นายกญี่ปุ่นเยือนเวียดนามเป็นครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง พร้อมกับลงนามในข้อตกลงหลายอย่าง ทั้งด้านการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 ข้อตกลงด้านเศรษฐกิจ และข้อตกลงด้านความมั่นคง

สำหรับข้อตกลงด้านความมั่นคงนั้น นายโยชิฮิเดะ สึกะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเน้นว่าญี่ปุ่นต้องการแสวงหาความร่วมมือเพื่อสร้างอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง หรือ #FreeAndOpenIndoPacific ซึ่งเป็นนโยบายหลักของสหรัฐอเมริกาต่อเอเชียแปซิฟิก แต่ถ้าตามใจความหลักของนโยบายนี้ คงไม่ต้องสืบว่ามันเกี่ยวข้องกับการอ้างสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนใต้เพื่อควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรเป็นจำนวนมาก และเป็นเส้นทางการเดินเรือที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ญี่ปุ่นยังลงนามข้อตกลงกับเวียดนามในการส่งเสริมการขายอาวุธของญี่ปุ่นให้กับเวียดนาม โดยนอกจากเรือตรวจการณ์จำนวน 6 ลำที่ญี่ปุ่นทั้งขายให้และให้JICA ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้เวียดนามเพื่อมาซื้อเรือแล้ว ญี่ปุ่นยังเสนอขายเครื่องบินลำเลียง C-2 เครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล P-1 และเรดาร์ตรวจการณ์ให้กับเวียดนามอีกด้วย ซึ่งระบบอาวุธเหล่านี้เป็นระบบอาวุธที่มีผลต่อการใช้งานทางทะเลและการลาดตระเวนในน่านน้ำเวียดนามทั้งสิ้น
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ญี่ปุ่นไม่เพียงแต่พยายามแสวงหาตลาดอาวุธให้กับผู้ผลิตในประเทศเท่านั้น เพราะตั้งแต่ญี่ปุ่นอนุญาตให้ส่งออกอาวุธในปี 2014 ลูกค้ารายและและรายเดียวจนถึงตอนนี้ยังเป็นเพียงฟิลิปปินส์ที่จัดหาเรดาร์ตรวจการณ์ของมิตซูบิชิไปใช้งาน เพราะประเทศอื่น ๆ ยังไม่คุ้นเคยกับระบบอาวุธของญี่ปุ่น และญี่ปุ่นเองก็ยังไม่มีประสบการณ์ในการขายอาวุธให้กับต่างประเทศมากนัก รวมถึงกฎระเบียบการส่งออกที่ยังยุ่งยากอยู่พอสมควร การพยายามผลักดันเพื่อสร้างความรับรู้ให้กับประเทศต่าง ๆ ว่าญี่ปุ่นพร้อมร่วมมือทั้งด้านการขายอาวุธ หรือการวิจัยอาวุธและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ น่าจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประเทศลูกค้าในอนาคตมากขึ้น
และสิ่งที่มากกว่านั้นคือการแสวงหาพันธมิตรที่มีจุดร่วมที่สำคัญอย่างเดียวกันนั่นก็คือ เป็นประเทศที่มีข้อขัดแย้งด้านดินแดนกับจีนเหมือนกัน และดูเหมือนการต้านทานการขยายอำนาจของจีนนั้นจะเป็นหนึ่งในนโยบายยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาลใหม่ของญี่ปุ่น เพราะนายกสิกะเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมานี่เอง ก็รีบเดินทางเยือนกระชับสัมพันธ์และทำความรู้จักกับเวียดนามและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสองประเทศที่มีข้อขัดแย้งด้านอาณาเขตทางทะเลกับจีนอย่างรุนแรงทั้งคู่ การพยายามเปลี่ยนศัตรูของศัตรูให้กลายเป็นมิตร น่าจะเป็นหนทางที่ญี่ปุ่นพยายามทำให้เกิดขึ้น หลังจากที่ทุกประเทศต้องพะวงกับการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่จีนยังขยายกองเรือและเพิ่มกิจกรรมในทะเลจีนใต้อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งในอีกหน้าหนึ่ง ญี่ปุ่นยังหันกลับมาจริงจังกับการจับกลุ่มภาคีความร่วมมือด้านความมั่นคงสี่ประเทศหรือ Quadrilateral Security Dialogue หรือเรียกสั้น ๆ ว่ากลุ่ม Quad กับอินเดีย ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้งหมดมีจุดร่วมเดียวกันอย่างชัดเจนคืออยู่ตรงข้ามจีน อย่างในกรณีของอินเดียที่มีปัญหาความขัดแย้งด้านดินแดนกับจีน ออสเตรเลียมีความขัดแย้งเกี่ยวกับการค้าและความพยายามสอบสวนต้นกำเนิดของโควิด-19 และสหรัฐที่มีปัญหาด้านสงครามการค้ากับจีน และทุกประเทศก็ต่อต้านการอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้แต่เพียงฝ่ายเดียวของจีนทั้งสิ้น

กลุ่ม Quad นี้จริง ๆ แล้วก่อตั้งมาตั้งแต่ช่วงปี 2007 แต่ก็ไม่ได้จริงจังมากนัก จนเมื่อการประชุม ASEAN Summits เมื่อปี 2017 ที่ฟิลิปปินส์ ทั้งสี่ประเทศก็ประกาศที่จะกลับมาสายต่อความร่วมมือนี้ โดยวางแผนที่จะจัดการประชุมแสวงหาความร่วมมือ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และจัดการฝึกผสมระหว่างกองทัพของประเทศสมาชิก
เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่ม Quad ได้จัดการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสี่ชาติที่กรุงโตเกียว และตกลงกันที่จะกระชับความร่วมมือและดำเนินกิจกรรมไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น ซึ่งในต้นเดือนหน้า กลุ่ม Quad จะจัดการฝึกและซ้อมรบของกองทัพเรือในการฝึก Exercise Malabar ที่จะจัดขึ้นทั้งในทะเลอาหรับและอ่าวเบงกอล ที่จะเป็นครั้งแรกที่กองทัพเรือของทั้งสี่ชาติเข้าร่วมการฝึกอย่างพร้อมเพรียงกัน
แม้รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นจะยังสละสิทธิ์ที่จะประกาศสงคราม และยังถือว่าสันติภาพของโลกคือสิ่งที่ญี่ปุ่นยึดถือสูงสุด แต่จากภาวะความเปลี่ยนแปลงของโลก ทำให้ญี่ปุ่นต้องเริ่มปรับเปลี่ยนตัวเองนับตั้งแต่การตั้งกระทรวงกลาโหม การออกนโยบาย Collective Self-Defense หรือการป้องกันตนเองแบบองค์รวม เพื่อกำหนดแนวทางการใช้กำลัง การอนุญาตให้ส่งออกอาวุธ และการมีบทบาทด้านการทหารในต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้แม้จะยังไม่ใกล้เคียงบทบาทในอดีตที่ญี่ปุ่นเล่นในฐานะมหาอำนาจทางทหารของโลกในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการเพิ่มบทบาทด้านความมั่นคงมากที่สุดนับตั้งแต่แพ้สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา และจะเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองและอิทธิพลของญี่ปุ่นในเอเชียแปซิฟิก รวมถึงเป็นการเพิ่มความพยายามต่อต้านการขยายอิทธิพลของจีนในเอเชียไปพร้อม ๆ กันด้วย