เพิ่งได้รับวรสาร DTech ของ #สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ DTI มา เจอบทความซึ่งน่าจะเชื่อมโยงกับข่าวประชาสัมพันธ์ของกองคลังแสง #กรมสรรพาวุธทหารบก ครับ ตามข่าวที่กองทัพบกประชาสัมพันธ์ เป็นการติดตั้งป้อมปืนอัตโนมัติบนยานเกราะล้อยางแบบ V-100 เพื่อนำไปทดสอบต่อไป โดยดูรูปร่างของป้อมปืนแล้วน่าจะเป็นป้อมปืน Protector RWS ของ #Kongsberg ประเทศนอเวย์ค่อนข้างแน่

พอดีกับบทความในวารสาร DTech เรื่องโครงการวิจัยและพัฒนาป้อมปืนอัตโนมัติกับการทดสอบระบบอำนวยการยิง ซึ่งเอ่ยถึงการติดตั้งป้อมปืนของ Kongsberg บนรถ V-100 ด้วย ดังนั้นเราจึงคิดว่า นี่น่าจะเป็นเรื่องเดียวกันครับ
โดยบทความกล่าวว่า DTI จัดหาป้อมปืนของ Kongsberg (ซึ่งน่าจะเป็น Protector RWS ค่อนข้างแน่) มาเพื่อทดสอบและเรียนรู้จำนวน 2 ชุด และใช้ประสบการณ์ในการใช้งานป้อมปืนนั้นมาออกแบบและพัฒนาป้อมปืนขึ้นมาเอง โดย DTI ทำการออกแบบระบบเครื่องกลและไฟฟ้า ส่วนที่สองให้บริษัท โชคนำชัย อุตสาหกรรม จำกัด ทำเรื่องการขึ้นรูปชิ้นงานและการประกอบรวม ส่วนที่สามให้ #คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำเรื่องการเขียน Fire Control Software และนำมาประกอบรวมกัน ได้ต้นแบบป้อมปืนหน้าตาไม่เหมือนกับ Protector RWS ออกมา 1 ชุด ดังภาพด้านล่างนี้ที่เราถ่ายมาจากหนังสือ DTech แบบให้เห็นว่ามาจากตัวหนังสือ เนื่องจากเราไม่มีลิขสิทธิ์ในการนำภาพมาเผยแพร่ต่อครับ (สำหรับท่านที่อยากได้วารสาร อาจจะต้องติดต่อทาง DTI โดยตรงครับ)
กลุ่มบริษัท โชคนำชัย นั้นเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ รับชิ้นรูปชิ้นงาน และมีธุรกิจต่อรถบัสและต่อเรือในนามบริษัท สกุลฎ์ซี จำกัดด้วย ถือเป็นบริษัทที่ค่อนข้างใหญ่พอสมควร ซึ่งทำให้น่าจะมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตชิ้นส่วนโลหะต่าง ๆ ส่วนการเขียน Software นั้น การให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมพัฒนานั้นถือเป็นแนวทางที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นการให้อาจารย์ นักวิจัย และนิสิตมีโจทย์วิจัยใหม่ ๆ และเป็นการใช้ขีดความสามารถของภาคการศึกษาให้เป็นประโยชน์ต่อการวิจัยของประเทศครับ
การเลือก V-100 ซึ่งเป็นรถเกราะของกองทัพบกที่ปลดประจำการแล้วมาเป็นรถเพื่อใช้ในการทดสอบ (Test Bed) ก็น่าจะช่วยให้มีความอ่อนตัวในการนำมาใช้งานและปัรบแก้กันได้มากกว่ารถที่มีในประจำการ
ต้นแบบป้อมปืนของ DTI นั้น ดูแล้วยังเป็นเพียงต้นแบบมาก ๆ เพราะดูแล้วยังเป็นเพียงต้นแบบวิจัย อุปกรณ์บางส่วนยังไม่ใช่มาตรฐานทางทหาร การออกแบบยังไม่มีการเก็บอุปกรณ์หรือป้องกันผลกระทบจาการปฏิบัติงาน แต่ก็ต้องย้ำว่านี่คือต้นแบบวิจัย ไม่ใช่ต้นแบบเพื่อการผลิตจริง การสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีในระหว่างทางจะทำให้ป้อมปืนมีคุณสมบัติดีขึ้นไปเอง ดังนั้น TAF คิดว่า ถ้าโครงการก้าวไปสู่การพัฒนาจนสามารถผลิตจริงได้ หน้าตาและอุปกรณ์ไม่น่าจะเหมือนอย่างนี้แน่นอนครับ
ป้อมปืนอัตโนมัติเป็นงานวิศวกรรมที่ซับซ้อน แต่ถือเป็นงานวิศวกรรมที่ประเทศไทยพอจะมีขีดความสามารถในการพัฒนาได้ ดูแล้วน่าจะต้องใช้เวลาอรกหลายปีในการพัฒนา แต่โดยรวมก็น่าจะเป็นการพัฒนาป้อมปืนที่ก้าวหน้ามากที่สุดเท่าที่เคยทำมาแล้ว ก็หวังว่าทีมวิจัยทั้งสามส่วนจะไม่ถอดใจหรือแยกย้ายกันไปจนไม่ทำต่อให้เสร็จเสียก่อน อีกทั้งป้อมปืนอัตโนมัติมักจะไม่ถูกจัดหามาใช้งานด้วยเพราะมีราคาแพง ถ้าสามรถทำการวิจัยจนผลิตในประเทศได้ น่าจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า รวมถึงการสนับสนุนต่าง ๆ ทำได้คล่องตัวกว่า และถ้าวิจัยสำเร็จ ก็น่าจะเป็นโอกาสที่จะนำเสนอให้นำไปติดตั้งกับยานเกราะของกองทัพที่ยังมียานเกราะอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่มีป้อมปืนอัตโนมัติใช้งานครับ
หมายเหตุ: 5 ภาพแรกถ่ายจากวารสาร DTech ฉบับที่ 37 ส่วน 2 ภาพหลังมาจากกองทัพบก