ว่าด้วยเรื่อง #เกาะโลซิน เกาะมูลค่าล้านล้านบาท ที่อาจไม่เป็นเกาะอีกต่อไปแล้ว?

เกาะโลซินเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ปลายสุดของแผ่นดินไทย เป็นเกาะที่มีแต่หินลอยขึ้นมาเหนือทะเลนิดหน่อยดูแล้วไม่น่าจะมีอะไรสำคัญ แต่เจ้าเกาะนี้มันทำให้เราได้ดินแดนในทะเลเพิ่มขึ้นเยอะทีเดียวครับ

ภาพจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจการกำหนด #อาณาเขตทางทะเล กันก่อนครับ โดยดูตามภาพด้านล่างดังต่อไปนี้

  • #น่านน้ำภายใน หรือ Internal waters

นี่คือพื้นที่หลังเกาะที่เป็นแนวไหล่ทวีป ซึ่งถือเป็นอาณาเขตของประเทศนั้น ๆ รัฐชายฝั่งมีสิทธิ์ออกกฎหมายบังคับใช้ใด ๆ ก็ได้ และเรือต่างชาติจะไม่สามารถเข้ามายังน่านน้ำนี้ได้โดยไม่ได้รับอนุญาต

  • #ทะเลอาณาเขต หรือ Territorial waters

จากชายฝั่งหรือเกาะที่เป็นแนวไหล่ทวีป วัดออกไป 12 ไมล์ทะเลคือทะเลอาณาเขตครับ ตรงนี้เรือต่างชาติสามารถเดินทางผ่านโดยสุจริต (Innocent Passage) ซึ่งคือการเดินเรือผ่านโดยไม่รบกวนสิทธิ์และความมั่นคงของรัฐชายฝั่ง แต่ไม่สามารถทำการประมงหรือแสวงหาประโยชน์จากพื้นที่นี้ได้ รวมถึงเรือรบก็จะผ่านเข้ามาไม่ได้เช่นกันถ้าไม่ได้รับอนุญาต

สาเหตุที่ต้องเป็น 12 ไมล์ทะเลนั้น เชื่อว่ามาจากระยะยิงปืนใหญ่ที่ยิงออกจากฝั่งในสมัยโบราณครับ

  • #เขตต่อเนื่อง หรือ Contiguous Zone

คือเขตที่ต่อออกไปอีก 12 ไมล์ทะเลจากทะเลอาณาเขต ซึ่งรัฐชายฝั่งยังคงบังคับใช้กฎหมายได้ในบางบริบทคือกฎหมายศุลากร ภาษี การตรวจคนเข้าเมือง และสิ่งแวดล้อม และรัฐชายฝั่งมีสิทธิ์ที่จะทำการจับกุมหรือลักดันตามกฎหมายอื่น ๆ ได้ถ้าเห็นว่าเรือลำนั้นกำลังจะรุกล้ำเข้ามายังทะเลอาณาเขต

  • #เขตเศรษฐกิจจำเพาะ หรือ Exclusive economic zones

วัดจากเส้น Baseline หรือเส้นฐานซึ่งกำหนดน่านน้ำภายในออกไป 200 ไมล์ะทะเล (ไม่ได้วัดต่อจากเขตต่อเนื่องหรือทะเลอาณาเขต) โดยน่านน้ำนี้จริง ๆ แล้วจะไม่ใช่อาณาเขตของรัฐชายฝั่ง แต่รัฐชายฝั่งมีสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์และแสวงหาประโยชน์จากทะเลนี้ได้ เช่น ทำประมง ขุดเจาะน้ำมัน เป็นต้น แต่รัฐชายฝั่งต้องอนุญาตให้เรือแล่นผ่าน (Freedom of Navigation) หรือเครื่องบินบินผ่าน (Freedom of Overflight) ได้ไม่ว่าจะเป็นพาหนะของพลเรือนหรือทหาร

อาณาเขตทะเลไทย
ภาพจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
https://www.dmcr.go.th/itcenter/downloadsAll/3

ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลหรือ United Nations Convention on the Law of the Sea ที่เราเรียกกันว่า #UNCLOS นั้น กำหนดว่าเกาะคืออะไรก็ตามที่โผล่ขึ้นมาเหนือทะเลตามธรรมชาติ และเมื่อมีเกาะ ก็จะต้องมีไหล่ทวีป ซึ่งจะสามารถกำหนดอาณาเขตทางทะเลของรัฐชายฝั่งได้ พอเราค้นพบเกาะโลซินซึ่งห่างจากชายฝั่ง #ปัตตานี ไป 72 กิโลเมตร ก็เท่ากับว่าทะเลอาณาเขตของไทยขยายออกไปอีกจำนวนมาก เพราะผืนทะเลหลังเกาะก็จะกลายเป็นน่านน้ำภายใน และจากเกาะโลซินเราก็สามารถวัดออกไปได้อีกถึง 200 ไมล์ทะเลที่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทย ทั้งนี้ถ้าดูตามรูปจะพบว่า ทะเลภายในของไทยในฝั่งอ่าวไทยนั้นกว้างกว่าฝั่งอันดานันมาก เพราะพื้นที่อ่าวไทยส่วนใหญ่เป็นไหล่ทวีปนั้นเอง

ซึ่งน่านน้ำตรงนี้ทับซ้อนกับ #มาเลเซีย มาเลเซียก็ไม่ยอม คุยกันไม่รู้เรื่อง แต่ละฝ่ายแข่งกันขับเรือประมงของอีกฝ่ายออกไป (ไทยจะโดนเยอะหน่อยเพราะเรือประมงเยอะกว่ามาก) เอาเรือรบมาวิ่งเผชิญหน้ากัน ไม่มีใครยอมกันทั้งทางกฎหมายและการวางกำลัง บรรยากาศค่อนข้างตึงเครียดตั้งแต่ช่วงปี 2515 เป็นต้นมา ยิ่งตอนนั้นบริษัท #Esso สำรวจพบแหล่งก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาลด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่

พอมันร้อนมาก ๆ เข้าทั้งสองฝ่ายก็รู้สึกไม่ไหว ฝ่ายมาเลเซียเลยเสนอว่า ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่อง งั้นเราเลิกคุยกัน แต่ดูดก๊าซมาใช้ร่วมกันดีกว่า ไทยก็เห็นดีเห็นงามด้วย ทั้งสองฝ่ายจึงประชุมกันและตกลงกันได้ที่ #เชียงใหม่ เกิดเป็นบันทึกความเข้าใจร่วมเพื่อพัฒนาพื้นที่ร่วมกันระหว่างไทยและมาเลเซีย และทำให้เกิดพื้นที่ Joint Development Area หรือ #JDA ขึ้นมา โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่า จะพักเรื่องอาณาเขตกันไว้ก่อนไม่สนใจ แต่จะร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ ทั้งสองฝ่ายก่อตั้งบริษัท Malaysia-Thailand Joint Authority (MTJA) ซึ่งถือหุ้นฝ่ายละ 50% (PTT และ Petronas) และแบ่งปันผลประโยชน์กันฝ่ายละ 50% โดย MoU นี้มีอายุ 50 ปี นับตั้งแต่ปี 2522

หลังจากนั้นทุกอย่างก็สงบลง เรากับมาเลเซียก็ดูดก๊าฐมาใช้กันสบาย JDA กลายเป็นกรณีศึกษาระดับโลกที่สองประเทศแม้จะยังตกลงกันไม่ได้แต่ก็ร่วมมือกันพัฒนาประเทศด้วยกันได้ อะไร ๆ ก็ดูเหมือนจะแฮปปี้


แต่เมื่อปี 2525 หลังจากนั้นอีกนิดเดียว สหประชาชาติได้ออก #UNCLOS1982 ขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากกระประชุมสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล แต่คราวนี้มีการกำหนดนิยามของเกาะใหม่ โดยอะไรที่ถือว่าเป็นเกาะนั้นต้องหมายถึง “แผ่นดินที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาโดยธรรมชาติ ซึ่งมีพื้นที่มากพอที่จะสามารถดำรงชีวิตและเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้” โดยไทยได้ให้สัตยาบันต่อ UNCLOS 1982 แล้วในปี 2554

ตรงนี้แหละครับที่งานเข้า เพราะโลซินเป็นแค่กองหินที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา ไม่มีต้นไม้งอกสักต้นเดียวด้วยซ้ำ ดูสภาพแล้วไม่น่าจะดำรงชีวิตและเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ ซ้ำร้าย MoU ระหว่างไทยและมาเลเซียกำลังจะหมดอายุลงในปี 2572 หรือในอีก 9 ปีนี้เท่านั้น ซึ่งตอนนั้น ไทยกับมาเลเซียก็ต้องมาเริ่มอ้างสิทธิ์กันใหม่ แต่กฎหมายมันเปลี่ยนซะแล้ว

การเปลี่ยนนิยามของกฎหมายนั้น จะไม่ได้ทำให้เกาะโลซินกลายเป็นของมาเลเซีย เพราะมาเลเซียก็ไม่ได้อ้างสิทธิ์มาถึงตรงนี้ และโลซินยังอยู่ในน่าน้ำของไทยล้าน% ความเป็นเจ้าของเกาะโลซินของไทยไม่มีปัญหาแน่นอน แต่ที่มีปัญหาคือ เขตเศรษฐกิจจำเพาะที่วัดออกจากเกาะโลซินต่างหาก

ถ้าโลซินไม่ใช่เกาะจริง ๆ เส้นฐานและน่านน้ำภายในของไทยจะต้องถอยลงไปค่อนข้างมาก และอาจทำให้พื้นที่ JDA นั้นไม่ใช่ JDA อีกต่อไป เพราะไทยอาจไม่สามารถอ้างสิทธิ์ในพื้นที่นั้นได้ ในภาพี้นั้น กะประมาณการคร่าว ๆ ของพื้นที่ที่ไทยอ้างสิทธิ์นั้นเป็นไปตามเส้นสีแดง และพื้นที่ที่ไทยจะเหลืออยู่ถ้าโลซินไม่ใช่เกาะตามเส้นสีเหลือง โดยจุดที่ปักหมุดนั้นคือเกาะโลซิน สีชมพูคือพื้นที่ที่อาจจะเสียไป (แผนภาพนี้ไม่ตรงสัดส่วนและไม่สามารถใช้อ้างอิงได้ เส้นที่ลากนั้นลากเพื่อให้เห็นภาพเท่านั้นไม่ใช่เส้นจริงของข้อตกลงใด ๆ)

พื้นที่ที่ไทยอาจเสียไปถ้าโลซินเสียสถานะการเป็นเกาะ

แต่ดูแล้วเหนื่อยมาก เพราะถ้าพิจารณากันแค่ตัวหนังสือ โลซินก็คงไม่ใช่เกาะแน่นอน แต่ถ้าต้องการให้โลซินยังคงเป็นเกาะต่อไปนั้น ทางออกของไทยมีอยู่ไม่กี่ทาง

  1. ทำให้มาเลเซียยอมรับว่าโลซินคือเกาะ ไม่ว่ากฎหมายจะเป็นอย่างไร ซึ่งกรณีนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้น
  2. ต้องแสดงให้เห็นว่าโลซินเป็นเกาะตามนิยามของ UNCLOS 1982 คือสามารถดำรงชีวิตและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามธรรมชาติ เช่น อาจจะต้องหาทางขุดเจาะดูว่าใต้โลซินมีแหล่งน้ำบาดาลไหม หรือมีต้นไม้ขึ้นได้ไหม พายุเข้าน้ำคลื่นมันไม่ได้ซัดจนกลบทั้งเกาะเลยไหม อย่างนี้เป็นต้น

ซึ่งตอนนี้เชื่อว่าไทยก็คงหาทางกันอยู่ เรื่องนี้อาจจะไม่เป็นที่เปิดเผยนักเพราะถ้าให้มาเลเซียรู้ว่าเราจะมีข้อต่อสู้ใดทางกฎหมาย มาเลเซียก็อาจจะหาทางแก้เกมส์ได้

ถ้าให้ TAF เสนอ อาจจะเป็นในแนวทางว่า ถ้าค้นพบน้ำบาดาลหรืออะไรก็ตาม ให้ลองไปตั้งสถานีและท่าเรือบนเกาะโลซิน เพราะแม้ว่าการดัดแปลงโดยมนุษย์นั้นจะไม่ได้รับการยอมรับโดยกฎหมาย แต่ถ้าเราบอกว่า การที่มีท่าเรือนี้ก็เพราะมีโลซิน ก็อาจจะทำให้เกาะกลายเป็นเกาะได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็มีความเสี่ยงที่จะต้องไปตกลงกันใน #ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ซึ่งจัดตั้งขึ้นตาม UNCLOS 1982 โดยพิจารณาคดีกันที่กรุงเฮก แต่ไม่ได้ใช้ผู้พิพากษาชุดเดียวกับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก โดยทั้งไทยและมาเลเซียอยู่ภายใต้อำนาจของศาลนี้ ซึ่งถ้ามาเลเซียเห็นว่าได้เปรียบ มาเลเซียอาจฟ้องศาลนี้ได้ และไทยจำเป็นต้องเข้าไปแก้ต่าง เพราะถ้าไม่แก้ต่าง ศาลก็มีสิทธิ์ที่จะฟังหลักฐานจากมาเลเซียข้างด้วยและตัดสินเข้าข้างมาเลเซียได้ ดังเช่นในคดีที่ฟิลิปปินส์ฟ้องว่าการอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ของจีนนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่จีนเลือกที่จะบอยคอตคดีและไม่ไปให้การ ศาลจึงฟังหลักฐานของฟิลิปปินส์และตัดสินให้การอ้างสิทธิ์ของจีนนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งหมดนี้ค่อนข้างมีความเสี่ยง ดังนั้นรัฐบาลไทยอาจต้องหาทางอธิบายกับประชาชนดี ๆ ว่าความเสี่ยงคืออะไร และถ้าสมมุติว่ากระบวนการทางกฎหมายตัดสินให้โลซินไม่ใช่เกาะแล้วจริง ๆ ก็ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้ดี เพื่อป้องกันปํญหาที่จะเกิดขึ้นกับรัฐบาลเอง ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากมากทีเดียว

ทั้งนี้ มันก็มีอีกทางออกหนึ่งคือ

  1. เจรจากับมาเลเซียเพื่อขยาย MoU ออกไป เพราะ MoU นั้นไม่ได้ระบุว่าไทยหรือมาเลเซียยอมรับการอ้างสิทธิ์ของกันและกัน แต่ระบุว่าทั้งสองฝ่ายจะพักการอ้างสิทธิ์เอาไว้ก่อนและมาแสวงหาประโยชน์ร่วมกัน การขยาย MoU ออกไปก็อาจจะซื้อเวลาไปได้อีกพักใหญ่ อาจจะอีก 30 – 50 ปีก็แล้วแต่การเจรจา ซึ่งดูแล้วนี่น่าจะเป็นทางออกที่ควรจะต้องพิจารณาเช่นกัน

ไม่ว่าทางออกจะเป็นทางไหน ก็ต้องบอกว่าประเทศไทยเหนื่อยมากทีเดียวกับการรักษาเกาะโลซินให้เป็นเกาะต่อไป ดังนั้น ก็อยากจะให้หน่วยงานราชการของไทยและรัฐบาลไทยเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ พิจารณาทุกทางเลือกที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งกรณีต้องเจรจา กรณีต้องขยาย MoU หรือกรณีต้องขึ้นศาลอนุญาโตตุลาการจริง ๆ เราคนไทยก็ควรจะหาทางเตรียมตัวกันตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมถึงถ้าใครมีไอเดียอะไรที่จะทำให้โลซินถูกรับรองสถานะเป็นเกาะตาม UNCLOS 1982 ก็ลองแบ่งปันกันได้ครับ

ภาพเกาะโลซินและอาณาเขตทางทะเลของไทย ขอขอบคุณ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ภาพสุดท้าย TAF ดัดแปลงจากภาพใน Google Map

อนึ่ง ท่านใดสนใจอ่านเรื่องเกาะกูด ซึ่งเป็นของไทย ไม่ใช่ของกัมพูชา และกัมพูชาไม่ได้อ้างสิทธิ์เหนือเกาะกูด หรือถ้าสนใจพื้นที่ทับซ้อนไทยกับกัมพูชา สามารถอ่านได้ที่นี่ครับ

3 thoughts on “ว่าด้วยเรื่อง #เกาะโลซิน เกาะมูลค่าล้านล้านบาท ที่อาจไม่เป็นเกาะอีกต่อไปแล้ว?

    1. เห็นด้วยครับ รีบทำเลย มีทัวร์ไปดำน้ำอยู่เรื่อยๆก็ทำเป็นที่พักเลยครับ ออกแบบไม่ให้กระทบกับธรรมชาติหรือกระทบให้น้อยที่สุดได้อยู่แล้วครับ

      ถูกใจ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.