เอกสารยุทธศาสตร์ของทำเนียบขาวเผยยุทธศาสตร์ต่อไทย อาเซียน แปซิฟิก และการต้านจีน

ทำเนียบขาวเผยเอกสารกรอบยุทธศาสตร์ของสหรัฐสำหรับภูมิภาคอินโดแปซิฟิก กำหนดยุทธศาสตร์ต่อประเทศในแปซิฟิกทั้งเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย การสนับสนุนไทยและฟิลิปปินส์ การโน้มน้าวให้อาเซียนรวมตัวกันติดเพื่อต้านจีน ยุทธศาสตร์ต้านจีน และยุทธศาสตร์การวางกำลังในกลุ่มหมู่เกาะชั้นแรกและกลุ่มหมู่เกาะชั้นสองของแปซิฟิกเพื่อรับมือจีน

โรเบิ์ต โอไบรอัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีทรัมป์เปิดเผยเอกสารลับด้านความมั่นคงซึ่งกำหนดยุทธศาสตร์ของสหรัฐต่อภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่ใช้งานมาตั้งแต่ปี 2018 โดยเอกสารที่อนุมัติโดยตรงจากประธานาธิบดีทรัมป์นี้คือกรอบนโยบายที่วิเคราะห์สถานการณ์ในภูมิภาค เป้าหมายของสหรัฐ และวิธีการที่จะทำให้เป้าหมายเหล่านั้นประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นแนวทางที่ทุกหน่วยงานของสหรัฐต้องปฏิบัติตามตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา โดยกล่าวว่าการเปิดเผยเอกสารนี้เพื่อสื่อสารกับชาวอเมริกัน พันธมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐเกี่ยวกับความมุ่งมั่นในการทำให้ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกยังคงมีเสรีและเปิดกว้างในอนาคต

เนื่องจากเอกสารนี้ แม้จะมีเพียงสิบหน้า แต่มีรายละเอียดจำนวนมาก ในบทความนี้เราจะเล่าให้ฟังถึงมุมมองและการปฏิบัติของสหรัฐต่ออาเซียนและไทยเป็นหลักครับ


การปรับตัวเพื่อรับมือจีน

เอกสารสิบหน้านี้มีทั้งเป้าหมายของยุทธศาสตร์ของสหรัฐ การวิเคราะห์ภัยคุกคาม การวิเคราะห์ทั้งทางเศรษฐกิจและความมั่นคง และแปลงออกมาเป็นแนวทางและวิธีการที่สหรัฐจะปฏิบัติตัวต่อแต่ละประเทศในอินโดแปซิฟิกอย่างละเอียด

แต่โดยรวมแล้ว สหรัฐมองว่าจีนกำลังเชิดชูคุณค่า (Value) ที่ตรงข้ามกับสหรัฐ ซึ่งสหรัฐมองว่าจีนต้องการเข้าควบคุมเศรษฐกิจผ่านระบบเศรษฐกิจที่รัฐบาลจีนควบคุม ทำลายการแข่งขันจากต่างชาติและทำลายตลาดในต่างประเทศเพื่อทำให้จีนเข้าไปควบคุมการค้าได้ ซึ่งต่างจากสหรัฐที่มองว่าตลาดเสรีคือสิ่งที่จะสร้างความมั่งคั่งได้ ดังนั้นสหรัฐจึงกำหนดแนวทางในการรับมือการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน เช่น การป้องกันไม่ให้จีนใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรมเพื่อทำลายตลาดโลกและขีดความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐ การรักษานวัตกรรมของสหรัฐ การส่งเสริมคุณค่าเสรีภาพของสหรัฐในอินโดแปซิฟิกเพื่อคานกับการปกครองแบบจีน

สำหรับใจความสำคัญที่เกี่ยวกับความมั่นคงและการทหารโดยตรงนั้น แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา สหรัฐมีนโยบายที่จะขัดขวางจีนไม่ให้ใช้กำลังทหารของจีนต่อสหรัฐ พันธมิตร และหุ้นส่วนของสหรัฐ และพัฒนาขีดความสามารถและแนวคิดเพื่อเอาชนะการกระทำของจีนในทุก ๆ ความขัดแย้ง ซึ่งนำมาสู่การปฏิบัติคือการเพิ่มการแสดงตนของสหรัฐในอินโดแปซิฟิก ที่ทำให้เราเห็นการวางกำลังและการเดินเรือและอากาศยานของสหรัฐในทะเลจีนใต้บ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2018 ที่สหรัฐเริ่มใช้แนวทางตามเอกสารนี้

แนวปฏิบัติเพื่อรับมือกองทัพจีน

นอกจากนั้น เอกสารนี้ยังระบุว่า สหรัฐจะต้อง “ต่อต้านการครองอำนาจบนอากาศและทะเลของจีนเหนือหมู่เกาะชั้นแรก (First Island Chain) ถ้าเกิดความขัดแย้ง ป้องกันประเทศที่อยู่ในหมู่เกาะชั้นแรก ซึ่งรวมถึงไต้หวัน และครองอำนาจในมิติทุกมิติในหมู่เกาะชั้นสอง (Second Island Chain)”

ซึ่งนี่อาจเป็นการยอมรับกลาย ๆ ของสหรัฐว่า หมู่เกาะชั้นแรกซึ่งหมายถึงทะเลจีนใต้ ญี่ปุ่น และคาบสมุทรเกาหลี ไม่ใช่พื้นทื่ที่สหรัฐครองอำนาจแต่เพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป แต่หมายถึงการที่จีนสามารถพัฒนาขีดความสามารถขึ้นมาจนทำให้หมู่เกาะชั้นแรกเป็นพื้นที่ที่ถูกท้าทาย (Contested Area) ได้แล้ว ทั้งนี้ ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะปัจจุบันจีนพัฒนากองทัพเรือไปมาก มีขีดความสามารถสูงขึ้น โดยเฉพาะด้านขีปนาวุธป้องกันฝั่งที่มีระยะยิงไกล การที่กองเรือสหรัฐจะเข้าไปปฏิบัติการในนั้นก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังตัวมากขึ้นมาก ไม่สามารถปฏิบัติการได้อย่างเสรีอย่างในยุคที่จีนยังมีสถานะเพียงแค่กองทัพเรือชายฝั่งเท่านั้น

ดังนั้น สหรัฐจึงวางแผนที่จะครองอำนาจในหมู่เกาะชั้นสอง คือฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และหมู่เกาะต่าง ๆ ที่เลยจากฟิลิปปินส์ไป ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จีนยังไม่สามารถปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สหรัฐโดยจะใช้หมู่เกาะชั้นสองเป็นฐานวางกำลัง (Staging Area) เพื่อปฏิบัติการไล่ยึดและสถาปนาเขตยึดครองในหมู่เกาะชั้นหนึ่ง

ซึ่งเอกสารชุดนี้น่าจะเป็นคำตอบที่ว่าทำไมหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐจึงออกเอกสาร Force Design 2030 ที่ปฏิรูปการจัดกำลังครั้งใหญ่ โดยปลดประจำการรถถัง เพิ่มหน่วยจรวดและ UAV และสร้างขีดความสามารถในการตั้งฐานปฏิบัติการส่วนหน้าและการยึดครองเกาะต่าง ๆ ในทะเลจีนใต้


ส่งเสริมบทบาทของไทยและฟิลิปปินส์ให้เป็นผู้นำในภูมิภาค

เอกสารยังระบุว่า เพื่อขัดขวางจีน สหรัฐจะสนับสนุนพันธมิตรและหุ้นส่วนให้มีขีดความสามารถด้านการทหารที่สูงขึ้น รวมถึงเพื่อให้สามารถปฏิบัติการร่วมกับสหรัฐได้ เพื่อทำให้แน่ใจว่าพันธมิตรของสหรัฐจะสามารถปฏิบัติการได้อย่างอิสระและเสรีถ้าถูกจีนโจมตี

ซึ่งเมื่อมองมาที่ภูมิภาคอาเซียนนั้น สหรัฐมีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริมให้อาเซียนทั้งสิบชาติรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง โดยยึดอาเซียนเป็นสำคัญ

แนวปฏิบัติของสหรัฐต่อไทยและฟิลิปปินส์

ซึ่งในกรณีนี้อาเซียนนี้ สหรัฐแบ่งแผนการปฏิบัติออกเป็นสองส่วน คือประเทศที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐคือไทยและฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นในอาเซียน

สำหรับไทยและฟิลิปปินส์นั้น สหรัฐมีนโยบายที่จะส่งเสริมการเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดอยู่แล้วกับทั้งสองประเทศนี้ (ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรหลักนอกนาโต้หรือ Non-NATO Major Alliance ด้วยกันทั้งคู่) ให้แน่นแฟ้นมากขึ้นไปอีก และคาดหวังที่จะให้ทั้งไทยและฟิลิปปินส์มีบทบาทนำในอาเซียนในฐานะผู้รักษาระเบียบของอาเซียนเพื่อให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่ยึดมั่นกฎหมายเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับท่าทีของสหรัฐที่กล่าวว่าจีนละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศในการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนทะเลจีนใต้ในอาเซียน

นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ว่าตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา สหรัฐก้าวขึ้นมาสนับสนุนไทยและฟิลิปปินส์ในด้านการทหารเป็นอย่างมาก เช่นไทยที่สหรัฐอนุมัติการขายยานเกราะล้อยาง Strkyer RTA ICV ให้กับกองทัพบกไทย ซึ่งทำให้ไทยเป็นลูกค้าต่างชาติรายเดียวที่ใช้ยานเกราะมาตรฐานเดียวกับสหรัฐ การอนุมัติขายเครื่องบินฝึกและโจมตี T-6/AT-6 ให้กับกองทัพอากาศไทยด้วยการอนุญาตให้เข้าถึงเทคโนโลยีและส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยในระดับที่น้อยประเทศที่จะได้รับแบบที่ไทยได้รับ รวมถึงการเสนอปรับปรุงอากาศยานลาดตระเวนทางทะเลของกองทัพเรือ การเสนอขายเสนอขายปืนใหญ่ M777A2 ซึ่งเป็นปืนใหญ่หลักที่ทันสมัยให้กับกองทัพบกไทย และเครื่องบินลำเลียง C-130J ที่เสนอขายให้กับกองทัพอากาศไทย ในส่วนของฟิลิปปินส์นั้นสหรัฐอนุมัติขายเฮลิคอปเตอร์ S-70i จำนวน 16 ลำ และมอบระเบิดนำวิถีให้กับกองทัพฟิลิปปินส์หลายรายการ โดยทั้งหมดนี้ เอกสารระบุว่า สหรัฐต้องการจะรักษาและขยายความช่วยเหลือด้านการพัฒนาและการทหารให้กับทั้งสองประเทศ ซึ่งรวมถึงการให้ทั้งสองประเทศเข้าถึงยุทโธปกรณ์ การฝึก และการปฏิบัติการร่วมกับสหรัฐ


ส่งเสริมการร่วมอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียว

สำหรับประเทศอื่นในอาเซียนนั้น สหรัฐมีนโยบายส่งเสริมและเพิ่มความเข้มแข็งให้กับบทบาทของอาเซียนในการสร้างกรอบความมั่นคงในภูมิภาค และทำให้แน่ใจว่า อาเซียนจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และจะพูดเป็นเสียงเดียวกันในประเด็นสำคัญ โดยเน้นไปที่การพัฒนาความสัมพันธ์ของสหรัฐกับสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งต่างเป็นประเทศที่มีข้อขัดแย้งกับจีนในเรื่องเขตแดนทางทะเลในทะเลจีนใต้ทั้งสิ้น โดยสหรัฐต้องการจะส่งเสริมให้อาเซียนเป็นองค์ประกอบหลักของยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกที่เปิดกว้างและเสรี และเชิญญี่ปุ่นให้เข้ามามีบทบาทในการกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียน

ซึ่งทำให้เราย้อนกลับไปมองเห็นการเดินทางเยือนอาเซียนหลายชาติของนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นในขณะนั้นคือนายชินโสะ อาเบะเมื่อปีที่ผ่านมา ที่ออกมาย้ำถึงยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างที่ญี่ปุ่นสนับสนุน รวมถึงการที่จีนพยายามเข้ามาให้ความช่วยเหลือและสร้างอิทธิพลต่อลาวและกัมพูชา เพื่อให้ทั้งสองประเทศอยู่ภายใต้เขตอิทธิพลของจีน และให้อาเซียนไม่สามารถหาทางออกที่เป็นฉันทามติได้ เช่นในกรณีของการออกกฎการปฏิบัติทางทะเลในทะเลจีนใต้ที่อาเซียนประสบความยากลำบากในการร่วมมือกันเพื่อต่อรองกับจีน

นอกจากนั้นยังมีแผนงานในการสนับสนุนให้อาเซียนสามารถดูแลตัวเองได้ในด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ส่งเสริมให้อาเซียนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการเอาชนะกลุ่ม ISIS และพันธมิตรการก่อการร้าย ส่งเสริมความสัมพันธ์ของหน่วยงานรักษากฎหมาย กองทัพ และหน่วยงานการข่าว และส่งมอบความช่วยเหลือโดยตรงให้กับชาติอาเซียนในการต่อต้านการก่อการร้าย เช่นเดียวกับเมียนมาร์ที่สหรัฐจะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยของเมียนมาร์ต่อไป

แนวปฏิบัติของสหรัฐต่ออาเซียน

One thought on “เอกสารยุทธศาสตร์ของทำเนียบขาวเผยยุทธศาสตร์ต่อไทย อาเซียน แปซิฟิก และการต้านจีน

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.