พ.ร.ก. โอนอัตรากำลังพลฯ หรือชื่อเต็มคือ พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของ #กองทัพบก #กองทัพไทย #กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของ #หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็น #ส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 ออกมาเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562
กฎหมายมีเพียง 4 มาตราเท่านั้นคือ
มาตรา 1 บอกว่ากฎหมายนี้ชื่ออะไร
มาตรา 2 บอกว่าใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 4 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามกฎหมายนี้
ใจความสำคัญอยู่ที่มาตรา 3 ซึ่งบัญญัติว่า ให้โอนบรรดาอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประกาศกำหนด ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการในพระองค์
กฎหมายให้เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ เพราะต้องถวายอารักขาและถวายพระเกียรติและรักษาความปลอดภัยของพระบรมวงศานุวงศ์ ให้มีความเรียบร้อย รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ และเกิดความปลอดภัยสูงสุดจึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้
ผู้สนใจอ่านฉบับจริงได้ที่
TAF จะอธิบายให้ฟังง่าย ๆ ก็คือ
ก่อนหน้านี้ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์เป็นนิติบุคคล ระดับกรม สังกัดกระทรวงกลาโหม ต่อมากฎหมายใหม่ (พระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560) ได้โอนหน่วยงานนี้ไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ โดยมีกำลังหลักคือทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์และตำรวจราชองครักษ์ในพระองค์
พ.ร.ก. โอนอัตรากำลังพลฯ ที่ออกมานั้น ไม่ได้ทำให้รัฐบาลใช้งบประมาณมากขึ้น หรือเป็นการตั้งหน่วยงานใหม่ แต่เป็นการโอนคน อาวุธยุทโธปกรณ์ และงบประมาณที่จ่ายให้หน่วยงานเดิมไปยังหน่วยงานใหม่ คือแต่ก่อนที่อยู่ภายใต้กองทัพบกและกระทรวงกลาโหม ให้ไปเป็นหน่วยงานส่วนราชการในพระองค์ และงบประมาณที่แต่ก่อนจ่ายผ่านกระทรวงกลาโหม ให้จ่ายผ่านส่วนราชการในพระองค์แทน
โดยหน่วยงานที่โอนไปตามกฎหมายนี้คือกรมทหารราบ 2 กรม คือกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ดังนั้นทหารที่ประจำการอยู่ในสองกรมทหารราบนี้ จะย้ายไปสังกัดเป็นส่วนราชการในพระองค์ และไม่ได้อยู่ในกองทัพบกแล้วครับ

อนึ่ง
- #พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) คือ กฎหมายที่ออกในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น พ.ร.ก. โอนอัตรากำลังพลฯ 2562
- #พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) คือ กฎหมายที่คณะรัฐมนตรีออกเพื่อกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับรัฐสภา เช่น พ.ร.ฎ. จัดระเบียบราชการในพระองค์ฯ 2560
- #พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คือ กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา เช่น พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ 2560
สรุปของสรุป
- แต่ก่อนหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์อยู่ภายใต้กลาโหม
- ได้โอนให้ไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ (พ.ร.ฎ. จัดระเบียบราชการในพระองค์ฯ 2560) อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10
- ต่อมาในปี 2562 ได้โอนกรมทหารราบที่ 1 และ 11 ออกจากกองทัพบกไปอยู่ภายใต้หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (พ.ร.ก. โอนอัตรากำลังพลฯ 2562) เพิ่มอีกสองหน่วย
- กองทัพบกไม่มีกรมทหารราบที่ 1 และ 11 แล้ว เพราะทั้งสองหน่วยย้ายสังกัดแล้วนั่นเองครับ