มีบทวิเคราะห์ในหนังสือพิมพ์ Post Today วันที่ 6 ก.ค. เรื่อง “ทบ. อเมริกันบุกไทยไม่แคร์โควิด ตั้งฐานทัพ-หาแนวร่วมสู้จีน?” ซึ่งวิเคราะห์ว่า การมาเยือนประเทศไทยของผู้บัญชาการทหารบกสหรัฐ (ตำแหน่งจริง ๆ คือประธานเสนาธิการกองทัพบกเนื่องจากระบบของสหรัฐไม่มีผู้บัญชาการเหล่าทัพ) เป็นการกดดันจีน และต้องการหาที่ตั้งฐานทัพสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือบทความพยายามสื่อว่าคือไทย
TAF ขอแสดงความเห็นแย้งบทความดังกล่าวในประเด็นเรื่องการตั้งฐานทัพในไทย ดังนี้ครับ

ถ้าติดตามความเคลื่อนไหวทางทหารในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะของประเทศมหาอำนาจ เราจะพบว่าการเดินทางเยือนแต่ละประเทศของชาติมหาอำนาจนั้น “เป็นเรื่องปกติ” ที่มีการทำอย่างต่อเนื่อง
สำหรับประเทศไทย การเยือนไทยของผู้นำทหารของสหรัฐก็ถือเป็นเรื่องปกติมาก เพราะเกิดขึ้นทุกปี และเกิดขึ้นปีละหลายครั้งด้วย เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่า สหรัฐและไทยเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงที่ใกล้ชิดกันมาก สหรัฐถือว่าไทยคือพันธมิตรหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะประเทศพันธมิตรหลักนอกนาโต้ (Non-NATO Major Alliance) การฝึกและความร่วมมือทางทหารปีะละกว่า 200 ครั้ง รวมถึงขั้นตกลงกับรัฐบาลไทยในการขอใช้สนามบินของไทยเป็นจุดแวะพัก และท่าเรือของไทยเป็นจุดรับการส่งกำลังบำรุงปีละหลายร้อยครั้ง
ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจที่ทุกปี นายทหารระดับนายพลของสหรัฐ (ต้องบอกก่อนว่านายพลของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ รัสเซีย หรือจีน นั้นมีน้อยและใหญ่มากจริง ๆ ไม่เยอะเหมือนบ้านเรา) มายังประเทศไทยตลอดทั้งปี
และเมื่อเป็นเช่นนั้น การเชิญผู้บัญชาการทหารของไทยไปเยือนสหรัฐก็เกิดขึ้นแทบทุกปีเช่นกัน ดังนั้น สิ่งนี้ไม่ใช่การยกระดับหรืออะไรทั้งสิ้น แค่เป็นสิ่งที่สหรัฐและไทยทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว
ถ้าจะเป็นการส่งสัญญาณ ก็ไม่ใช่เป็นการส่งสัญญาณที่พิเศษอะไร แต่เป็นการส่งสัญญาณปกติว่า สหรัฐถือว่าไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดประเทศหนึ่งของตนในแปซิฟิก และต้องการให้ไทยมีบทบาทในการทำให้ภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่เสรีและเปิดกว้าง ซึ่งรัฐบาลสหรัฐจะมี Hashtag ของนโยบายนี้คือ #FreeAndOpenIndoPacific ซึ่งนายทหาร นักการเมือง และรัฐฐาลสหรัฐ “ปั่น” Hashtag นี้มาหลายปีแล้ว
ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของไทยที่จะต้องดูว่า ในขณะที่ไทยมีความร่วมมือใกล้ชิดกับสหรัฐ ไทยจะพัฒนาความสัมพันธ์กับจีนอย่างไรให้เกิดความสมดุล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่กระทบกับความสัมพันธ์ของประเทศในอาเซียนซึ่งควรจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ไทยต้องคำนึง
และในอีกด้าน ถ้ามองด้านการทหารแล้ว การตั้งฐานทัพสหรัฐในไทยได้ประโยชน์หรือมีข้อได้เปรียบอย่างไร
ข้อได้เปรียบที่อาจจะนึกออกก็คือตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ใกล้ไม่ไกลจากทะเลจีนใต้ที่เป็นพื้นที่ความขัดแย้งหลัก และพอจะมีที่ทางให้ตั้งฐานทัพได้
แต่สหรัฐจะได้เปรียบจริงหรือ ถ้าการตั้งฐานทัพสหรัฐในประเทศไทยเกิดขึ้น?
ในแง่ที่ว่าถ้ามีฐานทัพเรือในไทย แม้จะไม่ได้ไกลจากทะเลจีนใต้ แต่มันก็ยังไกลเกินไป คือต้องเดินทาง 1- 2 วันเป็นอย่างน้อยกว่าจะเข้าพื้นที่ขัดแย้ง สิ่งอำนวยความสะดวกของฐานทัพเรือไทยใน ถ้าจะต้องรองรับกองเรือสหรัฐนั้น ต้องมีการลงทุนอีกมาก และต้องใช้ที่ทางอีกพอสมควร ในขณะที่การตั้งฐานทัพในฟิลิปปินส์นั้น แทบจะอยู่ปลายจมูกของทะเลจีนใต้ และเป็นการป้องกันฟิลิปปินส์ในฐานะพันธมิตรของสหรัฐและคู่ขัดแย้งในทะเลจีนใต้โดยตรง
ถ้าเป็นฐานทัพอากาศ เครื่องบินขัยไล่ที่ปฏิบัติการจากประเทศไทยนั้นมีข้อจำกัดมากในการปฏิบัติการในทะเลจีนใต้เพราะอยู่ห่างเกินไป ต้องเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศหลายครั้ง ยังไม่รวมว่าถ้ากัมพูชาหรือลาวไม่อนุญาตให้เครื่องบินบินผ่านน่านฟ้า ก็อาจจำเป็นต้องบินอ้อมอ่าวไทยลงไปและวกกลับเข้ามายังทะเลจีนใต้ ซึ่งทำให้ประเทศไทยไม่เหมาะสมกับการปฏิบัติการในทะเลจีนใต้ของกองทัพอากาศสหรัฐเท่ากับฟิลิปปินส์
ในส่วนของเครื่องบินลำเลียงและเครื่องบินทิ้งระเบิดนั้น สหรัฐสามารถปฏิบัติการได้จากฐานทัพอากาศ Anderson ในเกาะกวมอยู่แล้ว และที่สำคัญก็คือ ทุกวันนี้ไทยกับสหรัฐมีข้อตกลงในการส่งกำลังบำรุงและสนับสนุนอากาศยานลำเลียงของสหรัฐที่เดินทางไปมาอยู่แล้ว ทำให้เราจะเห็นอากาศยานของกองทัพอากาศสหรัฐลงจอดในสนามบินอู่ตะเภา ตาคลี หรือเชียงใหม่เป็นประจำ
และสุดท้าย ไทยจะอยากดึงสหรัฐให้เข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทยทำไม ในเมื่อไทยไม่ใช่คู่ขัดแย้งในกรณีทะเลจีนใต้ และที่ผ่านมา สหรัฐไม่เคยส่งสัญญาณใด ๆ เลยที่จะต้องการตั้งฐานทัพในไทย ซึ่งเมื่อพิจารณาจากทั้งข้อจำกัดทางยุทธศาสตร์ การทหาร และการทูต จึงมีโอกาสน้อยถึงน้อยมากที่ไทยจะเป็นที่ตั้งฐานทัพของสหรัฐ
ดังนั้นการเดินทางเยือนไทยของนายพลสหรัฐ จึงเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่การส่งสัญญาณเพื่อตั้งฐานทัพในไทย หากเป็นการส่งสัญญาณปกติเหมือนเช่นที่ผ่านมาว่า ไทยกับสหรัฐถือเป็นพันธมิตรกัน และการทัวร์เอเชียของประธานเสนาธิการกองทัพบกสหรัฐก็เป็นการกระชับความสัมพันธ์และรักษาอิทธิพลของสหรัฐในไทยและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียไว้ ในภาวะที่จีนกำลังแผ่อิทธิพลออกไปทั่วโลกอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านี้ครับ/TAF