NGO ต่างชาติเผย #กองทัพเมียนมาร์ ใช้บริษัทบังหน้าซื้ออาวุธ-เครื่องบินตะวันตก ซึ่งอาจเป็น AC-295 Gunship

โครงการรายงานองค์กรอาชญากรรมและการคอร์รัปชั่น (Organized Crime and Corruption Reporting Project: #OCCRP) รายงานว่ากองทัพเมียนมาร์ได้ใช้บริษัทนายหน้าที่มีผู้บริหารเป็นบุคคลสัญชาติอังกฤษในการจัดหาอาวุธและอุปกรณ์ที่ใช้งานได้สองทาง (Dual used คืออุปกรณ์ที่ใช้ได้ทั้งทางทหารและพลเรือน) เพื่อนำเข้าประจำการในกองทัพเมียนมาร์ที่ถูกคว่ำบาตรการขายอาวุธจากชาติตะวันตกจากปัญหาการละเมิดสิทธิ์มนุษยชน และล่าสุดคือการปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาว #โรฮิงญา โดยอ้างอิงเอกสารที่องค์กรเพื่อความยุติธรรมของเมียนมาร์ (Justice for Myanmar) เปิดเผยขึ้น

เอกสารอีกฉบับยังระบุถึงบริษัท Aero Sofi ของเมียนมาร์ที่มีผู้บริหารเป็นบุคคลที่ถือหนังสือเดินทางของทั้งเมียนมาร์และอังกฤษ และเป็นอดีตผู้บริหารของสายการบิน Air Mandalay ที่ปิดกิจการไปแล้ว ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจัดหาอาวุธและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อใช้งานในกองทัพเมียนมาร์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะละเมิดการคว่ำบาตรของ #สหภาพยุโรป

โดยเอกสารฉบับดังกล่าวอ้างอิงการจัดหาเครื่องบินลำเลียง Airbus #C295 จำนวน 2 ลำจากกองทัพอากาศจอร์แดน โดย OCCRP สอบถามไปยัง Airbus Defense and Space ซึ่งโฆษกของบริษัทระบุว่าตามข้อมูลของบริษัทนั้น อากาศยานทั้งสองลำมีผู้ใช้คือกองทัพอากาศ #จอร์แดน แต่แหล่งข่าวจากกองทัพอากาศจอร์แดนระบุว่าอากาศยานทั้งสองลำกำลังจะถูกขาย โดยการชำระเงินจะสำเร็จภายในวันที่ 30 ธันวาคมนี้ แต่ไม่รู้ว่าผู้ซื้อคือประเทศใด

TAF ตรวจสอบข้อมูลพบว่าบริษัทของกองทัพจอร์แดนคือ King Abdullah II Design and Development Bureau เคยลงนามในสัญญากับ Airbus Defense บริษัท Orbital ATK (ในปัจจุบันคือ Northrop Grumman Innovation Systems) เพื่อปรับปรุงเครื่องบินลำเลียงแบบ C295 ให้เป็นเครื่องบินโจมตี (Gunship) รุ่น AC-295 ในปี 2015 ซึ่งไม่แน่ใจว่าสุดท้ายแล้ว C295 ของจอร์แดนนั้นได้ปรับปรุงเป็น AC295 หรือไม่ แต่ต่อมามีรายงานว่ากองทัพอากาศจอร์แดนได้ประกาศขาย C295 จำนวนสองลำในปี 2018

ข่าวการพัฒนาและจัดหา AC295 Gunship ของจอร์แดน

https://www.airbus.com/newsroom/press-releases/en/2014/06/airbus-defence-and-space-and-atk-welcome-jordans-selection-of-c295-gunship.html

ซึ่งมีข่าวว่าจอร์แดนขายแต่ C295 รุ่นลำเลียง ทำให้อาจเป็นไปได้ว่าจะมีการถอดอุปกรณ์ Gunship ออก ซึ่งตรงนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าสุดท้ายแล้ว C295 ที่เมียนมาร์จัดหาไปนั้นจะเป็นรุ่นลำเลียงทั่วไปหรือรุ่น Gunship

OCCRP ยังรายงานว่าบริษัท Aero Sofi ยังเป็นตัวกลางในการจัดหาเครื่องบินโดยสารแบบ Airbus A319 ที่เคยเป็นเครื่องบินของสายการบิน Finnair ทะเบียน OH-LVE ลายพิเศษ Silver Bird อีกด้วย โดย TAF ตรวจสอบตามข้อมูลของ planespotters.net ระบุว่า Finnair Silver Bird ปลดออกจากฝูงบินในปี 2012 และถูกซื้อต่อมาโดยสายการบิน Myanmar Airways International จดทะเบียน XY-AGR และกำลังจะเข้าประจำการในกองทัพอากาศเมียนมาร์เร็ว ๆ นี้

นอกจากนี้ เอกสารของกองทัพเมียนมาร์ยังระบุถึงการจัดหาซอฟต์แวร์เข้ารหัสสำหรับอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นทั้งอุปกรณ์สำหรับเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือแม้แต่ซอฟต์แวร์เข้ารหัสทางทหารสำหรับเครือข่ายวิทยุทางทหาร

ในอีกด้านหนึ่ง ในรายงานการส่งออกวาวุธของ EU ยังระบุรายการส่งออกบางรายการที่น่าจะเข้าข่ายการนำไปใช้งานทางทหารเช่น สเปนรายงานการขาย “อุปกรณ์ภาพหรือมาตรการตอบโต้ที่ถูกออกแบบมาสำหรับการใช้งานทางทหาร” (Imaging or countermeasure equipment, specially designed for military use, and specially designed components and accessories) ในปี 2015 และสหราชอาณาจักรรายงานในปี 2017 ว่าได้ส่งออก “อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานอวกาศและส่วนประกอบ และเกราะและอุปกรณ์ป้องกัน” (electronic equipment, spacecraft and components, and armoured or protective equipment) ซึ่งเป็นการเขียนที่ไม่ระบุเฉพาะเจาะจงและยากที่จะทราบว่าอุปกรณ์ที่แท้จริงคืออะไร แต่ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าน่าจะเป็นอุปกรณ์ทางทหาร ซึ่งน่าสังเกตุว่าน่าจะเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของ EU เอง ทั้งที่ประเทศสมาชิก EU มีพันธะที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตร รวมถึงการป้องกันไม่ให้อุปกรณ์เหล่านั้นตกอยู่ในมือของกองทัพหรือถูกนำไปใช้ในทางทหาร

นอกจากนั้นยังมีอากาศยานไร้นักบินแบบ #Schiebel #Camcopter S-100 ที่ถูกนำไปใช้งานกับกองทัพเรือเมียนมาร์แล้ว แต่บริษัทผู้ผลิตปฏิเสธว่าไม่ได้ขายให้กับกองทัพเมียนมาร์ แต่ขายให้กับบริษัทในเมียนมาร์เพื่อสำรวจทำแผนที่ในการทำเหมืองและการสร้างถนน ซึ่งตามบริบทนี้ คาดว่าน่าจะเป็นการที่บริษัทบังหน้าจัดซื้อมาและส่งต่อให้กับกองทัพเรือเมียนมาร์ในที่สุด

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มของ OCCRP ได้ที่

https://www.occrp.org/en/investigations/from-jordanian-planes-to-german-software-myanmars-genocidal-military-stocks-up

และรายงานการเปิดเผยเอกสารของกองทัพเมียนมาร์ได้ที่

https://www.justiceformyanmar.org/stories/myanmar-military-budget-and-procurement-files


สำหรับรายการที่ TAF คิดว่าไม่เกี่ยวข้องกับการทหารหรือเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ได้สองทางแต่กลับถูกระบุเข้ามาในรายงานของ OCCRP ด้วยเช่น อุปกรณ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลของ Ross Video หรือรถดันดินของบริษัท Caterpillar ในสหรัฐ ซึ่งน่าจะเป็นการตีความผิดพลาดของ OCCRP ที่คาดว่าอุปกรณ์นี้น่าจะเป็นการใช้งานทางทหาร หรือการมองว่ากองทัพเมียนมาร์จัดหารถดันดินเพื่อทำลายหมู่บ้านของชาวโรฮิงญานั้นถือว่าเป็นการมองที่ตีคลุมมากเกินไป

อย่างไรก็ตาม การที่กองทัพเมียนมาร์มีรายการการจัดหาอุปกรณ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลด้วยนั้น เนื่องจากตามรายงานของ UN แล้ว กองทัพเมียนมาร์ควบคุมเสรษฐกิจของประเทศ และมีบริษัทอย่างน้อย 120 บริษัทในประกอบธุรกิจในทุกด้าน รวมถึงสถานีโทรทัศน์ Myawaddy TV ด้วย โดยงบลงทุนของบริษัทเหล่านั้นส่วนใหญ่มาจากเงินงบประมาณของรัฐ ผลกำไรที่ได้แม้ว่าบางส่วนจะกลับไปยังรัฐหรือกองทัพ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ของนายทหารระดับสูงของกองทัพเมียนมาร์เช่นกัน ซึ่งเป็นกรณีที่คล้ายกับที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การที่กองทัพเมียนมาร์ใช้บริษัทบังหน้าในการจัดหาอาวุธนั้นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เนื่องจากเป็นหนึ่งในวิธีที่นิยมใช้กันสำหรับประเทศที่ถูกคว่ำบาตรการค้าอาวุธ แต่มันแสดงให้เห็นว่า แม้เมียนมาร์จะพึ่งพาอาวุธจากจีนและรัสเซียเป็นส่วนมาก แต่ก็ยังมีความต้องการจัดหาอาวุธหรือเทคโนโลยีจากยุโรปหรือตะวันตกในบางด้านมาใช้งาน ซึ่งจากปัญหาการละเมิดสิทธิ์มนุษยชนต่อชาวโรฮิงญานั้นน่าจะทำให้เมียนมาร์ถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกไปอีกนาน แต่ก็เป็นโอกาสสำหรับชายอย่างรัสเซียหรือจีนที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องการใช้งานอาวุธหรือสิทธิ์มนุษยชนในการเข้ามาทำตลาดและขายอาวุธให้ในที่สุด

บทความนี้ใน Facebook

One thought on “NGO ต่างชาติเผย #กองทัพเมียนมาร์ ใช้บริษัทบังหน้าซื้ออาวุธ-เครื่องบินตะวันตก ซึ่งอาจเป็น AC-295 Gunship

  1. ในชุมชนสื่อสังคม Online ของชาวพม่ากลุ่มพูดคุยเรื่องทางทหารมีกระแสข่าวเกี่ยวกับการที่กองทัพอากาศพม่าจะจัดหาเครื่องบินลำเลียง Airbus C295 จำนวน ๒เครื่องมาตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2020 แล้ว
    แต่ข้อมูลล่าสุดที่มีกลุ่ม NGO เปิดเผยว่าพม่าจะจัดหาผ่านบริษัทตัวแทนบังหน้าจะเป็นรุ่นเครื่องบินโจมตีลำเลียง C295 Gunship ของจอร์แดนที่ประกาศขาย ๒เครื่องในปี 2019
    ซึ่งจอร์แดนได้ประกาศขายพร้อมกับอากาศยานอื่นๆหลายรายการรวม ๒๙เครื่อง เช่น อากาศยานรบไร้คนขับ CH-4B ๖เครื่อง, เครื่องบินลำเลียง CN235 ๒เครื่อง, เครื่องบินลำเลียง C-130B ๑เครื่อง, เฮลิคอปเตอร์ MD 530 ๖เครื่อง และเครื่องบินฝึกไอพ่น Hawk ๑๒เครื่อง

    ในกรณี บ.จล.C295 Gunship นั้นถ้าเป็นรุ่นที่เคยประจำการในกองทัพอากาศจอร์แดน ๒เครื่องซึ่งพม่าจะซื้อต่อไปใช้จริง ก็จะมีคำถามสำคัญเรื่องระบบอาวุธและอุปกรณ์ประจำเครื่องว่าจะสามารถส่งออกใหม่พม่าได้โดยที่กลุ่มชาติตะวันตกอนุญาตได้หรือไม่
    ถ้าดูจาก บ.จล.C295 Gunship เครื่องต้นแบบที่ Airbus สาขาสเปนนำมาจัดแสดงในงานแสดงการบิน Dubai Airshow 2017 ระบบอาวุธและระบบตรวจจับที่ติดบนเครื่องเกือบทั้งหมดมีแหล่งที่มาจากตะวันตก
    เช่น ปืนใหญ่อากาศ M230LFขนาด 30x113mmB ของบริษัท Northrop Grumman สหรัฐฯแบบเดียวกับที่ติดกับเฮลิคอปเตอร์โจมตี AH-64 Apache, ระบบตรวจจับกล้อง EO/IR แบบ MX-15DXi ของบริษัท L3 Wescam แคนาดา
    กับคานอาวุธเสริมรองรับกระเปาะจรวดอากาศสู่พื้น Hydra 70 ความจุ ๗นัด, จรวดนำวิถี APKWS-II ของบริษัท BAE Systems หรืออาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่พื้น AGM-114 Hellfire ของบริษัท Lockheed Martin จนถึงแผนที่จะบูรณาการให้ใช้อาวุธนำวิถีของบริษัท ASELSAN ตุรกีเป็นต้น

    แต่อย่างไรก็ตามในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ก็ยังมีรายงานว่าอาวุธที่มีแหล่งที่มาจากตะวันตกบางแบบถูกจัดหาและใช้งานโดยกองทัพพม่าอยู่ เช่นกรณีปืนไร้แรงสะท้อน Carl Gustav M3 ขนาด 84mm สวีเดนที่มีใช้งานในกองทัพพม่าซึ่งถูกจัดหาผ่านอินเดียอย่างไม่ถูกต้องเป็นต้น
    หรือในอีกแง่หนึ่ง กองทัพพม่าในปัจจุบันก็มีการจัดหาใช้งานอากาศยานจากชาติยุโรปบางแบบในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนทั้งหมดจะไม่มีแบบใดที่ติดอาวุธโจมตีได้
    ตัวอย่างเช่น เครื่องบินลำเลียง ATR-42 ฝรั่งเศส/อิตาลีที่ถูกดัดแปลงโดยอิสราเอลใช้ในภารกิจลาดตระเวนทางทะเล, เครื่องบินลำเลียง Fokker 70 เนเธอแลนด์สำหรับขนส่ง VIP,
    เฮลิคอปเตอร์ EC120 และเฮลิคอปเตอร์ AS365 Dauphin ฝรั่งเศส รวมถึงอากาศยานไร้คนขับปีกหมุน Schiebel Camcopter S-100 ออสเตรีย เป็นต้น

    จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าการจัดหา บ.จล.C295 Gunship ของกองทัพพม่าถ้าเป็นความจริงจะมาในรูปแบบอาวุธและอุปกรณ์ดั้งเดิมแบบที่จอร์แดนเคยสั่งจัดซื้อหรือไม่
    หรือจะอยู่ในรูปแบบเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีไม่ติดอาวุธเท่านั้น หรือไม่สามารถจะทำการขายส่งมอบให้พม่าได้

    ถูกใจ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.