737 MAX ทดสอบบินเสร็จแล้ว แต่อีกนานกว่าจะกลับมาให้บริการได้

Boeing และ FAA เสร็จสิ้นการบินทดสอบเพื่อรับรองการแก้ไข Software ของระบบควบคุมการบินของ Boeing 737 MAX แล้ว แต่ยังต้องมีการดำเนินการอีกมากกว่าที่เครื่องจะได้รับรองให้ขึ้นบินรับส่งผู้โดยสารอีกครั้ง

โดยการบินทดสอบนั้นดำเนินการโดยนักบินของ FAA เพื่อพิสูจน์ว่าการปรับปรุง Software นั้นเป็นไปตามข้อกำหนดและมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อขอการรับรองความสมควรเดินอากาศหรือไม่ โดยการดำเนินการต่อจากนี้เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากการบินทดสอบ การตรวจเอกสารการออกแบบและพัฒนาว่าเป็นไปตามข้อกำหนดของ FAA หรือไม่ และจะเผยแพร่รายงานให้สาธารณชนให้ความเห็น หลังจากนั้นจะเป็นการออกข้อกำหนดความสมควรเดินอากาศ (Airworthiness Directive: AD) และการแจ้งชุมชนการบินนานาชาติ (Notification to the International Community: CANIC) เพื่อแจ้งความคืบหน้าอย่างเป็นทางการ รวมถึงขั้นตอนที่ต้องดำเนินการก่อนที่จะนำเครื่องบินกลับเข้ามาให้บริการ และหลังจกานั้นจะเป็นการรับรองความสมควรเดินอากาศ และการรับรองโปรแกรมการฝึกสำหรับนักบินของทุกสายการบินที่จำเป็นต้องทำการฝึกบินกับ 737 MAX ที่ได้รับการปรับปรุงแล้วก่อนที่จะทำการบินรับส่งผู้โดยสารจริง ๆ

ซึ่งนั่นหมายความว่า น่าจะยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนก่อนที่ 737 MAX จะกลับมาให้บริการได้ โดยคาดว่าน่าจะกลับมาบินให้บริการได้อย่างเร็วที่สุดในสิ้นปีนี้ นั่นทำให้เวลาที่สายการบินทั่วโลกต้องงดบิน 737 MAX นั้นกินเวลาเกือบสองปี

อย่างที่เราทราบกันดีก็คือ 737 MAX ต้องถูกส่งงดบินหลังจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับสายการบิน Lion Air และ Ethiopian Airlines ในช่วงเวลาติด ๆ กันที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่าสามร้อยคน สาเหตุเกิดจากระบบ MCAS ซึ่งวิศวกรของ Boeing เขียนขึ้นมาแก้ปัญหาการที่เครื่องบินจะเชิดหัวขึ้นเมื่อทำการบินเข้าใกล้ความเร็วเสียง โดยใช้ข้อมูลจากเซนเซอร์วัดมุมปะทะของเครื่องเพียงอย่างเดียว และนักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องโดยไม่สนใจระบบ MCAS ได้ (Override) ซึ่งทำให้เกิดสถานการณ์ Single Point of Failure (หรือมีคนแปลภาษาไทยว่าจุดเดียวของความล้มเหลว) ที่ถ้าข้อมูลจากเซนเซฮร์ผิดพลาด นักบินก็จะไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ ยิ่งไปกว่านั้นนักบินไม่เคยได้รับการแจ้งว่ามีระบบนี้อยู่บนเครื่อง ทำให้นักบินไม่เคยได้รับการฝึกหรือรับรู้ว่ามีสถานการณ์ลักษณะนี้ที่อาจเกิดขึ้นได้ จนทำให้นักบินไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์บนเครื่องได้และนำมาสู่อุบัติเหตุทั้งสองครั้ง

ผลจากเหตุการณ์นี้ทำให้ความน่าเชื่อถือของ Boeing ตกต่ำลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ยอดสั่งซื้อ Boeing 737 MAX ลดลงอย่างมหาศาลจน Boeing ต้องปิดสายการผลิตชั่วคราว รวมถึงถูกสายการบินลูกค้ายกเลิกคำสั่งซื้อจำนวนมาก ประมาณการกันว่า Boeing ต้องจ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชย และมีค่าใช้จ่ายจากการหยุดสายการผลิตและการส่งงดบินมากกว่า 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือ 5.89 แสนล้านบาท รวมถึง FAA ที่ถูกวิจารณ์เป็นอย่างมากในมาตรฐานการควบคุมและรับรองความปลอดภัยของอากาศยาน

และเมื่อเดือนที่ผ่านมา มีผู้หวังดีซึ่งเป็นวิศวกรของ Boeing เอง (Whistleblower) ที่ชื่อ Curtis Ewbank เขียนจดหมายถึงวุฒิสภาสหรัฐ เตือนว่ามีปัญหาคล้าย ๆ กันนี้เกิดขึ้นในการพัฒนา Boeing 777X และถ้าปล่อยไปโดยไม่มีการแก้ไข อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุคล้าย ๆ กับที่เกิดกับ 737 MAX ได้อีกด้วย

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.