เมื่อมหาอำนาจแข่งขันกันเอาชนะใจคนไทยผ่าน Social Media
ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเซ็งหงส์ เอ้ย เซ็งเป็ด กับกรณี VIP อยู่ #สถานเอกอัคราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย U.S. Embassy Bangkok ก็ออก Op-Ed ของ #เอกอักคราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย อีกครั้ง คราวนี้เกี่ยวกับทะเลจีนใต้ ซึ่งฟาดจีนเต็ม ๆ
Op-Ed ย่อมาจาก Opposite of the Editorial Page หรือบทความหน้าตรงข้ามกองบรรณาธิการ ซึ่งจะเป็นการแสดงความเห็นที่ออกมาจากคอลัมนิสต์ ไม่ใช่กองบรรณาธิการที่ถือเป็นจุดยืนอย่างเป็นทางการของหนังสือพิมพ โดย Op-Ed ก็เปรียบเสมือนความเห็นกึ่งทางการนั่นเอง และในกรณีนี้ก็คือความเห็นกึ่งทางการของสหรัฐ ที่มาจากตัวท่านทูตสหรัฐประจำประเทศไทย

ตั้งแต่เอกอัครราชทูตไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรีได้รับการเสนอชื่อจากประธานาธิบดีทรัมป์ให้มาดำรงตำแหน่งในประเทศไทย ประเทศที่มีสถานทูตสหรัฐที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกตั้งแต่ต้นปี เขาก็เริ่มใช้การทูตเชิงรุก และสื่อสารกับประชาชนชาวไทยโดยตรง ซึ่งถือเป็นการพลิกบทบาทครั้งใหญ่ของสถานทูตสหรัฐที่สมัยก่อนมักจะออกมาพูดแต่เฉพาะกรณีที่มีประเด็นเท่านั้น
อาจจะเป็นเพราะพื้นฐานของเขาที่ก่อนจะมาทำงานทูต เขาเป็นผู้บริหารของสำนักงานกฎหมาย Sullivan and Cromwell และมีบทบาทในการเจรจาควบรวมและเข้าซื้อกิจการในทวีปเอเชียกว่า 20 ปี ทำให้เขาเข้าใจวัฒนธรรมคนเอเชียเป็นอย่างดี และเข้าใจว่า ต้อง “เล่น” อย่างไร ถึงจะสื่อสารและเข้าถึงคนเอเชีย โดยเฉพาะคนไทย (ทูตของสหรัฐและอีกหลายประเทศจะเลือกใครมาก็ได้ที่เหมาะสม ไม่ต้องเป็นข้าราชการประจำ)
ซึ่งนี่อาจถือได้ว่าเป็นการ “ไล่ตาม” #สถานเอกอักคราชทูตจีนประจำประเทศไทย เพื่อตีตื้น “King of Soft Power” อย่างจีนที่สื่อสารเชิงบวกและใช้วัฒนธรรมและเศรษฐกิจนำการทูต จนไทยกับจีนสามารถกระชับความสัมพันธ์ได้อย่างแน่นแฟ้น และพูดได้ว่าสหรัฐ “ตกขบวน” ไปนานหลายปี
แต่ในช่วงหลัง โดยเฉพาะหลังจากประธานาธิบดีสีเจิ้นผิงของจีนกระชับอำนาจได้อย่างครบถ้วน จีนก็เริ่มการทูตเชิงรุกแบบใหม่ เป็นการทูตที่แข็งกร้าวมากขึ้น และผสมไปกับความรู้สึกชาตินิยม และทัศนคติที่ว่าจีนควรมีจุดยืนในระดับนานาชาติที่ดีกว่านี้ ทำให้ต้องได้รับความเคารพมากกว่านี้ในฐานะมหาอำนาจใหม่ เพื่อสอดรับกับผลประโยชน์ของจีนที่เริ่มแผ่ขยายไปทั่วโลก แม้จะยังไม่ทิ้งคำพูดสวย ๆ และอ่อนนุ่มน่าฟัง แต่จีนก็เริ่มใส่คำพูดที่แข็งกร้าวและดุดันมากขึ้น ซึ่งเป็นสไตล์การทูตแบบ “#WolfWarrior” ซึ่งเป็นชื่อเรียกสไตล์การทูตยุคสีเจิ้นผิงในช่วงหลังของจีน ตามชื่อภาพยนตร์ทำเงินของจีนเกี่ยวกับกลุ่มทหารที่บุกไปช่วยคนจีนในแอฟริกา และเป็นการพลิกจากการทูต Low Profile ที่เป็นแนวคิดหลักของการทูตจีนมาตั้งแต่ยุคเติ้งเสี่ยวผิง
การประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ประเด็นความขัดแย้งเกี่ยวกับ #สงครามการค้า ความกังวลด้านเทคโนโลยี และข้อพิพาทดินแดนทั้งกับญี่ปุ่น อินเดีย ไต้หวัน และทะเลจีนใต้กับอาเซียน ดูเหมือนจะยิ่งทำให้การทูต Wolf Warrior ถูกนำมาใช้มากขึ้น แม้จะช่วยทำให้จีนได้รับความเคารพและเกรงใจมากขึ้น แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า มันสร้างกระแสหวาดกลัวจีนหรือ “#Sinophobia” ไปหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาวะที่มีข่าวเรื่องจีนเข้าควบคุมโครงสร้างพื้นฐานในหลายประเทศที่จีนปล่อยเงินกู้ให้สร้างโครงการที่มีแนวโน้มขาดทุนสูงจนประเทศเหล่านั้นไม่มีเงินจ่าย เช่นในเอเชียใต้และแอฟริกา ที่นำมาสู่ข้อกล่าวหาว่าจีนกำลังล่าอาณานิคมยุคใหม่โดยใช้กับดักหนี้และเศรษฐกิจ
และปฏิเสธไม่ได้ว่า การแพร่ระบาดของ #โควิด19 ยิ่งส่งให้กระแส Sinophobia รุนแรงขึ้น ซึ่งจีนก็ตอบโต้ด้วยการทูต Wolf Warrior กลับไปทุกครั้ง จนหลายคนเริ่มถามหา Soft Power ที่จีนดูเหมือนจะลืมไป
และนั่นก็เป็นช่องว่างที่สหรัฐใช้เพื่อทำคะแนนกลับ ทูตสหรัฐคนใหม่ไม่ลังเลที่จะเล่นประเด็นที่คนไทยกังวลมานานอย่างการจัดการน้ำใน #แม่น้ำโขง ซึ่งคนไทยจำนวนมากสงสัยว่าจีนอยู่เบื้องหลังภาวะแห้งแล้งครั้งใหญ่จากการสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำที่ต้นแม่น้ำโขง เมื่อสถานทูตจีนออกบทความอธิบายชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดการน้ำในแม่น้ำโขงว่า ความแห้งแล้งที่เห็นนั้นเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน และอันที่จริงน้ำในแม่น้ำโขงมีเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำจากการปล่อยน้ำของจีนด้วยซ้ำ ทูตสหรัฐก็ออก Op-Ed ตอบโต้ โดยย้ำว่าแม่น้ำโขงคือสมบัติร่วมกันของภูมิภาค และสนับสนุนจุดยืนของไทยในการเรียกร้องให้จีนมีความโปร่งใสและคำนึงถึงประเทศอื่นในการจัดการแม่น้ำโขง
Op-Ed ล่าสุดของท่านทูตดีซอมบรีเล่นประเด็นที่ดูเหมือนจะไกลตัวคนไทย แต่สุดท้ายจะส่งผลกระทบกับคนไทยคือ กรณีพิพาทด้านดินแดนใน #ทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนอ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้ทั้งหมดจนชิดชายฝั่งเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ และเป็นข้อขัดแย้งของจีนกับประเทศอาเซียนที่มีมาอย่างยาวนาน และทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา หลังจากจีนเพิ่มการวางกำลังทางทหาร สร้างเกาะเทียมและฐานทัพหลายแห่งในพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ และกำลังดำเนินการเพื่อประกาศให้ห้วงอากาศและพื้นน้ำของทะเลจีนใต้ทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมของจีนภายใต้โครงการ #BlueSea2020 ซึ่งเรือและอากาศยานต่างชาติที่ผ่านเข้ามายังทะเลจีนใต้จะต้องรายงานตัวกับจีน ถือเป็นการรุกครั้งใหญ่ของจีนในสงครามการอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ที่จีนประกาศก้องว่าใครก็ตามที่ท้าทายการอ้างอธิปไตยของจีนเหนือทะเลจีนใต้นั้นจะต้องประสบความล้มเหลวอย่างแน่นอน
ทูตดีซอมบรีซัดตรง ๆ ว่า Blue Sea 2020 ที่จีนอ้างว่าต้องการบังคับใช้กฎหมายทางทะเลเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมนั้น กลับเผยวัตถุประสงค์ที่แท้จริงเมื่อเรือของจีนจมเรือประมงเวียดนามในวันต่อมา ตลอดจนมีการส่งเรือสำรวจแหล่งพลังงานและกองเรือรบลงพื้นที่เพื่อข่มขวัญบริษัทน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่งมาเลเซีย และยั่วยุอินโดนีเซียโดยการส่งเรือประมงและเรือคุ้มกันจำนวนหลายร้อยลำเข้าไปยังน่านน้ำรอบเกาะนาทูนาของอินโดนีเซีย
นอกจากนั้น ทูตดีซอมบรียังกลับมาย้ำประเด็นเดิมเรื่องการจัดการแม่น้ำโขง โดยเรียกร้องความโปร่งใสของจีนและสนับสนุนท่าทีของรัฐบาลไทยและคนไทยในการเรียกร้องความรับผิดชอบจากจีน
เขากล่าวย้ำกับคนไทยว่า เรื่องทะเลจีนใต้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทย เพราะแม้ไทยจะไม่มีเอี่ยวในดินแดนแถบนั้น แต่การค้าและการส่งออกนำเข้าของไทยกว่า 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็น 80% ของ GDP ไทยนั้นต้องผ่านทะเลจีนใต้ ซึ่งทำให้แม้แต่เกษตรกรไทยก็อาจได้รับผลกระทบถ้าจีนควบคุมทะเลจีนใต้และจำกัดเสรีภาพในการเดินเรือได้สำเร็จ
ทูตสหรัฐยังย้ำว่าสหรัฐสนับสนุน #อาเซียน ที่แสดงจุดยืนว่า ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้จะต้องได้รับการแก้ไขโดยใช้ #กฎหมายระหว่างประเทศ รวมไปถึง #อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (#UNCLOS) ซึ่งจริง ๆ แล้วจีนแพ้คดีฟิลิปปินส์ใน #ศาลอนุญาโตตุลาการทางทะเล ที่ตัดสินไม่รับรองคำกล่าวอ้างสิทธิ์ทางทะเลของรัฐบาลจีน โดยบอกว่านี่ถือจีนละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และเพิกเฉยต่อสิทธิอธิปไตยของชาติอื่น และย้ำจุดยืนอีกครั้งเพื่อเรียกร้องให้จีนปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จีนละเมิด

Op-Ed นี้ออกมาหลังจากกองทัพเรือจีนจัดการซ้อมรบขนาดใหญ่ในทะเลจีนใต้ ซึ่งทำให้สหรัฐและพันธมิตรต้องจัดการซ้อมรบตอบโต้ในพื้นที่เดียวกัน โดยสหรัฐเชื่อว่า ทะเลจีนใต้ไม่ใช่ทะเลอาณาเขตหรือพื้นที่อธิปไตยของจีน แต่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะของหลายชาติในอาเซียน และทุกชาติทั่วโลกมีสิทธิและเสรีในการเดินเรือและทำการบินเหนือทะเลจีนใต้ ซึ่งถูกรับรองจากหลักเสรีภาพในการเดินทางหรือ Freedom of Navigation ดังนั้นสหรัฐจะท้าทายการอ้างสิทธิ์ของจีนนี้ด้วยการส่งเรือรบและเครื่องบินเดินทางผ่านทะเลใต้จีนไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ต่อไป
และทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นถึงการทูตสมัยใหม่ ที่ไม่ได้มีเพียงการที่ทูตเข้าพบข้าราชการและนักการเมืองอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่ต้องสื่อสารกับประชาชนในประเทศนั้น ๆ และ Social Media ทำให้การสื่อสารเหล่านั้นสามารถเข้าถึงประชาชนได้โดยตรง ที่ผ่านมาจีนใช้การกระชับความสัมพันธ์ในระดับประชาชนอย่างได้ผลมาแล้ว และดูเหมือนว่าครั้งนี้จะเป็นทีของสหรัฐบ้าง
และเราคนไทยก็ไม่ต้องแปลกใจอีกแล้ว ถ้าต่อไปนี้ประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ จะสื่อสารประเด็นระดับโลกโดยตรงกับคนไทย สู้และแซะกันเองผ่านการพูดคุยตรงกับคนไทยอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ซึ่งถือว่าน่าติดตามเป็นอย่างยิ่งครับ/TAF

ลิงก์ไปยังบทความที่เกี่ยวข้องของสถานทูตทั้งสองแห่ง
สถานทูตจีน: “7 คำถาม 7คำตอบ สำหรับการพัฒนาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรน้ำในแม่น้ำโขง”
สถานทูตสหรัฐ: “รักษ์แม่โขง: สายโลหิตทางเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงทั้งภูมิภาค”
https://th.usembassy.gov/th/saving-the-mekong-the-economic-lifeblood-of-an-entire-region-th/
สถานทูตสหรัฐ: “การธำรงไว้ซึ่งสิทธิอธิปไตยของรัฐทั้งมวล”
https://www.facebook.com/usembassybkk/photos/a.119472568073894/3382397928447992/?type=3&theater
TAF สงวนสิทธิ์ในภาพหรือบทความที่ TAF เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ห้ามทำซ้ำ ดัดแปลง หรือนำไปใช้ต่อไม่ว่าช่องทางใดหรือวิธีการใด ๆ ทั้งข้อความ ภาพ เสียง หรือภาพเคลื่อนไหว TAF สงวนสิทธิ์ดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ลิขสิทธิ์ของภาพหรือข้อความอื่นที่ไม่ใช่การผลิตของ TAF เป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามที่ระบุไว้