- ตามข้อมูลจากระบบติดตามอากาศยานอัตโนมัติ ADS-B (Automatic Dependent Surveillance – Broadcast) เราจะพบเส้นทางการบินของเครื่องบินลำเลียงแบบ C-40A หรือ Boeing 737-700 ของกองทัพเรือสหรัฐ ทะเบียน 169036 นามเรียกขาน CNV7642 ซึ่งเดินทางมาจากฐานทัพอากาศสหรัฐในโอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น
- เครื่องบินบินเลาะไปตามชายฝั่งทะเลตะวันตกของไต้หวัน ก่อนหักลงทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเส้นทางนี้ไม่ใช่เส้นทางปกตินัก เนื่องจากอากาศยานของกองทัพอากาศสหรัฐไม่ได้บินผ่านน่านฟ้าไต้หวันบ่อยครั้งสักเท่าไหร่
อนึ่ง ตามข้อมูลของกระทรวงกลาโหมของไต้หวันนั้น ต้องใช้เวลาราว 2 – 3 ชั่วโมงกว่าที่จีนจะตัดสินใจส่งเครื่องบินขับไล่ Su-30 ขึ้นสกัดกั้น แม้โดยในความเป็นจริงนั้น การบินขึ้นสกัดกั้นใช้เวลาไม่กี่นาทีเท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นการวิเคราะห์สถานการณ์และรอการตัดสินใจของผู้บัญชาการระดับสูงของจีนว่าจะดำเนินการบินขึ้นสกัดกั้นเพื่อยืนยันสิทธิ์และอธิปไตยของจีนเหนือน่านฟ้าไต้หวันหรือไม่
- หลังจากพ้นเกาะไต้หวัน C-40A เดินทางไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ผ่านทางใต้หมู่เกาะพาราเซล ซึ่งเป็นดินแดนพิพาทระหว่างจีนและเวียดนาม
เส้นทางนี้เป็นหนึ่งในหลายเส้นทางที่กองทัพสหรัฐนิยมใช้ในภารกิจ Freedom of Navigation Flight ซึ่งเป็นภารกิจการบินเดินทางของอากาศยานของกองทัพสหรัฐและประเทศพันธมิตรที่มักจะทำในทะเลจีนใต้ เพื่อยืนยันสิทธิ์ตามกฎหมายระหว่างประเทศของอากาศยานทั่วโลกที่จะสามารถผ่านทะเลจีนใต้ที่ถือว่าเป็นน่านน้ำสากล ไม่ใช่เขตแดนของจีนแต่เพียงผู้เดียว โดยนัยคือเพื่อท้าทายการอ้างสิทธิ์ของจีนว่าทะเลจีนใต้ทั้งหมดคือทะเลอาณาเขตของจีนที่เป็นเขตอธิปไตยของจีน
- C-40A ปรับทิศเป็นการบินไปทางตะวันตกเพื่อบินผ่านเข้าสู่น่านฟ้าเวียดนาม ตรงนี้แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่อากาศยานทางทหารของสหรัฐบินผ่านเวียดนาม แต่การที่เวียดนามไม่ได้ตอบโต้หรือปฏิเสธการเดินทางของอากาศยานของกองทัพสหรัฐ ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าทั้งสองประเทศเริ่มปรับความสัมพันธ์กันให้ดียิ่งขึ้น และอาจจะเป็นเพราะภารกิจ Freedom of Navigation นี้เป็นประโยชน์ต่อเวียดนามโดยตรง
- หลังจากออกจากเวียดนาม C-40A ก็ตัดเข้ากัมพูชาและลงจอดที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาในประเทศไทย โดยกองทัพสหรัฐมีอากาศยานที่ลงจอดในท่าอากาศยานของไทยหลายที่ แต่ที่นิยมมากคือการลงจอดที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เนื่องจากมีเนื้อที่กว้างขวาง รันเวย์สามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้ และการจราจรทางอากาศยังไม่คับคั่งมากนักเมื่อเทียบกับท่าอากาศยานพาณิชย์อื่น ประกอบกับสหรัฐมีข้อตกลงด้านการส่งกำลังบำรุงอากาศยานร่วมกับกระทรวงกลาโหมของไทย การลงจอดที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเพื่อรับการส่งกำลังบำรุงและเตรียมตัวเดินทางต่อไปก็เป็นทางเลือกที่กองทัพสหรัฐมักจะเลือก โดยเฉพาะเมื่อต้องการเดินทางไปยังเอเชียใต้เช่น เดินทางผ่านอินเดีย หรือเดินทางไปยังหมู่เกาะดิเอโก้ กราเซียที่เป็นที่ตั้งฐานทัพหลักของสหรัฐแห่งหนึ่งในมหาสมุทรอินเดีย
ส่วนถ้าต้องการเดินทางผ่านตอนเหนือของอินเดียเพื่อไปยังอัฟกานิสฐานหรือเอเชียกลาง ก็มักจะเลือกลงจอดที่ท่าอากาศยานกองบิน 41 เชียงใหม่ หรือท่าอากาศยานทหารกองบิน 4 ของกองทัพอากาศ เป็นต้น
- แต่ C-40A ไม่ได้เดินทางต่อไปยังเอเชียใต้หรือเอเชียกลาง เพราะหลังจากเติมน้ำมันและเตรียมเครื่องพร้อมแล้ว ก็เลือกที่จะเดินทางกลับไปยังทิศตะวันออก โดยบินเดินทางผ่านเส้นทางเดิมคือตัดผ่านทะเลจีนใต้เพื่อท้าทายการอ้างสิทธิ์ของจีน และมุ่งทางทิศตะวันออกตรงไปยังกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ และถือทิศมุ่งตรงไปยังเกาะกวม ซึ่งทำให้ค่อนข้างแน่ใจว่าจุดหมายปลายทางคือฐานทัพอากาศ Anderson ในเกาะกวม
- โดยสรุปแล้ว TAF เชื่อว่าการเดินทางของ C-40A ในครั้งนี้เป็นการเดินทางตามภารกิจ Freedom of Navigation เหนือทะเลจีนใต้ปกติทั่วไป แต่กองทัพเรือสหรัฐเลือกที่จะใช้เส้นทางที่ไม่ค่อยได้ใช้นักคือการบินเหนือเกาะไต้หวัน ซึ่งทำให้จีนตอบสนองด้วยการส่งเครื่องบินรบขึ้นสกัดกั้น และทำให้ไต้หวันต้องส่งเครื่องบินรบของตนขึ้นผลักดัน
อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลว่ามีการนำส่งผู้โดยสารหรือสัมภาระใดที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาในประเทศไทย แต่โดยรวมเราเชื่อว่า น่าจะเป็นเพียงการรับการส่งกำลังบำรุงเพื่อเตรียมเดินทางกลับไปยังฐานทัพอากาศ Anderson รวมเวลาทั้งหมดของภารกิจตั้งแต่ออกจากโอกินาว่า ลงจอดที่อู่ตะเภา และเดินทางถึงเกาะกวมราว 11 ชั่วโมง
ปล. TAF สงวนสิทธิ์ในภาพหรือบทความที่ TAF เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ห้ามทำซ้ำ ดัดแปลง หรือนำไปใช้ต่อไม่ว่าช่องทางใดหรือวิธีการใด ๆ ทั้งข้อความ ภาพ เสียง หรือภาพเคลื่อนไหว TAF สงวนสิทธิ์ดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ลิขสิทธิ์ของภาพหรือข้อความอื่นที่ไม่ใช่การผลิตของ TAF เป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามที่ระบุไว้
ข้อมูล ADS-B และเส้นทางการบินเพิ่มเติมที่
Aircraft info
Reg:169036
Type:B737
Call:CNV7642
Country:United States
Operator:US Navy
Records DB:520
Date:20200609
http://www.ads-b.nl/aircraft.php?id_aircraft=11425562