AI และ Big Data ไม่ได้ทำให้ #เรือดำน้ำ ล้าสมัย!!!

มีบทความหนึ่งแชร์กันไปมาระบุว่า สหรัฐมองว่าเรือดำน้ำกำลังล้าสมัย และกำลังพัฒนา AI มาแทนเรือดำน้ำ

ทั้งนี้ แม้ TAF จะคัดค้านการจัดหาเรือดำน้ำ แต่เป็นการคัดค้านเพราะประเด็นภาวะเศรษฐกิจ ไม่ใช่ประเด็นว่าเรือดำน้ำไม่จำเป็น สำหรับในบทความดังกล่าว เรามองว่าเป็นการเข้าใจผิดในหลายประเด็น ซึ่งจะอธิบายให้ฟังดังต่อไปนี้ครับ

  1. ภารกิจของเรือดำน้ำนั้นแตกต่างกันตามประเภทของเรือดำน้ำ โดนแบ่งได้ใหญ่ ๆ คือเรือดำน้ำนิวเคลียร์และเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้า สำหรับเรือดำน้ำที่กองทัพเรือของประเทศเล็ก ๆ จะมีได้ก็เป็นเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าทั้งสิ้น โดยเรือดำน้ำประเภทนี้มีภารกิจคือทำการรบผิวน้ำ การวางทุ่นระเบิดในพื้นที่ขัดแย้ง การหาข่าว และการปฏิบัติการพิฌศษ
  2. ไม่มีเรือดำน้ำที่มีคนประจำการแบบใดที่จะดำน้ำได้ครึ่งปี ทั้งหมดเกิดจากข้อจำกัดของการที่เราไม่สามารถนำอาหารติดตัวไปอยู่ใต้น้ำได้ครึ่งปี
  3. สหรัฐอเมริกามีเรือดำน้ำประเภทเดียวคือเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งไม่มีทางจะดำน้ำได้ครึ่งปีแน่นอน และส่วนมากแล้วเรือดำน้ำของสหรัฐอเมริกาและประเทศมหาอำนาจจะมีภารกิจเพิ่มเติมก็คือการเป็นฐานยิงนิวเคลียร์สำหรับการโจมตีระลอกสอง (Second Strike) เพื่อรับมือกับการโจมตีระรอกแรก (First Strike) ท่านที่สนใจสามารถหาอ่านได้ที่บทความ

“ทฤษฎียุทธศาสตร์นิวเคลียร์และทำไมการที่มหาอำนาจมีนิวเคลียร์กันทุกประเทศจึงจะทำให้โลกไม่เกิดสงครามนิวเคลียร์?!? “

ทั้งนี้ สหรัฐ รัสเซีย จีน หรือประเทศในยุโรปก็ยังมีโครงการต่อเรือดำน้ำออกมาทุกปี

  1. การใช้โซนาร์หรือคลื่นเสียงในการตรวจจับเรือดำน้ำนั้นถือเป็นเรือปกติในการค้นหาเรือดำน้ำเชิงรุก ซึ่งตรวจจับเรือดำน้ำได้แน่นอน โดยวิธีการตรวจจับ (และการหลบเลี่ยงการตรวจจับ) นั้นมีหลักการของมันอยู่ แต่ไม่ใช่การใช้โซนาร์จะตรวจเรือดำน้ำไม่พบ สำหรับการตรวจรับเสียงหรือความเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กโลกที่เรือดำน้ำวิ่งผ่านนั้นจะเป็นการตรวจจับเชิงรับ แต่จะไม่มีการตรวจจับด้วยแสง เพราะเรือดำน้ำไม่ส่งแสงใด ๆ ออกมาอยู่แล้ว

เทคโนโลยีการตรวจจับเรือดำน้ำด้วยเสียงถือเป็นเทคโนโลยีหลักที่ใช้กันอยู่ ดังนั้นการบอกว่าไม่มีเทคโนโลยีตรวจจับเสียงของเรือดำน้ำจึงไม่ถูกต้อง การตรวจจับเสียงจากเรือดำน้ำ จากแหล่งกำเนิดเสียงไม่ว่าจะอะไรก็ตามบนเรือดำน้ำ (โดยส่วนใหญ่คือเครื่องยนต์และอุปกรณ์อื่น ๆ ) ถือเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไปครับ

  1. การบอกว่าการใช้ Big Data หรือ AI ตรวจจับเรือดำน้ำได้นั้นเป็นการพูดที่กว้างเกินไปและเป็นการสรุปเกินกว่าใจความดั่งเดิมของบทความ

AI คือปัญญาประดิษฐ์ หมายถึงโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ที่มีความสามารถในการเรียนรู้และทำความเข้าใจงานบางอย่างได้ ส่วน Big Data เป็นศาสตร์ในการวิเคราะห์สกัดข้อมูลจากข้อมูลที่มีขนาดใหญ่มากออกมา ดังนั้น Ai และ Big Data คือโปรแกรมหรือวิธีการเท่านั้น ไม่ใช่อุปกรณ์หรือหลักการในการตรวจจับหรือทำงานแทนเรือดำน้ำ

Big Data หรือ AI นั้น ถ้าจะมีผลก็เป็นตัวช่วยในการตรวจจับเรือดำน้ำทั้งสิ้น ซึ่งนั้นอาจหมายถึงการใช้ AI ในการเรียนรู้พฤติกรรมของเรือดำน้ำ เรียนรู้การวิเคราะห์รูปแบบของเสียงเรือดำน้ำต่าง ๆ หรือเรียนรู้และวิเคราะห์ข้อมูลจากเซนเซอร์ใต้ท้องทะเลต่าง ๆ (ซึ่งเรือดำน้ำก็เป็นหนึ่งในเซนเซอร์นั้น) นั่นก็คือเราต้องใช้เสียงหรือการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กในการตรวจจับอยู่ดี

การบอกว่าไม่ต้องตรวจจับเรือดำน้ำโดยใช้เสียง แต่ให้ใช้ Big Data หรือ AI นั้นเป็นการสรุปที่อาจเชื่อได้ว่าผู้สรุปไม่เข้าใจว่า Big Data หรือ AI คืออะไร เปรียบเทียบก็เหมือนพูดบอกว่าสำหรับการเดินทางจากบ้านไปโรงเรียนนั้น ปัจจุบันไม่ต้องนั่งรถไปแล้ว แต่ให้ใช้ AI ก็เดินทางไปได้ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เพราะ AI คือปัญญาประดิษฐ์ที่เขียนขึ้นเพื่อทำงานบางอย่าง แต่ไม่ใช่อุปกรณ์ที่จะไปค้นหาหรือทำหน้าที่อะไร

อีกทั้งข้อมูลในทะเลนั้น ต้องตั้งคำถามว่ามันใหญ่ (Big) พอหรือไม่ และมีรูปแบบ (Pattern) ที่มากเพียงพอที่จะให้ AI ทำการเรียนรู้ได้หรือไม่ และจึงจะมีเพียงพอ ผลลัพธ์ที่ได้จาก AI และ Big Data ก็คือข้อมูลและซอฟต์แวร์ ซึ่งต้องนำไปติดตั้งหรือใช้งานกับอุปกรณ์อื่น ๆ ต่อไป เช่นติดตั้งในเครื่องบินปราบเรือดำน้ำ หรือติดตั้งบนเรือดำน้ำเอง แต่ไม่ใช่ว่าใช้ AI หรือ Big Data แล้วจะทำให้หาเรือดำน้ำข้าศึกเจอ หรือทำงานได้แทนเรือดำน้ำจนเรือดำน้ำล้าสมัย


  1. เช่นเดียวกันที่เคยมีการแชร์บทความเรื่องการพัฒนาโดรนใต้น้ำเพื่อค้นหาเรือดำน้ำ และมาสรุปง่าย ๆ ว่าดังนั้นเรือดำน้ำไม่จำเป็นแล้ว ก็เป็นการสรุปที่เกินตัวและอาจไม่เข้าใจหลักการของการพัฒนาโดรนใต้น้ำหรือ UUV (Unmanned Underwater Vehicle) อย่างแท้จริง เนื่องจากการพัฒนา UUV นั้นเป็นไปเพื่อภารกิจเฉพาะอย่าง โดยเน้นไปที่การสำรวจและการหาข่าว ซึ่งชัดเจนว่าเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติการของเรือดำน้ำด้วยซ้ำ แต่ไม่สามารถทดแทนเรือดำน้ำได้ 100% อย่างแน่นอน
  2. เมื่อสิบกว่าปีก่อน มักจะมีคนพูดกันว่า จากการเกิดขึ้นของอากาศยานไร้นักบินหรือ UAV นั้น จะทำให้ต่อไปนี้นักบินจะตกงาน หรือนักบินคนสุดท้ายได้ถือกำเนิดขึ้นบนโลกแล้ว หรือยุคของเครื่องบินรบนั้นจบแล้วและการรบจะเป็นการรบด้วย UAV ซึ่งในความเป็นจริงนั้นก็อย่างที่เราเห็นในปัจจุบันคือ UAV มาทดแทนบางภารกิจของอากาศยาน แต่ไม่สามารถทดแทนได้ทั้งหมด อย่างน้อย ๆ ก็ไม่ใช่ในระยะเวลา 20 – 30 ปีนี้อย่างแน่นอน
  3. ดังนั้นเรือดำน้ำไม่ได้จะล้าสมัย และถ้ากลับไปอ่านที่บทความต้นฉบับ (ซึ่งแท้จริงก็มีจุดที่สรุปผิดพลาดบางจุด) จะพบว่าการพัฒนานั้นจะเป็นการพัฒนาเครือข่ายการตรวจจับเรือดำน้ำ ไม่ใช่การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อทดแทนเรือดำน้ำครับ
  4. TAF ย้ำว่าทั้งหมดนี้ก็เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง การสนับสนุนหรือคัดค้านเรือดำน้ำสามารถกระทำได้ แต่การสนับสนุนหรือคัดค้านก็ควรจะมาจากพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นความจริง ซึ่งจะทำให้การถกเถียงและแลกเปลี่ยนความเห็นนั้นเกิดประโยชน์ครับ

บทความที่เราอ้างถึงและแย้งข้อมูล

บทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ

https://nationalinterest.org/blog/are-new-technologies-making-submarines-obsolete-147576?fbclid=IwAR3ltsiIbDlvXNN3EZm2nY4Uw5iXKrBhs5V54kC6D2IyjaM-feG17IgrPrA

1 thoughts on “AI และ Big Data ไม่ได้ทำให้ #เรือดำน้ำ ล้าสมัย!!!

  1. ในความเป็นจริง Facebook Page พวกนี้ไม่สนใจหรอกว่าข้อเท็จจริงในเชิงวิชาการที่เป็นจริงๆเป็นอย่างไร
    Page พวกนี้เขียนบทความลักษณะนี้ขึ้นมาเพราะตนเองก็มีจุดประสงค์ในลักษณะวาระซ่อนเร้นอยู่แล้ว
    ในกรณีก็คือการที่เป็นเครื่องมือหนึ่งในความเคลื่อนไหวเพื่อการต่อต้านการมีเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยในทุกรูปแบบ
    เพราะมีฝ่ายได้ประโยชน์อยู่แล้วถ้ากองทัพเรือไทยยังจะไม่มีและไม่มีทางจะมีเรือดำน้ำไปตลอดกาลได้
    ฉะนั้นคนที่ติดตาม Page ลักษณะนี้เขาไม่ได้สนเรื่องพวกนี้หรอกว่าเราและท่านจะชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างไร
    คนพวกนี้จะเลือกที่จะรับรู้และเชื่อเฉพาะสิ่งที่ตัวเองต้องการเท่านั้น แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นมันจะไม่ใช่ความจริงเลยก็ตาม

    ถูกใจ

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.