กองทัพเรือเมียนมาร์ ได้นำเรือดำน้ำ UMS Minye Theinkhathu เข้าร่วมพิธีในวาระครบรอบ 73 ปีของกองทัพเรือเมียนาร์ที่จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ พร้อมกับเรือคอร์แวตปราบเรือดำน้ำ เรือเร็วโจมตีติดอาวุธปล่อยนำวิถี และเรือยกพลขึ้นบกแบบใหม่
UMS Minye Theinkhathu เป็นเรือดำน้ำชั้น 877EKM Kilo ที่ผลิตในรัสเซีย โดยเมียนมาร์ได้จัดหามาจากอินเดียที่ในอดีตประจำการในชื่อ INS Sindhuvir ที่ประจำการมาตั้งแต่ปี 1988 และทำการปรับปรุงโดยอู่ Hindustan Shipyard ก่อนส่งมอบให้กับกองทัพเรือเมียนมาร์ พร้อมทั้งอาวุธประจำเรือคือตอร์ปิโดว์แบบ Fizik-1 ของรัสเซียและจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำแบบ 3M-54 Kalibr ของรัสเซียเช่นกัน
การจัดหาเรือดำน้ำมือสองเพื่อใช้งานนั้นเป็นแนวทางที่นิยมใช้สำหรับประเทศที่ยังไม่มีเรือดำน้ำเข้าประจำการมาก่อน เนื่องจากการสร้างขีดความสามารถในด้านการใช้งานและการซ่อมบำรุงเรือดำน้ำนั้นมีความซับซ้อนและต้องใช้เวลาหลายปี หลายประเทศจึงนิยมจัดหาเรือดำน้ำมือสองมาใช้งานเพื่อฝึกฝนและหาความชำนาญในการใช้งานเรือดำน้ำก่อนที่จะจัดหาเรือดำน้ำที่ทันสมัยกว่าเข้ามาเป็นเรือดำน้ำหลักต่อไป

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการจัดหาเรือดำน้ำในครั้งนี้ของเมียนมาร์ไม่ใช่เพื่อตอบโต้หรือรับมือการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย แต่เป็นการจัดหาเพื่อรับมือการจัดหาเรือดำน้ำของ #กองทัพเรือบังคลาเทศ ที่ทั้งสองประเทศมีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลและมีการเผชิญหน้ากันทางทหารหลายครั้ง
ในปี 2017 กองทัพเรือบังคลาเทศได้นำเรือดำน้ำชั้น Type-035G Ming เข้าประจำการจำนวนสองลำ โดยเรือชั้น Ming นี้เป็นการออกแบบที่อ้างอิงจากเรือชั้น Type-033 หรือ Project 633 Romeo ที่เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตในช่วงต้นสงครามเย็น ปัจจุบันกองทัพเรือจีนมีประจำการทั้งรุ่น G และรุ่น B ที่ทันสมัยกว่าราว 14 ลำ และได้ขายเรือสองลำให้กับกองทัพเรือบังคลาเทศเมื่อปี 2013 ในราคาราว 200 ล้านเหรียญสหรัฐ และเข้าประจำการอย่างเป็นทางการในปี 2017
การจัดหาเรือดำน้ำที่แม้จะเป็นมือสองแต่มีความทันสมัยกว่าอย่างเรือดำน้ำชั้น Kilo จึงเหมือนเป็นการปรับดุลกำลังของกงอทัพเรือเมียนมาร์ให้เข้าสู่สมดุลกับกองทัพเรือบังคลาเทศ และสามารถปฏิบัติงานด้านการหาข่าว การลาดตระเวน หรือการทำการรบกับเรือผิวน้ำ ซึ่งทำให้ทั้งสองกองทัพมีขีดความสามารถในแง่การปฏิบัติภารกิจและเทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกันมาก แต่ไม่ใช่การจัดหาเรือเรือดำน้ำชั้น Kilo มาเพื่อปราบเรือดำน้ำชั้น Ming โดยตรง

สำหรับ #กองทัพเรือไทย นั้น แม้จะไม่ใช่คู่กรณีโดยตรงในครั้งนี้ แต่การปรับการวางกำลังในทัพเรือภาค 3 เพื่อลดช่องว่างของขีดความสามารถระหว่างกองทัพเรือไทยและเมียนมาร์ก็อาจเป็นสิ่งที่น่าพิจารณา
โดยปกติแล้ว กองทัพเรือไทยจะวางกำลังเรือฟริเกต 1 ลำ เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ 1 ลำ และเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง 1 ลำ ในส่วนของเรือขนาดใหญ่ที่ทัพเรือภาค 3 ซึ่งในรอบล่าสุดเท่าที่มีข้อมูลนั้นเป็นเรือหลวงกระบุรี เรือหลวงทะยานชล และเรือหลวงกระบี่ รวมถึงอากาศยานลาดตระเวนทางทะเลและเฮลิคอปเตอร์จำนวนหนึ่งซึ่งส่วนมากจะเป็นอากาศยานลาดตระเวนทางทะเลแบบ Do228 และเฮลิคอปเตอร์แบบ S-76 ทั้งนี้ มีข้อมูลว่ากองทัพเรือส่งเรือหลวงสุโขทัยไปวางกำลังที่ทัพเรือภาค 3 ซึ่งไม่ชัดเจนว่าเป็นการไปวางกำลังเพิ่มเติม หรือไปวางกำลังทดแทน และถ้าไปวางกำลังทดแทนจะเป็นการทดแทนเรือหลวงกระบุรีหรือเรือหลวงทะยานชล
อนึ่ง ทั้งเรือหลวงทะยานชลและเรือหลวงสุโขทัยต่างใช้โซนาร์แบบ DSQS-21 ของ Atlas Elektronik เป็นเครื่องมือหลักในการค้นหาเรือดำน้ำ โดยแม้จะใช้งานมานานแต่ก็ยังถือว่าเทคโนโลยีของ DSQS-21 ยังพอรับมือกับการค้นหาเรือดำน้ำในยุคที่ไล่เลี่ยกัน ซึ่งเป็นสภาพการณ์ของท้องทะเลฝั่งอันดามันได้ ในส่วนของเรือหลวงกระบุรีนั้น คาดว่าไม่ได้รับการปรับปรุงระบบโซนาร์ในการปรับปรุงเรือเมื่อครั้งก่อน โดยน่าจะยังใช้งานโซนาร์แบบ SJD-5 เช่นเดิม ซึ่งอาจจะมีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพน้อยกว่า DSQS-21 แต่ก็ถือว่าเป็นของที่มีใช้งานอยู่ ซึ่งจุดด้อยน่าจะมีเพียงอาวุธที่ใช้ปราบเรือดำน้ำที่มีเพียงเรือหลวงทะยานชลและเรือหลวงสุโขทัยที่มีแท่นยิงตอร์ปิโดแบบ Mk.46 เท่านั้น เรือหลวงกระบุรียังใช้แท่ยิงระเบิดน้ำลึกแบบ RBU-1200 เพียงอย่างเดียว

แต่นอกจากขีดความสามารถบนเรือผิวน้ำแล้ว กองทัพเรือไม่มีขีดความสามารถในการค้นหาและปราบเรือดำน้ำจากอากาศยานที่วางกำลังในทัพเรือภาค 3 เนื่องจาก Do228 เป็นอากาศยานลาดตระเวนทางทะเลที่ไม่ติดระบบค้นหาและปราบเรือดำน้ำ และที่จริงแล้ว อากาศยานของกองทัพเรือไทยทั้งหมด มีเพียงเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ S-70B ที่มีขีดความสามารถในการปราบเรือดำน้ำได้เพียงแบบเดียว ซึ่ง S-70B ประจำอยู่ในหน่วยบินเรือหลวงจักรีนฤเบศร จึงไม่ได้วางกำลังแยกจากตัวเรือ ทำให้ทัพเรือภาค 3 (และจริง ๆ ก็คือกองทัพเรือไทยแทบทั้งหมด) จะไม่มีขีดความสามารถในการค้นหาเรือดำน้ำเลย ซึ่งที่จริงแล้วกองทัพเรือมีโครงการจัดหาอากาศยานลาดตระเวนทางทะเลจำนวน 3 ลำ แต่ได้ยกเลิกโครงการและเปลี่ยนงบประมาณไปจัดหาจรวดต่อสู้อากาศยาน อากาศยานไร้คนขับ และอาวุธอื่น ๆ แล้ว จึงทำให้ภายใน 3 – 4 ปีนี้ กองทัพเรือจะยังไม่มีขีดความสามารถในการตรวจจับและปราบเรือดำน้ำจากอากาศยานในระดับที่ยอมรับได้
สิ่งที่ต้องชี้ให้เห็นอีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่กองทัพเรือไทยจัดหาเรือดำน้ำมานั้น ไม่ได้หมายความว่ากองทัพเรือจะมีขีดความสามารถในการปราบเรือดำน้ำเพิ่มขึ้น เพราะด้วยข้อจำกัดของเรือดำน้ำเองทั้งความเร็ว การซ่อนพราง และภารกิจ ทำให้โดยหลักการทั่วโลกแล้ว การปราบเรือดำน้ำมักจะเป็นหน้าที่ของอากาศยานมากกว่า ดังนั้นการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ จะส่งผลชัดเจนในขีดความสามารถด้านอื่นเช่น การรบกับเรือผิวน้ำ การข่าว หรือการปฏิบัติการพิเศษ แต่ไม่ได้ส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญในขีดความสามารถในการปราบเรือดำน้ำ
ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นโจทย์ที่กองทัพเรือไทยจะต้องวางแผนทั้งในแง่การพัฒนากำลังรบและการจัดลำดับความสำคัญในการจัดหาต่อไป
One thought on “เมียนมาร์ไม่ได้ซื้อเรือดำน้ำมาใช้กับไทย แต่ไทยก็ควรปรับตัว”