เราอาจจะเคยได้ยินบ่อย ๆ กับคำว่า Link-TH (Link-T) บ้าง Link-16 บ้าง ซึ่งทั้งหมดนี้คือเครือข่ายการรับส่งข้อมูลทางยุทธวืธีหรือ Tactical Data Link ที่กองทัพทั่วโลกพัฒนามาใช้งานกันอย่างจริงจังเมื่อราว 40 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน หลังจากที่แนวคิดด้วยสงครามเครือข่ายหรือ Network Centric Warfare เริ่มได้รับการยอมรับ วันนี้เราจะลองมาทำความรู้จักว่า Tactical Data Link คืออะไร Link-TH หรือ Link-16 คืออะไร จุดแตกต่างที่สำคัญคืออะไร และช่วยในการปฏิบัติการได้อย่างไร
ในสมัยก่อน การสื่อสารในสนามรบนั้นขึ้นอยู่กับการใช้เสียงพูดคุยกับผ่านวิทยุสื่อสาร ซึ่งจะมีหลักการและการสื่อสารเฉพาะเพื่อให้พูดคุยกันรู้เรื่อง แต่เมื่อเวลาผ่านไป สนามรบมีความซับซ้อนขึ้น ข้อมูลมีจำนวนมากขึ้น การสื่อสารด้วยเสียงเริ่มไม่เพียงพอ หรือช้าและไม่ทันการ หรือแม้แต่สามารถถูกดักรับฟังแล้วรบกวนสัญญาณจนไม่สามารถสื่อสารได้ ประกอบการพัฒนาของข้อมูลดิจิตอล จึงเริ่มมีแนวคิดในการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านข้อมูลดิจิตอลแทนเสียง
Tactical Data Link ทำให้ทุกหน่วยในสนามรบเห็นภาพ ๆ เดียวกัน และช่วยเพิ่มความตระหนักรู้สถานการณ์หรือ Situation Awareness หรือการที่เรารู้ว่ารอบ ๆ ตัวเรามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง เพื่อเราจะได้รู้และวิเคราะห์ล่วงหน้าว่าจะต้องทำอะไรต่อไป นอกจากนั้นยังมีความสามารถในการแชร์เป้าหมาย แชร์ข้อมูลระบบอาวุธ หรือแชร์คำสั่งปฏิบัติการผ่าน Tactical Data Link รวมถึงการเชื่อมต่อเซนเซอร์ต่าง ๆ เข้าด้วยกันให้เห็นภาพเดียวกันได้ด้วย ซึ่งพูดง่าย ๆ ก็คือ แทนที่จะส่งข้อมูลกันด้วยเสียง เราจะส่งข้อมูลกันแบบดิจิติลผ่านเครือข่ายคลื่นวิทยุใน Tactical Data Link นั่นเอง
ทั้งนี้ จริง ๆ แล้ว NATO มี Link หลาย Link มาก แต่เราจะโฟกัสที่ Link-16 ซึ่งเราค่อนข้างคุ้นเคยกันดี โดย Link-16 ใช้ TDMA หรือ Time Division Multiple Access เพื่อสื่อสารหลาย ๆ ข้อมูลต่อเนื่องกันในหลายเครือข่ายพร้อม ๆ กัน
Link-16 สื่อสารผ่านคลื่น UHF L-Band และมีระบบป้องกันการถูกรบกันสัญญาณจากข้าศึก โดยแต่ละหน่วยสามารถส่งข้อมูลการรบ สื่อสารันผ่านเสียง ส่งภาพ วีดิโอ ข้อมูลการนำร่อง และข้อมูลเป้าหมายผ่านการเข้ารหัสและการใช้เทคนิค Frequency Hoping โดย Link-16 และ Link-22 คือ Link หลักของกองกำลังสหรัฐ NATO และประเทศพันธมิตรของสหรัฐอื่น ๆ ในการสื่อสารกัน
ในส่วนของประเทศไทยนั้น ปัจจุบันยังไม่มี Link หลักของประเทศหรือ National Tactical Data Link ซึ่งแต่ละกองทัพยังปฏิบัติงานแยกกันอยู่ การสื่อสารยังใช้เสียงอยู่เช่นเดิม และยังไม่มีมาตรฐานกลางของ Tactical Data Link ในการสื่อสารกันระหว่างเหล่าทัพ จึงทำให้ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่สามารถปฏิบัติการแบบ Network Centric ได้อย่างชัดเจนนัก
ทั้งนี้ ในส่วนของกองทัพอาาศเองได้รับเทคโนโลยี Tactical Data Link มาพร้อมกับการจัดหา Gripen จากประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นประเทศที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาการรบแบบเครือข่ายเป็นประเทศแรกของโลก โดยสวีเดนติดตั้ง Tactical Data Link แบบแรกบน J-35 Darken ในช่วงทศวรรตที่ 1950 ก่อนที่ชาติ NATO จะเริ่มพัฒนาแนวคิดเรื่องนี้ด้วยซ้ำ และเครื่องบินทุกลำหลังจากนั้นจะถูกติดตั้งเครือข่าย Tactical Data Link มาจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งเมื่อกองทัพอากาศจัดหา Gripen และ Saab 340 AEW เข้าประจำการ จึงได้รับเทคโนโลยี Tactical Data Link ที่เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา และกองทัพอากาศนำมาพัฒนาต่อภายใต้ชื่อ Link-TH ซึ่งมีแผนจะติดตั้งกับอากาศยานของกองทัพอากาศเช่นในปัจจุบันที่เริ่มติดตั้งกับ F-5TH และ T-50TH และกำลังติดตั้งกับ Alphajet และ AT-6 ในอนาคต ส่วน F-16 นั้นติดตั้ง Link-16 ในฝูง 403
Link-TH มีคุณสมบัติไม่ได้ต่างจาก Link-16 มากนัก แต่มีขีดความสามารถในการแบ่งปันข้อมูลด้วยกันเองระหว่างหมู่บินหรือระหว่างหน่วยต่าง ๆ ในสนามรบ มากกว่าการเน้นการส่งข้อมูลไปมาระหว่างหน่วยในสนามรบและกองบัญชาการแบบ Link-16 เช่นเพื่อให้เห็นภาพก็คือ ปกติเครื่องที่ติด Link-16 จะรับเป้าหมายจากศูนย์บัญชาการภารคพื้นดินหรือเครื่อง AWACS เพื่อเขาทำลายเป้าหมาย แต่ เครื่องที่ติด Link-TH จะสามารถตรวจจับและแลกเปลี่ยนเป้าหมายกันเอง หรือให้เครื่องลำหนึ่งล็อคเป้า อีกลำหนึ่งใช้อาวุธแทนก็ได้ ทำให้เครื่องในหมู่บินหนึ่งอาจจะเปิดเรดาร์เพียงบางลำเพื่อซ่อนพรางได้เช่นกัน
แม้ว่าโดยรวมแล้ว Link-16 จะมีประสิทธิภาพมากกว่า ส่งข้อมูลได้ไกลกว่า และรองรับจำนวนหน่วยในเครือข่ายได้มากกว่า และสามารถปฏิบัติงานร่วมกับชาติที่ใช้ Link-16 เป็นหลักได้เช่นสหรัฐหรือสิงคโปร์ในอาเซียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ Link-TH ที่มีพื้นฐานมาจาก Link ของสวีเดนไม่สามารถทำได้ และในปัจจุบันเองสวีเดนก็กำลังรับ Link-16 เข้ามาเป็นมาตรฐานใหม่ของประเทศเพื่อให้กองกำลังของตนสามารถปฏิบัติงานร่วมกับกองกำลัง NATO ได้ เช่น Gripen ที่ติดตั้ง Link-16 เพิ่มเติมจนสามารถปฏิบัติงานร่วมกับกองกำลังชาติอื่นในปฏิบัติการ Unified Protecter เหนือลิเบียได้ ซึ่งในอนาคตสวีเดนกำลังเพิ่มความสำคัญของ Link-16 ในการปฏิบัติภารกิจของตนมากขึ้นเรื่อย ๆ
แต่ปัญหาที่สำคัญของการใช้ Link-16 ก็คือการที่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ดูแลให้ใช้เครือข่ายได้ทุกครั้ง ซึ่งในกรณีของประเทศไทยคือ USINDOPACCOM หรือกองบัญชาการกองทัพสหรัฐภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก ซึ่งจะเป็นผู้ควบคุมเครือข่าย Link-16 ในเอเชียทั้งหมด ดังนั้นผู้ใช้ Link-16 จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติและได้รับรหัสผ่านจาก USINDOPACCOM ของสหรัฐทุกครั้งที่มีการเปิดใช้ Link-16 โดย USINDOPACCOM จะสามารถมองเห็นความเคลื่อนไหวของเครื่องบินของไทยที่ใช้ Link-16 ได้
นอกจากนั้น สหรัฐยังไม่อนุญาตให้มีการใช้ Link สอง Link ในเวลาพร้อม ๆ กัน เช่นถ้าใช้ Link-16 จำเป็นต้องปิด Link-TH หรือถ้าใช้ Link-TH ก็จะไม่สามารถเปิด Link-16 ใช้งานพร้อมกันได้เพื่อความปลอดภัยของการส่งข้อมูล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับชาติที่ต้องการใช้ Link-16 ซึ่งนั่นหมายถึงการที่ประเทศไทยจะไม่สามารถควบคุมและดูแล Link ของตนเองได้ 100% และต้องยกการดูแลให้กับสหรัฐในบางส่วนถ้าต้องการใช้ Link-16 และการติดตั้ง Link-16 พร้อมกับ Link-TH นั้นต้องได้รับอนุมัติจากสหรัฐ และอาจต้องมีค่าใช้จ่ายในการวิจัยและติดตั้ง Link-TH ซึ่งอาจต้องใช้เงินหลายร้อยล้านบาท เนื่องจากต้องทำการวิจัยและรับรองการติดตั้ง Link-TH บนอากาศยานซึ่งจะเป็นครั้งแรกของโลกบนอากาศยานนั้น ๆ สหรัฐจึงมักจะมองและโน้วน้าวว่า จะเป็นการดีกว่าที่ประเทศไทยจะมาใช้ Link-16 เพื่อให้ใช้งานร่วมกับประเทศอื่น ๆ ได้ ดีกว่าจะลงทุนใช้ Link ของตนเองและไม่สามารถปฏิบัติงานร่วมกับใครได้
ในปัจจุบันกองทัพอากาศจึงมีแนวทางในการใช้ Link สอง Link ควบคู่กันไป โดยเครื่องบินที่ได้รับอนุญาจากผู้ผลิตให้เข้าถึง Mission Computer ได้นั้น กองทัพอากาศจะดำเนินการติดตั้ง Link-TH เพื่อให้เข้ามาในเครือข่าย เช่นบน Gripen, Saab 340 AEW/ELINT, Alphajet, T-50TH, AT-6TH, และ F-5TH ในส่วนของ F-16 ฝูง 403 ที่ติดตั้ง Link-16 และไม่ได้รับอนุญาตให้แก้ไข Mission Computer นั้น จะใช้งาน Link-16 ระหว่างฝูงและกองบัญชาการภาคพื้นดิน หรือใช้ในการปฏิบัติการร่วมกับชาติพันธมิตรเช่นสหรัฐหรือสิงคโปร์เท่านั้น ถ้าต้องการสื่อสารกับ Gripen, Alphajet, T-50TH, AT-6TH หรือ F-5TH จะยังต้องใช้การสื่อสารผ่านวิทยุปกติอยู่เช่นเดิม
ดังนั้น ขีดความสามารถในการติดตั้ง Link-TH หรือการรับเทคโนโลยี Tactical Data Link จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเลือกแบบเครื่องบินขับไล่แบบใหม่ที่จะมาทดแทน F-16ADF ฝูง 102 ที่กำลังจะปลดประจำการ ทำให้ผู้ที่เข้าแข่งขันต้องพยายามเสนอตัวเลือกและข้อเสนอเหล่านี้ให้กองทัพอากาศพิจารณา โดยเฉพาะจากสองตัวเต็งอย่าง F-16V และ Gripen E/F ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะต้องติดตามกันต่อไป
One thought on “Link-TH vs. Link-16 คืออะไร ต่างกันอย่างไร ไทยใช้ Link ไหนดี”