ตัวเลือกพื้นฐานของสหรัฐและจีน
นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์มองว่า ทั้งสหรัฐและจีนนั้นมีตัวเลือกพื้นฐานที่ต้องเลือก
สหรัฐต้องตัดสินใจว่าจะมองการเติบโตของจีนเป็นภัยคุกคามการคงอยู่ของตนและพยายามจำกัดการเติบโตของจีนในทุก ๆ ทาง หรือจะยอมรับจีนในฐานะมหาอำนาจ ซึ่งถ้าเลือกทางเลือกหลัง สหรัฐจะต้องออกแบบความสัมพันธ์ที่ส่งเสริมความร่วมมือและสร้างการแข่งขันที่เหมาะสมกับจีนโดยไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติต้องพังทลาย ซึ่งในอุดมคติแล้ว ลี เซียน ลุงมองว่าการแข่งขันกันภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศของสหประชาชาติและองค์การการค้าโลกน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม
ลี เซียน ลุง ยังมองอีกว่า แม้จะลำบาและทำใจยาก แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะคุ้มค่า ถ้าสหรัฐพยายามส่งเสริมให้จีนได้เติบโตภายใต้กรอบการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศในปัจจุบัน ซึ่งเป็นกรอบที่ส่งเสริมให้ทุกชาติต้องมีความรับผิดชอบ มีความยับยั้งชั่งใจ ส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจ ช่วยกันจัดการความขัดแย้ง และสร้างสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัยและมีเสถียรภาพเพื่อความร่วมมือและการแข่งขันกัน
แต่ถ้าสหรัฐเลือกที่จะจำกัดการเติบโตของจีน ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้ทั้งสองชาติต้องเผชิญหน้ากันไปอีกหลายทศวรรษ และผลลัพธ์ของการเผชิญหน้าอาจไม่จบลงเหมือนสงครามเย็นที่ประเทศหนึ่งเจริญเติบโตแต่อีกประเทศล่มสลายไปด้วยตัวเอง
สำหรับจีน นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์มองว่าจีนจะต้องตัดสินใจว่าจะกลายเป็นมหาอำนาจแต่เพียงผู้เดียวโดยไม่มีใครขัดขวางด้วยการใช้พลังอำนาจทางเศรษฐกิจ และเสี่ยงที่จะถูกต่อต้านทั้งจากสหรัฐและประเทศอื่น ๆ ซึ่งจะเพิ่มความตึงเครียดและส่งผลกระทบต่อจุดยืนและอิทธิพลของจีนในระยะยาว อย่างที่หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศในเอเชียเริ่มไม่ไว้วางใจจีนในปัจจุบัน หรือจีนจะยอมรับว่าปัจจุบันจีนไม่ได้ยากจนและอ่อนแออีกต่อไป ซึ่งทำให้จีนจะไม่ได้รับการช่วยเหลือและสิทธิพิเศษเหมือนอย่างที่เคยได้รับมาตั้งแต่เริ่มเข้าร่วมกับองค์การการค้าโลกในปี 2001 แล้ว จีนสมัยใหม่ที่แข็งแกร่งควรเคารพระเบียบของโลกที่ช่วยให้จีนเติบโต และถ้าระเบียบของโลกในปัจจุบันไม่เหมาะกับจีนแล้ว จีนควรจะแสวงหาความร่วมมือกับสหรัฐและประเทศอื่น ๆ ในการสร้างข้อตกลงที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
พลวัตรของเอเชียแปซิฟิก
ลี เซียน ลุง ยอมรับว่าแม้การเสียสละเลือดเนื้อในสงครามโลกครั้งที่สอง และการส่งเสริมการเปิดกว้างของสหรัฐในเอเชียจะช่วยให้เอเชียเอาชนะคอมมิวนิสต์และนำความเจริญมาสู่ทวีปได้ แต่มันก็เป็นเพราะความรุ่งเรืองของเอเชียแปซิฟิกนั้นรับใช้วัตถุประสงค์ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ของสหรัฐในสงครามเย็น เช่นเดียวกับสหรัฐ จีนก็มีผลประโยชน์ในเอเชียทั้งทรัพยากรและเส้นทางการค้า แต่ต่างกันที่จีนมองเอเชียเป็นภูมิภาคที่ใกล้เคียง (Near Aboard) ที่จำเป็นสำหรับความมั่นคงของตน
ประธานาธิบดีสีเจิ้นผิงเคยกล่าวว่ามหาสมุทรแปซิฟิกนั้นใหญ่พอสำหรับจีนและสหรัฐ แต่เขาก็กล่าวอีกว่าความมั่นคงของเอเชียควรอยู่ในมือของคนเอเชียเอง ซึ่งทำให้ประเทศอื่น ๆ ไม่แน่ใจว่า ความหมายความประธานาธิบดีสีเจิ้นผิงนั้นหมายถึงการที่สหรัฐและจีนจะร่วมมือกันโดยมีประเทศอื่น ๆ อยู่ภายใต้อิทธิพลของทั้งสอง หรือการที่จีนจะแบ่งมหาสมุทรเป็นเขตอิทธิพลของจีนแยกกับสหรัฐ และบังคับให้แต่ละประเทศเลือกข้างกันแน่ ซึ่งถ้าถามประเทศอื่นในเอเชียแล้ว คงชัดเจนว่าทุกคนอยากเลือกทางใด
นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์มองว่าสหรัฐยังจำเป็นต่อความมั่นคงของเอเชีย ทั้งการป้องกันการแข่งขันการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออก และการรักษาเส้นทางการเดินเรือในเอเชียให้เป็นที่ที่ทุกคนเข้าถึงได้ของสหรัฐ ซึ่งนั่นต่างจากจีนที่พยายามท้าทายและเข้าครอบครองน่านน้ำในเอเชีย รวมถึงความไม่ไว้วางใจจีนของประเทศในเอเชียที่เกรงว่าประชากรเชื้อสายจีนของตนจะก่อให้เกิดปัญหาต่อความมั่นคงของประเทศเหล่านั้น อย่างไรก็ตามทั้งสิงคโปร์และประเทศในเอเชียต่างต้องการมีความสัมพันธ์อันดีกับจีนและต้องการมีส่วนร่วมไปกับการเติบโตของจีน และด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าสหรัฐไม่สามารถที่จะทดแทนจีนในการเป็นซัพพลายเออร์ของโลก รวมถึงการที่สหรัฐก็อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีตลาดจีน
ประเทศในเอเชียแปซิฟิกจึงไม่ต้องการที่จะถูกบังคับให้เลือกระหว่างจีนและสหรัฐ การที่สหรัฐมีผลประโยชน์ทั่วโลก ทำให้แต่ละประเทศไม่อาจพึ่งพิงการสนับสนุนด้านความมั่นคงจากสหรัฐอย่างเดียวได้ แต่ยังต้องการสร้างความมั่นคงด้วยตัวเอง
และต้องการให้สหรัฐเข้าใจว่า การที่ประเทศในเอเชียสร้างความสัมพันธ์อันดีกับจีนไม่ได้หมายความว่าประเทศในเอเชียกำลังร่วมมือกับจีนเพื่อต่อต้านสหรัฐ เช่นเดียวกับจีนที่ต้องเข้าใจว่า การที่ประเทศในเอเชียสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐ ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศเหล่านั้นจะต้องต่อต้านจีนเช่นกัน
ความหวังที่แรงกล้า
นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์สรุปว่า COVID-19 ทำให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมมือกันเพื่อควบคุมทั้งการระบาดและความเสียหายจากโรคระบาด แต่น่าเสียใจที่ COVID-19 ทำให้ทั้งจีนและสหรัฐต้องไม่ไว้วางใจกันและโทษกันเอง ซึ่งในระหว่างนี้ ประเทศในเอเชียยังมีงานล้นมือในการจำกัดการแพร่ระบาดของ COVID-19 และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรเพื่อสร้างภูมิภาคที่มั่นคงและรุ่งเรือง ซึ่งความสำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับทางเลือกที่สหรัฐและจีนเลือกในการก้าวข้ามความแตกต่าง สร้างความไว้วางใจต่อกัน และทำงานร่วมกันในการสร้างเสถียรภาพและระเบียบของโลก นี่คือประเด็นพื้นฐานของโลกในปัจจุบัน
ทุกท่านสามารถอ่านบทความเต็มได้ที่
https://www.foreignaffairs.com/articles/asia/2020-06-04/lee-hsien-loong-endangered-asian-century