พลจัตวา Mohsen Fakhrizadeh นักฟิลิกส์นิวเคลียร์ระดับสูงของอิหร่านถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวานนี้โดยกระทรวงกลาโหมของอิหร่านยืนยันการเสียชีวิตของพลจัตวา Mohsen Fakhrizadeh ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยวิจัยและนวัตกรรมของกระทรวงกลาโหม โดยกระทรวงกลาโหมรายงานว่าเขาถูก “กลุ่มก่อการร้าย” ยิงโจมตีที่เมือง Absard ระหว่างโดยสารอยู่ในรถส่วนตัว หลังจากบอร์ดี้การ์ดของเขายิงต่อสู้กันสักพัก ก็สามารถนำตัวเขาไปส่งยังโรงพยาบาลได้ แต่ช่วยชีวิตไม่ทันและเสียชีวิตในที่สุด
ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่านประณามการโจมตีในครั้งนี้ โดยกล่าวว่าการโจมตีนี้เป็นการก่อการร้ายที่สนับสนุนโดยรัฐ (Act of State Terror) โดย พลจัตวา Mohsen Fakhrizadeh เป็นนักวิจัยนิวเคลียร์อิหร่านคนที่ 5 แล้วที่ถูกลอบสังหารนับตั้งแต่ปี 2010 และอิหร่านกล่าวว่าอิสราเอลอยู่เบื้องหลังการสังหารในแต่ละครั้ง
พลจัตวา Mohsen Fakhrizadeh เป็นผู้ควบคุมการวิจัยด้าน #นิวเคลียร์อิหร่าน และดูแลการ #เสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม ซึ่งอิหร่านกล่าวว่าเป็นไปเพื่อการผลิตไฟฟ้าและการใช้งานเชิงสันติเท่านั้น แต่อิสราเอลและสหรัฐอเมริกากล่าวว่าอิหร่านมีความตั้งใจที่จะผลิต #อาวุธนิวเคลียร์

ภาพจาก Mohsen Fakhrizadeh – Wikipedia
ข่าวนี้เกิดขึ้นมาโดยยังไม่มีใครออกมาอ้างความรับผิดชอบในการสังหารครั้งนี้ครับ
อนึ่ง นายกรัฐมนตรี Benjamin Netanyahu ของอิสราเอลเคยออกมาแถลงข่าวเมื่อสองปีก่อนบอกว่า อิสราเอลได้เจาะข้อมูลโครงการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านมา และระบุชื่อของนายพล Mohsen Fakhrizadeh ว่าเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญ และย้ำกับชาวโลกว่าให้จำชื่อคน ๆ นี้ให้ดี
ทั้งนี้ ชาติตะวันตกและอิสราเอลเชื่อค่อนข้างมากว่าอิหร่านมีแนวคิดในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จริง และพยายามกดดันรวมถึงคว่ำบาตรอิหร่านเพื่อให้ยุติการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์
จนเมื่อปี 2015 รัฐบาล Obama ของ #สหรัฐ #ฝรั่งเศส #เยอรมัน #รัสเซีย #สหราชอาณาจักร #สหภาพยุโรป และอิหร่าน ได้ลงนามใน Joint Comprehensive Plan of Action เพื่อจำกัดการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน กำหนดโควต้าในการใช้เครื่องปั่นแยกยูเรเนียม โควต้าในการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม การให้องค์กรนานาชาติเข้าไปตรวจสอบ แลกกับการยกเลิกการคว่ำบาตรและการร่วมมือทางเศรษฐกิจกับอิหร่าน โดยเรารู้จักกันในนาม #ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน
แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นประธานาธิบดี Trump สหรัฐกลับประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนี้ แม้สหภาพยุโรปและประเทศอื่นจะประกาศยึดถือข้อตกลงเดิมก็ตาม ทำให้อิหร่านตอบโต้ด้วยการเสริมสมรรถนะแร่ยูเนียมเกินโควต้ามาตลอด ส่วนในปีหน้า Biden ประกาศจะนำสหรัฐอเมริกาเข้าสู่ข้อตกลงนี้ใหม่อีกครั้ง ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากอิหร่านในระดับหนึ่ง
แน่นอนว่า อิสราเอลคัดค้านข้อตกลงนี้อย่างรุนแรง โดยมองว่าการกดดันอิหร่านให้ยกเลิกโครงการนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์หรือทางเลือกทางทหารเท่านั้นคือทางออกที่จะทำให้อิหร่านไม่มีนิวเคลียร์
ทั้งนี้ ถ้าจะให้ TAF วิเคราะห์ว่าใครน่าจะอยู่เบื้องหลังการลอบสังหารในครั้งนี้ เราคงชี้ไปที่อิสราเอลว่า มีความเป็นไปได้มากที่สุด เนื่องจาก
- สาเหตุจากความขัดแย้งส่วนตัวนั้นน่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะนายพล Mohsen ถือเป็นชื่อที่ได้รับการยอมรับและเป็นฮีโร่ของชาวอิหร่านคนหนึ่ง เขายังมีบอร์ดี้การ์ดป้องกันตนเองตลอดเวลา และในฐานะนายทหารระดับสูงของ #กองทัพปฏิวัติอิสลามอิหร่าน (Islamic Revolutionary Guard Corps) และหัวหน้าองค์กรที่มีความสำคัญสูงสุดองค์กรหนึ่งของประเทศ เขาได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ยากที่กลุ่มใดหรือบุคคลใดในประเทศจะสามารถทำการสังหารเขาได้เช่นนี้
- #สหรัฐอเมริกา คือผู้ต้องสงสัยรายถัดมาที่มีความเป็นไปได้ เพราะรัฐบาลของ Trump แสดงท่าที่อย่างชัดเจนมาโดยตลอดว่าไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน และต้องการกดดันอิหร่านอย่างรุนแรงผ่านการคว่ำบาตร และการที่ Trump ตัดสินใจสังหารนายพล Soleimani ก็เป็นเครื่องยืนยันว่า Trump พร้อมจะเลือกแนวทางที่ทุกคนคาดไม่ถึง และการที่ Trump แพ้เลือกตั้งและกำลังจะต้องออกจากตำแหน่ง การตัดสินใจปิดบัญชีเสียตั้งแต่วันนี้ อาจจะเป็นทางเลือกที่คาดไม่ถึงอีกทางที่ Trump เลือกก็ได้
แต่ปัญหาก็คือ ถึงแม้จะเป็น Trump ก็ตาม การลอบสังหารในลักษณะนี้ ไม่ใช่การลอบสังหารในลักษณะที่สหรัฐมักจะใช้ เนื่องจากสหรัฐมักจะไม่ส่งกำลังภาคพื้นดินเข้าไปลอบสังหารใครในลักษณะนี้ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกจับกุมได้และนักโทษหรือตัวประกันก็จะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ย้อนกลับมาทำร้ายสหรัฐเหมือนเดิม โดยสหรัฐมักจะใช้เครื่องบินโจมตี อากาศยานไร้นักบินหรือโดรน หรือกำลังทหารที่มีการสนับสนุนเข้าโจมตีมากกว่า
ที่สำคัญ สหรัฐมักจะออกมายอมรับและเปิดเผยเองทุกครั้งที่สหรัฐเปิดปฏิบัติการในลักษณะนี้ เพื่อให้ผลของการปฏิบัติการส่งผลทางการเมืองต่อเนื่อง
ดังนั้น ด้วยลักษณะของเหตุที่เกิดขึ้นคือ การถูกซุ่มยิงรถในอิหร่านด้วยกำลังภาคพื้นดิน ทำให้เชื่อว่าสหรัฐไม่น่าจะอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ในครั้งนี้
- นั่นทำให้เราเชื่อว่า #อิสราเอล น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดที่น่าจะอยู่เบื้องหลังการลอบสังหารนี้
การปฏิบัติการในลักษณะกำลังกลุ่มเล็ก ๆ ในดินแดน #อาหรับ ไม่ใช่เรื่องใหม่ของอิสราเอล ตรงกันข้ามหลายครั้งเป็นอิสราเอลเองที่เปิดปฏิบัติการลับในลักษณะนี้หลายครั้ง อีกทั้งสถาบันด้านการข่าวและการปฏิบัติการพิเศษของอิสราเอลที่เรารู้จักกันในชื่อ #Mossad ก็เคยปฏิบัติการในลักษณะนี้หลายครั้ง และตัว Mossad เองก็มีหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่มีเชื้อสายตะวันออกกลาง ซึ่งแม้นับถือศาสนาอิสลามและมีเชื้อสายอาหรับหรือเปอร์เซีย แต่ก็ถือว่าเป็นชาวอิสราเอลและถูกเลือกมาแล้วว่ายินดีที่จะทำงานให้อิสราเอล การแทรกซึมเข้าไปยังดินแดนข้าศึกจึงทำได้ง่ายกว่า
ประกอบกับอิสราเอลมีจุดยืนเรื่อยมาว่า โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านหรือชาติใดในโลกอาหรับจะต้องยุติอย่างสิ้นเชิง และไม่เคยปิดโอกาสในการใช้ทุกทางเลือกเพื่อยุติโครงการนี้ ก็น่าจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ชี้ว่าอิสราเอลน่าจะมีแรงกระตุ้นในการปฏิบัติการในลักษณะนี้เช่นกัน
- ทั้งนี้ อิสราเอลรู้ข้อจำกัดดีกว่า ณ ปัจจุบัน กองทัพอิสราเอลยังไม่มีขีดความสามารถมากพอในการโจมตีหน่วยวิจัยนิวเคลียร์ของอิหร่านได้ทั้งหมด ต่างจากเมื่อครั้งที่อิสราเอลโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของอิรักที่ #Osirak ภายใต้ #OperationOpera ซึ่งเป็นโครงสร้างอาคารบนพื้นดินที่สามารถถูกทำลายได้ด้วยการทิ้งระเบิดทางอากาศ
ทั้งนี้ มีข้อมูลใหม่ปรากฎขึ้นมาว่าก่อนหน้าที่จะเกิดการโจมตีใน Operation Opera นั้น อิหร่านเคยก่อวินาศกรรมโรงไฟฟ้า Osirak ของอิรักมาก่อนด้วยการวางระเบิด แต่ไม่ประสบความสำเร็จ การวางระเบิดสร้างความเสียหายให้กับโรงไฟฟ้าได้ แต่ไม่ถึงขั้นทำให้โรงไฟฟ้าถูกทำลาย อิหร่านจึงตัดสินใจที่จะติดต่อไปยังชนชาติศัตรูอย่างอิสราเอลเพื่อแบ่งปันข้อมูลเพื่อให้อิสราเอลสามารถวางแผนโจมตีโรงไฟฟ้า Osirak ได้ และข้อมูลที่ได้จากมิตรชั่วคราวของอิสราเอลอย่างอิหร่านก็ทำให้ Operation Opera ประสบความสำเร็จอย่างดี
และนี่ก็อาจเป็นสาเหตุที่เมื่ออิหร่านตัดสินใจที่จะเริ่มโครงการนิวเคลียร์ของตนเองอีกครั้ง การที่อิหร่านเรียนรู้ข้อผิดพลาดจากโครงการนิวเคลียร์ของอิรักจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้มาก โดยอิหร่านใช้วิธีกระจายศูนย์วิจัยออกไปหลายส่วนทั่วประเทศ และส่วนใหญ่เป็นการวิจัยในอาคารใต้ดิน ซึ่งทำให้ปลอดภัยจากการโจมตีทางอากาศ
- อิสราเอลเองแม้จะส่งสัญญาณว่าพร้อมจะใช้ปฏิบัติการทางทหารในการหยุดโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน แต่อิสราเองก็ทราบดีกว่า ลำพังกองทัพอากาศอิสราเอลคงไม่สามารถยุติโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านได้เหมือนที่สามารถยุติโครงการนิวเคลียร์ของอิรักใน Operation Opera ได้ การบุกภาคพื้นดินยิงเป็นไปแทบไม่ได้เข้าไปใหญ่ ดังนั้นอิสราเอลอาจคิดว่า แม้การลอบสังหารนายพล Mohsen แม้อาจไม่ได้ช่วยให้โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านยุติลง แต่อย่างน้อยการสังหารนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญก็น่าจะทำให้โครงการประสบปัญหาและต้องล่าช้าออกไปมากก็น้อยอย่างแน่นอน
ทั้งหมดนี้ TAF จึงเชื่อว่า น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด ที่อิสราเอลจะอยู่เบื้องหลังการโจมตีลอบสังหารในครั้งนี้ครับ