ควันหลงจากข่าวการลงนามในสัญญาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและ #เมืองการบินภาคตะวันออก ที่กลุ่ม BBS ซึ่งประกอบไปด้วยบมจ.การบินกรุงเทพ (BA) บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และบมจ.ซิโน-ไทย อ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) เป็นผู้ชนะ และภายในงานมีการเปิดเผยว่า รัฐบาลกำลังลงทุนสร้างรันเวย์ที่สองซึ่งจะสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้ แต่มีการตีความว่าเป็นไปเพื่อรองรับเครื่องบินทิ้งระเบิด #B52 ทำให้มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลต้องการให้กองทัพสหรัฐมาตั้งฐานทัพในประเทศไทยนั้น
TAF ขอยืนยันว่า เป็นเรื่องที่สื่อสารกันผิดพลาด ไม่ว่าจะมาจากผู้ให้สัมภาษณ์หรือผู้เขียนข่าวก็ตาม และถูกนำมาเผยแพร่ผิดประเด็น และตีความผิดประเด็นจากผู้อ่านบางท่าน จึงทำให้มีความเข้าใจผิดกันเกิดขึ้น

ข้อเท็จจริงคือสนามบินอู่ตะเภาไม่จำเป็นต้องปรับปรุงให้รองรับเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 เพราะปัจจุบันตัวสนามบินก็รองรับ B-52 ได้อยู่แล้ว
สืบเนื่องจากมติครม.เมื่อปี 2508 ที่อนุมัติให้กองทัพเรือสร้างสนามบินแห่งใหม่ตามข้อตกลงกับกองทัพสหรัฐเพื่อเป็นฐานบินให้กับเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 แทนที่จะบินจากโอกินาว่ามาทิ้งระเบิดในเวียดนาม โดยการก่อสร้างสร้างบินทั้งรันเวย์ โรงจอด และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ นั้นดำเนินการโดยกองทัพสหรัฐทั้งหมด
เมื่อสนามบินอู่ตะเภาสร้างเสร็จในปี 2510 กองทัพอากาศสหรัฐได้จัดตั้งกองบินยุทธศาสตร์ที่ 4258 ขึ้นในสนามบินอู่ตะเภา โดยอยู่ภายใต้กองพลบินที่ 3 ฐานทัพอากาศ Anderson ในกวม (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกองบินยุทธศาสตร์ที่ 307) ซึ่งมีภารกิจสนับสนุนการเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศให้กับเครื่องบินขับไล่และทิ้งระเบิดในเวียดนาม โดยกำหนดให้อู่ตะเภาเป็นสนามบินส่วนหน้า (Forward Air Base) ของฐานทัพอากาศ Anderson ที่เครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศจะสลับหมุนเวียนกันมาวางกำลังเพื่อปฏิบัติภารกิจใน #สงครามเวียดนาม
ในช่วงที่กิจกรรมการบินทิ้งระเบิดจากอู่ตะเภาอยู่ในจุดสูงสุดนั้น มีเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 กว่า 50 ลำประจำการอยู่ที่อู่ตะเภา เมื่อรวมกับเครื่องบินลำเลียง เครื่องบินเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศ และอื่น ๆ ทำให้มีอากาศยานขนาดใหญ่ในฐานบินแห่งนั้นกว่า 70 ลำ เครื่องบินของกองทัพอากาศสหรัฐจากฐานบินอู่ตะเภาร่วมปฏิบัติภารกิจใน Operation Arc Light Operation Menu และ Operation Linebacker ทั้ง I และ II เช่นเดียวกับการทิ้งระเบิดในกัมพูชา และยังมีส่วนในการรองรับอากาศยานและชาวเวียดนามใต้และกัมพูชาที่อพยพออกมาหลังจากกองทัพสหรัฐถอนตัวออกจากทั้งสองประเทศอีกด้วย หลังจากนั้นกองทัพอากาศสหรัฐก็ถอนกำลังออกจากประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และส่งมอบสนามบินอู่ตะเภาคืนให้กับรัฐบาลไทยในปี 2519

ดังนั้น ข้อสังเกตุที่ว่าการสร้างรันเวย์ที่สองเพื่อจุดประสงค์ในการรองรับ B-52 นั้น “ไม่เป็นความจริง” เพราะทุกวันนี้สนามบินหลายแห่งในประเทศไทยก็รองรับเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่แบบ B-52 ได้อยู่แล้ว ซึ่งหนึ่งในนั้นคืออู่ตะเภาที่สร้างมาเพื่อรองรับ B-52 ตั้งแต่ต้น
แต่การสร้างรันเวย์ที่สองนั้น จุดประสงค์เพื่อรองรับจำนวนเที่ยวบินโดยสารที่จะมีมากขึ้นตามการพัฒนาเมืองการบิน (#Aerotropolis) ภาคตะวันออก ซึ่งการมีสองรันเวย์จะทำให้สนามบินอู่ตะเภารองรับเที่ยวบินต่อชั่วโมงได้มากขึ้น รวมถึงมีความสะดวกในกรณีที่ต้องมีการปิดซ่อมรันเวย์ใดรันเวย์หนึ่ง ซึ่งจะทำให้สนามบินมีรันเวย์สำรองในการรองรับเที่ยวบิน (ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับที่ทำไมการก่อสร้างรันเวย์ที่สามของสนามบินสุวรรณภูมิจึงมีความจำเป็น) และเป็นเรื่องปกติในสนามบินขนาดใหญ่ที่ควรต้องมีรันเวย์ตั้งแต่สองรันเวย์ขึ้นไป
ไม่ได้เกี่ยวใด ๆ เลยกับการสร้างหรือขยายเพื่อรองรอง B-52 ครับ