Airbus highlight the 2020 helicopter market and new development from Airbus Helicopter. With the focus on H145M.
Matthieu Louvot รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารโครงการของ Airbus Helicopter เปิดเผยว่าจากภาวะโควิด-19 นั้นได้ส่งผลให้ตลาดเฮลิคอปเตอร์ทั้งพลเรือนและการทหารหดตัวลงถึง 40-50% แต่ Airbus ก็ภูมิใจที่เฮลิคอปเตอร์ที่ Airbus ผลิตและเข้าประจำการทั้งในเยอรมัน สเปน ไทย หรือมาเลเซีย ได้ช่วยสนับสนุนการต่อสู้ไวรัสและการนำส่งผู้บาดเจ็บ หรือส่งสัมภาระให้กับพื้นที่ห่างไกล และยังยืนยันว่ายังคงลงทุนอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ
ในส่วนการอัพเดตตลาดด้านการทหารนั้น มีหลายโครงการทั่วโลกที่ยังคงดำเนินอยู่ โดยเฉพาะโครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ H160M จะมาแทนเฮลิคอปเตอร์ทั้ง 5 รุ่นในกองทัพฝรั่งเศสคือ Gazelle ในกองทัพบก Fennec ในกองทัพอากาศ Alouette III Dauphin และ Panther ในกองทัพเรือ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยให้เฮลคิอปเตอร์แบบเดียวสามารถทำภารกิจได้หลากหลาย และเทคโนโลยีจากเฮลิคอปเตอร์พลเรือนที่ทำให้เฮลิคอปเตอร์เสียงเงียบและไม่ต้องการการซ่อมบำรุงมาก ซึ่งคาดว่าจะมียอดสั่งซื้อทั้งหมด 169 ลำจากกองทัพฝรั่งเศส
การพัฒนาเฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบ Tiger ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะ Tiger Mk.3 ซึ่ง Airbus เชื่อว่าจะทำให้มันเป็นเฮลิคอปเตอร์โจมตีที่ดีที่สุดในโลก เพราะในรุ่น Mk.3 จะนำไปด้วยเซนเซอร์และอาวุธรุ่นล่าสุดมาใส่ใน Platform ที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว โดยกำลังทำงานร่วมกับฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปนในการเปิดโครงการ Mk.3 ในเวลาอันใกล้นี้
นอกจากนั้นในปี 2020 ที่ผ่านมา กองทัพฝรั่งเศสยังนำ NH90 รุ่นปฏิบัติการพิเศษเข้าประจำการ รวมถึงในออสเตรเลียที่จะใช้งาน NH90 สำหรับหน่วยปฏิบัติการพิเศษอีกด้วย และแม้ว่าจะมีภาวะโคิด-19 แต่หลายประเทศก็ยังคงลงทุนด้านการจัดหาอากาศยานต่อเนื่อง โดยเฉพาะเยอรมนีที่จัดหา NH90 รุ่นใช้งานทางทะเลไปจำนวนถึง 31 ลำ มูลค่า 2.7 พันล้านยูโร
กองทัพบกสหรัฐจัดได้จัดหาเฮลิคอปเตอร์แบบ UH-72B Lakota เพิ่มเติมอีก 17 ลำในปีนี้ ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของลูกค้ารายสำคัญอย่างกองทัพบกสหรัฐ และเป็นการเปิดสายการผลิตรุ่น B ซึ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในส่วนของการส่งมอบนั้น ปีที่ผ่านมา Airbus ยังได้ส่งมอบ H145 ให้กับกองทัพเอลกวาดอร์ H145M ลำแรกให้กับกองทัพฮังการี และ NH90 ลำแรกให้กับกองทัพสเปนอีกด้วย
นอกจากเฮลิคอปเตอร์ทั่วไปแล้ว Airbus ยังทำการวิจัยอากาศยานไร้นักบินขึ้นลงทางดิ่งแบบ VSR-700 ซึ่งเป็นอากาศยานไร้นักบินใช้งานทางทะเลที่เหมาะสมกับการใช้บนเรือรบ ซึ่ง VSR-700 มีขนาดใหญ่พอจะนำอุปกรณ์และเซนเซอร์จำนวนมากไปกับตัวด้วย แต่ก็มีขนาดเล็กพอที่จะบรรทุกไปกับเรือรบและห้องเก็บอากาศยานของเรือรบได้ โดยได้เริ่มบินเป็นเที่ยวแรกในปีนี้ และระบบลงจอดบนเรือรบเริ่มทำการทดสอบแล้วบนเฮลิคอปเตอร์ที่มีคนขับที่ใช้ทดสอบ รวมถึงวางแผนที่จะทำการทดสอบและสาธิตขีดความสามารถเต็มของระบบในปี 2022 เพื่อนำเสนอกับกองทัพเรือฝรั่งเศสและทั่วโลก
สำหรับเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลางที่ค่อนข้างเหมาะสมสำหรับตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะประเทศไทยนั้น Airbus มุ่งความสนใจในปีนี้ไปที่การพัฒนา H145M โดยมีคุณ Axel Humpert รองประธานอาวุโสของโครงการ H145M มาแนะนำและให้ข้อมูลขีดความสามารถของ H145M
โดย H145M นั้นทำชั่วโมงบินทั่วโลกรวมมากกว่า 6 ล้านชั่วโมง พร้อมขีดความสามารถในการเตรียมพร้อมทำภารกิจได้ใน 30 นาที ใช้ขีดความสามารถของเฮลิคอปเตอร์พลเรือนมาปรับปรุงและเพิ่มเติมขีดความสามารถที่เหมาะสมกับการทหารหรือเพื่อติดตั้งอาวุธผ่าน HForce Weapon System ที่ช่วยในการติดตั้งอาวุธให้กับเฮลิคอปเตอร์พลเรือนของ Airbus การที่เฮลิคอปเตอร์มีพื้นฐานมาจากเฮลิคอปเตอร์พลเรือนนั้นสร้างความได้เปรียบหลายอย่าง โดยเฉพาะการใช้หลักการซ่อมบำรุงแบบเฮลิคอปเตอร์ของพลเรือนที่ทำให้เครื่องมีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจได้สูงกว่า 95%
ในปัจจุบัน HForce Weapon System มีทางเลือกในการติดอาวุธได้ 3 ทางคือ
- อาวุธสำหรับภารกิจลาดตระเวนติดอาวุธ: ซึ่งติดตั้งหมวกบินติดศูนย์เล็งสำหรับทั้งนักบินและพลปืน เรดาร์ตรวจการณ์ กระเปาะปืนขนาด 12.7 มม. แบบ HMP400 กระเบาะปืนขนาด 20 มม. แบบ NC621 และกระเปาะจรวดขนาด 70 มม. แบบ FZ231
- สำหรับภารกิจการโจมตีเบา ซึ่งติดตั้งหมวกบินติดศูนย์เล็งสำหรับทั้งนักบินและพลปืน กล้องตรวจการณ์ EO/IR และระบบเรดาร์ตรวจการณ์
- สำหรับภารกิจโจมตีเบาด้วยอาวุธนำวิถี เป็นการติดตั้งจรวดนำวิถีด้วยเลเซอร์แบบ FZ275 และจรวดอากาศสู่อากาศและอากาศสู่พื้นแบบอื่น ๆ ตามที่ลูกค้าต้องการ โดยกำลังทดสอบเพื่อติดตั้งจรวดต่อสู้รถถังแบบ Spike อยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีทางเลือกสำหรับติดตั้งระบบป้องกันตนเอง (Self Protection System: SPS) ที่ประกอบไปด้วยระบบแจ้งเตือนทิศทางของจรวด (MAW) และระบบเป้าลวง



ปัจจุบันมีคำสั่งซื้อ H145M แล้วจำนวน 52 ลำ ประกอบไปด้วยหน่วยปฏิบัติการพิเศษของเยอรมัน 16 ลำ กองทัพเรือไทย 5 ลำ กองทัพอากาศเซอร์เบียร์ 6 ลำ หน่วยตำรวจเซอร์เบีย 3 ลำ กองทัพอากาศฮังการี 20 ลำ และลักเซมเบิร์ก 2 ลำ
สำหรับการพัฒนาในอนาคตนั้น Airbus กำลังทำการทดสอบการเปลี่ยนใบพัดเป็นแบบ 5 ใบ เพื่อเพิ่มแรงยกที่สามารถทำให้อากาศยานบรรทุกได้เพิ่มอีก 150 กิโลกรัม และเพื่อให้สามารถพับใบพัดทั้งหมดไปด้านหลังเพื่อประหยัดพื้นที่ แทนที่จะเป็นการหุบใบพัด 4 ใบเข้าเป็น 2 ใบเพื่อเก็บ ซึ่งการเปลี่ยนใบพัดเป็น 5 ใบนั้นเกิดจากความต้องการของชาติลูกค้าหลายชาติที่ร้องขอเข้ามา
นอกจากนั้นยังมีแผนติดตั้งระบบป้องกันตัวเองจากสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ระบบ RWR ระบบลดรังสีอินฟาเรดจากเครื่องยนต์ และรวมถึงแผนการวิจัยเพื่อติดตั้งขีดความสามารถด้าน Network Centric Warfare การติดตั้ง Link-16 และ Datalink ทั้งแบบ Line of Sight และ Non-Line of Sight การเพิ่มขีดความสามารถในการรับส่งเป้าจากเซนเซอร์ผ่านระบบควบคุมและสั่งการ (Sensor to Shooter) การควบคุมอากาศยานไร้นักบิน (Manned-Unmanned-Teaming) และการติดตั้งจรวดนำวิถีอากาศสู่พื้นอีกหลายรายการ
TAF ถามคุณ Axel Humpert ว่า ทาง Airbus มีแผนที่จะเพิ่มเติมขีดความสามารถด้านการปราบเรือดำน้ำ (ASW) หรือไม่ และการที่ H145M ใช้ฐานสกี (Landing Skid) นั้นเป็นอุปสรรคในการใช้งานทางทะเลหรือไม่
เขาตอบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะพิ่มขีดความสามารถในการปราบเรือดำน้ำ แต่จะมีข้อจำกัดก็คือขนาดของตอปิโดว์ที่ใหญ่ ทำให้ติดตั้งและบินยาก แต่ถ้ามีความต้องการจากชาติลูกค้าก็สามารถดำเนินการพัฒนาได้ ส่วนการลงจอดบนเรือรบด้วย Landing Skid นั้นไม่เป็นอุปสรรคเนื่องจากมีระบบช่วยลงจอด และมีลหายชาติที่นำไปลงจอดบนเรือรบหรือแท่นขุดเจาะอยู่แล้ว
Trade Media Briefing คือกิจกรรมที่ Airbus เชิญสื่อมวลชนทั่วโลกเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวสรุปความเคลื่อนไหวและข้อมูลสำคัญของ Airbus เป็นประจำทุกปี แต่ในปีนี้เนื่องจากติดปัญหา COVID-19 จึงเปลี่ยนมาเป็นการจัดงาน Online และ TAF ได้รับเชิญให้ร่วมการแถลงข่าวด้วย ติดตามบทความ คลิป และข้อมูลการวิเคราะห์ของเราเกี่ยวกับ Eurofighter Typhoon, A400M, C295, เฮลิคอปเตอร์ตระกูล Airbus และความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับอวกาศได้ตลอดช่วงสองสามวันนี้ครับ