ความคืบหน้าโครงการจัดซื้อระบบป้องกันภัยทางอากาศระยะใกล้ของ ทอ.
โครงการจัดซื้อระบบป้องกันภัยทางอากาศระยะใกล้จำนวน 1 ระบบของกองทัพอากาศนั้น ได้มีประกาศราคากลางมาแล้วคือ 940 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามงบประมาณที่ได้รับ โดยสืบราคาจากบริษัท ดาต้าเกท จำกัด (มหาชน) และบริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนในประเทศไทย ทำให้เรายังไม่ทราบว่าระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบใดเป็นแบบที่กองทัพอากาศสนใจบ้าง
ทั้งนี้ ยังไม่แน่ชัดว่าระบบป้องกันภัยทางอากาศจะเป็นจรวดหรือปืน โดยถ้าเป็นจรวด คาดว่าตัวเลือกจะมี Spyder ของ Rafael ซึ่งสามารถใช้จรวด Python และ Derby ที่กองทัพอากาศมีใช้งานได้ และ ForceSHIELD ของ Thales ซึ่งเป็นระบบจรวด Starstreak ที่กองทัพบกมีใช้งานที่เชื่อมต่อกับเรดาร์ควบคุมการยิง ส่วนถ้าเป็นระบบปืนก็อาจจะเป็น GDF-007 ของ Rheinmetall ซึ่งกองทัพบกพึ่งจัดหาเข้าประจำการไป
ณ ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลหรือรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแบบของอาวุธ ซึ่งถ้ามีรายละเอียดเพิ่มเติม TAF จะนำมาเสนอต่อไปครับ

กองทัพอากาศประกาศโครงการจัดซื้อระบบป้องกันภัยทางอากาศระยะใกล้จำนวน 1 ระบบ ด้วยงบประมาณในปีงบประมาณ 2564 ที่ 940 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นโครงการที่อยู่นอกแผนการจัดหาที่ระบุในสมุดปกขาวกองทัพอากาศ และคาดว่านี่น่าจะเป็นงบประมาณก้อนแรก ซึ่งโครงการน่าจะผูกพันราว ๆ 2 – 3 ปี ดังนั้นมูลค่าโครงการสุดท้ายน่าจะอยู่ที่ราว 3 พันล้านบาท
ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลว่าระบบป้องกันภัยทางอากาศระยะใกล้ที่กองทัพอากาศต้องการจัดหานั้นเป็นระบบใดระหว่างระบบที่ใช้จรวดหรือระบบที่ใช้ปืน เนื่องจากยังไม่มีประกาศราคากลางและขอบเขตงานหรือ TOR ออกมา จึงทำให้ต้องคาดเดาต่อไปว่าเป็นระบบอาวุธแบบใด เช่น ถ้าเป็นระบบที่ใช้จรวดก็อาจจะมีจรวด SPYDER ของ Rafael ประเทศอิสราเอล, FM-3000 ของ CASIC ประเทศจีน, VL MICA ของ MBDA ประเทศฝรั่งเศส, IRIS-T ของ Diehl BGT Defence ประเทศเยอรมนี หรือ Pantsir-S1M ของ KBP Instrument Design Bureau ประเทศรัสเซียเข้าข่าย หรือถ้าระบบปืนก็อาจจะมี GDF-007 ของ Oerlikon ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ที่กองทัพบกมีใช้งานหรือ Type 90 (PG99) ของจีนซึ่งลอกแบบมาจาก GDF-002
ซึ่งเราคงรอการประกาศราคากลางหรือประกาศ TOR ต่อไปจึงจะทราบรายละเอียดเพิ่มเติมครับ

เราคิดว่าการจัดหาอาวุธในตอนนี้ไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำนัก เนื่องจากประเทศยังอยู่ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจจาก COVID-19 เงินงบประมาณแม้จะไม่สูงมากนักคือ 940 ล้านบาท แต่ก็ทำอะไรได้มาก การจัดหาอาวุธอย่างเดียวแบบจ่ายเงินแล้วได้อาวุธ จะไม่ช่วยอะไรเศรษฐกิจไทยเลย แต่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศผู้ผลิตด้วยซ้ำ
ถ้ากองทัพอากาศสามารถบริหารโครงการให้เกิดผลประโยชน์ด้านอื่นกับประเทศเช่น มีการร่วมกับบริษัทของไทยในการผลิตหรือปรับปรุงระบบป้องกันภัยทางอากาศในประเทศ หรือมีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ หรือมีการจ้างงานวิศวกรในประเทศเพื่อดำเนินโครงการเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะทำให้เงินหมุนเวียนกลับมาในระบบเศรษฐกิจไทยบ้าง ก็อาจจะพอยอมรับได้ในการจัดหา
ซึ่งกองทัพอากาศควรจะมีความชัดเจนว่า ยังคงนโยบายการทำ Purchase and Development หรือการจัดซื้อและพัฒนา เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ ตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารอากาศคนที่แล้ว ก็อาจจะทำให้สามารถลดแรงต่อต้านไปได้ และจริง ๆ แล้วก็เป็นสิ่งที่ควรทำและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แม้จะเปลี่ยนผู้บัญชาการทหารอากาศแล้วก็ตาม
TAF ก็อยากเรียกร้องให้กองทัพอากาศดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมของประเทศบ้าง เพื่อลดแรงกดดันจากการวิจารณ์ของสาธารณะชน และที่จริงแล้วก็ถือเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างต่อเนื่อง ควรมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน และดำเนินการให้ได้ในทุกโครงการและทุกเหล่าทัพครับ
ขอขอบคุณสมาชิก TAF คุณ นฐนรรค์ มีจั่นเพ็ชร์ ที่แจ้งข่าว ท่านที่สนใจสามารถร่วมสนทนาในประเด็นนี้ได้ที่
https://www.facebook.com/groups/thaiarmedforce/permalink/2849347921976546/
บทความนี้ใน Facebook
2 thoughts on “๊UPDATE: ทอ.เตรียมซื้อระบบป้องกันภัยทางอากาศระยะใกล้ งบ 940 ล้านบาท”