่นเรือชุด MEKO จากเยอรมันจะมีจุดเด่นที่การออกแบบที่ทันสมัยและคุณภาพของตัวเรือที่เป็นที่ยอมรับ DW3000H น่าจะมีจุดเด่นที่การที่กองทัพเรือไทยสามารถได้เรือมาตราฐานตะวันตกในราคาที่ไม่แพงนัก ส่วน Type-054T มีจุดเด่นที่ราคาซึ่งทางจีนเสนอเรือให้ถึง 3 ลำ พร้อมข่าวที่ว่าทางจีนจะแถมเฮลิคอปเตอร์ Z-9 อีก 6 ลำ ทั้งหมดภายในวงเงินเดิมที่รัฐบาลอนุมัติให้กองทัพเรือไทย
เราไม่มีข้อมูลว่าประเทศแต่ละประเทศเสนอ Offset และ Industrial Cooperation ใดบ้างให้กับไทย แต่คาดว่าผู้ผลิตจากสหรัฐน่าจะมีข้อจำกัดด้านการเสนอ Offset มากที่สุดเนื่องจากกฏระเบียบที่เข้มงวดของทางสหรัฐเอง รองลงมาน่าจะเป็๋นผู้ผลิตจากเยอรมัน ส่วนประเทศที่น่าจะมีปัญหาน้อยที่สุดก็คือเกาหลีใต้และจีนที่พร้อมจะใช้ Offset เป็นตัวนำในการขายและแสวงหาความร่วมมือในการพัฒนาทางด้านการทหารใหม่ ๆ จากต่างประเทศ
คงต้องตามดูกันต่อไปว่า เรือชุดใดจะชนะสัญญาการจัดหาของกองทัพเรือไทยในครั้งนี้ และข้อเสนอที่ให้กับประเทศไทยนั้นมีอะไรบ้าง อีกไม่นานเราน่าจะได้ทราบกัน