45 นาทีแห่งการรบ ฉากแรกของยุทธนาวียุคใหม่ในประวัติศาสตร์ไทย ก่อนจะถึงการประจัญบานของเรือหลวงธนบุรีต่อกองเรือฝรั่งเศส เรือหลวง 2 ลำ คือผู้เปิดการการต่อตีเรือรบของชาติมหาอำนาจในวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 ในวาระการครบรอบ 80 ปีของการรบครั้งสำคัญนี้ TAF ขอนำเสนอเรื่องราวบันทึกการรบขอ งร.ล. ชลบุรี และ ร.ล.สงขลา เรือตอร์ปิโดใหญ่ของกองทัพเรือ จากการเรียบเรียงบทความของคุณ Nye Nava ในฐานะเรือรบหลวงที่ร่วมรบกับเรือหลวงธนบุรีที่เกาะช้าง จนเป็นประจักษ์พยานแห่งการทำหน้าที่ปกป้องน่านน้ำไทยจนวาระสุดท้าย และยังจมอยู่ใต้อ่าวไทยในปัจจุบัน
“ห้วงเวลาระหว่างการเข้าทำการรบของ ร.ล.สงขลา ที่แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆก่อนที่จะต้องทำการสละเรือ แต่ทว่าเรือรบขนาดเล็ก ระวางขับน้ำเต็มที่ลำละ 470 ตัน จำนวนเพียง 2 ลำ ได้เข้าทำการสู้รบกับเรือของฝ่ายข้าศึกรวม 5 ลำ ที่มีระวางขับน้ำรวมกันถึง 12,651 ตัน ได้อย่างกล้าหาญในเช้าวันที่ 17 มกราคม 2484…”
เช้าวันที่ 17 มกราคม 2484 บริเวณตอนใต้ของหมู่เกาะช้าง มีหมอกลงเล็กน้อยตามปรกติของฤดูหนาว ท้องฟ้ามีเม็ดฝน ลมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนมาก ที่ทิศตะวันตกของเกาะง่าม มี ร.ล.ชลบุรี และ ร.ล.สงขลา จอดทอดสมออยู่ห่างฝั่ง 500 เมตร และเรือทั้งสองลำอยู่ห่างกันประมาณ 300 เมตร ร.ล.ชลบุรี จอดหันหัวเข้าเกาะช้าง ส่วน ร.ล.สงขลาหันหัวไปทาง น.อ. (นอร์ท-อีสต์ ตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งสองลำได้เตรียมลูกปืนไว้พร้อมที่จะป้องกัยภัยจากเครื่องบิน เนื่องจากเมื่อวันที่ 16 มกราคม เวลา 15.00 ร.ล.ธนบุรีได้พบเครื่องบินทะเลปีกชั้นเดียวของข้าศึกบินตรวจหาตำแหน่งของหมู่เรือไทย
- เวลา 05.30 ร.ล.สงขลา ปลุกทหารเป็นปรกติ ทำการเตรียมเรือเข้ารบ รื้อเพดานเต๊นท์ผ้าใบดาดฟ้าและล้มเสาเต๊นท์
- เวลา 05.50 ตั้งแถวออกกำลังกาย
- เวลา 06.00 ลักษณะอุตุ(รายงานจาก ร.ล.ธนบุรี ถึงผู้บังคับหมวดเรือ)คือ มีเมฆตามขอบฟ้า พื้นทะเลมีหมอกบางๆ ลม ซ.ว.(เซาท์เวสต์-ตะวันตกเฉียงใต้)กำลัง 1 คลื่นไม่มี ทัศนวิสัย 6 ไมล์ อากาศค่อนข้างหนาว ปรอท 27 องศา
- เวลา 06.05 ได้ยินเสียงเครื่องบิน ทำให้ต้นเรือสั่งประจำสถานีรบ
- เวลา 06.06 เห็นเครื่องบินลัวร์ 130 ของข้าศึก โผล่จากยอดเขาทางด้านใต้ของเกาะช้าง บินมาจาก น.อ.(นอร์ท-อีสต์ ตะวันออกเฉียงเหนือ) ผ่านเกาะง่าม บินสูงประมาณ 350 เมตร ในระยะ 1,900 เมตร แล้วทิ้งลูกระเบิดใส่โรงเก็บเครื่องบินบนเกาะง่าม 2 ลูก แต่ลูกระเบิดตกลงน้ำ ตรงช่องแหลมเทียนระหว่างเกาะช้างกับเกาะง่าม เรือตอร์ปิโดทั้งสองลำจึงระดมยิงด้วยปืนทั้งหมด คือปืน 75 มม.ลำละ 3 กระบอก, ปืน 20 มม.ลำละ 2 กระบอก และปืนรัชกาล (ผู้เรียบเรียง(คือผมเอง…) เข้าใจว่าคือปืน ร.ศ-เป็นปืนเล็กยาวขนาดกระสุน 8 มม.) อีกหลายกระบอก กระสุนได้ไประเบิดอยู่รอบๆเครื่องบิน แต่ไม่ถูก แล้วเครื่องบินฝรั่งเศสก็บินไปทางเกาะหวาย ในการนี้ ร.ล.สงขลาใช้กระสุน 75 มม. ไป 2-3 นัด ใช้กระสุนปืนกล 20 มม.ไป 60-80 นัด
การเตรียมยิงเครื่องบินนั้น ปรกติได้เตรียมกระสุนสวมชนวนพร้อมที่จะใช้การได้อยู่ทันทีอยู่กระบอกละ 20 นัด ตั้งชนวนไว้เป้นฉากๆ มี ฉาก 3 ฉาก 2 และฉาก 1 แต่เนื่องจากเคยมีเครื่องบินข้าศึกเข้ามาทางเกาะหมาก ระยะประมาณ 15,000 เมตร ไกลเกินไปจึงยิงไม่ได้ ต้นปืน ร.ล.สงขลา (ร.อ.นัย นพคุณ-ต่อมาเป็นพล.ร.อ/ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ) ได้สั่งให้ตั้งชนวนฉาก 4 และ ฉาก 5 เพิ่มอีก 2 ฉาก - เวลา 06.10 ร.ล.สงขลาเห็นเรือลามอตต์ปิเกต์ ในขณะที่เรือลามอตต์ปิเกต์โผล่ออกมาจากเกาะหวาย คะเนว่าใช้ความเร็ว 20 นอต วัดระยะทางได้ 10,000 เมตร ขณะนี้ทัศนวิสัยเลว ทีแรกเข้าใจว่าเป็น ร.ล.ธนบุรี เมื่อพิเคราะห์ว่าเป็นเรือฝรั่งเศสแน่ ต้นปืนจึงสั่งยิงปืนใหญ่ไปยังข้าศึก ตั้งระยะศูนย์ 10,000 เมตร เมื่อ ร.ล.สงขลา ยิงเรือลามอตต์ปิเกต์ไปแล้ว 1 ตับ เรือลามอตต์ปิเกต์จึงยิงตอบ แต่กระสุนไปถูกเกาะง่ามเสีย
- ร.ล.สงขลาทำการยิงกับเรือลามอตต์ปิเกต์ ปรากฎว่ากระสุนตกต่ำมาก จึงแก้ศูนย์ระยะเป็น 14,000 ปรากฎว่ากระสุนตกสูง จึงแก้ระยะเป็น 12,000 เมตร ร.ล.สงขลาบอกว่าถูกเป้า แต่ฝรั่งเศสบอกว่าไม่มีรอยกระสุนเลย
- เวลา 06.15 เรือดูมองต์ ดูร์วิลล์ได้เล็งยิงไปยังเปลวไฟปากกระบอกปืนของเรือตอร์ปิโดไทย
- เวลา 06.23 เรืออามิรัล ชาร์เนร์เริ่มยิง ใช้เปลวไฟปากกระบอกของเรือตอร์ปิโดเป็นเป้า
- เวลา 06.25 เรือตาอูร์และเรือมาร์นเริ่มยิง เรือไทยเสียเปรียบมาก เพราะเป็นเป้านิ่งและมิหนำซ้ำยังเกาะกันเป็นกระจุก กระสุนข้าศึกมีโอกาสพลาดเป้าอื่นมาถูกได้
- เรือดูมองต์ ดูร์วิลล์รายงานว่าพอยิงตับที่ 3 ก็ถูกเป้า และเรือหมู่นี้ได้ร่นระยะเข้าไปจนถึง 5,000 เมตร เรือหมู่นี้ระดมยิง ร.ล.ชลบุรีจนไฟใหม้
- ในตอนแรกๆนั้น เรือฝรั่งเศสยิงเรือตอร์ปิโดไม่ใคร่ถูก แต่พอเรือตอร์ปิโดติดไฟหม้อน้ำทำให้ฝ่ายฝรั่งเศสแลเห็นควันดำจากปล่อง เลยเป็นเป้าชัดขึ้น เรือตาอูร์และเรือมาร์นแล่นยิงเรือตอร์ปิโดทั้งสองลำ โดยย่นระยะใกล้เข้ามาทุกที จนถึงระยะ 3,700 เมตร และ 2,600 เมตร
- เวลา 06.45 ร.ล.สงขลา สละเรือใหญ่ เพราะเรือเริ่มเอียงกราบซ้าย
- เวลา 06.53 ร.ล.สงขลา พลิกตะแคงและคว่ำ
- มีสิ่งที่ควรกล่าวถึงคือนับว่าโชคได้ช่วยฝ่ายฝรั่งเศสมาก โดยที่ ร.ล.สงขลา และ ร.ล.ชลบุรี จอดทอดสมอ กระแสน้ำปัดให้ท้ายเรือเหออกมานอกอ่าว หัวเรือบ่ายเข้าหาเกาะอยู่เรื่อย ดังนั้นมุมยิงของตอร์ปิโดในเรือจึงไม่มี ทาง ร.ล.สงขลา จึงหมดโอกาสใช้ตอร์ปิโดทั้งๆที่มีลมบรรจุอยู่เต็มอัตรา
และก็เป็นโชคดีของทางฝ่ายไทยเหมือนกัน เพราะกระสุนของฝรั่งเศสมีได้ถูกหัวรบตอร์ปิโดที่บรรจุอยู่ในท่อเลยเช่นกัน เพราะถ้าหากว่าถูกเข้า ทหารประจำเรือจะต้องเสียชีวิตมากกว่านี้ - ผลของการรบของ ร.ล.สงขลา นอกจากจะสูญเสียเรือ ยังต้องสูญเสียทหารประจำเรือที่สละชีพเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติไทย อีกถึง 14 นาย
- การรบครั้งนี้ ถึงแม้เราจะเป็นสูญเสียและพ่ายแพ้ในทางยุทธวิธี (Tactical) แต่ฝ่ายเราก็สามารถนับว่าได้รับชัยชนะในทางยุทธศาสตร์ (Strategic) เนื่องจากทำให้ฝ่ายข้าศึกต้องถอนกำลังกลับ ไม่สามารถดำเดินการตามวัตถุประสงค์เดิมได้สำเร็จ และก็ไม่ได้ส่งกองกำลังทางเรือขนาดใหญ่เข้ามารุกรานฝ่ายเราอีกเลย
- แม้ว่าเหตุการ การรบทางเรือที่เกาะช้าง 17 มกราคม 2484 จะผ่านไปถึง 80 ปีแล้วก็ตาม แต่ความกล้าหาญของทหารเรือไทย ก็ยังเป็นที่จดจำของคนไทยที่สนใจในกิจการของทหารเรือมาจนทุกวันนี้ สมดังคำร้องท่อนหนึ่งในเพลงพระนิพนธ์ “เดินหน้า” ของเสด็จในกรมฯ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิดาแห่งทหารเรือไทยที่ว่า
“…ส่วนตัวเราตาย ไว้ยืน ไว้ยืนแต่ชื่อ ให้โลกทั้งหลายเขาลือ ว่าตัวเราคือทหารเรือไทย…”
ประวัติการจัดหาเรือตอร์ปิโดใหญ่ของไทยจากอิตาลี
ในปี พ.ศ.2476 หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กองทัพเรือได้รับงบประมาณพิเศษจากรัฐบาลเป็นเงินประมาณ 3 ล้านบาท นาวาเอกหลวงสินธุสงครามชัย (ต่อมาเป็น พล.ร.อ สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือ) เสนาธิการทหารเรือ ในขณะนั้น ได้เสนอต่อกองทัพเรือ ให้สั่งต่อเรือตอร์ปิโดขนาด 400 ตัน จำนวน 2 ลำจากประเทศอิตาลี ราคาลำละ 1,300,000 บาท กับเรือยามฝั่งอีก 3 ลำ จากประเทศอังกฤษ สำหรับเรือตอร์ปิโดนั้น ได้เลือกแบบของอู่กันติเอริ ริอูนิติ เดลล์ดดริอาติโก ตำบลมองฟัลโกเน เมืองตริเอสเต้ ประเทศอิตาลี
เรือตอร์ปิโดใหญ่ชุดนี้ มีคุณลักษณะทั่วไปคือ มีระวางขับน้ำปกติ 435 ตัน เต็มที่ 470 ตัน ความยาว 68.00 เมตร ความกว้าง 6.35 เมตร กินน้ำลึก 2.05 เมตร อาวุธประจำเรือประกอบด้วย ปืน 75/51 มม. 3 กระบอก ปืนกล 20 มม. 2 กระบอก ท่อตอร์ปิโด ขนาด 45 ซม. แท่นคู่ 2 แท่น แท่นเดี่ยว 2 แท่น (รวม 6 ท่อยิง) เครื่องจักรใหญ่เป็นแบบกังหันไอน้ำของบริษัทยาโรว์ (พาร์สัน ไอเผา 2 ครั้ง) จำนวน 2 เครื่อง กำลัง 10,000 แรงม้า ใบจักรคู่ ทำความเร็วสูงสุด 31 นอต มัธยัสถ์ 14.8 นอต มีรัศมีทำการที่ความเร็วสูงสุด 516.6 ไมล์ ที่ความเร็วมัธยัสถ์ 1,234.3 ไมล์ ทหารประจำเรือ 117 นาย ต่อที่อู่กันติเอริ เดลลัดดริอาดิโก ประเทศอิตาลี และได้รับพระราชทานนาม ร.ล.ตราด และ ร.ล.ภูเก็ต ตามลำดับ
ต่อมากองทัพเรือได้บรรจุโครงการจัดหาเรือตอร์ปิโดใหญ่เพิ่มเติมอีก 4 ลำ โดยสภาฯได้พิจารณาผ่านร่างพรบ.ดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2477 ซึ่งกำหนดให้กองทัพใช้เงินในการจัดซื้อเรือและอาวุธ 18 ล้านบาทในระยะเวลา 6 ปี
จากการที่คณะกรรมการจัดซื้อเรือตอร์ปิโดได้มีบทเรียนจากการสั่งต่อ ร.ล.ตราดและ ร.ล.ภูเก็ต ซึ่งมีราคาสูง ทำให้การจัดซื้อเรือในชุดนี้ มีการเรียกประกวดราคาเรือและราคาอาวุธต่างๆแยกกันออกไป ส่งผลให้ราคาเรือและเครื่องจักรเหลือเพียงแค่ลำละ 571,300 บาท ส่งผลให้สามารถจัดซื้อเรือเพิ่มเติมได้อีก 3 ลำ รวมเป็น 7 ลำ ในวงเงิน 3.999 ล้านบาท และเมื่อรวมค่าอาวุธ โดยเลือกใช้ปืนเรือจากสวีเดนและตอร์ปิโดจากญี่ปุ่น จะเป็นราคาตอร์ปิโดใหญ่ ลำละราว 800,000 บาท
ชุดการผลิตที่ 2 (Batch II) มีคุณลักษณะทั่วไปดังนี้ ระวางขับน้ำปกติ 413 ตัน เต็มที่ 460 ตัน ความยาว 68.00 เมตร ความกว้าง 6.55 เมตร กินน้ำลึก 2.80 เมตร อาวุธประจำเรือประกอบด้วย ปืน 75/51 มม. 3 กระบอก ปืนกล 20 มม. 2 กระบอก ท่อตอร์ปิโด ขนาด 45 ซม. แท่นคู่ 2 แท่น แท่นเดี่ยว 2 แท่น (รวม 6 ท่อยิง) เครื่องจักรใหญ่เป็นแบบกังหันไอน้ำของบริษัทยาโรว์ (พาร์สัน ไอเผา 2 ครั้ง) จำนวน 2 เครื่อง กำลัง 8,800 แรงม้า ใบจักรคู่ ทำความเร็วสูงสุด 30 นอต มัธยัสถ์ 12 นอต มีรัศมีทำการที่ความเร็วสูงสุด 867 ไมล์ ที่ความเร็วมัธยัสถ์ 3,530 ไมล์ ทหารประจำเรือ 112 นาย และได้รับพระราชทานนาม ร.ล.ปัตตานี ร.ล.สุราษฎร์ ร.ล.จันทบุรี ร.ล.ระยอง ร.ล.ชุมพร ร.ล.ชลบุรี และ ร.ล.สงขลา ตามลำดับ
ผลจากการนี้ กองทัพเรือจึงมีเรือตอร์ปิโดใหญ่ทั้งสิ้น 9 ลำ สามารถจัดกำลังรบเป็นหมู่ละ 3 ลำ ได้ 3 หมู่ (เป็นชุดการผลิตที่ 1 (Batch I) 2 ลำ และชุดการผลิตที่ 2 (Batch II) อีก 7 ลำ)
ตั้งแต่เริ่มเข้าประจำการเรือตอร์ปิโดใหญ่ชุดนี้ ได้มีส่วนร่วมในการทำสงครามมาโดยตลอด ทั้งสงครามอินโดจีนฝรั่งเศส(สูญเสีย ร.ล.ชลบุรี และ ร.ล.สงขลา) สงครามมหาเอเชียบูรพา (ร.ล.ตราด ร.ล.ปัตตานี ร.ล.สุราษฎร์ และ ร.ล.ระยอง ลาดตระเวณอ่าวไทย เพื่อสกัดกั้นการยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่นในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 และ ร.ล.สุราษฎร์ยิงเครื่องบิน B-24 ของสัมพันธมิตรตกที่อ่าวสัตหีบ) หรือแม้กระทั่งในเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน เมื่อ ร.ล.สุราษฎร์ ใช้ปืน 75 มม.ยิงรถถังของฝ่ายรัฐบาลที่บริเวณท่าช้าง เพื่อป้องกันเรือ
การปลดประจำการ
เรือชุดนี้ที่เหลือทั้ง 7 ลำได้ทยอยปลดประจำการในระหว่างปี พ.ศ.2518-2520 โดยกองทัพเรือได้มอบ ร.ล.ชุมพร ให้จังหวัดชุมพรเพื่อจัดทำเป็นอนุสรณ์สถาน ร.ล.ชุมพร ในปี พ.ศ. 2523 และเป็นเพียงลำเดียวของเรือชุดนี้ที่ยังเหลืออยู่ ส่วนเรือลำอื่นๆ บางลำได้ถูกนำไปเป็นเรือเป้า สำหรับการฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถีของเรือรุ่นใหม่ๆที่เข้าประจำการ และที่เหลือรุขายเป็นซาก
ลำดับเวลาและเหตุการณ์ระหว่างการเข้าทำการรบของ ร.ล.สงขลา ในการรบทางเรือที่เกาะช้างชุดนี้ มาจากบทความชื่อ “ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เกาะช้าง วันที่ 17 มกราคม 2484 ประมวลโดย พล.ร.ท.พัน รักษ์แก้ว จากเอกสารลำของทั้งสองฝ่าย” ในหนังสือ “เมื่อธนบุรีรบ”(ผู้เรียบเรียงคือ ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน ส่วนต้นฉบับนั้นตีพิมพ์ในวารสารนาวิกศาสตร์ ปีที 78 ฉบับที่1 และ 2) โดยผู้เขียนได้ตัดตอนเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ ร.ล.สงขลา มาเรียบเรียงใหม่อีกที รวมถึงขยายความบางอย่างเพิ่มเติมเข้าไป