เมื่อไม่นานมานี้ รัฐมนตรีวาการกระทรวงกลาโหมของรัสเซียเซอร์กีย์ โชกูร์ ได้เดินทางเยือนเมียนมาร์อย่างเป็นทางการ ซึ่งในระหว่างการเยือนนั้นมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงด้านความร่วมมือกับกระทรวงกลาโหมของรัสเซียโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาร์ พลเอกอวุโส มินห์ อ่อง ลายกับพลเอก เอล็กซานเดอร์ โฟมิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมรัสเซียเป็นผู้ร่วมลงนาม
ซึ่งรายละเอียดของความร่วมมือนั้น ทางรัสเซียระบุว่ารวมไปถึงข้อตกลงในการขายระบบป้องกันภัยทางอากาศ Pantsir-S1 อากาศยานไร้นักบิน Orlan-10E และสถานีเรดาร์ให้กับเมียนมาร์ด้วย
ในปัจจุบันเมียนมาร์มีระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ค่อนข้างทันสมัยซึ่งประกอบไปด้วยจรวดต่อสู้อากาศยานพิสัยกลาง Pechora-2M หรือ SA-3 Goa จากรัสเซียจำนวน 8 ระบบ จรวดต่อสู้อากาศยานพิสัยกลาง Kub 2K12M2 หรือ SA-6 Grainful จากเบลารุสจำนวน 24 ระบบ จรวดต่อสู้อากาศยานพิสัยกลาง KS-1A/M จากจีนจำนวน 12 ระบบ รวมถึงน่าจะยังมีจรวดต่อสู้อากาศยานแบบ S-75M3 Volga-2 หรือ SA-2 Guideline ที่ยังใช้งานได้อยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งจะสังเกตุว่า เมียนมาร์ยังขาดจรวดต่อสู้อากาศยานระยะใกล้อยู่ การจัดหา Pantsir-S1 จึงน่าจะนำมาปิดช่องว่างดังกล่าว
Pantsir-S1 เป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศลูกผสมระหว่างปืนและจรวด โดยมีปืน 2A38M ขนาด 30 มม. 2 กระบอก ซึ่งบรรจุกระสุน 700 นัดที่มีให้เลือกทั้งกระสุนระเบิด HE และกระสุนแตกอากาศ รวมถึงกระสุนเจาะเกราะ มีระยะยิงใกล้สุด 200 เมตร ไกลสุด 4 กิโลเมตรด้วยอัตรายิง 2,500 นัดต่อนาทีซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงสำหรับปืนขนาด 30 มม. ทำการยิงอากาศยานได้สูงสุดที่ 3 กิโลเมตรหรือราว 10,000 ฟุต และสามารถทำการยิงเป้าหมายที่ความสูงต่ำสุด 0 เมตร หรือสามารถยิงเป้าหมายภาคพื้นดินได้อีกด้วย
สำหรับจรวดที่ใช้นั้นเป็นจรวดแบบ 57E6 จำนวน 12 นัด นำวิถีด้วยคลื่นวิทยุที่สื่อสารระหว่างจรวดและแท่นยิงและกล้องจับภาพ ใช้ชนวนแบบเฉียดระเบิด สามารถยิงพร้อมกันได้ 4 นัด ซึ่งโดยปกติจะยิงเป้าหมายด้วยจรวดครั้งละ 2 นัด เชื่อว่ามีอัตราการยิงถูกเป้าที่ 70-90% มีระยะยิงไกลสุด 18 กิโลเมตรที่ความสูงสูงสุด 15 กิโลเมตร จรวดเดินทางด้วยความเร็ว 3.8 มัค
โดยทั้งจรวดและปืนนั้นจะควบคุมการยิงด้วยเรดาร์ควบคุมการยิง 1RS2-1E มีระยะตรวจจับที่ 32 กิโลเมตร และติดตามเป้าได้ที่ระยะ 24 กิโลเมตร รวมถึงมีระบบกล้อง Electro-Optic สำหรับตรวจจับเป้าหมายเพิ่มเติม ซึ่งทำให้ Pantsir-S1 สามารถทำการยิงเป้าหมายได้พร้อมกัน 2 – 4 เป้าหมายอีกด้วย โดยมีขีดความสามารถในการทำลายอากาศยาน เฮลิคอปเตอร์ อากาศยานไร้นักบิน หรือจรวดนำวิถีได้
ในส่วนของอากาศยานไร้นักบินแบบ Orlan-10E นั้น เชื่อว่าเมียนมาร์จะเป็นลูกค้าต่างชาติรายแรกของอากาศยานไร้นักบินแบบนี้ ซึ่ง Orlan-10E เป็นอากาศยานไร้นักบินที่จะปฏิบัติการเป็นกลุ่มครั้งละ 2-3 ลำ ลำแรกจะใช้ในการลาดตระเวนถ่ายภาพและหาข่าว ลำที่สองจะติดตั้งระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์เพื่อต่อต้านการรบกวนสัญญาณหรือทำการรบกวนสัญญาณของข้าศึก และลำที่สามจะทำหน้าที่ทวนสัญญาณเพื่อรับส่งข้อมูลกับสถานีควบคุม ซึ่งเป็นหลักการที่ไม่เหมือนใคร นอกจากนั้น Orlan-10E ยังมีขีดความสามารถในด้านการติดเซ็นเซอร์นิวเคลียร์ ชีวะ เคมีหรือ CBRN ซึ่งคาดว่าจะเป็นเซนเซอร์ที่ใช้ในการตรวจสอบกัมมันตรังสีหรือการแพร่กระจายของสารเคมีที่ใช้ทำอาวุธเคมีได้ด้วย นอกจากนั้นยังมีระบบกล้องตรวจการณ์หรือเซนเซอร์อื่น ๆ ให้เลือก ซึ่งตัวอากาศยานไร้นักบินมีความสามารถในการบรรทุก Payload ได้ 6 กิโลกรัม
Orlan-10E บินขึ้นด้วยเครื่องดีดส่ง และลงจอดด้วยร่มหน่วงความเร็ว สามารถบินได้ไกล 140 กิโลเมตรจากสถานีควบคุม บินได้ต่อเนื่อง 16 ชั่วโมงที่ความสูงราว 15,000 ฟุต
เรายังไม่ทราบจำนวนการจัดหาของทั้ง Pantsir-S1 และ Orlan-10E รวมถึงยังไม่ทราบขีดความสามารถของระบบเรดาร์ตรวจการณ์ที่มีการจัดหาพร้อมกันในสัญญาครั้งนี้ ซึ่งอาจจะต้องติดตามกันต่อไป แต่การัจดหานี้ชี้ให้เห็นว่าเมียนมาร์ต้องการปรับปรุงระบบป้องกันภัยทางอากาศของตนให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเริ่มทดแทนจรวดต่อสู้อากาศยานรุ่นเก่าด้วยจรวดรุ่นใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องในรอบกว่าสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เมียนมาร์เป็นประเทศที่มีระบบป้องกันภัยทางอากาศที่เข้มแข็งที่สุดประเทศหนึ่งของอาเซียนครับ