ปัจจุบันกองทัพบกมีหน่วยทหารปืนใหญ่ทั้งแบบใช้ปืนใหญ่ขนาด 105 มม. และปืนใหญ่ขนาด 155 มม. ซึ่งในปีที่ผ่านมามีโครงการจัดหาปืนใหญ่ขนาด 105 มม. และได้แบบปืนใหญ่แล้วคือ LG-1 Mk.III จำนวน 12 กระบอก มูลค่าโครงการราว 850 ล้านบาท แต่สำหรับปืนใหญ่ขนาด 155 มม. ซึ่งมีมูลค่าโครงการราว 2 พันล้านบาทนั้นถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากปัญหาโควิด-19 แต่คาดว่าจะมีการเปิดโครงการใหม่ในปีงบประมาณ 2564 แทน
ทั้งนี้ ปัจจุบันกองทัพบกมีปืนใหญ่ขนาด 155 จำนวนหนึ่ง โดยส่วนใหญ่จะเป็น GHN-45 และ M198 แต่ก็ยังขาดอัตราอยู่อีกเป็นจำนวนมาก สำหรับตัวเลือกปืนใหญ่ที่จะเข้าแข่งขันนั้น กองทัพบกกำหนดคุณสมบัติว่าต้องเป็น
- ปืนใหญ่สนามความกว้างปากลำกล้อง 155 มม.
- น้ำหนักไม่เกิน 8 ตัน
- สามารถเคลื่อนย้ายได้ด้วยรถยนต์ทางทหาร รถไฟ อากาศยานหรือเรือ ที่มีประจำการในกองทัพโดยไม่ต้องถอดประกอบ
- ระยะยิงไกลสุด 24 กิโลเมตร และระยะยิงไกลสุดของกระสุนต่อระยะไม่น้อยกว่า 30 กิโลเมตร
- ใช้กระสุนมาตรฐาน NATO
- ยกลำกล้องยิงได้ 45 องศาขึ้นไป หรือมุมกดต่ำได้น้อยกว่า 0 องศา
- อัตรายิงสูงสุด 3 นัดต่อนาทีขึ้นไป
- ยิงได้ทั้งระบบยิงอัตโนมัติหรือแมนนวล โดยต้องมีเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้าและอุปกรณ์แปลงไฟ
- ติตั้งระบบกำหนดพิกัดและชี้ทิศอัตโนมัติ และติดต้องกล้องเล็งพาโนรามิค
- มีประจำการในประเทศผู้ผลิตและสนับสนุนอะไหล่ได้อย่างน้อย 20 ปี

ทั้งนี้ มีข่าวมาพักใหญ่แล้วว่าตัวเต็งที่จะได้รับเลือกก็คือปืนใหญ่แบบ M777A2 ของ BAE Systems นั่นเอง โดยงบประมาณราว 2 พันล้านบาทนั้น สามารถจัดหาปืนใหญ่แบบ M777A2 เข้าประจำการได้ 12 กระบอกพอดี
ปืนใหญ่แบบ M777 นี้ BAE ผลิตเข้าแข่งขันและชนะได้รับเลือกให้ทดแทนปืนใหญ่แบบ M198 ซึ่งเป็นปืนใหญ่มาตรฐานของกองทัพบกสหรัฐในตอนนั้น โดยข้อกำหนดสำคัญก็คือต้องมีน้ำหนักเบา ซึ่งทำให้ M777A2 ใช้โลหะไททาเนียมเป็นองค์ประกอบหลักของปืน ซึ่งช่วยลดน้ำหนักปืนเหลือเพียง 4.2 ตัน ถือว่าน้อยกว่า M198 ถึง 41% ทำให้ M777A2 สามารถยกได้ด้วยเฮลิคอปเตอร์ขนาดใหญ่ได้โดยไม่ต้องถอดประกอบ และได้เปรียบในการเคลื่อนย้ายด้วยรถลากหรือเครื่องบินแบบ C-130
M777A2 ยังควบคุมการยิงด้วยเครื่องควบคุมการยิงแบบดิจิตอลที่สามารถกำหนดพิกัดและชี้ทิศได้อัตโนมัติ ซึ่งทำให้การเข้าที่ตั้งยิงสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นยังใช้พลประจำปืนแค่ 5 นายก็สามารถทำการยิงได้ ซึ่ง M777A2 มีอัตราการยิงสูงสุด 7 นัดต่อนาที และทำการยิงกระสุน M107 ซึ่งประเทศไทยมีขีดความสามารถในการผลิตได้ที่ระยะ 24 กิโลเมตร หรือกระสุนต่อระยะ (Base Bleed) ได้ที่ระยะ 30 กิโลเมตร
นอกจากนั้นยังมีทางเลือกในการจัดหา M982 Excalibur ซึ่งกองทัพบกเคยมีแนวคิดที่จะกำหนดให้มีกระสุนปืนใหญ่นำวิถีประจำปืนปืนละ 2 นัดได้อีกด้วย โดย M982 Excalibur นั้นนำวิถีด้วย GPS สามารถทำการยิงได้จากทั้ง M198 M777A2 ซึ่งมีความแม่นยำราว 5 เมตรที่ระยะ 40 กิโลเมตร ทำให้สามารถขยายพื้นที่ที่ปืนใหญ่1 กองพันสามารถทำการยิงได้ครอบคลุมได้สองเท่าของการใช้กระสุนปกติหรือราว 1.25 ตารางกิโลเมตร และกระสุนปืนใหญ่นำวิถี M982 จำนวน 1 นัดนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะทำการยิงถูกเป้าหมายได้เทียบกับการใช้กระสุนปืนใหญ่ไม่นำวิถีถึง 10 – 50 นัด แม้จะมีราคาค่อนข้างแพงคือนัดละราว 3.5 ล้านบาท
ทั้งนี้ ถ้ามีการจัดหาปืนใหญ่ M777A2 มาจริงนั้น ยังไม่แน่ชัดว่าจะประจำการในหน่วยงานใด เนื่องจาก M777A2 นั้นมีระยะยิงสั้นกว่า GHN-45 เนื่องจากขนาดความยาวลำกล้องต่างกัน แต่น้ำหนักก็ต่างกันมากเช่นกัน เพราะ M777A2 หนัก 4.2 ตัน ในขณะที่ GHN-45 รุ่นลากจูงหนักกว่า 10 ตันขึ้นไป นอกจากนั้นยังมีประเด็นเรื่องของอากาศยานที่จะใช้ยก M777A2 ซึ่งในปัจจุบันกองทัพบกมีเฮลิคอปเตอร์ขนาดใหญ่ใช้งานคือ Mi-17 ซึ่งผลิตในรัสเซียที่มีขีดความสามารถในการยกน้ำหนักด้วยสลิงนอกลำตัวได้สูงถึง 13 ตัน แต่คาดว่าน่าจะยังไม่ได้รับการรับรองให้ยกปืนใหญ่แบบ M777A2 หรือแม้แต่ M198 เช่นกัน ซึ่งกองทัพบกอาจจะใช้โอกาสนี้ในการว่าจ้างให้ผู้ผลิตอากาศยานทดลองทำการรับรองการยกปืนใหญ่แบบ M777A2 หรือแม้แต่ M198 ได้ ถ้ากองทัพบกมีความต้องการในการเคลื่้อนย้ายปืนใหญ่ขนาด 155 มม. ทางอากาศ
ทั้งนี้ ต้องรอติดตามกันว่า โครงการจัดหาปืนใหญ่ขนาด 155 มม. จะเกิดขึ้นในปีนี้ได้จริงหรือไม่ และจะออกมาเป็น M777A2 อย่างที่คาดการณ์กันไว้หรือไม่ครับ