นิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ความฝันที่ยากจะเป็นจริง?

  1. เรายังไม่เห็นว่าการนำอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่กระจายตัวกันอยู่ทุกวันนี้มารวมกัน จะก่อให้เกิดการส่งเสริมกัน (Synergy) ได้มากขนาดไหน

การร่วมกลุ่มเป็นนิคมอุตสาหกรรมมักจะมาจากความต้องการของอุตสาหกรรมที่ต้องการสาธารณูปโภค ทั้งน้ำ ไฟ ขยะ การกำจัดของเสีย ที่เป็นส่วนกลาง เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อน และเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ประกอบกับเป็นการสร้างความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โรงงานผลิตบอร์ดย่อมต้องอยากอยู่ใกล้โรงงานผลิตชิพ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงงานปิโตรเคมีย่อมต้องอยากอยู่ใกล้โรงกลั่นหรือท่าเรือหรือระบบท่อส่งน้ำมัน หรืออุตสาหกรรมรถยนต์ โรงงานประกอบรถยนต์ย่อมอยากอยู่ใกล้โรงงานประกอบตัวถัง โรงงานผลิตเครื่องยนต์ โรงงานผลิตเบาะที่นั่งรถยนต์ เนื่องจากสะดวกทั้งการขนส่ง ลำเลียง การประสานงาน การกำจัดของเสีย การดูแลความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย

แต่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป้าหมายของกระทรวงกลาโหม จะได้รับผลดีอะไรในการมาอยู่รวมกัน? เราลองนึกภาพบริษัทชัยเสรีที่อยู่ที่ปทุมธานี หรือพนัส แอสแซมบลีที่อยู่ที่พนัสนิคม ซึ่งใกล้แหล่งผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ต่าง ๆ ที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และภาคตะวันออกของประเทศ การย้ายทั้ง Supply Chain ไปยังกาญจนบุรี นอกจากจะต้องลงทุนสูงจนไม่คุ้มค่าจนจะมีใครอยากย้ายมาแล้ว ยังไกลจากท่าเรือ ระบบรถไฟ และระบบคมนาคมที่ต้องใช้ในการขนส่งและส่งออก

หรือแม้แต่โรงงานผลิตอาวุธต่าง ๆ ของกองทัพก็กระจุกตัวอยู่ที่ลพบุรีและนครสวรรค์ การจะย้ายโรงงานเหล่านั้นไปที่กาญจนบุรีต้องลงทุนอีกหลายพันล้านบาท และยังไม่รู้ว่าผลลัพธ์ของการย้ายไปที่กาญจนบุรีคืออะไร

  1. เราคิดว่าพื้นที่เป้าหมายในอำเภอบ่อพลอยนั้นมีข้อจำกัดมากกว่าข้อได้เปรียบ เหมือนกับกระทรวงกลาโหมแค่เลือกที่ดินที่ตนเองมี มากกว่าที่ดินที่น่าจะสร้างข้อได้เปรียบในการเป็นนิคมอุตสาหกรรมได้ (Offer no geographical advantage) รวมถึงไม่แน่ใจว่ากระทรวงกลาโหมมีอำนาจในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมหรือไม่

อำเภอบ่อพลอยไม่ติดทะเลและอยู่ไกลจากทะเล ทำให้จะมีข้อจำกัดที่อุตสาหกรรมต่อเรือต่าง ๆ จะไม่มาลงทุนที่นี่ โดยเฉพาะเป้าหมายหนึ่งที่กระทวงกลาโหมพูดก็คืออุตสาหกรรมต่อเรือเพื่อรองรับความต้องการในฟิลิปปินส์และบังคลาเทศ ซึ่งทำให้เราสงสัยว่าอะไรทำให้กระทรวงกลาโหมคิดว่าอู่ต่อเรือหรือให้บริการซ่อมบำรุงเรือจะมาลงทุนในจังหวัดกาญจนบุรีที่ไม่ติดทะเลหรือไม่มีแม่น้ำขนาดใหญ่ที่เรือเข้าถึงได้ ลองนึกภาพบริษัทอย่าง มาร์ซัน ต่อเรือที่กาญจนบุรี แล้วต้องหาทางลำเลียงชิ้นส่วนหรือเรือที่ต่อเสร็จแล้วทั้งลำมาประกอบที่สมุทรปราการ มันก็ไม่น่าจะสะดวกหรือช่วยลดต้นทุนได้

อีกทั้งที่นี่ยังไม่มีสนามบินที่มีความพร้อม ซึ่งทำให้เป็นการยากที่การลงทุนในอุตสาหกรรมซ่อมและปรับปรุงอากาศยาน (MRO) จะเกิดขึ้นได้ และถึงแม้จะสร้างสนามบินในนิคมอุตสาหกรรม ก็จะถือเป็นการลงทุนซ้ำซ้อนกับพื้นที่ส่งเสริมการลงทุน MRO ที่สนามบินอู่ตะเภา เช่นนี้บริษัทอย่าง อาร์ วี คอนเน็กซ์ ก็น่าจะอยากไปสร้างโรงงานที่อู่ตะเภามากกว่าที่บ่อพลอย ซึ่งมีความพร้อมมากกว่าในทุกด้าน ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐ และมีบริษัทหลายแห่งพร้อมจะลงทุนตรงนั้นอยู่แล้ว รวมถึงข้อจำกัดของการผลิตวัตถุระเบิดก็อาจทำให้มีโรงงานอีกหลายประเภทไม่ต้องการมาอยู่ในที่เดียวกัน

ตามข่าวก็คือกระทรวงกลาโหมเลือกที่ดินตรงนี้ซึ่งเป็นที่ดินของกองทัพ เราจึงคิดว่ากระทรวงกลาโหมเลือกเพราะมันเป็นที่ดินที่มีอยู่แล้ว มากกว่าเป็นที่ดินที่ผ่านการพิจารณาแล้วว่าจะช่วยสร้างข้อได้เปรียบให้กับนิคมอุตสาหกรรมจริง ๆ เพราะที่นี้ยังมีข้อจำกัดมากกว่าข้อได้เปรียบ

อีกทั้งไม่แน่ใจว่ากระทรวงกลาโหมมีอำนาจในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมหรือไม่ ถ้าไม่มีอำนาจตามกฎหมาย กระทรวงกลาโหมก็ต้องทำเรื่องคืนที่ดินให้กับรัฐ และมอบหมายหน่วยงานที่มีอำนาจเข้ามาเป็นผู้จัดการ ซึ่งก็คือการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หมายความว่าสุดท้ายพื้นที่นี่ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายต่าง ๆ ที่จะต้องทำเป็นปกติแล้วอยู่ดี และในทางกลับกัน จริง ๆ แล้วไม่ว่าบริษัทไหนตั้งที่ไหน ก็สามารถได้รับสิทธิ์การส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศตามพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศได้อยู่แล้ว เนื่องจากกฎหมายนี้ไม่ได้ระบุพื้นที่พิเศษในการส่งเสริม

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.