Airbus อัพเดตการพัฒนา Eurofighter Typhoon ทั้งคำสั่งซื้อใหม่จากอังกฤษและสเปน การพัฒนา AESA Radar และการแข่งขันในฟินแลนด์และสวิสเซอร์แลนด์
ปัจจุบัน ประเทศในกลุ่มผู้พัฒนามีแผนการใช้งาน Typhoon ไปจนถึงปี 2040 เป็นอย่างน้อย การลงทุนใหม่เพื่อทำให้เครื่องบินยังคงทันสมัยและรับมือกับภัยคุกคามใหม่ ๆ ได้จึงมีความจำเป็น ซึ่งนำมาสู่สัญญาที่ Airbus ได้รับในการพัฒนา E-Scan Radar หรือ Captor-E ซึ่งจะเป็นเรดาร์ AESA แบบใหม่ที่จะผลิตเพื่อติดตั้งให้กับ Typhoon ใน Tranche ต่าง ๆ ในอนาคต
สำหรับปีนี้กลุ่มประเทศผู้พัฒนา Typhoon มีการสั่งซื้ออากาศยานเพิ่มเติมสองประเทศคือเยอรมันและสเปน โดยเยอรมันประกาศโครงการ #Quadriga เพื่อจัดหา Typhoon จำนวน 38 ลำ มูลค่า 6.5 พันล้านเหรียญเพื่อทดแทน Typhoon ใน Tranche 1 ซึ่งใช้งานมาตั้งแต่ปี 2004 เนื่องจากศึกษาแล้วพบว่าการอัพเกรด Tranche 1 เป็น Tranche 4 นั้นต้องลงทุนสูงและอายุอากาศยานก็เหลือไม่มาก ไม่คุ้มค่าเท่าจัดหา Typhoon Tranche 4 ลำใหม่เลย โดยการจัดหาอากาศยานนั้นจะเริ่มในปี 2025 และจะเริ่มรับมอบในปี 2028 แม้ว่า Airbus จะอยากให้มีการสั่งซื้อเร็วกว่านี้ เนื่องจากมีช่องว่างในสายการผลิตหลายปีทำให้จัดการห่วงโซ่อุปทานยากขึ้น แต่กองทัพอากาศเยอรมันวางแผนที่จะจัดหาให้พอดีกับการเริ่มปลดประจำการ Typhoon Tranche 1 ในปี 2023 โดยเครื่องที่ปลดประจำการนั้นจะถูกนำไปถอดเป็นอะไหล่
สำหรับสเปนจะจัดหา Typhoon Tranche 4 ชุดใหม่พร้อมเรดาร์ E-Scan จำนวน 20 ลำทดแทน F/A-18 รุ่นเก่าที่จะปลดประจำการภายใต้โครงการ #Halcon ซึ่งคำสั่งซื้อจากทั้งสองโครงการนี้จะช่วยยืดอายุสายการผลิตอุปกรณ์และอะไหล่ต่าง ๆ ของ Typhoon ไปจนถึงอย่างน้อยในปี 2030 และรักษาตำแหน่งงานมากกว่า 1 แสนตำแหน่งทั่วยุโรปเอาไว้ได้



ในส่วนของการแข่งขันในต่างประเทศ โดยเฉพาะสวิสเซอร์แลนด์ที่แข่งกับ Rafale, F/A-18E/F และ F-35 นั้น Airbus มีความมั่นใจว่า Typhoon จะได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะเป็นเครื่องบินขับไล่ของยุโรป และเพื่อนบ้านของสวิสเซอร์แลนด์อย่างอิตาลีและเยอรมันก็ใช้งาน Typhoon ซึ่งสามารถเสนอข้อตกลงในการทำการฝึกและสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงร่วมกันได้ อีกทั้ง Airbus ยังเสนอให้สวิสเซอร์แลนด์ทำการประกอบขั้นสุดท้ายในประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมการบินของสวิสเซอร์แลนด์ได้
โดยสวิสเซอร์แลนด์ต้องการเครื่องบินขับไล่ใหม่เพื่อทดแทน F/A-18C/D และ F-5E/F จำนวน 40 ลำ มูลค่าโครงการ 6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และประเทศผู้ชนะต้องส่งมอบ Offset หรือการชดเชยทางการค้า เช่น การลงทุนในสวิสเซอร์แลนด์หรือการจัดหาอุปกรณ์จากสวิสเซอร์แลนด์เป็นจำนวนอย่างน้อย 60% ของมูลค่าโครงการหรือ 3.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ
Airbus ยังวางแผนการพัฒนา Typhoon ในระยะยาว โดยปรับปรุงระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ประสิทธิภาพเครื่องยนต์ ปรับปรุงอากาศพลศาสตร์ของเครื่อง และทำงานร่วมกับ Remote Carrier หรือ UAV ในอนาคตอีกด้วย
Trade Media Briefing คือกิจกรรมที่ Airbus เชิญสื่อมวลชนทั่วโลกเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวสรุปความเคลื่อนไหวและข้อมูลสำคัญของ Airbus เป็นประจำทุกปี แต่ในปีนี้เนื่องจากติดปัญหา COVID-19 จึงเปลี่ยนมาเป็นการจัดงาน Online และ TAF ได้รับเชิญให้ร่วมการแถลงข่าวด้วย ติดตามบทความ คลิป และข้อมูลการวิเคราะห์ของเราเกี่ยวกับ Eurofighter Typhoon, A400M, C295, เฮลิคอปเตอร์ตระกูล Airbus และความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับอวกาศได้ตลอดช่วงสองสามวันนี้ครับ
มีข้อสงสัยอยู่ว่าถ้าเครื่องบินขับไล่ Eurofighter Typhoon สนใจจะเข้ามาแข่งขันในโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ใหม่ของกองทัพอากาศไทยในอนาคต เช่น การทดแทน F-16A/B ADF ฝูง๑๐๒ จริง
ประเทศใดจะเป็นตัวแทนที่จะเสนอ Eurofighter Typhoon แก่ไทย?
เพราะ Eurofighter GmbH เป็นกิจการค้าร่วมที่ประกอบด้วยบริษัทผู้หุ้นหลักของสี่ชาติหุ้นส่วนผู้พัฒนาโครงการคือ
บริษัท Airbus Defence & Space ยุโรปสาขาเยอรมนีและสเปน ถือหุ้นที่ร้อยละ๔๖
บริษัท BAE Systems สหราชอาณาจักร ถือหุ้นที่ร้อยละ๓๓
และบริษัท Leonardo อิตาลีถือหุ้นที่ร้อยละ๒๑
ทำให้การส่งออก Eurofighter Typhoon ในแต่ละประเทศจะมีบริษัทที่รับผิดชอบนำหน้าที่ตัวแทนต่างกัน
อย่างในกรณีการส่งออกเครื่องบินขับไล่ Typhoon ให้กับออสเตรียจำนวน ๑๕เครื่อง ซึ่งเป็นลูกค้าส่งออกรายแรกในยุโรป มี Airbus เยอรมนีเป็นตัวแทน
การส่งออกเครื่องบินขับไล่ Typhoon ให้ซาอุดิอาระเบียจำนวน ๗๒เครื่อง มี BAE Systems สหราชอาณาจักรเป็นตัวแทน
การส่งออกเครื่องบินขับไล่ Typhoon ให้คูเวตจำนวน ๒๘เครื่อง มี Leonardo อิตาลีเป็นตัวแทน
การแข่งขันโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ใหม่ในหลายๆประเทศก็มีตัวแทนบริษัทในกลุ่ม Eurofighter ที่ต่างกัน
เช่น โครงการ HX ของฟินแลนด์มี BAE Systems เป็นตัวแทน
โครงการ Air2030 ของสวิตเซอร์แลนด์มี Airbus สาขาเยอรมนีเป็นตัวแทน
ด้านทางกลุ่มชาติ ASEAN โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ใหม่ MRCA ของกองทัพอากาศมาเลเซียที่ถูกชะลอโครงการไปและมองที่จะจัดหาเครื่องบินรบขนาดเบาแทน
ก็มี BAE Systems สหราชอาณาจักรเป็นตัวแทนเสนอ Eurofighter Typhoon แข่งกับ เครื่องบินขับไล่ Dassault Rafale ฝรั่งเศส ตามที่มาเลเซียได้จัดหาเครื่องบินโจมตีเบาไอพ่น Hawk 208 ก่อนหน้าแล้ว
ส่วนความสนใจเครื่องบินขับไล่ Typhoon ออสเตรีย ๑๕เครื่องของอินโดนีเซีย ไม่แน่ใจว่าจะเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย-ออสเตรียโดยตรงหรือไม่
ตรงนี้ก็จึงมีความน่าสงสัยอยู่ว่าถ้า Eurofighter Typhoon จะมาลงแข่งขันในโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ใหม่ของกองทัพอากาศไทย บริษัทใดจะทำหน้าที่เป็นตัวแทน?
ซึ่ง Airbus, BAE Systems กับ Leonardo ซึ่งทั้งสามบริษัทมาออกงานจัดแสดง Defense & Security เกือบทุกปี แต่ที่ผ่านมาไม่ได้เน้นประชาสัมพันธ์ Eurofighter ในไทยสักเท่าไร
ถูกใจถูกใจ
แล้วแต่ใครจะ Lead ครับ เขาจะตกลงกันเป็นกรณี ๆ ไป
ถูกใจถูกใจ