สืบเนื่องจากการประกาศแผนการจัดหาในโครงการจัดหาอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้แบบเคลื่อนที่ที่ TAF เคยเผยแพร่ข้อมูลไปเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา วันนี้มีประกาศ #ราคากลาง มาแล้ว และมีข้อมูลเพิ่มเติมว่าเป็นการจัดหาจำนวน 5 ชุดยิง ซึ่งด้วยจำนวนและงบประมาณ คาดว่าจะเป็นการจัดหาระบบต่อสู้อากาศยานประทับบ่าแบบติดตั้งบนรถยิงเคลื่อนที่
ราคากลางนั้นสืบราคาจากสองบริษัทคือบริษัท #ดาต้าเกท จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ผลิตอาวุธจากยุโรปตะวันออกและรัสเซีย และเคยประสบความสำเร็จในการขายยานเกราะ BTR-3E1 ให้กับกองทัพเรือ และบริษัท China Vanguard Industry Croperation หรือ #CVIC ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนของผู้ผลิตอาวุธจากประเทศจีน ซึ่งเคยประสบความสำเร็จในการขายจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำ C-802A และจรวดต่อสู้อากาศยาน FK-3 ให้กับกองทัพเรือเช่นกัน

ทั้งนี้ ในภาคผนวกของร่างขอบเขตงานหรือ #TOR นั้น กำหนดให้อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานที่จะเสนอนั้นเป็นอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานที่มีใช้งานอยู่ในกองทัพไทยอยู่แล้วเพื่อให้สามารถใช้ลูกอาวุธนำวิถีและอุปกรณ์อื่น ๆ รวมถึงอะไหล่ร่วมกับเหล่าทัพอื่นได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องเนื่องจากปัจจุบันกองทัพไทยมีอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานประทับบ่าประจำการถึง 3 แบบนั่นคือ 9K338 #IglaS, #QW2, และ #QW18 การเพิ่้มแบบอาวุธจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี ที่จริงแล้วนอกจากนั้นกองทัพบกยังมีอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานแบบ #Starstreak ประจำการอีกหนึ่งแบบ แต่บริษัทตัวแทนของ Thales ไม่ได้เข้ายื่นประมูลและเสนอราคาในครังนี้ คาดว่าเนื่องจากงบประมาณของกองทัพเรือต่ำเกินไป
ส่วนองค์ประกอบของระบบอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน 1 ระบบของกองทัพเรือไทยในครั้งนี้คือ
- ลูกอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานจำนวน 4 นัด
- แท่นยิง จำนวน 1 แท่น
- รถยนต์เฉพาะการ จำนวน 1 คัน
โดยคุณสมบัติลูกจรวดนั้นก็คือคุณสมบัติลูกจรวดที่มีประจำการในประเทศไทยทั้งสามรุ่น กล่าวคือน้ำหนักพร้อมยิงไม่เกิน 20 กิโลกรัม ระยะยิงใกล้สุดไม่มากกว่า 500 เมตร ระยะยิงไกลสุดไม่น้อยกว่า 5,000 เมตร เพนดานบินของเป้าหมายต่ำสุดไม่มากกว่า 10 เมตร และสูงสุดไม่น้อยกว่า 3,000 เมตร สามารถต่อต้านการลวงจากเป้าลวงต่าง ๆ ชนวนทำงานได้ทั้งแบบกระทบแตกและแบบเฉียดระเบิด มีอายุการเก็บรักษาไม่น้อยกว่า 10 ปี
สำหรับแท่นยิงนั้น ต้องสามารถติดตั้งลูกอาวุธนำวิถีได้ไม่น้อยกว่า 2 นัด ทำการยิงในท่านั่งยิง สามารถหมุนได้รอบทิศทาง มีอุปกรณ์สำหรับเล็งเป้าหมายอย่างน้อย 1 ชุดต่อ 1 แท่นยิง สามารถยิงลูกอาวุธนำวิถีได้ทั้งแบบทีละนัดหรือแบบซัลโวพร้อมกันอย่างน้อย 2 นัด
ส่วนรถยนตร์นั้นเป็นรถยนต์แบบ 4 ประตู ติดตั้งแท่นยิงพร้อมทั้งมีที่เก็บลูกอาวุธนำวิถีอย่างน้อย 2 นัด มีการเสริมวัสดุกันกระสุนในระดับ IIIA มีศูนย์บริการเปิดให้บริการในปัจจุบัน ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบ 4 จังหวะ ปริมาตรกระบอกสูบไม่น้อยกว่า 2.7 ลิตร มีระบบนำทางด้วย GPS พร้อมวิทยุสื่อสาร VHF 144-170 MHz

สำหรับแบบของอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานที่คาดว่าจะเสนอนั้น สามารถเป็นได้ทั้งการใช้แบบของอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานติดตั้งบนรถยนต์ที่มีเสนออยู่แล้วจากประเทศผู้ผลิตเช่น Dzhigit ซึ่งสามารถเลือกติดตั้งได้ทั้ง Igla-S และจรวดรุ่นที่ใหม่กว่าอย่าง 9K333 Verba
หรืออาจจะเป็นการนำมาติดตั้งกับรถที่มีใช้งานอยู่ในกองทัพไทยอยู่แล้ว เช่นรถกระบะดัดแปลงรุ่นต่าง ๆ ซึ่งทั้งสองบริษัทน่าจะมีขีดความสามารถในการดำเนินการได้ เช่น ดาต้าเกท ซึ่งเคยประกอบยานเกราะล้อยาง BTR-3CS รุ่นบังคับการในประเทศเพื่อส่งมอบให้กับกองทัพบก หรือ CVIC ที่ก็น่าจะทำการว่างจ้างบริษัทในประเทศติดตั้งได้ไม่ยาก เนื่องจากการใช้รถในประเทศนั้นจะได้เปรียบในตอนแข่งขันมากกว่าเนื่องจากอะไหล่และการซ่อมบำรุงสามารถใช้งานอุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วได้ทันที
ดังนั้นคาดว่าการเลือกแบบน่าจะเป็นการเลือกแบบระหว่างอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานแบบ Igla-S หรือ QW-18 ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่ากองทัพเรือจะเลือกแบบอาวุธแบบใด
สามารถ Download เอกสารจัดซื้อจัดจ้างได้ที่
คุณ นฐนรรค์ มีจั่นเพ็ชร์ สมาชิก TAF ให้ข้อมูลที่อ้างอิงจากเอกสารแผนการจัดซื้อจัดจ้างของระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของกรมบัญชีกลางว่า ในปี 2564 นี้ กองทัพเรือมีโครงการจัดหาอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้แบบเคลื่อนที่ มูลค่า 246 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเป็นการจัดหาไปประจำการคู่กับจรวดที่จัดหามาภายใต้โครงการจัดหาอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศระยะปานกลางแบบเคลื่อนที่ ระยะที่ 1 มูลค่า 1,970 ล้านบาท เมื่อปี 2562 ซึ่งโดยสรุปแล้วเป็นการจัดหาจรวดรุ่น FK-3 จากจีน

ทั้งนี้ ด้วยงบประมาณ 246 ล้านบาท จึงคาดว่าไม่น่าจะเป็นจรวดจากกลุ่มประเทศตะวันตกหรือรัสเซีย แต่น่าจะเป็นจรวดจากจีน ตัวเลือกที่มีความเป็นไปได้คือจรวด TD-2000B ซึ่งเป็นการนำจรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่าแบบ QW-18 ระยะยิงราว 5 กิโลเมตรมาติดตั้งบนรถ น่าจะทำให้มีราคาไม่แพง และกองทัพเรือมี QW-18 ใช้งานอยู่แล้ว หรือ YT ADS ที่ใช้จรวด TY-90 ระยะยิง 6 กิโลเมตร หรืออาจจะเป็นจรวด FB-6C ซึ่งติดตั้งจรวด FN-16 บนรถที่หน้าตาคล้ายฮัมวี่ ซึ่งมีระยะยิงราว 6 กิโลเมตรก็ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ต้องรอประกาศราคากลางหรือประกาศคัดเลือกแบบอีกครั้งจึงจะมีข้อมูลมากขึ้นว่าเป็นจรวดแบบใด

ขอขอบคุณสมาชิก TAF คุณ นฐนรรค์ มีจั่นเพ็ชร์ สำหรับการแจ้งข่าวครับ
ท่านที่สนใจสามารถร่วมพูดคุยได้ที่
https://www.facebook.com/groups/thaiarmedforce/permalink/2798798037031535
จีนอีกละ เรือดำน้ำก็จีน จรวดก็จีน
ถูกใจถูกใจ