นิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ความฝันที่ยากจะเป็นจริง?

  1. กระทรวงกลาโหมมีมาตรการกระตุ้น (Incentive) อย่างไรในการที่จะสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

ไม่ว่าจะมีนิคมหรือไม่ แต่สิ่งที่กระทรวงกลาโหมยังไม่เคยมีก็คือ มาตรการส่งเสริมและกระตุ้นให้เอกชนสนใจลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

นั่นหมายถึงมาตรการทางภาษี หรือการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทางด้านกฎหมายที่มากกว่าการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติยุทธภัณฑ์ ซึ่งออกแบบมาเพื่อป้อมกันไม่ให้เอกชนมีอาวุธ มากกว่าการจะอำนวยความสะดวกให้เกิดอุตสาหกรรมได้ การลงทุนวิจัยเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ควรจะได้รับการยกเว้นภาษีหรือการส่งเสริมการลงทุนก็เป็นสิ่งที่เรายังไม่เห็นในข้อมูลที่ปรากฎตามข่าว

ซึ่งนั่นทำให้เอกชนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจที่จะลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพราะคิดว่าเอาเงินไปลงทุนทำอย่างอื่นน่าจะได้ประโยชน์และได้ผลกำไรมากกว่า แต่ที่ผ่านมากระทรวงกลาโหมพูดแต่ว่า พร้อมเปิดโอกาสในการให้เอกชนเข้ามาร่วมทุน พร้อมส่งเสริมเอกชน แต่มาตรการต่าง ๆ ที่มีเหมือนกับการนั่งรอให้เอกชนเข้ามาหาอย่างเดียว ไม่ได้มีมาตรการการส่งเสริมอย่างจริงจัง เป็นทัศนคติแบบราชการที่ไม่ได้เข้าใจเอกชนที่เป็นเจ้าของเงินจริง ๆ ว่า รัฐไม่สามารถบังคับเอกชนให้มาลงทุนได้ และเอกชนจะไม่ลงทุนถ้าไม่เห็นโอกาสในการทำกำไร

การให้ #สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ #DTI เข้ามาร่วมถือหุ้นกับกิจการที่มาลงทุน เพื่อให้ได้ประโยชน์ตามพ.ร.บ. #เทคโนโลยีป้องกันประเทศ นั้น จริง ๆ ก็เป็นเพียงแค่การลดอุปสรรคของระเบียบและกฎหมาย แต่ไม่ใช่มาตรการส่งเสริมที่จะกระตุ้นให้เกิดความสนใจลงทุนอย่างแท้จริง (การลดอุปสรรคและการส่งเสริมนั้น ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน)

ส่วนเป้าหมายในการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก โดยดึงนักลงทุนจากต่างประเทศนั้น จริง ๆ แล้วเป็นเป้าหมายที่มีความเป็นไปได้และน่าสนใจ เช่นสหรัฐหรือยุโรปที่มีค่าแรงสูงและต้นทุนการผลิตที่สูง แต่การจะดึงดูดให้บริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย เพื่อส่งออกไปยังประเทศที่สาม จำเป็นต้องมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่มากพอและชัดเจน ซึ่งถ้าไม่มีมาตรการเหล่านี้ ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ

อนึ่ง นอกจากมาตรการทางภาษี การส่งเสริมการลงทุน การมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องและอุตสาหกรรมรองรับที่ชัดเจนจนคุ้มค่าพอที่จะทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตแล้ว ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะดึงดูดนักลงทุนได้ก็คือการมีตลาดในประเทศที่ใหญ่เพียงพอดูดซับกำลังการผลิต ซึ่งนั่นหมายถึงเหตุผลตามข้อ 4 คือ

  1. อุตสาหกรรมป้องกันประเทศจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าตลาดในประเทศยังไม่เปิดโอกาส หรือไม่สร้างความได้เปรียบให้ผู้ประกอบการในประเทศ หรือบริษัทต่างชาติที่มาลงทุนในประเทศไทย

พูดง่าย ๆ คืออาวุธที่ผลิตในประเทศไทย ไม่มีการการันตีใด ๆ ว่ากองทัพจะพิจารณาจัดหาเข้าประจำการ ถ้าเอกชนไม่เห็นโอกาสว่าจะมีคำสั่งซื้อ ก็ยากมากที่จะมีใครสนใจลงทุน ในปัจจุบันกองทัพยังไม่มีแนวทางหรือกฎระเบียบที่จะพิจารณาอาวุธของไทย หรืออาวุธต่างชาติที่ผลิตในประเทศไทยก่อนเป็นอันดับแรก แล้วอุตสาหกรรมป้องกันประเทศจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าลูกค้าเพียงองค์กรเดียวของประเทศไม่การันตีใด ๆ ว่าอย่างน้อยที่สุด การผลิตอาวุธในประเทศจะสร้างข้อได้เปรียบเมื่อต้องแข่งขันในการขายกับอาวุธที่ผลิตจากต่างประเทศ

อุตสาหกรรมนี้แตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพราะลูกค้าคือองค์กรและหน่วยงานราชการเท่านั้น ซึ่งในแต่ละประเทศมีเพียงไม่กี่หน่วยงาน หรือบางกรณีมีเพียงหน่วยงานเดียวเท่านั้น ดังนั้นการลงทุนเพื่อการผลิตใด ๆ มักจะต้องมองตลาดในระดับภูมิภาค เช่นเดียวกับการที่อู่ Damen ของเนเธอแลนด์คงจะไม่ลงทุนสร้างอู่ต่อเรือในประเทศอื่นในอาเซียนเพื่อขายเรือรบ เนื่องจากมีการลงทุนขนาดใหญ่ในเวียดนามแล้ว หรือ BAE System ที่เลือกที่จะใช้อู่ในประเทศไทยในการแข่งขันเสนอแบบเรือตรวจการณ์ในฟิลิปปินส์มากกว่าเสนอที่จะต่อในฟิลิปปินส์เอง

ดังนั้น การที่อย่างน้อยที่สุด ถ้ากระทรวงกลาโหมยืนยันว่า อาวุธที่ผลิตในประเทศไทย ไม่ว่าของคนไทยหรือต่างชาติ จะได้รับการพิจารณาก่อนเป็นอันดับแรก ก็จะสร้างแรงดึงดูดให้กับนักลงทุนในการลงทุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศมากขึ้น และมีโอกาสมากขึ้นที่จะพิจารณาย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย แต่ถ้าไม่มี เราก็ยังนึกไม่ออกว่า บริษัทอย่าง NORICO จะอยากย้ายฐานการผลิตรถถังมาในประเทศไทยทำไม เพราะทุกวันนี้ก็ขายให้กับกองทัพไทยในราคาต่ำกว่าคนอื่นอยู่แล้วทั้ง ๆ ที่ผลิตในจีน หรือบริษัทอย่าง ARTEC จะมาตั้งฐานการผลิตยานเกราะล้อยาง Boxer ในประเทศไทยทำไมในเมื่อกองทัพไทยไม่เคยการันตีว่าเมื่อผลิตแล้วจะมีคำสั่งซื้อ และถ้าผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่น ก็สู้ไปตั้งฐานการผลิตที่ประเทศนั้นเลยไม่ดีกว่าหรือ เนื่องจากสิทธิประโยชน์ที่กระทรวงกลาโหมเสนอมานั้นไม่ได้ดึงดูดใจหรือลดต้นทุนในการผลิตได้

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.