หลังจากมีไฟล์เอกสารนำเสนอที่ระบุถึงโครงสร้างและหน้าที่ของหน่วยต่าง ๆ ในการเผยแพร่ข้อมูลใน #Twitter ของ #กองทัพบก ซึ่งระบุโครงสร้าง ผู้รับผิดชอบการ #ปฏิบัติการขาว #ปฏิบัติการเทา/ #ปฏิบัติการดำ และระบุชื่อกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์หรือ พล.ร. 2 รอ. เป็นหน่วยรับผิดชอบปฏิบัติการดำหรือ Black Operation (Covert Operation หรือปฏิบัติการลับที่องค์กรจะไม่แสดงรับรู้อย่างเป็นทางการ) ซึ่งน่าจะเป็นการเผยแพร่ข่าวสารเพื่อตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม (ฝตข.) โดยมีการตรวจสอบย้อนกลับพบว่ากองทัพบกได้จ้างบริษัทแห่งหนึ่งให้ทำการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข่าวผ่านแอป Twitter Boardcast นั้น
วันนี้มีการชี้แจงจากกองทัพบกมาแล้ว โดยกองทัพบกปฏิเสธว่าไม่ได้ว่าจ้างให้บริษัทภายนอกมาดำเนินการปฏิบัติการข่าวสาร แต่เป็นเอกสารจากการอบรมสัมมนาของกำลังพลในพล.ร. 2 รอ. เพื่อให้กำลังพลใช้งานสื่อสังคมออนไลน์เป็น สำหรับฝังโครงสร้างของหน่วยนั้น กองทัพบกชี้แจงว่าเป็นการจัดหน่วยประชาสัมพันธ์เพื่อทดลองกระจายข้อมูลเชิงบวกให้กับบัญชีทวิตเตอร์ด้วยแอพพลิเคชั่นดังกล่าว และชี้แจงว่าคำว่าปฏิบัติการดำนั้นคือถ้าพบข่าวเท็จก็จะมีการเข้าไปสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยถึงในปัจจุบันกองทัพบกได้มีคณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ในระดับกองทัพบกได้มีการจัดตั้งเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ของศูนย์ประชาสัมพันธ์ของหน่วยทหารจนถึงระดับกองพันจำนวน 578 หน่วย เพื่อดำเนินการประชาสัมพันธ์อีกด้วย
สำหรับข้อวิจารณ์ที่ปรากฎทั่วไปนั้น TAF ขอสรุปมาให้อ่านสั้น ๆ ก็คือ
- เมื่อต้นสัปดาห์ บัญชีทวิตเตอร์ @SaraAyanaputra ได้เผยแพร่เอกสารแนวทางการปฏิบัติในการ Tweet ข้อความทั้งปฏิบัติการขาวซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์ทั่วไป และปฏิบัติการเทา/ดำ ซึ่งเป็นการโจมตีด้วยข้อมูลข่าวสาร โดยใช้แอปสองตัวในการปฏิบัติการคือ Twitter Broadcast และ Free Messenger (TAF แคปไม่ทันเพราะคุณ SaraAyanaputra ลบไปแล้ว)
- ผู้ใช้ทวิตเตอร์อีกท่านคือ @pittaya ได้ทำการวิเคราะห์แอป Twitter Broadcast พบว่าเชื่อมต่อกับ URL ที่ mhelpme.com ของบริษัท S-planet.co.th และพบข้อความคำว่า #JitarsaIO หรือ จิตอาสา IO ในไฟล์ .apk ของตัวแอป ซึ่งน่าจะเป็นการเขียนเพื่อปฏิบัติภารกิจด้าน IO เป็นการเฉพาะ

- หลังจากปรากฎข่าว ทั้งเว็บของบริษัท S-planet.co.th และแอปทั้งสองตัวได้ถูกปิดและถอดออกไปอย่างรวดเร็ว
- ทั้งนี้ สำหรับท่านที่ไม่คุ้นกับชี่อย่อของราชการ TAF และอาจจะอ่านสไลด์ไม่ค่อยคล่อง ขออนุญาตเดาชื่อย่อต่าง ๆ ในสไลด์ดังนี้
ขีดความสามารถ=Capability
ซ.=น่าจะมาจาก ตอนโซเชี่ยล เป็นการจัดกำลังของทหาร (หมู่ ตอน หมวด)
นขต.=หน่วยขึ้นตรง คือหน่วยที่อยู่ใต้บังคับบัญชา
ฝตข.=ฝ่ายตรงข้าม
ปฏิบัติการสีเทา/ดำ=Black Operation คือปฏิบัติการลับ/องค์กรจะไม่ยอมรับว่าทำ
ฝตข.=ฝ่ายตรงข้าม
กลุ่มปฏิบัติการ/กลุ่มสนับสนุน = ส่วนใหญ่ทหารจะมีฝ่ายกำลังรบหลักและฝ่ายสนับสนุนการรบ อันนี้เป็นฝ่ายสนับสนุนที่จะสนับสนุนกำลังหลัก คือกำลังหลักก็รบอย่างเดียว อยากได้อะไรให้รบชนะคนสนับสนุนจะหามาให้ ในกรณีนี้คือ มีฝ่ายที่จะทำหน้าที่ผลิตสื่อ เพื่อที่ฝ่ายปฏิบัติการจะนำไปทวิตต่อ เป็นต้น
โครงสร้าง Team Twitter=การจัดโครงสร้าง (Structure) ซึ่งน่าจะเป็นการออกแบบใหม่ สังเกตุว่าปฏิบัติการดำ (Black Opt.)
- ข้อสังเกตุที่สำคัญก็คือ มีการใช้หน่วยทหารที่เป็น #หน่วยดำเนินกลยุทธ คือ #กองพลทหารราบที่2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ. ปราจีนบุรี) ไม่ได้ใช่หน่วยที่มีหน้าที่ตรงในการปฏิบัติภารกิจเช่น กรมกิจการพลเรือนทหารบก กรมข่าวทหารบก หรือหน่วยปฏิบัติการพิเศษต่าง ๆ ที่รับหน้าที่เกี่ยวกับสงครามข่าวสารและสงครามจิตวิทยา
สำหรับด้านล่างนี้เป็นคำชี้แจงจากกองทัพบกครับ
ทบ.ยันไฟล์เอกสารทำทวิตเตอร์ที่ถูกเผยแพร่ เป็นการสอนเพื่อพัฒนางานสื่อสารออนไลน์
กรณีมีการเผยแพร่เอกสารนำเสนอเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ของหน่วยทหาร และอ้างว่ามีการจ้างบริษัทเอกชน เพื่อทำการอย่างใดอย่างหนึ่งผ่านแอพพลิเคชั่นทวิตเตอร์นั้น
กองทัพบกได้ตรวจสอบกับส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว ขอเรียนในประเด็นข้อเท็จจริงว่า กองทัพบก/หน่วย ไม่ได้มีการว่าจ้างบริษัทเอกชนไปดำเนินการปฎิบัติการข่าวสารตามที่มีความพยายามกล่าวหาโดยใช้การตีความจากเอกสารที่ถูกนำมาเผยแพร่ดังกล่าว เพราะวัตถุประสงค์ในการสื่อสารทางโซเชี่ยลมีเดียของกองทัพบกนั้นมุ่งเน้นการสื่อสารสร้างการรับรู้ อย่างสร้างสรรค์ เท่าทันสถานการณ์
อย่างไรก็ตามในยุคสื่อสังคมออนไลน์ ทหาร/กองทัพเองก็ต้องมีการเรียนรู้พัฒนาเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มต่างๆให้ทันกับสภาพสังคม โดยมีการจัดอบรมบรรยายและให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวกับกำลังพลในทุกระดับให้มีความเข้าใจในการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม
สาหรับภาพและข้อมูลในสื่อโซเชียลที่ปรากฎนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการอบรมกำลังพลของหน่วย(พล.ร.2รอ.)ในการใช้แอพพลิเคชั่นทวิตเตอร์ สนับสนุนงาน ประชาสัมพันธ์ของหน่วยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนที่มีทักษะความรู้ด้านการตลาดดิจิทัลและในการใช้สื่อออนไลน์ที่ทันสมัย มาเป็นผู้ให้คำแนะนำการใช้งาน โดยไม่มีการว่าจ้างแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ซอฟต์แวร์ที่นำมาใช้กระจายข้อมูลเชิงบวกก็เป็น ”ฟรีซอฟต์แวร์” ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น Tweet Broadcast และ Free Messenger เป็นต้น
สำหรับผังโครงสร้างที่ปรากฎก็เป็นการจัดหน่วยประชาสัมพันธ์ เพื่อทดลองกระจายข้อมูลเชิงบวกให้กับบัญชีทวิตเตอร์ด้วยแอพพลิเคชั่นดังกล่าว และมีการลงทะเบียนใช้งานอย่างเปิดเผย ระบุตัวตนได้ ส่วนเนื้อหาที่นำลงก็เป็นการประชาสัมพันธ์เชิงบวก กิจกรรมเทิดทูนสถาบัน การสร้างภาพลักษณ์ ภารกิจกองทัพบกและการช่วยเหลือประชาชน ในขณะเดียวกันหากมีผู้ไม่หวังดีนำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องบิดเบือน หรือข่าวเท็จ(ข้อมูลที่เป็นสีเทาหรือสีดำ)ที่ส่งผลกระทบต่อหน่วยงานก็จะมีการตรวจสอบและเร่งเผยแพร่ข้อเท็จจริงในสื่อสังคมออนไลน์อย่างทันท่วงที เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ โดยไม่ได้มีลักษณะที่บ่งบอกถึงการนำเอาแพลตฟอร์มดังกล่าวไปดำเนินการเพื่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่บุคคลหรือองค์กรใด หรือทำให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อสังคมโดยรวม
นอกจากนี้ ข้อมูลที่ปรากฏเป็นข่าว ก็เป็นข้อมูลที่ผู้หนึ่งผู้ใดสามารถ download ได้ สะท้อนให้เห็นว่าทางกองทัพและผู้พัฒนาโปรแกรม ไม่มีเจตนาปกปิด หรือกระทำสิ่งใดที่ผิดกฎหมาย จึงเป็นสิทธิที่กองทัพบกสามารถดำเนินการ แสดงออกและกระจายข้อมูลเชิงบวกเข้าสู่ระบบสังคมออนไลน์ได้ตามเจตนารมณ์
ขอเรียนยืนยันอีกครั้งว่ากองทัพบกใช้โซเชียลมีเดียโดยเฉพาะแพลตฟอร์ม Twitter เพื่อสนับสนุน งานการประชาสัมพันธ์ของหน่วยระดับต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์การช่วยเหลือประชาชนการสื่อสารกับกำลังพลในพื้นที่ประสบภัยและเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับสาธารณะชนเท่านั้น นอกจากนี้ กองทัพบกได้มีการปรับระบบการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการปฎิบัติงานโดยเฉพาะด้านการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ โดยล่าสุด คณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ในระดับกองทัพบกได้มีการจัดตั้งเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ของศูนย์ประชาสัมพันธ์ของหน่วยทหารจนถึงระดับกองพันจำนวน 578 หน่วย ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างการรับรู้ในข่าวสารด้านความมั่นคง งานช่วยเหลือประชาชน งานบรรเทาภัย ได้รวดเร็วและกว้างขวางยิ่งขึ้น
สำหรับทุกท่าน TAF อยากให้อ่านข้อมูลจากทั้งสองฝั่ง แล้วตัดสินใจด้วยวิจารณญาณว่าจะเชื่อข้อมูลใดของฝั่งใดครับ
สิ่งที่เราชื่นชมอย่างหนึ่งกับกองทัพบกก็คือ กองทัพบกไม่ได้ปฏิเสธไปเฉย ๆ ว่าเอกสารนี้เป็นของปลอมเหมือนหน่วยงานอื่น (เพราะเอกสารมันค่อนข้างชัดเจนว่าของจริง) แต่พยายามหาข้อมูลและเหตุผลมาหักล้าง ซึ่งถือว่าดีกว่าหน่วยงานอื่นเช่นเดิม และถ้าจะว่ากันตรง ๆ ก็คือ ถูกต้องตามตำราและทฤษฎีการตอบโต้ข่าวสารในลักษณะนี้ ถ้าจะมีข้อติงก็คือ ชี้แจงช้าไปหน่อยครับ ปกติจะเร็วกว่านี้
นอกจากนั้น เรามีข้อเสนอแนะว่า เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย และเพื่อให้เชื่อว่าข้อมูลที่กองทัพบกชี้แจงเป็นความจริง ไม่ได้แต่งขึ้นมาใหม่ตามสถานการณ์ กองทัพบกอาจพิจารณาเผยแพร่ข้อมูลเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
- การประชาสัมพันธ์นี้หรือการปฏิบัติการนี้ทำขนาดไหน เช่น จำนวน Tweet ความถี่ Tweet กลุ่มเป้าหมาย และ จะวัดผลอย่างไร
- เป็นการตอบโต้กับข่าวปลอมในแง่ใด แง่การทหาร แง่ความมั่นคง หรือแง่การเมือง
- ใครจะเป็นผู้ควบคุม Tone ของ IO ที่สื่ออกไป จะทำเพื่อตอบสนองรัฐ ตอบสนองกองทัพ หรือ ทำเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ใด
- กองทัพเองก็เป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสูงในการเมืองไทย กองทัพจะหลีกเลี่ยงประเด็น Conflict of Interest ได้อย่างไร เช่น สมมุติว่าผู้นำเหล่าทัพต้องการจะไปเล่นการเมืองหลังเกษียณ จะมั่นใจได้อย่างไรว่า IO จะไม่ทำเพื่อสนับสนุนผู้นำเหล่าทัพ หรือ ทำลายฝ่ายตรงข้าม ซึ่งถือว่าผิดวัตถุประสงค์และหน้าที่ของกองทัพ ที่ควรจะปฏิบัติงานเฉพาะการป้องกันประเทศเท่านั้น
- ถ้ามีภาพขณะทำการอบรมดังกล่าวมานำเสนอเพิ่มเติม ก็น่าจะช่วยคลายข้อสงสัยได้มาก