ตอนนี้กองทัพบกไทยส่งทหารไปร่วมฝึกทดสอบและประเมินผลที่ศูนย์การเตรียมความพร้อมร่วมหรือ Joint Readiness Training Center (#JRTC) ที่ Fort Polk รัฐหลุยเซียนน่า สหรัฐอเมริกา โดยจะทำการฝึกระหว่างวันที่ 3 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2563 ครับ

การฝึกนี้เป็นการต่อยอดจากการฝึก #LightningForge2020 เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ใช้กำลังพลจากกองทัพภาคที่ 2 และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษจำนวน 189 นายไปฝึก เมื่อฝึกกลับมาแล้วก็มาทบทวนวามรู้ และทหารกลุ่มนี้ก็เดินทางไปฝึกทดสอบและประเมินผลอีกครั้งที่ JRTC ในตอนนี้ เพื่อทดสอบว่าจากที่ฝึกมานั้น หน่วยสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องหรือไม่
โดยวัตถุประสงค์ของการฝึกก็คือกองทัพบกต้องการไปรับหลักนิยมและเทคนิควิธีการใหม่ ๆ ที่กองทัพบกสหรัฐพัฒนาขึ้นนำมาใช้กับการพัฒนาหลักนิยมและยุทธวิธีของกองทัพบกไทยเอง เนื่องจากที่ผ่านมาหลักนิยมของกองทัพบกไม่ได้มีการปรับปรุงมานาน ซึ่งจะทำให้สามารถปรับปรุงยุทธวิธีของกองทัพบกให้ทันสมัยมากขึ้น เพราะกำลังพลของกองทัพบกไปฝึกในมาตรฐานเดียวกับกองทัพบกสหรัฐ

JRTC นี้เป็นศูนย์ฝึกสำหรับหน่วยที่จะออกปฏิบัติการจริงของกองทัพบกสหรัฐ โดยหน่วยในระดับกองพลที่จะออกไปวางกำลังในส่วนหน้า ในสมรภูมิรบ หรือวางกำลังในต่างประเทศ จะต้องเข้ามารับการฝึกทดสอบและประเมินผลที่ JRTC ก่อนว่าที่ผ่านมาหน่วยเหล่านั้นได้มีการฝึกและเตรียมกำลังให้พร้อมสำหรับการปฏิบัติภารกิจหรือไม่ โดยการทดสอบจะจำลองสถานการณ์การรบจริงให้หน่วยได้เข้าปฏิบัติภารกิจและแก้ปัญหา ถ้าผ่านก็สามารถไปวางกำลังได้ตามแผน แต่ถ้าไม่ผ่านก็งานเข้ากันแน่นอน
ดังนั้นทหารที่ผ่าน JRTC มาก็จะการันตีได้ในระดับหนึ่งว่ามีขีดความสามารถและประสบการณ์จากการฝึกที่มากพอสำหรับการปฏิบัติภารกิจ หรือพูดง่าย ๆ คือรบเป็นแล้วนั่นเอง
ในส่วนของสถานการณ์ #โควิด ซึ่งส่งผลกระทบกับการฝึกนั้น ก่อนการฝึกกำลังพลได้เข้ากักตัวและตรวจเชื้อโควิดจำนวน 5 วัน เดินทางด้วยเที่ยวบินเช่าเหมาลำ และเมื่อถึงก็เดินทางเข้าพื้นที่การฝึกทันทีโดยจะไม่สามารถพบปะผู้คนหรือออกนอกสถานที่ได้ ซึ่งเป็นแนวทางในการทำ Training Bubble ของการฝึกในสหรัฐ
อย่างที่เคยพูดไปก็คือ TAF เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับแนวคิดนี้ของกองทัพบกซึ่งริเริ่มมาราว 1 – 2 ปีแล้ว ที่พยายามกัดฟันหางบประมาณจนส่งกำลังพลไปฝึกในต่างประเทศได้ เพราะเราไม่ได้ปรับปรุงหลักนิยมและยุทธวิธีมานาน ซึ่งตอนนี้กองทัพบกไทยออกแบบโครงสร้างและ #หลักนิยม ตาม #กองทัพบกสหรัฐ และไม่ได้ปรับปรุงมานาน ดังนั้นการกลับไปดูว่าตอนนี้ต้นตำหรับเขาพัฒนาอะไรไปถึงไหนแล้ว เพื่อเราจะได้นำกลับมาดูว่าอะไรเป็นสิ่งที่เหมาะกับเรา และนำมาปรับใช้งาน ก็จะทำให้กองทัพบกมีหลักนิยมและยุทธวิธีใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะเป็นหลักนิยมและยุทธวิธีจของสหรัฐที่เคยใช้งานจริงและมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
แต่เนื่องจากงบประมาณของเราไมได้มากนัก การส่งกำลังพลไปฝึกจึงไปได้เพียง 1 กองร้อยและหน่วยรบพิเศษอีกจำนวนหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้ากองทัพบกสามารถทำให้กำลังพลที่ไปฝึกกลับมานี้สามารถนำมาถ่ายทอดและปรับปรุงหลักนิยมและยุทธวิธีในหน่วยอื่น ๆ ได้ ก็จะถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและราคาไม่แพงอย่างที่คิดครับ
สำหรับเรื่องที่มีข้อกังวลก็แน่นอนว่าเป็นเรื่อง COVID-19 ซึ่งแม้จะมีการปรับปรุงและระวังป้องกันในการติดเชื้อ แต่อย่างที่เราทราบกันดีก็คือสหรัฐเป็นประเทศที่มีการระบาดรุนแรงมาก แม้ทหารไทยที่ไปฝึกจะพบเจอใครไม่ได้นอกจากการอยู่ในหน่วยฝึกเท่านั้น ก็ยังมีความเสี่ยงจากการติดเชื้อจากทหารสหรัฐที่เข้าร่วมการฝึกอยู่ดี

ตรงนี้อย่างที่ TAF เคยแสดงความเห็นไปว่า การฝึกใดที่ไม่จำเป็น ก็ควรเลื่อนออกไปก่อน ไว้รอสถานการณ์ดีขึ้นค่อยจัดการฝึกใหม่ แต่พอมาจนถึงวันนี้สถานการณ์ COVID-19 ของโลกก็ยังไม่ดีขึ้นเท่าไหร่ การจะรอต่อไปโดยไม่มีกิจกรรมอะไรเลยมันอาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี แน่นอนว่าการฝึกขนาดใหญ่ ๆ นั้นเราคงยังไม่เห็นด้วยในการจัดการฝึกในช่วงนี้ แต่ในการฝึกที่ใช้คนไม่มาก และดูแล้วประโยชน์ที่ได้นั้นคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ก็น่าจะเริ่มทดลองจัดการฝึกเพื่อดูมาตรการและกระบวนการในการรับมือกับ COVID-19
เพราะดูแล้วจากที่ตอนกลางปีเราเชื่อกันว่าปลายปีสถานการณ์น่าจะดีขึ้น กลับกลายเป็นยังไม่น่าจะดีขึ้นภายในเร็ว ๆ นี้ และอย่างน้อยอีก 1 – 2 ปีแน่นอน และถึงจะมีวัคซีนแล้ว ก็ยังต้องใช้เวลาในการฉีดให้กับประชากรส่วนใหญ่อีกเป็นปี และหลังจากนี้โลกเราก็จะไม่สามารถกลับไปเหมือนเดิมได้อีก ดังนั้นตอนนี้เราก็น่าจะเปลี่ยนจากการป้องกันความเสี่ยง COVID-19 อย่างเต็มที่โดยหยุดกิจกรรมทุกอย่าง เป็นการเลือกกิจกรรมบางอย่างที่มีกระบวนการในการลดความเสี่ยงจนสามารถยอมรับได้ และมีกระบวนการในการรับมือเพื่อไม่ให้โรคกระจายออกไปในวงกว้าง ก็เป็นสิ่งที่ที่น่าจะทดลองดำเนินการได้
การรับมือกับ COVID-19 ทั่วโลกจึงกำลังเปลี่ยนไปจากการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อเลย กลายเป็นการพยายามอยู่กับมันอย่างปลอดภัยและควบคุมมันให้ได้ครับ
ถ้ากองทัพบกปฏิบัติตามนโยบายและกระบวนการของรัฐได้ โดยเฉพาะเมื่อกลับมาจากการฝึกแล้ว การกักตัวควรกักตัวใน State Quarantine อย่างน้อยก็เพื่อความโปร่งใส ลดความเสี่ยง และเป็นการทำให้แน่ใจว่ากำลังพลที่กลับมาจะผ่านกระบวนการที่เป็นมาตรฐานจริง ๆ เหมือนกับคนไทยคนอื่น ๆ ที่ต้องผ่านกระบวนการนี้ ก็น่าจะทำให้สบายในได้ในระดับหนึ่งว่ากำลังพลจะไม่ติดเชื้อ หรือถ้าติดเชื้อก็สามารถตรวจพบได้ล่วงหน้าแจะแยกรักษาได้ก่อนโดยไม่ปะปันกับใคร ก็น่าจะสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยได้ในระดับหนึ่งครับ