ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดนได้ประกาศเลือกพลเอกลอยด์ ออสติน อดีตผู้บัญชาการกองบัญชาการกลางของสหรัฐ (US Central Command) ให้เป็น #รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คนใหม่ โดยถ้าวุฒิสภาให้การรับรอง ก็จะกลายเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมชาวแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกในประวัติศาสตร์
ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า #ไบเดน พิจารณาวุฒิสมาชิกลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ท และมิเชล ฟอร์นอยด์ เพื่อมารับตำแหน่งนี้ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นพลเอกลอยด์ ออสตินได้รับตำแหน่งไปแทน
พลเอกลอยด์ ออสตินเคยเป็น #เสนาธิการกองทัพบก ของ #กองทัพบกสหรัฐ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เทียบกับเท่ากับ #ผู้บัญชาการทหารบก ของไทย และเป็นผู้บัญชาการคนสุดท้ายในปฏิบัติการ New Dawn ซึ่งเป็นปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐในอิรักที่ปิดฉากลงไปเมื่อปี 2011
หลังจากหมดวาระก็เลื่อนไปเป็นผู้บัญชาการของกองบัญชาการกลางของกองทัพสหรัฐ โดยรับตำแหน่งต่อจากพลเอกเจมส์ เมทิสต์ ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์เช่นกัน โดยในช่วงที่เป็นผู้บัญชาการของกองบัญชาการกลางนั้นทำให้พลเอกลอยด์ ออสตินต้องปฏิบัติหน้าที่ใกล้ชิดกับโข ไบเดนซึ่งเป็นรองประธานาธิบดีในขณะนั้น นี่อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เขาได้รับเลือกให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเมื่อไบเดนมาเป็นประธานาธิบดี
พลเอกลอยด์ ออสตินจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยเวสพอยด์ และรับตำแหน่งในหน่วยทหารราบและหน่วยทหารราบส่งทางอากาศมาโดยตลอด จบการศึกษาในระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย Auburn ในสาขาการศึกษา มีประสบการณ์ในการรบทั้งในอัฟกานิสถานและในอิรักจนเกษียณอายุในปี 2016 ที่ผ่านมา นอกจากนั้นเขายังมีตำแหน่งเป็นคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ของบริษัท Raytheon ผู้ผลิตจรวดชั้นนำของสหรัฐ บริษัท Nucor ผู้ผลิตเหล็กในสหรัฐ และ Tenet Healthcare บริษัทด้านสุขภาพ นอกจากนั้นเขายังมีบริษัทที่ปรึกษาของเขาเองอีกด้วย
การเลือกพลเอกลอยด์ ออสตินมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้าน ผู้ที่สนับสนุนมองว่าพลเอกลอยด์ ออสตินมีประสบการณ์และรู้จัก #เพนตากอน เป็นอย่างดี น่าจะสามารถรับมือกับภาวะงบประมาณกลาโหมที่น่าจะลดลงในปัจจุบันได้ ส่วนผู้คัดค้านมองว่าตัวเต็งอย่างมิเชล ฟอร์นอยด์น่าจะมีคุณสมบัติที่ครบถ้วนมากกว่า
นอกจากนั้นยังมีเสียงวิจารณ์ว่าการให้อดีตทหารมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาจทำให้ผิดหลักการของประเทศที่ต้องมีพลเรือนเป็นผู้ควบคุมทหาร และกองทัพต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งเป็นเสียงวิจารณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ทรัมป์แต่งตั้งพลเอกเจมส์ เมทิสมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเช่นกัน
อีกทั้งการที่พลเอกลอยด์ ออสตินเพิ่งเกษียณอายุเมื่อปี 2016 ทำให้เขาเพิ่งจะพ้นตำแหน่งมาได้เพียง 5 ปี ถ้าเขาจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในปี 2021 ซึ่งทำให้วุฒิสมาชิกจะต้องให้การรับรองและลงมติยกเว้นการใช้กฎที่ว่า ข้าราชการต้องพ้นตำแหน่งมาแล้วอย่างน้อย 7 ปีก่อนที่จะกลับมาเป็นรัฐมนตรีที่ควบคุมหน่วยงานนั้น เพื่อป้องกันปัญหาการใช้อิทธิพลเพื่อผลประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลที่คุ้นเคยกับตนเองในกระทรวงดังกล่าว
ทั้งนี้ ข้าราชการระดับสูง ผู้พิพากษา รัฐมนตรี หรือเอกอัคราชทูตของสหรัฐ จะถูกเสนอชื่อโดยประธานาธิบดี และวุฒิสภาที่ประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนรัฐละ 2 คนรวม 100 คน ต้องลงมติให้การรับรองจึงจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่พรรคริพับริกันครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา ทำให้ในกรณีนี้มีความกังวลว่าพลเอกลอยด์ ออสตินอาจมีอุปสรรคในการดำรงตำแหน่งหรือวุฒิสมาชิกอาจไม่ให้การรับรองก็เป็นได้