11 กันยายนที่ผ่านมา มีข่าวว่า #อาสาสมัครทหารพราน คนหนึ่งได้เกิดอาการคลุ่มคลั่งและยิงปืนภายในฐานปฏิบัติการของตนจนกระสุนไปโดนรถของชาวบ้านที่โชคร้ายขับผ่านมาได้รับความเสียหาย แต่โชคดีเป็นอย่างมากที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้าระงับเหตุได้ทัน
นี่เป็นกรณีที่สองแล้วที่เกิดเหตุการณ์กราดยิงภายในค่ายทหาร หลังจากที่เกิดเหตุ #กราดยิงโคราช ที่เป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย และเป็นการเกิดเหตุกราดยิงหรือ Mass Shooting เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่าครึ่งร้อยคน และตามสถิติแล้ว เมื่อมีครั้งแรก มักจะมีครั้งที่สองตามมา และก็เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ
ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะพร้อมที่จะมีเหตุการณ์รอบที่สามทุกเมื่อ เนื่องจากปัจจัยด้านความเครียดของกำลังพล และทหารนั้นเป็นผู้ที่ถืออาวุธโดยธรรมชาติ สามารถเข้าถึงอาวุธได้ง่าย ยิงในกรณีเมื่อ 11 ก.ย. ที่ผ่านมานี้ เป็นกรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ #ค่ายสิรินธร จังหวัด #ปัตตานี ก็มีความเป็นไปได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเครียดในการปฏิบัติงานในพื้นที่

TAF เห็นว่า นี่เป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่าการให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของกำลังพลเป็นปัญหาที่เร่งด่วนที่สุดของกองทัพไทยทั้งหมด
การมีปํญหา #สุขภาพจิต #ความเครียด #โรคซึมเศร้า #โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง หรือ #PTSD หรือปัญหา #สุขภาพจิต อื่น ๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญ และสังคมไทยตื่นตัวมากขึ้นมากในปัจจุบัน แต่สำหรับหลายคน ยังมองว่านี่ไม่ใช่ปัญหา เครียดก็ไปไหว้พระ โรคเครียดนั้นไม่มีจริง และความเข้าใจผิดอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งล้วนแต่ซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่ให้หนักหนาขึ้น
เพื่อนสมาชิก TAF ให้ข้อมูลว่า ที่จริงแล้วกองทัพมีการตรวจสุขภาพจิตทุก 6 เดือน แต่กลับกลายเป็นว่าการตรวจนั้นดำเนินการเหมือนพอเป็นพิธี กำลังพลพยายามตอบคำถามตามที่กองทัพอยากได้ยิน เพราะกังวลว่าถ้าตอบตามความจริงจะมีความผิด ถูกลงโทษทางวินัย หรือถูกปลดออกจากราชการ ทั้ง ๆ ที่การเป็นโรคทางจิตเวชนั้นไม่ใช่ความผิดแต่อย่างใด กลับกัน #โรคทางจิตเวช ถือเป็น “โรค” ที่ต้องได้รับการรักษา และสามารถหายได้เหมือนหายหวัด ดั้งนั้น กระบวนการที่มีอยู่จึงค่อยข้างเห็นได้ชัดว่าไม่ได้ผล
ปัจจุบันดูเหมือนกองทัพจะยังไม่ค่อยตื่นตัวเรื่องนี้ การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคจิตเวช หรือการปฏิบัติตัวต่อผู้ป่วยนั้นยังน้อยอยู่มาก ประกอบกับการกดดันทางสังคมว่า การเป็นโรคทางจิตเวชแสดงให้เห็นว่าคน ๆ นั้นอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง ไม่สมกับเป็นทหาร ซึ่งก็ทำให้กำลังพลที่มีปัญหาสุขภาพจิตยิ่งต้องปิดบัง และปัญหาที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคเหล่านั้นจะไม่ได้รับการแก้ไขเข้าไปใหญ่
ถ้ายังเป็นแบบนี้ เราก็เพียงรอเหตุการณ์กราดยิงครั้งที่สามที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น
เมื่อสิบกว่าปีก่อน กองทัพเคยตื่นตัวเรื่อง #โรคลมแดด หรือ Heat Stroke เป็นอย่างมาก หลังจากพบว่ามีทหารเสียชีวิตจากการฝึกแทบทุกปี กองทัพมีการให้ความรู้กับกำลังพลอย่างต่อเนื่อง ผู้บังคับบัญชาตื่นตัวกวดขันการฝึก ปรับแบบของการฝึกให้เหมาะสม ครูฝึกและเพื่อนกำลังพลต้องมีหน้าที่สังเกตุว่าใครจะมีอาการของโรคลมแดด ถ้าพบก็จะมีการเร่งนำไปปฐมพยาบาลตามที่ได้รับการฝึกมา
ผลปรากฎว่าหลังจากนั้น แทบไม่มีกำลังพลเสียชีวิตจากโรคลมแดดอีกเลย นี่คือความสำเร็จที่น่าชื่นชมของกองทัพ และเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่า ถ้าทุกคน “ตระหนัก” ถึงปัญหาและดำเนินการแก้ไขและป้องกันอย่างจริงจัง เราก็สามารถควบคุมและลดการสูญเสียได้แทบทั้งหมด
โรคทางจิตเวชก็ถือเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษา แอดมินเองก็เป็นหนึ่งในผู้ป่วยโรคนี้ที่พบกับความเครียด โรคซึมเศร้า มีความพยายามในการฆ่าตัวตาย แต่แอดมินก็เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาหลายปี จนสามารถดำรงชีวิตได้เป็นปกติ เพราะโรคทางจิตเวชคือโรคที่ต้องได้รับการรักษา ไม่สามารถปล่อยให้หายเองหรือไปไหว้พระสวดมนต์ก็หาย (เพราะพระก็มารักษาและพบจิตแพทย์เหมือนกับแอดมินเช่นกัน)
ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่กองทัพจะต้องตื่นตัวกับโรคทางจิตเวชให้เหมือนกับตื่นตัวกับโรคลมแดด กองทัพต้องปรับทัศนคติต่อโรคทางจิตเวชว่าเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษา ไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ ไม่ใช่คนบ้า ไม่ใช่ความอ่อนแอ แต่เป็นผู้ที่กองทัพต้องให้ความช่วยเหลือ ต้องพยายามสร้างบรรยากาศให้กำลังพลกล้าที่จะเปิดเผยว่าตนเองกำลังรู้สึกเครียดหรืออาจมีปัญหาทางจิตเวช ผู้บังคับบัญชาต้องถือว่ากำลังพลเหล่านี้คือผู้ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือดูแล ไม่ใช่ผู้กระทำความผิดและต้องถูกลงโทษ กองทัพต้องพยายามจัดการความเสี่ยงและต้นเหตุที่ทำให้กำลังพลเกิดความเครียดให้ได้มากที่สุด พยายามสร้างเครื่องมือและช่องทางที่จะให้ความช่วยเหลือกำลังพลในทุกระดับให้ได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุด กองทัพต้องตระหนักว่านี่คือปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อกำลังพลซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าเป็นอย่างยิ่งของกองทัพ และยิ่งไปกว่านั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นและสังคม ดังเช่นที่มีตัวอย่างมาแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
มิเช่นนั้น เราอาจจะต้องพบกับเหตุการณ์กราดยิงหรือเหตุการณ์คล้ายคลึงกันอีกครั้ง ทั้ง ๆ ที่เราป้องกันและลดความเสี่ยงได้ก็ตาม เราขอฝากไปยังผู้บัญชาการเหล่าทัพคนใหม่ทุกท่านด้วยครับ
One thought on “ความเครียดของกำลังพล ปัญหาที่รอวันปะทุอีกครั้ง”