เรามักจะบ่นกันตลอดว่า กองทัพมักไม่สนับสนุนอาวุธที่เกิดจากการวิจัยหรือคนไทยผลิต ซึ่งมีส่วนจริงอยู่มากทีเดียวครับ เพียงแต่เราอาจจะมองข้ามไปว่า มันมีประเด็นบางอย่างที่ต้องพิจารณา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ กระบวนการ #การรับรองมาตรฐานทางทหาร และ #อาวุธไทย ชนิดนั้นผ่าน #มาตรฐานทางทหาร หรือยัง
ประเทศไทยนั้น แม้ส่วนใหญ่กองทัพไทยจะใช้มาตรฐาน #NATO เป็นเสมือนมาตรฐานทางทหารหลักของชาติ (De Facto Standard) เนื่องจากอาวุธส่วนใหญ่นั้นใช้มาตรฐานนี้ แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ประเทศไทยนั้น “ยังไม่มีมาตรฐานทางทหารเป็นของตนเอง” ซึ่งนั่นหมายถึงถ้าจะพัฒนาอาวุธสักชิ้น เราก็ยังไม่รู้ว่าจะไปอ้างอิงมาตรฐานไหน

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก และเป็น Keyword ว่า #อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ จะเกิดขึ้นหรือไม่ เนื่องจากถ้าประเทศใดไม่มีมาตรฐานทางทหาร อุตสาหกรรมป้องกันประเทศก็จะเกิดได้ยากมาก เพราะจะมีอุปสรรคจากการที่ผู้ใช้ไม่ยอมรับ หรือการที่ผู้พัฒนาไม่รู้จะพัฒนาไปทางใด
ตรงนี้เป็นความรับผิดชอบโดยตรงและเต็ม ๆ ของ #กระทรวงกลาโหม และ #เหล่าทัพ ต่าง ๆ ที่ควรจะต้องออกมาตรฐานทางทหารของไทยขึ้นมาสักที จะ Copy มาตรฐาน NATO มาทั้งเซ็ตก็ได้ แต่มันก็ต้องออกประกาศหรืออะไรสักอย่าง เพื่อเราจะได้รู้ว่า อ้อ ถ้าจะวิจัยอาวุธ ต้องไปเปิดดูมาตรฐานใด
กระบวนการวิจัยและพัฒนาอาวุธนั้นก็จะสามารถดำเนินการตามมาตรฐานทางทหารได้ เพราะมาตรฐานจะกำหนดว่า คุณสมบัติของอาวุธนั้นจะมีอะไรบ้าง กันกระสุน ทนความร้อน ทนทะเล ทนการรบกวนการสื่อสาร ทนสภาพอากาศอะไร มีอายุการใช้งานกี่ชั่วโมง กี่ปี สื่อสารและพูดคุยกับระบบอาวุธอื่นได้อย่างไร ต้องมีการทดสอบทดลองอย่างไร กี่ครั้ง กี่เงื่อนไข จัดเก็บเอกสารการทำวิจัยอย่างไร เยอะแยะมากมาย
ดังนั้นก็ขอย้ำอีกครั้งว่า กระทรวงกลาโหมจำเป็นอย่างที่สุดที่จะต้องกำหนดมาตรฐานทางทหาร มิเช่นนั้นไม่มีทางที่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศจะเกิดขึ้นได้ครับ
แต่ในระหว่างนี้ ช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ละเหล่าทัพและกระทรวงกลาโหม จะมีกลไกหนึ่งคือ #คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานยุทโธปกรณ์ หรือ #กมย. ซึ่งจะมีทั้ง #กองทัพบก #กองทัพเรือ #กองทัพอากาศ และกระทรวงกลาโหม คณะกรรมการนี้จะทำการพิจารณาว่า อาวุธที่กองทัพจะจัดซื้อนั้น ผ่านมาตรฐานทางทหารหรือไม่ ถ้าผ่านและได้รับการรับรองแล้ว กองทัพจึงสามารถจัดซื้อได้ ดังนั้นอาวุธทุกชนิดที่กองทัพซื้อ ต้องผ่านคณะกรรมการนี้ทั้งสิ้น
อาวุธไทยก็ไม่เว้นครับ คณะกรรมการจะดูว่า การวิจัยอาวุธนั้นมีกระบวนการอะไรบ้าง และมีการทดสอบอย่างไร ผู้ผลิตอาวุธไทยจะต้องส่งเอกสารที่แสดงให้เห็นถึงระเบียบวิจัย ขั้นตอนการทำวิจัย และขั้นตอนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับ กมย. พิจารณา โดยเฉพาะในส่วนของการทดสอบทดลองนั้น กมย. จะกำหนดว่าอาวุธไทยต้องผ่านการทดสอบอะไรบ้าง เช่น ปืนใหญ่จะต้องยิงทั้งหมด 270 นัด (ตัวเลขคร่าว ๆ) โดยที่คุณสมบัติและความแม่นยำต้องเหมือนเดิม หรือรถทางทหารจะต้องผ่านการทดสอบทุกสถานีที่สนามฝึกขับและทดสอบยานพาหนะ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ฯลฯ ตามแต่อาวุธจะเป็นแบบใด
การรับรองมาตรฐานทางทหารผ่านกระบวนการ กมย. แต่ละเหล่านี้ จะทำให้เหล่าทัพในฐานะผู้ซื้อมั่นใจได้ว่า อาวุธที่จะจัดซื้อนั้นมีมาตรฐานทางทหารครบถ้วนตามที่เหล่าทัพต้องการ ใช้งานได้อย่างมั่นใจ พูดง่าย ๆ มันก็คล้าย ๆ กับมาตรฐาน มอก. ของเหล่าทัพที่ออกมาประทับตรารับรองว่า อาวุธนี้มีมาตรฐาน ใช้งานได้นั่นเอง
ตัวอย่างของอาวุธที่ผ่าน กมย. ของเหล่าทัพแล้วก็เช่น ปืนใหญ่และกระสุนต่าง ๆ ของศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร (ศวอ.ศอพท.) รถเกราะ #FirstWin ของบริษัท #ชัยเสรี จำกัด หรืออากาศยานไร้นักบิน RTAF #U1 ของบริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด หรือกำลังอยู่ในระหว่างการรับรองมาตรฐาน เช่น ยานเกราะ #DTI 8×8 Black Widow Spider และ AAPC ของ #สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งอยู่ในระหว่างการทดสอบเพื่อรับรองมาตรฐานของ กมย. เป็นต้น
อนึ่ง จริง ๆ แล้วตามหลักการ ถ้าอาวุธนั้น ๆ ผ่านการรับรองของกมย. กลาโหม (กมย.กห.) ก็จะถือว่าผ่านการรับรองของ กมย.เหล่าทัพ (กมย.ทบ., กมย.ทร., และ กมย.ทอ.) ด้วย แต่เอาเข้าจริงแล้ว กมย.เหล่าทัพก็ไม่ยอมรับการรับรองของ กมย.กลาโหม ซึ่งทำให้อาวุธไทยนั้น ๆ ต้องไปขอการรับรองทุกเหล่าทัพกว่าจะประจำการได้ ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องปกติของกองทัพไทยที่มักไม่ทำงานร่วมกัน และเป็นเรื่องที่กระทรวงกลาโหมต้องแก้ไขต่อไป แต่ในระหว่างนี้ ก็ต้องว่ากันไปตามนี้ก่อนครับ
ดังนั้น ถูกต้องแล้วที่เราเรียกร้องให้กองทัพควรจะพิจารณาจัดหาอาวุธไทยเข้าประจำการ แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องถามเช่นกันก็คือ อาวุธไทยชนิดนั้นผ่านการรับรองของ กมย. ของแต่ละเหล่าทัพหรือยัง ถ้ายัง ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการทดสอบทั้งการส่งเอกสารการวิจัยและการทดสอบจริงให้ผ่านก่อน มิเช่นนั้นกองทัพจะซื้อไม่ได้
โอเคล่ะว่า เราสามารถบ่นได้ว่า ทำไมทีอาวุธต่างชาติ ไม่เห็นจะขอเอกสารหรือให้มีการทดสอบอะไรซับซ้อนแบบอาวุธไทยเลย หรือผู้ผลิตต่างชาติส่งเอกสารอะไรมาก็เชื่อหมด ต่างจากอาวุธไทยที่สั่งทดสอบแล้วทดสอบอีกไม่จบเสียที อันนี้เราสามารถบ่นได้เต็มที่เลยครับ แต่ในอีกด้าน อาวุธไทยก็ต้องผ่าน กมย. ก่อนด้วย ถ้าไม่ผ่าน กองทัพไม่จัดซื้อ ก็บ่นไม่ได้เช่นกัน
ดังนั้นครั้งต่อไป ก่อนที่เราตั้งคำถามว่า อาวุธไทยชนิดนี้ทำไมกองทัพไม่จัดซื้อ อาจจะต้องถามก่อนว่า อาวุธไทยชนิดนี้ ผ่าน กมย. เหล่าทัพนั้น ๆ หรือยัง ถ้าผ่าน กมย.แล้ว ทำตามความต้องการก็แล้ว แต่เหล่าทัพยังเลือกอาวุธต่างชาติอีก ก็วิจารณ์ได้แบบจัดเต็มเลยครับว่า หน่วยงานนั้นไม่สนับสนุนอาวุธไทยอย่างที่พูดครับ