บทความนี้เป็นการกู้คืนบทความในชื่อเดียวกันที่เคยเผยแพร่เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 ดังนั้นข้อมูลและความคิดเห็นจึงเป็นข้อมูลและความคิดเห็น ณ ตอนนั้นครับ
สำนักเลขานุการกองทัพเรือได้เผยแพร่เอกสารประชาสัมพันธ์โครงการจัดหาเรือดําน้ําของกองทัพเรือจำนวน 9 หน้า (https://www.facebook.com/prthainavy/posts/1005002922884397)เพื่อชี้แจงถึงความจำเป็นในการต้องมีเรือดำน้ำเข้าประจำการในกองทัพเรือไทย และเหตุผลในการจัดหาเรือดำน้ำ S26T จากประเทศจีน
คณะทำงาน TAF เคยนำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกแบบเรือดำน้ำ S26T ของกองทัพเรือไทยใน TAF Editorial #11 – S26T เรือดำน้ำกระดาษตัวเปล่า ที่ไม่ก้าวหน้ากว่าใคร และมีความตั้งใจว่า เมื่อเอกสารประชาสัมพันธ์ของกองทัพเรือถูกเผยแพร่ออกมา น่าจะมีข้อมูลที่ตอบข้อสงสัยในใจของคณะทำงาน TAF และอีกหลาย ๆ คนได้
น่าเสียดาย ที่สิ่งที่เราคิดนั้นผิดไปแทบทั้งหมด
เอกสารการชี้แจงของกองทัพเรือ
เอกสารถูกแบ่งเป็น 5 ข้อคือ
- ความจำเป็นในการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ
- เรือดำน้ำกับความมั่นคงในสถานการณ์และภับคุกคามปัจจุบัน
- เรือดำน้ำกับผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
- เรือดำน้ำกับความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์
- การพิจารณาคัดเลือกเรือดำน้ำของกองทัพเรือ
ข้อ 1 – 4 กินเนื้อที่ 5 หน้านั้น ถ้าตัดรูปส่วนใหญ่ที่ Copy มาจากอินเตอร์เน็ตและการตัดคำที่ผิดพลาดแล้ว จะพบว่ามีเนื้อหาที่เป็นตัวอักษรเพียง 3 หน้า และข้อ 1 – 4 นั้นเป็นข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลใหม่ เนื่องจากเอกสารเริ่มด้วยการยกข้อความในเอกสารของจอมพลเรือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศอดุลเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ทรงจัดทำขึ้นเพื่อวิเคราะห์ว่าประเทศสยามนั้นเหมาะสมที่จะมีเรือดำน้ำ ในข้อ 2 ยกความสำคัญของเรือดำน้ำในฐานะส่วนทวีกำลังรบหรือ Force Multiplier (หรือในเอกสารใช้คำว่าตัวคูณกำลัง) และการจัดหาเรือดำน้ำของชาติในภูมิภาค
ข้อ 3 ยกถึงผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลว่ามีจำนวนมหาศาล ซึ่งคล้ายกับข้อมุลเก่าในสมัยที่กองทัพเรือชี้แจงความจำเป็นในการส่งกำลังเข้าร่วมปราบโจรสลัดในโซมาเลีย ข้อ 4 เป็นการวิเคราะห์ภูมิศาสตร์ของประเทศไทยว่าสามารถใช้งานเรือดำน้ำได้ แต่สั้นมากแทบไม่มีข้อมูลที่หนักแน่นและน่าสนใจ โดยเฉพาะภาพการปฏิบัติการของเรือดำน้ำต่างชาติในอ่าวไทย ซึ่งทำให้ไม่สามารถแก้ข้อกล่าวหาที่ว่าอ่าวไทยตื้นเรือดำน้ำไม่สามารถปฏิบัติการได้
ข้อ 1 – 4 เป็นสิ่งที่เราไม่วิจารณ์ และเห็นด้วยกับกองทัพเรือ ด้วยเพราะว่าเป็นสิ่งที่เราทราบดีอยู่แล้ว และเราก็แผยแพร่ข้อมูลในลักษณะนี้ให้กับสาธารณชนอย่างต่อเนื่องมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งคนไทยจำนวนมากก็มีความเข้าใจมากขึ้นแล้วว่า อ่าวไทยซึ่งมีความลึกใกล้เคียงกับน่านน้ำของเยอรมันนั้น สามารถใช้เรือดำน้ำปฏิบัติการได้อย่างได้ผล
แม้จะผิดหวังที่ว่ากองทัพเรือควรจะทำได้ดีกว่านี้ในการชี้แจง แต่เราก็ไม่เห็นแย้งกับข้อมูลใดในข้อ 1 – 4 นี้
สิ่งสำคัญคือข้อ 5 และเนื้อหาที่เป็นตัวอักษรราว 2 หน้ากระดาษกว่า ๆ ซึ่งเป็นส่วนที่ควรจะตอบโต้ข้อสงสัยที่แท้จริงของคนไทยหลายคนที่ว่า “เราไม่ได้สงสัยว่ากองทัพเรือควรมีเรือดำน้ำหรือไม่ เพราะกองทัพเรือควรมี แต่เราสงสัยว่าทำให้ต้องจัดหาเรือดำน้ำ S26T จากจีน”
ข้อสังเกตต่อเอกสารของกองทัพเรือ
คณะทำงาน TAF มีข้อสังเกตสำคัญเกี่ยวกับเนื้อหาและรูปภาพในข้อ 5 ซึ่งกินเนื้อที่จากหน้า 6 – 9 ดังนี้
- เนื้อหาทั้งหมด แทบจะไม่ต่างจากสิ่งที่ผู้บัญชาการทหารเรือเคยใช้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเอาไว้ รายละเอียดที่เพิ่มเข้ามานั้นน้อยและไม่หนักแน่นพอที่จะตอบข้อสงสัยหลายข้อ แม้ในบางส่วนนั้น ดูเหมือนว่ากองทัพเรือจะรับทราบข้อสังเกตของหลาย ๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้า 6 ด้วยประโยคที่ว่า “แม้ว่าผู้ผลิตจากจีนเป็นรายเดียวที่เสนอเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ ในวงเงิน 36,000 ล้านบาท ในขณะที่รายอื่นเสนอเพียงจำนวน 2 ลำ แต่ก็มิได้เป็นเหตุผลเดียวที่นำมาตัดสิน หากแต่ได้มีการคำนึงถึงในทุกประเด็นที่กล่าวข้างต้น” แต่ข้อมูลหลังจากนั้นเป็นข้อมูลที่อ่อนมากและไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่กองทัพเรือควรจะมีอยู่ในมือเพื่อเปรียบเทียบให้เห็น ซึ่งก็ไม่ต่างจากการที่ TAF ต้องอ้างแหล่งข่าวในการเขียนข้อมูล ทำให้ความน่าเชื่อถือของเอกสารนี้ ไม่ได้ต่างไปจากข้อความในอินเตอร์เน็ตในตอนนี้
- จนถึงตอนนี้ เรายังไม่เห็นแม่แต่รูปของ S26T รวมถึงคุณลักษณะคร่าว ๆ ของเรือดำน้ำลำนี้ ซึ่งแตกต่างจากเมื่อครั้งที่กองทัพเรือจัดหาเรือฟริเกตสมรรถนะสูงจากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งกองทัพเรือเผยแพร่ภาพจำลองสามมิติพร้อมกับคุณลักษณะเบื้องต้น เช่น มิติของเรือ (กว้าง ยาว สูง ฯลฯ) และระบบอาวุธเบื้องต้น ซึ่งตอบคำถามและข้อสงสัยได้หลายส่วน แม้กองทัพเรือจะย้ำหลายครั้งเรื่องระบบอาวุธว่าจะได้มาพร้อมกับการจัดหา S26T แต่ไม่มีข้อความใดที่สามารถระบุถึงแบบของตอร์ปิโดหรือจรวดได้เลย (แม้ว่าเราจะทราบกันดีว่าควรจะเป็นตอร์ปิโดอะไรก็ตาม ยกเว้นแต่ว่าจะเป็นอาวุธที่ยังไม่เคยมีใครใช้) ซึ่งแตกต่างจากการจัดหาเรือฟริเกตสมรรถนะสูงที่กองทัพเรือระบุแบบอาวุธอย่างชัดเจน
- เรารอสมุดปกเขียวจากกองทัพเรือตามที่เคยเป็นข่าวก่อนหน้านี้ ซึ่งควรจะมีเนื้อหาและข้อมูลที่ครบถ้วนเหมือนที่มีในโครงการอื่นของกองทัพเรือหรือแม้แต่เหล่าทัพอื่น แต่สุดท้ายเราได้เพียงเอกสารชี้แจงจำนวน 6 หน้า ที่ไม่มีหัวกระดาษหรือแบบฟอร์มที่ทำให้คนอ่านรู้ด้วยซ้ำว่า นี่คือเอกสารอย่างเป็นทางการของกองทัพเรือ ถ้าเอกสารนี้ไม่ถูกโพสครั้งแรกที่เฟสบุ๊คของสำนักเลขาธิการกองทัพเรือ ก็ไม่น่าจะมีใครเชื่อถือได้ว่า นี่เป็นเอกสารอย่างเป็นทางการของกองทัพเรือจริง ๆ
- จนถึงตอนนี้ ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยข้อสงสัยและเครื่องหมายคำถาม กองทัพเรือซึ่งควรจะเป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลมากที่สุดเกี่ยวกับเรือดำน้ำ S26T นี้กลับให้ข้อมูลออกมาน้อยที่สุดอย่างน่าแปลกใจ ทั้ง ๆ ที่การเปิดเผยข้อมูลที่ควรเปิดเผยในตอนนี้ ก็ไม่มีผลกระทบ หรือไม่ควรทำให้ข้อมูลเปลี่ยนแปลงไปในกรณีที่คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติให้จัดหา S26T ในอนาคต ยกเว้นแต่ว่าข้อมูลนั้นยังไม่นิ่ง และยังมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด และถ้าเป็นจริงก็ทำให้ยิ่งน่าสงสัยว่า S26T ที่นอกจากจะเป็นเรือที่ออกแบบใหม่ ไม่เคยมีใครเห็น ไม่เคยมีใครใช้งาน ยังเป็นแบบเรือที่ยังไม่นิ่ง แม้ว่ากองทัพเรือจะเลือกให้เป็นผู้ชนะแล้วก็ตาม
- ข้อมูลหลายข้อมูลนั้นตรงกับสิ่งที่ TAF เคยเผยแพร่ไปก่อนหน้านี้แล้ว หรือตอบคำถามของคณะทำงาน TAF ได้อย่างตรง ๆ เช่น การมีเรือดำน้ำจากฝรั่งเศสเข้าร่วม หรือการที่กองทัพเรือกล่าวว่ามีการส่งกำลังพลเข้ารับการฝึกการใช้งานเรือดำน้ำ รวมถึงการส่งช่างเทคนิคไปเข้ารับการอบรมที่อู่ต่อเรือและบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ ซึ่งตอบคำถามที่คณะทำงาน TAF เคยตั้งคำถามว่า การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ซื้อกับการฝึกอบรมให้กับผู้ซื้อนั้นต่างกัน และกองทัพเรือก็ตอบคำถามนี้แล้วว่า การจัดซื้อ S26T มีเพียงการฝึกอบรม ไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีในลักษณะที่จะต่อยอดได้เช่นเดียวกับเทคโนโลยีการผลิตกระสุนที่กองทัพบกได้จากประเทศยูเครนจากการจัดหารถเกราะล้อยาง BTR-3E1 หรือเทคโนโลยีการต่อเรือสมัยใหม่ที่กองทัพเรือได้จากการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจากประเทศอังกฤษ หรือเทคโนโลยีสงครามอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เทคโนโลยีวัสดุผสม หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่กองทัพอากาศได้จากการจัดหาเครื่องบินขับไล่ Gripen และขัดกับข้อมูลที่กองทัพเรือให้ก่อนหน้านี้พิจารณาด้วย
กล่าวโดยสรุปคือกองทัพเรือแทบไม่ได้ตอบคำถามหรือข้อสงสัยที่หลายคนตั้งคำถามตอ่กองทัพเรือเลย กองทัพเรือเพียงแต่พูดประเด็นเดิมให้ยาวขึ้นเท่านั้น ไม่มีข้อมูลใหม่ที่ชัดเจนเพียงพอ และถ้าข้อมูลของคณะทำงาน TAF ปราศจากหลักฐานอ้างอิง ข้อมูลของกองทัพเรือในเอกสารนี้ก็ปราศจากหลักฐานอ้างอิงเช่นกัน ทั้งที่กองทัพเรือควรจะมีข้อมูลมากกว่าใครในประเทศ แต่ภาพส่วนมากที่ใช้ยังต้องใช้ภาพจากอินเตอร์เน็ตด้วยซ้ำ
หนึ่งในหลายคำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบ
ในการนี้ เราจะขอตั้งคำถามบางข้อจาก TAF Editorial #11 อีกครั้ง โดยพูดเรื่องเดิมให้สั้นลง ให้ชัดเจนอีกครั้งดังนี้
- บทเรียนที่ผ่านมาของการจัดหาเรือรบจากจีน มีความชัดเจนว่า โครงสร้างตัวเรือของเรือรบจีนมีปัญหาด้านคุณภาพวัสดุ มาตรฐานการผลิต มีผลต่อการซ่อมทำ เป็นภาระการซ่อมบำรุงมาก
- แนวทางการออกแบบเรือดำน้ำ โดยเฉพาะรูปทรงตัวเรือ การจัดวางเครื่องจักร และมาตรการอื่นๆ ต้องลดการแพร่เสียง ส่งผลต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติการ การรับรองความพร้อมปฏิบัติการ การออกแบบผิดพลาดจะกลายเป็นเสียของ เพราะ แทบแก้ไขอะไรไม่ได้ ถ้าเสียงดังก็จบ เพราะ ความเงียบไม่ให้ถูกตรวจพบคืออาวุธสำคัญของเรือดำน้ำ แต่เรือดำน้ำจีนล้าหลังกว่าชาติอื่น 1 ยุค เทคโนโลยีการลดเสียงก็ยากที่จะทำให้เงียบกว่าได้ เรือ S26T แม้ดัดแปลงจากเรือชั้น Yuan แต่ยังไม่เคยสร้างมาก่อน หากเรือชั้น Yuan เงียบในระดับยอมรับได้ ก็ไม่ได้รับประกันว่า เรือ S26T จะเงียบในระดับเดียวกัน แม้เรือชั้น Yuan เอง ก็ยังเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ เป็นเพราะแบบเรือยังไม่นิ่ง ยังไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจใช่หรือไม่ ถ้าดีหรือพอใจคงไม่เปลี่ยนกันบ่อยแน่ ถ้าเรือไม่เงียบจริง จะมี 3 ลำ 4 ลำ 5 ลำ ไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะออกไปกี่ลำ ก็ถูกตรวจพบและตกเป็นเป้าอยู่ดี
- เป็นไปได้หรือที่จีนจะยอมมอบเทคโนโลยีเรือดำน้ำที่มีขีดความสามารถสูงสุดและถือเป็นความลับทางทหารของตนให้กับไทย หมายถึง ยอมต่อเรือ S26T ของไทย ให้มีสมรรถนะสูงเท่ากับเรือชั้น Yuan รุ่นล่าสุด Type 039C ซึ่งเป็นเรือดำน้ำโจมตีดีเซลไฟฟ้า ที่เป็นกำลังเรือดำน้ำหลักของกองทัพเรือจีนในปัจจุบันและอนาคต ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่า ไทยเองมีความสัมพันธ์ทางทหารที่ดีมากกับชาติตะวันตกมาโดยตลอด โดยเฉพาะสหรัฐฯ คู่แข่งทางยุทธศาสตร์โดยตรงของจีน
- การขายเรือ S26T ให้กับกองทัพเรือไทย จีนเสนอเพิ่งการฝึกการใช้เรือดำน้ำและการซ่อมบำรุงเท่านั้น ซึ่งไม่ถือว่าเป็น Offset แต่เป็น Training มากกว่า แต่แหล่งข่าวจากต่างประเทศระบุชัดเจนว่า กลับเป็นเยอรมันและเกาหลีใต้ที่เสนอความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตชิ้นส่วนและเทคโนโลยีบางสาขา การเสนอความร่วมมือให้กับอู่ในประเทศไทยในการรับเทคโนโลยีการต่อเรือ รวมถึงการเสนอถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนในประเทศไทยจำนวนมาก
- ผู้ผลิตจากยุโรปเสนอข้อเสนอเรือดำน้ำที่ดีกว่า มีอาวุธครบมากกว่า และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทยสามารถต่อยอดได้มากกว่าจีน ในราคาที่กองทัพเรือสามารถจ่ายได้
และคำถามและข้อสังเกตเพิ่มเติมของเรามีดังต่อไปนี้
ต้องการเรือ 2 ลำ แต่ทำไมการได้เรือ 3 ลำจึงเป็นข้อได้เปรียบ?
กองทัพเรือไม่ได้ระบุไว้ในคำร้องขอข้อเสนอหรือ RFP (Request For Proposal) ว่าผู้ผลิตต้องเสนอระบบ AIP ให้ แล้วทำไมเมื่อมีการตัดสินใจ กลับกลายเป็นว่าการที่ S26T มี AIP คือจุดเด่น? ทั้ง ๆ ที่ถ้าอยากได้ AIP ตั้งแต่แรก ควรต้องเขียนไว้ใน RFP ซึ่งถ้ามีการเขียนไว้ใน RFP ผู้ผลิตแต่ละรายต้องมาเสนออย่างแน่นอน เพราะแทบทุกประเทศมีเทคโนโลยี AIP ใช้งานมานานแล้ว
เปรียบเทียบเหมือนการซื้อรถยนต์แล้วไม่ยอมกำหนดว่าต้องมีระบบเบรก ABS มาให้ และไปเลือกแต่รถที่เซลล์แต่ละยี่ห้อเสนอมา “ตามความต้องการ” ของตนคือไม่มี ABS แต่พอมีผู้ผลิตเจ้าหนึ่งบอกว่าตัวเองแถม ABS ให้ กลับกลายเป็นว่าผู้ผลิตเจ้านี่ดีกว่าเพราะมี ABS ทั้ง ๆ ที่ทุกคนก็มี แต่เขาไม่ได้เสนอมาเพราะผู้ซื้อได้ได้บอกว่าต้องการ
ซึ่งถือว่าแปลกมาก และเหตุผลในลักษณะนี้ทำให้ผู้ผลิตทุกชาติที่ทำตาม RFP อาจต้องเสียเปรียบ
RFP ของกองทัพเรือ คือ 2 ลำ ดังนั้นกรณีแรกต้องไม่ให้ความสำคัญกับ “ของแถม” อีก 1 ลำ
คณะทำงาน TAF คาดว่ากองทัพเรือคงไม่ได้ต้องการเรือดำน้ำ 3 ลำแน่ๆ เพราะถ้ามีความต้องการ 3 ลำตั้งแต่ต้น กองทัพเรือ คงประกาศว่าจะซื้อ 3 ลำ เมื่อผู้ผลิตเจ้าอื่นทำราคาไม่ได้ก็เหลือแต่จีน จีนก็คงชนะเพราะเจ้าอื่นเคาะสู้ไม่ไหว กรณีนี้แตกต่างจากกรณีการจัดหา BTR-3E1 ของกองทัพบกเป็นอย่างมาก เพราะกองทัพบกระบุชัดเจนว่าต้องการจัดหารถเกราะในล็อตแรกจำนวน 1 กองพันหรือ 96 คัน แต่มีงบประมาณจัดหาได้เพียง 48 คัน จึงขอจัดหาเพียง 48 คัน แต่เมื่อมีผู้ผลิตเสนอว่าสามารถผลิตให้ได้ทั้ง 96 คันในงบประมาณที่มี กองทัพบกจึงเลือกแบบรถนั้น ซึ่งกลายมาเป็น BTR-3E1
ตัวเลข 2 ลำ น่าจะมาจากโจทย์ของ กองทัพเรือเอง ซึ่งอาจจะมาจากกรมยุทธการทหารเรือว่า ในเบื้องต้นเรือสองลำ เพียงพอต่อความต้องการ เพราะถ้าไม่เพียงพอจนไม่สามารถปฎิบัติภารกิจได้ ก็ไม่ควรที่จะจัดหามาเลยสักลำ แต่ถ้ากองทัพเรือกำหนดมาว่าสองลำ ก็แปลว่ากองทัพเรือมั่นใจว่า สองลำนั้นเพียงพอในการปฏิบัติงานได้
ดังนั้น ถ้า 2 ลำเพียงพอ แล้ว สมมุติว่าเรือจีน “ดี” มี “มาตรฐานเทียบเท่านานาประเทศ” และ มาพร้อมกับ “เทคโนโลยีล้ำสมัย” ดังนั้น กองทัพเรือควรต้องต่อราคาลง 1/3 แทนที่้จะซื้อเพิ่มให้หมดงบประมาณไป
แต่การที่กองทัพเรือรับเรือมาทั้ง 3 ลำ แล้วกลับบอกว่าการได้ 3 ลำคือข้อได้เปรียบ แปลว่ากองทัพเรือไม่ได้วางแผนการใช้กำลัง หรือวางแผนไว้ไม่ดี เพราะในตอนแรกตั้งความต้องการไว้ 2 ลำ แต่พอมีผู้เสนอ 3 ลำก็บอกว่าเป็นข้อได้เปรียบ ทั้ง ๆ ที่ถ้ามีเรือเพิ่มอีก 1 ลำ จะต้องตั้งงบประมาณการซ่อมบำรุงเพิ่มอีกถึง 50% ต้องบรรจุกำลังพลเพิ่มอีกถึง 50% ต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพิ่มอีกถึง 50% แปลว่าสุดท้ายแล้วการมี 3 ลำจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มจากที่่ตั้งไว้ ทำให้เรือที่ว่าถูก อาจจะไม่ถูกจริง
และทำให้ที่จริงแล้ว เราไม่รู้ว่ากองทัพเรือต้องการเรือดำน้ำกี่ลำกันแน่ เพราะจำนวนเรือที่จะเข้าประจำการสามารถเปลี่ยนได้จาก 2 ลำเป็น 3 ลำ ด้วยเหตุผลเพียงว่าผู้ผลิตเขาแถมมาให้เท่านั้น
ระบบอาวุธที่ว่าจัดเต็ม แต่ข้อมูลกลับว่างเปล่า
อาวุธหลักของเรือดำน้ำ ก็ต้องเป็นตอร์ปิโด ความเงียบและความรุนแรง ของตอร์ปิโด เป็นคุณลักษณะสำคัญที่ยังอยู่คู่กับเรือดำน้ำ การเปรียบเทียบก็ควรจะเปรียบเทียบดอร์ปิโดด้วยกัน หรือเปรียบเทียบจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำกับจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำด้วยกัน ไม่ใช่บอกว่าจรวดดีกว่าตอร์ปิโด ซึ่งเหมือนกับการเทียบว่ารถยนต์ดีกว่ารถจักรยานยนต์ ทั้ง ๆ ที่มันเป็นคนละอย่างกัน
ในเมื่อเอกสารของกองทัพเรือไม่มีข้อมูล ดังนั้นคณะทำงาน TAF จึงขอให้ข้อมูลว่า ตอร์ปิโดรุ่นล่าสุดของจีนตอร์ปิโด Yu-6 ซึ่งเป็นตอร์ปิโดที่ได้รับ “แรงบันดาลใจ” จาก ตอร์ปิโด Mk.48 Mod 3 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งชาวประมงจีนทอดแหลากอวนเจอเมื่อช่วงปี 1970 และ 1980 และจีนนำไปสร้างแรงบันดาลใจจนได้ Yu-7 ดังกล่าว
ตอร์ปิโดร์รุ่นนี้ ผลิตขึ้นมาทดแทนรุ่น Yu-5 และ Yu-6 ตามลำดับ หากติดตามเทคโนโลยีของจีนมาโดยตลอด เราจะพบว่า จีนมาการเปลี่ยนรุ่นของอาวุธในระยะเวลารวดเร็ว หากเปรียบเทียบกับเรือผิวน้ำที่จีนออกแบบเองและต่อเอง จะพบว่า บางชุด ได้มีการสร้างขึ้นมาเพียงสองถึงสามลำเท่านั้น
หากมองแง่ดี จีนมีการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้ามองอีกแง่ จีนเองก็ยังไม่นิ่งในเรื่องเทคโนโลยีด้านอาวุธ ทำให้แผนแบบของยุทโธปกรณ์หลากหลายแตกต่างกัน เช่นในปัจจุบันจีนก็ยังต้องจัดหาเรือดำน้ำจากต่างประเทศเข้าประจำการอยู่ ซึ่งไม่ต่างจากอินเดียที่ต้องจัดหาเรือดำน้ำจากต่างประเทศไปพร้อมกับการออกแบบและต่อเรือดำน้ำของตนเอง เพราะอินเดียเพิ่งพัฒนาขีดความสามารถในการออกแบบและต่อเรือดำน้ำเองมาเมื่อไม่กี่ปีนี้เท่านั้น
การที่จีนผลิตอาวุธเองใช้งานเอง อาจจะมีการอัพเกรดอาวุธของตัวเอง หรือทำให้อาวุธของตนล้าสมัย (obsolete) แล้วสร้างใหม่เองได้เพื่อการพัฒนา ด้วยการออกอาวุธรุ่นใหม่ ๆ ตลอดเวลา
แต่ถ้าเป็นประเทศผู้ใช้จะทำอย่างไร หากจีนอัพเกรดเราต้องอัพเกรดตามหรือไม่ เพราะต้องอย่าลืมว่า กองทัพเรือไทยอาจจะเป็นลูกค้ารายเดียวของเรือชุดนี้ หากจีนละทิ้งแผนแบบเดิมแล้วมุ่งไปพัฒนาตอร์ปิโดแบบใหม่ เราจะถูกทิ้งไว้กลางทางหรือไม่ และยังไม่มีความชัดเจนเรื่องสนับสนุนอะไหล่เป็นเวลาถึง 8 ปี ว่าหมายถึงอะไร หมายถึงว่ายังจะมีอะไรอยู่หรือเปล่าหลังจากนั้น และสนับสนุนอะไหล่เป็นเวลาถึง 8 ปีนั้นฟรีหรือไม่ เพราะถ้าเป็นการเสนอว่าจะรับรองว่าจะผลิตอะไหล่ให้ซื้อเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ปี ก็น่าสงสัยว่าหลังจาก 8 ปีที่ไม่ได้รับรองนั้นจะยังมีอะไหล่ให้ซื้อหรือไม่ แต่ถ้าฟรี ทำไมไม่รวมไปอยู่ในระยะเวลารับประกันที่ระบุมาว่า 2 ปี
ไม่มีใครเคยเห็น S26T แม้แต่คนจีนเอง
S26T ไม่ใช่เรือรุ่นเดียวกับที่มีใช้ในกองทัพเรือจีน ไม่มีใครเคยเห็นหรือมีภาพ S26T หรือ S26 ธรรมดา แม้แต่สื่อจีนก็ยังวิเคราะห์ว่า S26T จะต้องเป็นการออกแบบเรือใหม่ที่ลดขนาดจากเรือดำน้ำที่จีนมีใช้งาน
ดังนั้น S26T เป็นเรือที่ต้องออกแบบใหม่ทั้งหมด จีนไม่เคยมีใช้ S26T เช่นเดียวกับ U-209 ที่เป็นรุ่นส่งออก เยอรมันที่เป็นผู้ผลิตก็ไม่มีใช้ และถ้าใช้ตรรกะที่กองทัพเรือใช้คือ U-209 เยอรมันไม่มีใช้นั้นไม่ควรซื้อ กองทัพเรือก็ไม่ควรซื้อ S26T เช่นกัน
และจริง ๆ แล้ว U-209 ยังมีดีกว่าด้วย เพราะถึงแม้เยอรมันไม่มีใช้ แต่มีอีก 14 ประเทศและอีก 61 ลำที่ถูกต่อออกมาใช้งานจริง และถูกปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา ตอนนี้มีรุ่นใหม่ออกมาแล้ว ข้อมูลนี้มีทั่วไป เว็บไซต์ผู้ผลิตก็มีเช่นกัน และเป็นข้อมูลที่รับรู้กันเป็นการทั่วไปไม่ใช่ความลับใด แต่ S26T มี 0 ประเทศ และ 0 ลำที่ถูกต่อออกมาใช้งานจริง ไทยจะเป็นประเทศแรกที่ใช้งานอาวุธที่จีนยังไม่มีใช้เลยด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ จริง ๆ แล้วเรายังมีประเด็นและคำถามอีกมากมายเกี่ยวกับการจัดหาเรือดำน้ำจากจีนในครั้งนี้ แต่เราเห็นว่า เพียงแค่คำถามเหล่านี้ กองทัพเรือยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเลย จึงขอยังไม่ถามคำถามเพิ่มเติมไปมากกว่านี้ เพราะไม่มั่นใจว่าจะได้รับคำตอบ เพราะจากรูปการณ์นี้เราคาดว่า กองทัพเรืออาจไม่สนใจเสียงวิจารณ์ต่าง ๆ และเดินหน้าให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปเช่นเดิม
และนั่นจะทำให้กองทัพเรือ ผู้เลือกแบบ และผู้อนุมัติ ถูกวิจารณ์และตั้งคำถามไปอีก 30 ปี …. ถ้าเรือชุดนี้ยังอยู่ถึงตอนนั้น









One thought on “TAF Editorial #12 – S26T และเอกสารชี้แจง 9 แผ่น กับข้อสงสัยที่ยังไม่มีคำตอบ”