ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายในการขอพื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาคืนจากกองทัพเรือ โดยเฉพาะในส่วนของอาคารผู้โดยสารและส่วนปฏิบัติการบินต่าง ๆ แต่ยังคงพื้นที่ฐานทัพเรือและฝูงบินเอาไว้สำหรับกองทัพเรือใช้งาน เพื่อนำมาพัฒนาให้ได้ตามแนวคิด Aerotropolis ซึ่งมีการเปิดประมูลให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาเพื่อลดการลงทุนจากภาครัฐ
การประมูลนั้นมีสามกลุ่มเข้าร่วมประมูลคือ
- กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS (Bangkok Airways, BTS Group, Sino-Thai Engineering)
- กลุ่ม Grand Consortium (Grand Estate, Christiani and Nielsen, Thai Air Asia)
- กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด (CP Group, Italian-Thai Development, ช. การช่าง)
ยื่นข้อเสนอเข้าร่วมประมูล ซึ่งเอกชนลงทุน 2.9 แสนล้าน แลกกับการที่จะได้สัมปทานบริหารท่าอากาศยานอู่ตะเภา 50 ปี โดยมีคณะกรรมการจัดเลือกเอกชนที่มีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นหัวหน้าคณะคัดเลือก ซึ่งผลปรากฎว่ากลุ่มกิจการร่วมค้า BBS เป็นผู้ชนะการประมูล เนื่องจากเสนอผลตอบแทนให้รัฐกว่า 3 แสนล้านบาท ทิ้งห่างอันดับสองและสามไปกว่าสองแสนล้านบาท
ในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ จะมีการลงนามในสัญญาระหว่างรัฐบาลและกลุ่มกิจการร่วมค้า BBS เพื่อเริ่มดำเนินโครงการอย่างเป็นทางการ หลังจากที่กองทัพเรือส่งมอบพื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาคืนให้กับรัฐเรียบร้อยแล้ว แต่กองทัพเรือยังมีภารกิจคือการก่อสร้างรันเวย์ที่สองของท่าอากาศยานอู่ตะเภาที่ยังต้องรอส่งมอบพื้นที่ต่อไป
เพื่อรองรับโครงการนี้ กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS ได้จัดตั้งบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัดมาเป็นนิติบุคลเฉพาะกิจ (SPV) ที่มีทุนจดทะเบียนสูงถึง 4.5 พันล้านบาท ในการลงนามสัญญาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมีผู้ถือหุ้นประกอบด้วย
- Bangkok Airways ถือหุ้น 45%
- กลุ่ม BTS ถือหุ้น 35%
- บริษัท Sino Thai ถือหุ้นอีก 20%
Bangkok Airways ซึ่งเป็นบริษัทนำ (Lead Firm) ในโครงการนี้มีประสบการณ์ทั้งในการบริหารสายการบิน Bangkok Airways ที่ถือเป็นสายการบินระดับภูมิภาคที่ถูกจัดอันดับให้เป็นสายการบินภูมิภาคยอดเยี่ยมที่สุดในโลกติดต่อกันมาหลายปี และมีประสบการณ์ในการบริหารท่าอากาศยานหลายแห่งในประเทศทั้งตราด สุโขทัย หรือสมุย แต่สำหรับท่าอากาศยานอู่ตะเภาที่มีขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนในการบริหารงานมากกว่ามาก ทางกลุ่มได้เลือกบริษัท Narita International Airport Corporation (NAA) ผู้บริหารท่าอากาศยานนาริตะของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทำผลงานเป็นท่าอากาศยานที่ดีที่สุดในโลกอันดับที่ 7 มาเป็นผู้บริหารท่าอากาศยานอู่ตะเภาในครั้งนี้ ส่วนกลุ่ม BTS ที่มีประสบการณ์ในการเดินรถไฟฟ้า และกำลังเข้ารับหน้าที่บริหารมอเตอร์เวย์ จะมาช่วยในการบริหารระบบขนส่งมวลชนทั้งในและโดยรอบท่าอากาศยาน ส่วนผู้รับหน้าที่ก่อสร้างก็คือ Sino-Thai Engineering นั่นเอง
