TAF Editorial #15 – S26T คือทางเลือกทางยุทธศาสตร์

บทความนี้เป็นการกู้คืนบทความในชื่อเดียวกันที่เคยเผยแพร่เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2560 ดังนั้นข้อมูลและความคิดเห็นจึงเป็นข้อมูลและความคิดเห็น ณ ตอนนั้นครับ

TAF ร่างภาพภายนอกของแบบเรือที่คาดว่าจะเป็น S26T ซึ่งจะมีความแตกต่างบางประการ โดยรวบรวมจากข้อมูล รูปถ่าย และเอกสารแจกจากทางอู่

โครงการจัดหาเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าแบบ S26T จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างต่อเนื่องถึงความคุ้มค่า ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และที่สำคัญ คือ แรงกดดันจากภายนอกอันเป็นสาเหตุที่ทำให้กองทัพเรือต้องเลือกเรือดำน้ำจากสาธารณรัฐประชาชนจีน TAF เคยเสนอบทวิเคราะห์ที่ชี้ให้เห็นถึงความน่ากังวลและความไม่มั่นใจต่อกระบวนการจัดหาทั้งหมดของกองทัพเรือไทยไปก่อนหน้านี้ แต่การชี้แจงอย่างเป็นทางการจากกองทัพเรือ กลับมีเพียงการจัดทำเอกสารแจก (สมุดปกขาว) ที่เนื้อหาภายในราวกับว่าคัดลอกเอาจากบทความและรูปที่ปรากฏบนอินเตอร์เน็ตหรือสื่อสังคมออนไลน์เท่านั้น อีกทั้งไม่ได้ตอบคำถามและข้อสงสัยของประชาชนทั่วไป ขณะที่การชี้แจงด้วยคำพูดส่วนใหญ่กลับกลายเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงและไม่ได้เป็นทหารเรือ ที่อาจจะไม่คุ้นเคยหรือไม่ทราบข้อมูลทางเทคนิคเป็นการเฉพาะ จึงทำให้การชี้แจงและการดำเนินการด้านการประชาสัมพันธ์ของกองทัพเรือในครั้งนี้อยู่ในภาวะยิ่งทำก็ยิ่งยุ่ง แต่ถ้ายิ่งไม่ทำก็จะยิ่งยุ่งหนัก

TAF ถือโอกาสในการเป็นเสียงแรก ๆ ที่ออกมาตั้งคำถามต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการจัดหา แต่คำถามของสังคมกลับไม่ได้รับการตอบหรือชี้แจงจากผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือน โครงการย่อมต้องมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เราจึงแสวงหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลเปิด จากแหล่งข้อมูลจากต่างประเทศ และอีกหลายแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ เพื่อพยายามรับฟังข้อมูลอีกด้านหนึ่งมานำเสนอ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยที่เป็นเจ้าของเงินภาษีที่รัฐกำลังนำไปจัดหาเรือดำน้ำได้ทราบข้อมูลทั้งสองด้าน และสามารถตัดสินใจได้ว่าควรจะสนับสนุนหรือคัดค้านการจัดหาเรือดำน้ำแบบ S26T จากสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือไม่ โดยเราเลือกเฉพาะประเด็นหลักนำมาเขียนโดยจะไม่เขียนบรรยายระหว่างย่อหน้า เพื่อให้ผู้อ่านรู้สึกเสมือนได้รับข้อมูลโดยตรงจากแหล่งข้อมูลทั้งหมดของเรา

สาเหตุทางเทคนิค ทำไมต้อง S26T

สาเหตุที่เลือกเรือแบบ S26T จากประเทศจีน ก็เพราะจำนวนที่ผู้ผลิตเสนอให้มีมากกว่ารายอื่น โดยในขั้นแรกกองทัพเรือตั้งงบประมาณสำหรับเรือดำน้ำ 2 ลำ เพื่อจัดหาเรือลักษณะเดียวกับแบบ U-209 จากประเทศเยอรมนี ในวงเงิน 36,000 ล้านบาท เป็นค่าเรือลำละ 15,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งกองเรือ แต่ทางฝ่ายจีนเสนอเรือให้ถึง 3 ลำ เพราะทางจีนเองก็ทราบดีว่า ถ้าเทียบตัวต่อตัวนั้น เรือดำน้ำจีนไม่สามารถสู้กับเรืออื่นได้ โดยเฉพาะเรือจากทางยุโรป การจะให้ได้เปรียบต้องสู้ด้วยจำนวนที่มากกว่า คือ สู้ด้วยคุณภาพไม่ได้ ต้องสู้ด้วยปริมาณ อย่างเรือดำน้ำจากจีนมีความพร้อมใช้งาน โดยเฉลี่ยที่ 80% เรือจากยุโรป 90% ถ้ามีเรือจากจีนเพียง 2 ลำ จะไม่พร้อมรบเต็มอัตรา จึงต้องมี 3 ลำ และการมีเรือ 3 ลำ ทำให้กองทัพเรือสามารถมีเรือเพียงพอจะหมุนเวียนในพื้นที่ปฏิบัติการที่ต้องการได้ต่อเนื่อง มีการป้องปรามได้ตลอดเวลา จำนวน 3 ลำ จึงเป็นจำนวนที่เพียงพอ

ตามกรอบงบประมาณของกองทัพเรือ ทางฝรั่งเศสโดยอู่ DCNS นั้นท้ายที่สุดไม่สามารถเสนอเรือดำน้ำแบบสกอร์ปีน (Scorpene) เหมือนของมาเลเซียให้ได้ เพราะไม่สามารถลดราคาให้อยู่ในกรอบวงเงินที่กำหนดได้ จึงเสนอเรือดำน้ำขนาดเล็กขนาด 900 ตัน ให้แทน แต่เป็นแบบเรือที่ไม่เคยต่อมาก่อน  คาดว่ามีพื้นฐานมาจากเรือดำน้ำแบบอันดราสตา (Andrasta) และชอร์ทฟิน บาร์ราคูดา (Shortfin barracuda) ซึ่งกองทัพเรือไม่มั่นใจในเรื่องอะไหล่ ส่วนทางรัสเซียเสนอเรือดำน้ำแบบกิโล 636 (Kilo 636) เหมือนของเวียดนาม แต่ราคาสูงมาก ด้วยงบประมาณที่มีจึงจัดซื้อได้แต่ตัวเรือ โดยมีโซนาร์มาแค่แบบเดียว คือ โซนาร์ข้างลำตัว (Flank array sonar) ถ้าอยากได้แบบอื่นเพิ่มต้องซื้อเพิ่ม ส่วนอาวุธนอกจากตอร์ปิโดนั้น ขายให้ครบทั้งหมด แต่ต้องซื้อเพิ่มแยกต่างหาก และยังไม่เสนอแพ็กเกจอื่นที่น่าสนใจให้ เหมือนกับทางรัสเซียเสนอมาพอเป็นพิธีเท่านั้น นอกจากนี้คณะเยี่ยมชมของกองทัพเรือที่ได้เข้าไปดูภายในตัวเรือมาก็พบว่าความเป็นอยู่ของลูกเรือไม่ดี และประสิทธิภาพโดยรวมไม่ได้ต่างจากเรือของผู้ผลิตรายอื่นมาก 

สำหรับทางสวีเดนนั้น ซ้าบ (Saab) เสนอเรือที่มีพื้นฐานหลักจากเรือแบบ A19 แต่ใช้ส่วนหอบังคับการ และการออกแบบบางส่วนจากเรือแบบ A26 จึงเป็นเรือดำน้ำลูกผสม ซึ่งยังไม่ได้ทดสอบและไม่ทราบต้นทุน อีกทั้งระบบอาวุธใช้ได้เพียงตอร์ปิโดเท่านั้น อาวุธประเภทอื่นต้องเสียเงินวิจัยเพิ่มเติมให้ติดตั้งใช้งานได้ ส่วนทางเกาหลีใต้นั้นอู่ DSME เสนอเรือแบบ DSME1400 หรือชั้นชาง โบโก (Chang Bogo) ที่มีพื้นฐานจากแบบ U209 เป็นข้อเสนอที่ดูดี และเสนอว่าจะปรับปรุงเรือให้ยิงอาวุธปล่อยนำวิถีแบบซับ ฮาร์พูน (Sub Harpoon) หรือ UGM-84 ได้ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าสหรัฐฯ จะขายอาวุธปล่อยฯ รุ่นนี้ให้กองทัพเรือไทยหรือไม่ อย่างไรก็ดีจากข้อเสนอทั้งหมด ไม่มีรายใดที่ขายทุ่นระเบิดให้เลย นอกจากรัสเซีย แม้แต่ตอนที่เยอรมนีจะขายเรือแบบ U206A ให้ ก็มีแต่ไมน์ เบลท์ (Mine belt) ที่ใช้ติดตั้งทุ่นระเบิดนอกลำตัวเรือมาเท่านั้น แต่ไม่ให้ตัวทุ่นระเบิดมาด้วย เพราะชาติตะวันตกมองว่าทุ่นระเบิดเป็นอาวุธทางรุก สามารถใช้คุกคามประเทศอื่นๆ ได้จึงไม่ขายให้

ฝ่ายจีนนั้นเสนอขายเรือดำน้ำให้กับไทยมานานแล้ว โดยขณะนั้นในปี พ.ศ.2550 จีนเสนอเรือแบบ S20 ที่ปรับลดสเปคมาจากเรือชั้นซ่ง (Song) หรือ Type 039 อีกทีหนึ่ง เพราะผู้บัญชาการระดับสูงของกองทัพเรือจีนคัดค้านการขายเรือดำน้ำชั้นหยวน (Yuan) หรือ Type 039A ที่ถือว่าทันสมัยที่สุดของจีนให้กับไทย เนื่องจากไม่ไว้ใจประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์ทางทหารอันดีกับสหรัฐอเมริกา โดยเกรงกลัวว่าความลับทางการทหารจะรั่วไหลได้ ซึ่งกองทัพเรือได้เสนอว่าต้องการเรือแบบ S20 แต่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับชั้นซ่ง ในกองทัพเรือจีน แต่ทางจีนก็ขายให้ไม่ได้อีก ทำให้กองทัพเรือปฏิเสธข้อเสนอไป พอกองทัพเรือได้รับข้อเสนอจากเยอรมันที่ต้องการขายเรือแบบ U206A มือสอง ให้ในราคาถูกมาก แต่ได้อุปกรณ์ครบถ้วนเหมือนยกกองเรือให้เลย ก็ไม่ผ่านการพิจารณาจากกลาโหมอีก คือ ทำอย่างไรก็ไม่มีการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเสียที ทั้งที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาแล้ว ซึ่งไม่เคยเป็นมาก่อน จนข้อเสนอของเยอรมันหมดอายุไปในที่สุด ซึ่งถือว่าน่าเสียดายมาก

หลังจากกองทัพเรือพลาดหวังจากเรือดำน้ำแบบ U206A ต้องยอมรับว่าหลายคนในกองทัพเรือนั้นเสียกำลังใจไปมาก จากโครงการเรือดำน้ำก็กลายเป็นโครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูงจากเกาหลีใต้แทน แต่กองทัพเรือก็ยังพยายามรักษาการพัฒนาขีดความสามารถด้านเรือดำน้ำ โดยส่งคนไปเรียนทั้งที่เยอรมันและเกาหลีใต้แทน ซึ่งประเทศเหล่านั้นก็อนุญาตให้เรียนได้ทั้งหมด พอกลับมา กองทัพเรือจึงมาเริ่มทำโครงการใหม่ แต่ก็มีการส่งสัญญาณมาว่า อยากให้กองทัพเรือพิจารณาเรือดำน้ำจากจีน

กองทัพเรือรู้ว่าเมื่อมีสัญญาณมาแบบนี้ ก็ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไร เพราะถ้าดึงดันเหมือนเดิม สุดท้ายก็คงชวดอีก จึงคิดว่าอะไรที่พอรับได้ก็รับ อะไรที่รับไม่ได้ก็ต้องพยายามเจรจาให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง อีกทั้งในตอนนี้ภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชียเปลี่ยนไป ทางรัฐบาลจีนซึ่งเป็นผู้บริหารคนละคณะกับเมื่อสิบกว่าปีก่อนแล้ว ได้เปลี่ยนนโยบายใหม่ว่ารัฐบาลจีนต้องการได้ไทยเป็นพันธมิตรให้ได้ โดยเฉพาะการที่ไทยเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐมานาน ถ้าได้ไทยมาเป็นพันธมิตรหลักก็จะเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนให้กับหลายประเทศในภูมิภาคว่าจีนพร้อมจะเป็นเพื่อน หรือหมายถึงการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic partnership) และเรือดำน้ำก็ถือเป็นอาวุธเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งในคราวนี้กองทัพเรือจีนก็ยังคงคัดค้านเหมือนเดิม แต่เป็นเพียงเสียงเดียวที่ค้าน จึงต้องทำตามที่รัฐบาลจีนสั่ง

รัฐบาลจีนจึงต้องการให้ขายเรือชั้นหยวนที่ถือว่าทันสมัยที่สุดในกองทัพเรือจีนให้ไทย แต่ถึงกระนั้นกองทัพเรือก็พยายามต่อรองว่า เมื่อเทียบตัวต่อตัวกันนั้น เรือดำน้ำจีนสู้ของตะวันตกไม่ได้ ดังนั้นจีนจะต้องมีข้อเสนอบางอย่างที่ดีจนกองทัพเรือไม่สามารถปฏิเสธได้เสนอให้ ซึ่งจริงๆ แล้วกองทัพเรือเจรจาแบบนั้นกับผู้ผลิตทุกรายที่มาเสนอ แต่ไม่มีใครให้ได้มากเท่ากับที่จีนให้ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลจีนเสนอให้กองทัพเรือนั้นเกินกว่ากรอบงบประมาณที่ตั้ง แม้แต่อู่จีนก็ไม่สามารถต่อให้ได้เพราะจะขาดทุน ซึ่งแน่นอนว่าเรือดำน้ำ 3 ลำอย่างไรเสียแต่ละลำก็มีราคาค่าตัวอยู่ ซึ่งไม่สามารถทำให้ราคาลดลงไปได้ขนาดที่ว่าจะถูกจนเท่ากับเรือจากผู้ผลิตรายอื่น 2 ลำ รัฐบาลจีนจึงตัดสินใจออกเงินเพื่อชดเชยการขาดทุนของอู่ให้ ทางอู่จึงยอมทำให้ เนื่องจากรัฐบาลจีนถือว่าโครงการนี้เป็นโครงการเชิงยุทธศาสตร์ และที่สำคัญในเมื่อเป็นยุทธศาสตร์ของจีนต่อไทยโดยเฉพาะ ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศอื่นจะได้ในสิ่งที่ประเทศไทยจะได้ในโครงการเรือดำน้ำนี้

S26T=Yuan

เรือดำน้ำที่ทางจีนเสนอให้กองทัพเรือ คือ เรือแบบ S26T แต่ก็เพียงแค่ชื่อที่ใช้สำหรับการส่งออกเท่านั้น ความเป็นจริงแล้ว S26T จะเป็นมาตรฐานเดียวกับเรือชั้นหยวนที่ดีที่สุดในกองทัพเรือจีนในปัจจุบัน และทางจีนจะอนุญาตให้ไทยแก้ไข ดัดแปลง หรือเรียนรู้การทำงานของระบบเรือดำน้ำทั้งหมด เรือมีลักษณะคล้ายกับเรือแบบ S26 ของปากีสถาน แต่เมื่อเทียบกับเรือชั้นหยวนที่จีนใช้นั้น S26T มีข้อที่ต่างออกไปหลายจุด บางอย่างก็ทันสมัยกว่า เช่น กล้องตาเรือ (Periscope) ที่มี 2 ชุดนั้น ของ S26T จะเป็นกล้องแบบออปโทรนิกส์ (Optronics) 1 ชุด อีก 1 ชุดเป็นกล้องแบบธรรมดา ขณะที่เรือจีนใช้กล้องแบบธรรมดาทั้ง 2 ชุด เป็นต้น

การออกแบบเรือของจีนนั้น มีการแบ่งซอยย่อยคอมพาร์ทเมนท์ค่อนข้างมาก ในแง่ความอยู่รอดถือว่าดีกว่าเรือของตะวันตกด้วยซ้ำ เพราะสามารถปิดผนึกกั้นภายในตัวเรือได้ทีละส่วนๆ ตัวเรือของจีนเป็นตัวเรือสองชั้น เทียบกับแบบชั้นเดียวก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป อย่างการเข้าไปซ่อมทำตัวเรือแบบสองชั้นอาจจะลำบากเพราะแคบ แต่ในการปฏิบัติการสามารถหยุดอยู่นิ่งและเอาท้องเรือวางลงบนพื้นทะเลได้โดยตรงเพื่อกบดาน ตัวเรือสองชั้นแม้จะเป็นการออกแบบที่ใช้มานานแล้วแต่ก็ยังใช้ได้ดีอยู่โดยเฉพาะการเก็บเสียง แต่จริง ๆ แล้วอ่าวไทยค่อนข้างตื้น ทำให้เสียงรบกวนเยอะอยู่แล้ว ซึ่งก็ถือว่าเป็นการทำให้ฝ่ายตรงข้ามตรวจพบเราได้อยากไปในตัว ส่วนการซ่อมบำรุงจะใช้การเปลี่ยนยางหรือแผ่นเหล็กด้านนอกไปเลยไม่ต้องซ่อมทำ เหล็กที่ใช้ก็เป็นเหล็กคุณภาพสูงและทนทาน สามารถทนแรงกดได้สูงถึง 590 เมกะปาสคัล (MPa) มากกว่าค่ามาตรฐาน และเป็นรองเพียงเรือแบบกิโลของรัสเซีย และแบบ A19 ของสวีเดนเท่านั้น


ตัวเรือของจีนแม้จะใหญ่และไม่คล่องตัวเท่ากับเรือของตะวันตกที่เล็กกว่า แต่สิ่งที่ได้มา คือ ความสะดวกสบายของกำลังพล และพื้นที่เก็บอาวุธที่นำไปได้เยอะขึ้น แต่การออกแบบพื้นที่ภายในตัวเรือบางส่วนที่กองทัพเรือไม่ค่อยถูกใจหรือคิดว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ ก็ได้มีการเจรจาให้ทางอู่ของจีนออกแบบใหม่ให้ตรงกับความต้องการด้านความเป็นอยู่ของกำลังพลของไทย ในส่วนของห้องศูนย์ยุทธการนั้น การออกแบบของจีนจะต่างจากปรัชญาตะวันตกที่กองทัพเรือคุ้นเคยพอสมควร เช่น ของตะวันตกมักใช้คอนโซลแบบมัลติฟังก์ชั่น สำหรับการควบคุมระบบการรบ เพื่อให้เกิดความสะดวกและหลากหลาย แต่ทางจีนใช้คอนโซลแยกหรือทำได้ฟังก์ชั่นเดียว เพื่อให้แต่ละคนมุ่งสมาธิไปที่งานของตนเอง ซึ่งแนวทางการออกแบบทั้งคู่มีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน โดยในภาพรวมนั้นเทียบเรือจีนกับเรือตะวันตกก็มีข้อดีข้อเสียที่ต่างกันไป ซึ่งขึ้นอยู่กับกองทัพเรือจะเลือกใช้อย่างไรให้มีความเหมาะสม ไม่ได้เป็นสิ่งที่ตายตัวเสมอ”

ระบบ AIP ของจีน

สำหรับประเด็นเรื่องระบบ AIP (ระบบขับเคลื่อนที่ไม่ใช้อากาศจากภายนอก;  Air Independent Propulsion) ที่เรือจีนมี แต่เรือจากผู้ผลิตรายอื่นไม่มี ข้อเท็จจริง คือ กองทัพเรือไม่ได้เขียนไว้ในข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง (TOR) ว่าเรือที่ต้องการจะต้องมีระบบ AIP เนื่องจากต้องการเปิดกว้างให้ผู้ผลิตทุกประเทศสามารถมาเสนอแบบได้ เพราะตอนที่กองทัพเรือทำคำร้องขอข้อมูล (Request For Information; RFI) จากผู้ผลิตนั้น พบว่าโดยส่วนใหญ่ถ้ากำหนดให้เรือมีการติดตั้งระบบ AIP ราคาต่อลำจะเพิ่มสูงขึ้นจากลำละ 15,000 ล้านบาท เป็น 24,000 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่ากรอบของงบประมาณ แต่ทางจีนระบุว่าในเรือชั้นหยวน มีระบบ AIP ที่ใช้เทคโนโลยีของสวีเดนอยู่แล้ว จึงขอให้กองทัพเรือติดตั้งระบบ AIP ไปด้วย ถ้าไม่มีหรือจะให้ลดสเปคโดยเอาระบบ AIP ออกไป เรือที่ทางจีนเสนอจะกลายเป็นเรือแบบใหม่ที่จีนไม่มีใช้ คือเป็นเรือชั้นหยวนแบบไม่มี AIP จะทำให้การซ่อมบำรุงยุ่งยากขึ้นไปอีก อธิบายง่ายๆ คือ เรือของจีนมี AIP อยู่แล้ว ไม่ใช่ว่ากองทัพเรือต้องการจะให้มีระบบ AIP ของเรือแบบ S26T นั้น เป็นแบบสเตอร์ลิง (Sterling) มีติดตั้งไว้ 3 ชุด ให้กำลังชุดละ 75 กิโลวัตต์ (kW) เป็นรุ่นเดียวกับที่มีใช้ในเรือชั้นหยวน ซึ่งเมื่อกองทัพเรือส่งคณะไปเยี่ยมชมภายในเรือชั้นหยวน ก็พบว่าทุกอย่างไม่ได้ต่างไปจากที่เคยเห็นในเรือของสวีเดน ทั้งการจัดวางและลักษณะหน้าตา เพียงแต่ขณะนี้สวีเดนได้พัฒนารุ่นที่ใหม่กว่าไปแล้ว ส่วนเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้เป็นเครื่องของ MTU ซึ่งจีนได้ซื้อสิทธิบัตรการผลิตมา

นอกจากนี้ในเรือแบบ S26T ได้ตัดมอเตอร์ขับเคลื่อนฉุกเฉิน ที่ใช้ในกรณีมอเตอร์ขับเคลื่อนปกติใช้การไม่ได้ออกไป เพราะทางจีนได้บอกว่าตั้งแต่ปฏิบัติการด้วยเรือดำน้ำมานั้น ไม่เคยได้มีโอกาสใช้เลยแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งนี้โดยรวมแล้วเรือชั้นหยวนสามารถปฏิบัติการได้สูงสุดนาน 65 วัน แต่ระยะเวลาปฏิบัติการที่กองทัพเรือต้องการนั้นเพียงแค่ 30 วัน คือ เดินทางไป 1 สัปดาห์ ปฏิบัติการ 2 สัปดาห์ เดินทางกลับ 1 สัปดาห์ ดังนั้นจึงไม่มีปัญหา และด้วยความที่เป็นเรือขนาดใหญ่ จึงสามารถนำเสบียงไปกับเรือได้มาก ความเป็นอยู่ของกำลังพลก็ดีขึ้น ทั้งนี้กองทัพเรือได้กำหนดพื้นที่ปฏิบัติการเอาไว้ทางฝั่งตะวันออกสามารถไปไกลถึงทะเลจีนใต้ได้ และทางฝั่งตะวันตกสามารถไปไกลถึงอ่าวเอเดนได้เช่นกัน แต่การผ่านทะเลอาณาเขตของประเทศอื่น เช่น การผ่านช่องแคบมะละกา จำเป็นต้องนำเรือขึ้นสู่ผิวน้ำก่อน ส่วนการเดินเรือเข้าออกจากฐานทัพ ปกตินำเรือออกในเวลากลางคืนและเมื่อระดับน้ำลึกพอก็จะดำออกไป เพื่อลดการถูกตรวจพบ

ทั้งนี้ในตอนแรกนั้นกองทัพเรือก็ไม่มั่นใจในเรือดำน้ำของจีน จึงยืนยันไปกับทางจีนว่า จะต้องดูตัวเรือของจริงก่อนเท่านั้นถึงจะมีความมั่นใจ ทางกองทัพเรือจีนจึงสั่งให้เรือชั้นหยวน 2-3 ลำที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ในทะเลจีนใต้กลับเข้าฝั่งในทันทีเพื่อให้คณะของกองทัพเรือเยี่ยมชม ซึ่งทั้งหมดใช้เวลาไม่กี่วัน โดยคณะของกองทัพเรือพบว่าทุกอย่างที่เห็นอยู่ในสภาพที่ดี ซึ่งในเวลาเท่านั้นคงไม่มีทางที่จะจัดแต่งกันได้ทันแน่ ดังนั้นจึงเชื่อว่าสภาพที่เห็นคือสภาพเรือที่เป็นจริง


เบื้องหลังการเจรจาต่อรองหลายๆ อย่างที่กองทัพเรือได้มาในโครงการนี้นั้น ไม่ได้มีมาตั้งแต่แรก เพราะสิ่งที่จีนเสนอมาในครั้งแรกก็ไม่ได้มีอะไรมากและไม่ได้ตามที่ควรจะเป็นทั้งหมด ยกเว้นโซนาร์ที่มากับเรือครบถ้วนทุกแบบ แต่อุปกรณ์หลายอย่างที่ได้มานั้น มาจากการเจรจาที่เกิดขึ้นในภายหลัง ซึ่งทางจีนยอมให้กับฝ่ายไทยเป็นอย่างมาก โดยสิ่งที่กองทัพเรือได้ขอเพิ่มเติมไป ก็ได้ตามที่ขอทั้งหมด เช่น ติดตั้งกล้องตาเรือแบบออปโทรนิกส์ที่ทันสมัยขึ้น ซึ่งในเรือที่จีนใช้อยู่ยังไม่มีอุปกรณ์แบบนี้ ติดตั้งระบบนำร่องด้วยแรงเฉื่อย (INS) เพิ่มอีก 1 ชุด เป็น 2 ชุด เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการนำเรือใต้น้ำ ติดตั้งระบบแจ้งเตือนภัยเรดาร์ (RWR) ที่หอบังคับการ เพื่อการรับรู้สถานการณ์ก่อนขึ้นสู่ผิวน้ำ ติดตั้งคอนโซลแบบมัลติฟังก์ชั่นจำนวนหนึ่งในห้องศูนย์ยุทธการ เพื่อให้ใกล้เคียงกับในเรือของตะวันตกที่กำลังพลคุ้นเคย เป็นต้น สำหรับระบบสื่อสารนั้น ทางจีนขอให้ใช้วิทยุของจีนเอง เนื่องจากการพัฒนาและบูรณาการระบบวิทยุตะวันตกตามที่กองทัพเรือต้องการนั้นมีค่าใช้จ่ายมาก แต่ทางจีนจะปรับให้ระบบของจีนเชื่อมต่อกับเครือข่ายการสื่อสารของกองทัพเรือได้ ส่วนระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี (Datalink) นั้น กองทัพเรือจะต้องดำเนินการเอง

ในส่วนของระบบอาวุธทางจีนให้มาครบทุกชนิด โดยตอร์ปิโดที่ได้เป็นรุ่นล่าสุด มีระยะยิง 50 กิโลเมตร ความเร็ว 50 น็อต นำวิถีด้วยระบบไฟเบอร์ออปติก  (Wire guided fiber optic) จำนวนที่ขอไปใหม่มีมากกว่า 4 นัดที่จีนเสนอมาในครั้งแรก ส่วนอาวุธปล่อยนำวิถี ในตอนแรกทางจีนเสนอเป็นรุ่นเก่า แต่กองทัพเรือเจรจาขอเปลี่ยนเป็นรุ่นที่ใหม่กว่า ซึ่งทางจีนก็ยอมเปลี่ยนให้เป็นแบบ CM-708UNB ใช้ต่อต้านเรือผิวน้ำและโจมตีภาคพื้นดินได้ ระยะยิง 300 กิโลเมตร โดยได้มา 6 นัด เป็นลูกฝึก 2 นัด และลูกจริง 4 นัด รวมถึงอาวุธที่ไม่มีประเทศใดให้มา ยกเว้นจีน ก็คือ ทุ่นระเบิด ซึ่งเป็นแบบสมาร์ท (Smart mine) ปล่อยจากท่อตอร์ปิโด ใช้แบตเตอรี่ สามารถฝังดิน นับจำนวนเรือผิวน้ำที่ผ่านไป หรือเลือกขนาดของเรือผิวน้ำที่จะทำลายได้ มีระบบขับเคลื่อนในตัวเพื่อให้สามารถปล่อยจากระยะไกล คล้ายกับทุ่นระเบิด Mk. 67 SLMM แต่ทางจีนไม่ได้ให้ไมน์ เบลท์ เพื่อบรรทุกทุ่นระเบิดนอกลำตัวเรือมาด้วย ทั้งนี้ทุ่นระเบิดถือเป็นอาวุธที่สำคัญที่ได้มา เพราะโดยปกติแล้วถือว่าทุ่นระเบิดที่วางด้วยเรือดำน้ำเป็นอาวุธเชิงรุก เนื่องจากสามารถนำไปวางที่ใดก็ได้โดยฝ่ายตรงข้ามไม่รู้ตัว แม้แต่หน้าท่าเรือ ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีประเทศใดอยากขายให้ แต่ในครั้งนี้กองทัพเรือก็ได้มาใช้งานแล้ว

นอกจากนั้นสิ่งที่กองทัพเรือจะได้ ก็คือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งหมดในภาพรวม รวมถึงการให้ทุนการศึกษาให้นักเรียนไทยไปเรียนในมหาวิทยาลัยของจีน รวมถึงนักเรียนนายเรือไทยไปเรียนที่โรงเรียนนายเรือจีน สำหรับประเด็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้นเป็นสิ่งที่จะต้องเจรจาในรายละเอียด แต่โดยรวมเน้นไปที่การซ่อมทำตัวเรือทั้งหมด โดยเฉพาะเทคโนโลยีการเชื่อมโลหะและโรงซ่อมเพื่อซ่อมทำตัวเรือรับแรงกด ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์และสำคัญมาก ขณะที่การซ่อมบำรุงระบบอื่น ๆ นั้น สามารถใช้ร่วมกับเรือผิวน้ำที่กองทัพเรือมีอยู่แล้วได้ เพราะระบบไม่ได้ต่างกัน นอกจากนี้ได้มีการพิจารณาโรงซ่อมเพื่อซ่อมทำกล้องตาเรือด้วย แต่กองทัพเรือเห็นว่าไม่จำเป็น สามารถส่งซ่อมได้ เพราะมีจำนวนน้อยและมีโอกาสเสียยาก ในส่วนของการขยายอู่ราชนาวีมหิดลฯ นั้น เป็นโครงการแยกต่างหาก ไม่ได้เกี่ยวกับโครงการเรือดำน้ำนี้ แต่สามารถใช้ซ่อมทำเรือดำน้ำได้ด้วย

สำหรับการซ่อมบำรุง ทางจีนรับประกันการซ่อม 8 ปี ทำให้กองทัพเรือไม่ต้องจัดหาอะไหล่ นอกจากนี้ถ้าขาดอะไหล่ชิ้นใดสามารถนำมาจากคลังของกองทัพเรือจีนได้ในทันที ซึ่งเมื่อครบ 8 ปี ก็จะถึงกำหนดซ่อมทำใหญ่ของเรือพอดี ส่วนหลังจากนั้นก็ไม่น่าจะต้องกังวลมาก เนื่องจากเรือแบบ S26T ใช้อะไหล่เหมือนกับเรือชั้นหยวนที่ประจำการในกองทัพเรือจีนเป็นจำนวนมาก ข้อได้เปรียบอีกอย่างหนึ่งจากการที่เรือแบบ S26T เหมือนกับเรือชั้นหยวน ก็คือ ก่อนที่เรือจะต่อเสร็จ ซึ่งใช้เวลา 4-5 ปี กองทัพเรือสามารถส่งกำลังพลไปฝึกกับกองทัพเรือจีนในสภาวะแวดล้อมที่เหมือนกับเรือที่จะได้รับมาได้เลยโดยไม่ต้องรอเรือต่อเสร็จ สำหรับยุทธวิธีเรือดำน้ำนั้น กองทัพเรือจะต้องพัฒนาขึ้นเอง แน่นอนว่าในช่วงแรกจะต้องเรียนรู้จากทางจีนก่อนในช่วงที่เรือยังต่ออยู่ แต่สุดท้ายก็จะต้องพัฒนาเป็นของตัวเองเพื่อให้เข้ากับหลักนิยมของกองทัพเรือไทยต่อไป รวมถึงแผนที่ใต้น้ำในพื้นที่ที่เรือจะเข้าไปปฏิบัติการ ถึงแม้จะสามารถซื้อได้ แต่อย่างไรกองทัพเรือก็ต้องจัดทำเอง เพราะรายละเอียดและเส้นทางการเดินเรือนั้นจะต้องมีลักษณะที่เฉพาะตัวเป็นของเราเอง

ในด้านของกำลังพล กองทัพเรือจะใช้หลักการของสหรัฐฯ ที่จะให้ลูกเรือทำงานในเรือดำน้ำราว 3-4 ปี ก่อนที่จะหมุนเวียนไปหน่วยอื่น เพื่อรักษาสภาพจิตใจที่ต้องทำงานในเรือดำน้ำที่มีความเสี่ยงด้านจิตวิทยาสูง แต่สำหรับกองทัพเรือไทยคงจะหมุนไปเป็นสำรองหรือในหน่วยที่ไม่ห่างไกลนักเพื่อรักษาความชำนาญเอาไว้ ซึ่งหลักการนี้ก็เป็นหลักการเดียวกับที่ได้กำหนดระยะเวลาปฏิบัติการไว้ที่ 30 วันเท่านั้น เพราะสภาพจิตใจของคนที่ไม่ได้เห็นโลกภายนอก ต้องอยู่ในที่คับแคบและมีความเสี่ยงตลอดเวลาจะทนได้ไม่นาน และในทางปฏิบัติแล้วอาจจะใช้เรือพี่เลี้ยงซึ่งเป็นเรือแบบใดก็ได้มาเติมน้ำ อาหาร น้ำมัน หรืออาจจะสับเปลี่ยนกำลังพลกลางทะเลได้ และเรือแบบ S26T ยังมีช่องปรับความดันที่สามารถรับส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษได้ด้วยเช่นกัน

ในเรื่องของการกู้ภัย ถ้าเรือจมในระดับที่ไม่ลึกเกินกว่า 100 เมตร ก็ใช้การลอยตัวออกมาได้ ส่วนถ้าลึกกว่านั้นจะต้องใช้เรือกู้ภัย โดยกองทัพเรือมีข้อตกลงกับมิตรประเทศในการให้ความช่วยเหลือเรือดำน้ำที่ประสบภัย และกองทัพเรือได้กำหนดให้มีอาหาร น้ำ และอากาศเพียงพอที่จะอยู่รอความช่วยเหลือได้ 6 วัน นอกจากนี้ตัวเรือยังมีห้องหนีภัย (Escape chamber) สำหรับการหนีภัย 2 จุด หรือถ้ากรณีจำเป็นจริง ๆ ก็สามารถหนีทางท่อตอร์ปิโดได้ และกองทัพเรือยังขอชุดหนีภัยปรับความดัน (Escape suit) มาด้วย เพื่อให้กำลังพลมีความสบายใจและมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน แต่ไม่ว่าอย่างไรกำลังพลก็จะเป็นจะต้องฝึกการหนีภัยทุกแบบ รวมถึงการหนีภัยตัวเปล่า ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของผู้ใช้เรือดำน้ำทั่วโลกอยู่แล้ว

ติดตามต่อไป

แต่ข้อที่น่ากังวล ก็คือ การจัดซื้อทั้งหมดต้องเกิดขึ้นภายใต้สมมุติฐานที่ว่าเรือจะต้องได้ตามคุณลักษณะที่ได้เจรจากันไว้ และเป็นการซื้อพร้อมกันครบทั้ง 3 ลำ ในส่วนคุณลักษณะของเรือนั้น กองทัพเรือจำเป็นจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจการจ้าง ที่มีความสามารถ โดยเฉพาะด้านการควบคุมคุณภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจและทำให้เรือมีความปลอดภัยในการปฏิบัติงานมากที่สุด และให้ได้คุณลักษณะตามที่ตกลงเจรจากันเอาไว้ เช่น เหล็กที่ใช้นั้นได้มาอย่างไร อยู่ในสภาพไหนก่อนเอามาใช้งาน เพราะในอดีตกองทัพเรือมีบทเรียนที่ไม่ดีกับเรือผิวน้ำจากจีน ที่เป็นผลจากการไม่ควบคุมคุณภาพอย่างใกล้ชิด แต่ในส่วนที่กองทัพเรือจะซื้อเพียงลำแรกเท่านั้น ไม่ได้ซื้อพร้อมกัน 3 ลำ ทำให้ยังกังวลว่าลำต่อ ๆ ไปจะได้ข้อเสนออย่างที่เคยตกลงกันไว้หรือไม่ ถ้าผู้เจรจาในตอนนั้นไม่ยึดตามข้อเสนอเดิม ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่กองทัพเรือต้องจัดการ รวมถึงราคาที่เพิ่มจาก 12,000 ล้านบาท จากการซื้อพร้อมกัน 3 ลำ เป็น 13,500 ล้านบาท จากการซื้อแยกที่ละลำ ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา และควรมีการแถลงให้ชัดเจนว่าทำไมถึงแพงขึ้น

ทั้งหมดนี้น่าจะทำให้เชื่อได้ว่ากองทัพเรือจะรับเรือดำน้ำแบบ S26T ได้อย่างสบายใจ เพราะข้อที่ไม่สบายใจก็ได้เจรจาปรับเปลี่ยนไปทั้งหมดแล้ว แหล่งข่าวได้กล่าวสรุปกับ TAF ว่าเข้าใจดีว่าใคร ๆ ก็อยากได้ของที่ดีที่สุด กองทัพเรือก็เช่นกัน แต่ในกรณีนี้ก็พบว่าจีนก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด เรือและอาวุธถ้าทำได้ตามคุณลักษณะที่เจรจาตกลงกันไว้ ก็ถือว่าไม่ด้อยกว่าเรือจากตะวันตกเท่าไหร่ ที่สำคัญระบบอาวุธที่ทางจีนเสนอมานั้นมาครบทั้ง 3 ชนิด อาวุธจะแม่นหรือไม่แม่นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ประเทศที่เป็นภัยคุกคามเป็นฝ่ายตรงข้าม เวลาประเมินฝ่ายเรา เขาจะต้องประเมินกรณีที่เลวร้ายที่สุดเอาไว้ก่อน เช่น ระยะยิงอาวุธฝ่ายเรา เขาก็ต้องคิดว่ามันยิงได้ไกลสุดเท่านี้ แม้ว่าที่จริงอาจจะยิงได้ไม่ไกลเท่านั้นก็ตาม ดังนั้นมันก็จะทำให้เกิดความยับยั้งชั่งใจและนำไปสู่การหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง การจัดซื้อครั้งนี้จึงไม่ได้มองแค่เพียงเหตุผลทางยุทธวิธีเท่านั้น แต่เราต้องมองเหตุผลทางยุทธศาสตร์ด้วย กองทัพเรือต้องไม่คิดแต่เพียงประเด็นเชิงยุทธวิธีอย่างเดียว ซึ่งเมื่อมองรอบด้านแบบนี้ก็จะพบว่าเรือดำน้ำแบบ S26T แม้ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด แต่ถือว่าเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด ทำให้ได้รับสิ่งที่เหมาะสมทุก ๆ ด้านทั้งต่อกองทัพเรือและประเทศ ส่วนปัญหาที่อาจจะต้องพบ ก็เป็นหน้าที่ของกองทัพเรือที่จะต้องทำงานเพื่อป้องกันและแก้ไขให้สุดความสามารถ กระทำการอย่างซื่อสัตย์ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนชาวไทยผู้เสียภาษีทุกคน
 

One thought on “TAF Editorial #15 – S26T คือทางเลือกทางยุทธศาสตร์

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.