รู้จัก กองทัพและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของ เมียนมาร์ หนึ่งในชาติชั้นนำของอาเซียน นำหน้าไทย 10 ปี

ช่วงนี้ดูเหมือนทุกคนจะให้ความสนใจเมียนมาร์หรือ พม่า และ กองทัพเมียนมาร์ เป็นพิเศษ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาร์ TAF คิดว่าทุกท่านน่าจะได้ทราบหลาย ๆ แง่มุมของเมียนมาร์ไปแล้วผ่านสื่อต่าง ๆ วันนี้เราเลยจะขอมาเล่ามุมที่ยังไม่ค่อยมีใครเล่าก็คือ กองทัพเมียนมาร์และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ของเมียนมาร์

กองทัพเมียนมาร์เป็นกองทัพที่มีขนาดใหญ่ มีกำลังพลมากกว่า 4 แสนนาย งบประมาณทางทหารต่อปีราว 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือ 7.5 หมื่นล้านบาท จากงบประมาณประจำปีของรัฐบาลขราว 26 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือ 7.8 แสนล้านบาท ถือเป็นกระทรวงที่ได้งบประมาณเป็นลำดับสามของรัฐบาลเมียนมาร์รองจากพลังงานและคลัง และนำหน้าศึกษาธิการและคมนาคม ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำคัญและอิทธิพลของกองทัพเมียนมาร์ต่อการเมืองเมียนมาร์


กองทัพบกเมียนมาร์ มีขนาดใหญ่และมียุทโธปกรณ์จำนวนมาก โดยส่วนมากแล้วจะเป็นยุทโธปกรณ์ที่จัดหาจากประเทศจีน รัสเซีย และยุโรปตะวันออก ยุทโธปกรณ์สำคัญ ๆ ก็เช่น รถถังหลัก MBT-2000 หรือ VT-1 จากประเทศจีนจำนวน 50 คัน รถถังหลัก T-72S จำนวน 140 คันจากยูเครน ยานเกราะล้อยาง BTR-3U จากยูเครนจำนวน 400 คัน รวมถึงยานเกราะล้อยาง BTR-4 จากยูเครนอีกจำนวนหนึ่ง ยานเกราะล้อยาง WZ-551 จากประเทศจีนจำนวน 250 คัน

กองทัพบกเมียนมาร์ยังมีหน่วย จรวด และ ขีปนาวุธ ที่เข้มแข็ง เช่นมีจรวดหลายลำกล้องในตระกูล BM-21 จากรัสเซียและ Type-90 จากจีน ขนาด 122 มม. จำนวน 260 คัน จรวดหลายลำกล้องขนาด 240 มม. M-1985 จากเกาหลีเหนือจำนวน 30 คัน นอกจากนั้นยังมีข่าวลือว่าเมียนมาร์มีระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธี SY-400 พร้อมขีปนาวุธ BP-12A ระยะยิง 400 กิโลเมตรจากประเทศจีน และเชื่อว่าเมียนมาร์มีชีปนาวุธทางยุทธวิธี Hwasong-5 หรีอ SCUD-B จากเกาหลีเหนือ ระยะยิง 300 กิโลเมตร หรือ Hwasong-6 จากเกาหลีเหนือที่มีระยะยิงราว 700 กิโลเมตรอีกจำนวนหนึ่งด้วย ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในสองประเทศของอาเซียนที่มีขีปนาวุธทางยุทธวิธีประจำการ โดยอีกประเทศหนึ่งคือเวียดนาม

FILE PHOTO: Army soldiers clear the traffic as an armoured personnel vehicle moves on a road in Yangon, Myanmar, January 28, 2021. Picture taken January 28, 2021. REUTERS/Stringer

กองกำลัง จรวดต่อสู้อากาศยาน ก็เป็นหน่วยที่มีขีดความสามารถสูงเช่นกัน โดยเป็นจรวดที่ทันสมัยจากรัสเซียและยุโรปตะวันออกเช่น มีข่าวลือว่าจรวดต่อสู้อากาศยานระยะกลาง Tor-M1 จากรัสเซียจำนวน 3 ระบบ นอกนั้นที่น่าจะยืนยันได้คือจรวดต่อสู้อากาศยาน Pechora-2M จากรัสเซียจำนวน 8 ระบบ จรวดต่อสู้อากาศยาน Kub 2K12M2 จากเบลารุสจำนวน 10 ระบบ จรวดต่อสู้อากาศยาน KS-1A/M จากประเทศจีนจำนวน 5 ระบบ จรวดต่อสู้อากาศยาน S-75M3 จากรัสเซียจำนวน 16 ระบบ และเพิ่งลงนามจัดหา Pantsir-S1 จากรัสเซียอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่จรวดรุ่นล่าสุดทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงความทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงมาก

กองทัพเรือเมียนมาร์ ก็เป็นหนึ่งในกองทัพเรือที่เข้มแข็ง มีเรือรบที่มีความทันสมัยเข้าประจำการ โดยกองทัพเรือเมียนมาร์มีเรือฟริเกต 5 ลำ เรือคอร์แวตต์ติดอาวุธปล่อยนำวิถี 3 ลำ เรือเร็วโจมตีติดอาวุธปล่อยนำวิถี 10 ลำ เรือเร็วโจมตีปราบเรือดำน้ำ 10 ลำ เรือดำน้ำ 1 ลำ เรือยกพลขึ้นบกแบบมีอู่ลอยหรือ LPD 1 ลำ เป็นต้น โดยเทคโนโลยีส่วนมากนั้นได้จากจีนและรัสเซีย

UMS Min Ye Thein Kha Thu

กองทัพอากาศเมียนมาร์ นั้นก็ถือเป็นกองทัพอากาศที่ทันสมัยกองทัพหนึ่งของอาเซียนเช่นกัน โดยมี เครื่องบินขับไล่ หลักคือ MiG-29 ทั้งรุ่น SE/SM/UB จากรัสเซียจำนวนราว 31 ลำ เครื่องบินขับไล่ Su-30SME ที่เพิ่งจัดหาใหม่จากรัสเซียและกำลังทะยอยรับมอบจำนวน 12 ลำ เครื่องบินขับไล่ JF-17 จากจีนและปากีสถานจำนวน 16 ลำ นอกจากนี้ยังมีเครื่องบินขับไล่ J-7 และ Q-5 จากประเทศจีนประจำการอยู่อีกแบบละราว 25 ลำ เครื่องบินลำเลียงหลักคือ เครื่องบินลำเลียง แบบ Y-8 จำนวน 5 ลำ เครื่องบินลำเลียง Y-12 จำนวน 2 ลำ เฮลิอปเตอร์ Mi-2 และ Mi-17 อย่างละ 20 ลำ เฮลิคอปเตอร์ W-3 จากโปแลนด์จำนวน 8 ลำ เฮลิคอปเตอร์โจมตี Mi-24 จำนวน 11 ลำ นอกจากนี้ยังมีเครื่องบินฝึกซึ่งสามารถใช้งานเป็นเครื่องบินโจมตีได้เช่น Yak-130 จากรัสเซียจำนวน 18 ลำ และ JL-8 จากจีนและปีกาสถานจำนวน 50 ลำ

MiG-29

ทั้งนี้ สิ่งที่สร้างความแตกต่างและทำให้กองทัพเมียนมาร์น่าสนใจซึ่งเราอาจจะไม่ทราบก็คือ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ของเมียนมาร์นั้นมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะระบบอาวุธทางบกที่เมียนมาร์มีขีดความสามารถในการพัฒนายานเกราะล้อยางและจรวดแบบต่าง ๆ ที่ได้เทคโนโลยีจากทั้งจีน รัสเซีย และเกาหลีเหนือ และสามารถนำยุทโธปกรณ์เหล่านั้นเข้าประจำการได้ เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยนั้นน่าจะถือว่าเมียนมาร์มีเทคโนโลยีและขีดความสามารถที่นำหน้าประเทศไทยอยู่ราว ๆ 10 ปี

การวิจัย พัฒนา และผลิตยุทโธปกรณ์ทางบกของกองทัพเมียนมาร์นั้นอยู่ภายใต้การดูแลของกรมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเมียนมาร์ (Myanmar Directorate of Defence Industries) ของกระทรวงกลาโหม ซึ่งทำการพัฒนาและผลิตยุทโธปกรณ์หลายแบบตั้งแต่ปืนขนาดต่าง ๆ เครื่องยิงลูกระเบิด ปืนใหญ่ จรวดหลายลำกล้อง จรวดต่อสู้อากาศยาน จรวดต่อสู้รถถัง รวมถึงระเบิดและกระสุนแบบต่าง ๆ

ปืนที่ใช้ในกองทัพเมียนมาร์นั้นเป็นการซื้อสิทธิบัตรการผลิตปืนจากประเทศต่าง ๆ มาผลิตเช่น Gaili จากประเทศอิสราเอล QBZ-95 จากประเทศจีน STK 50MG จากประเทศสิงคโปร์ หรือ M91 จากเซอร์เบียร์ และทำการปรับปรุงเพิ่มเติมโดยใช้เทคโนโลยีของตนเองในภายหลัง ที่เราน่าจะรู้จักกันดีก็คือ ปืนเล็กยาว แบบ MA-4 ที่ใช้กระสุนขนาด 5.56 มม. ที่มีพื้นฐานมาจาก Galil ของ IMI ประเทศอิสราเอล ปืนกล MA-15 ใช้กระสุนขนาด 7.62 มม. ซึ่งเป็นการลอกแบบ MA-15 จากเยอรมัน หรือ ปืนซุ่มยิง MAS-1 ใช้กระสุนขนาด 7.62 มม. ซึ่งเป็นซื้อสิทธิบัตรการผลิตปืน M91 ของ Zastava จากเซอร์เบีย

สำหรับ ยานเกราะ นั้น BTR-3U และ BTR-4 จากยูเครนนั้นเป็นการซื้อลิขสิทธิ์และสายการผลิตจากประเทศยูเครนมาทำการผลิตในประเทศจำนวนกว่า 500 คัน นอกจากนั้นยังมีโครงการความร่วมมือกับยูเครนในการพัฒนารถถังเบาแบบ MMT-40 ซึ่งยังไม่ทราบจำนวนที่จะเข้าประจำการ นอกจากนั้นยังมียานเกราะ 4×4 รุ่นเก่าที่ออกแบบในเมียนมาร์และเข้าประจำการมาราว 20 ปีแล้วเช่น BAAC-87, MAV-2, และ MAV-3 อย่างละราว 50 คัน ส่วนรถใช้งานทางทหารทั่วไปนั้น เมียนมาร์ใช้งานรถที่ออกแบบและผลิตในประเทศทั้งหมดเช่นรถ Naung Yoe หรือรถรุ่นใหม่อย่างรถ Innlay

รถถังเบา MMT-40

เมียนมาร์ยังมีขีดความสามารถในการผลิตจรวดที่หลากหลายเช่น จรวดหลายลำกล้อง MAM-01 ขนาด 122 มม. เทียบเทียบ Type-81 ของจีน จรวดหลายลำกล้อง MAM-02 ขนาด 240 มม. เทียบเท่า M1991 จาเกาหลีเหนือ เครื่องยิงลูกระเบิด MA-10 หรือ RPG-7 เครื่องยิงลูกระเบิด MA-14 ซึ่งเป็นการลอกแบบ type-78 ของจีน เครื่องยิงลูกระเบิด MA-84 ซึ่งเป็นการลอกแบบ Carl Gustaf ของสวีเดน ซื้อสิทธิบัตรการผลิตจรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่า Igla จากประเทศรัสเซีย รวมถึงมีสายการผลิตจรวดต่อสู้อากาศยาน KS-1M จากจีนอีกด้วย นอกจากนั้นยังมีความเป็นไปได้ที่เมียนมาร์จะได้รับเทคโนโลยีการผลิตขีปนาวุธทางยุทธวิธี Hwasong-5 จากเกาหลีเหนือเช่นกัน

จรวดหลายลำกล้อง MAM-01

สำหรับอุตสาหกรรมต่อเรือซึ่งดูแลโดยอู่ต่อเรือของกองทัพเมียนมาร์นั้นมีขีดความสามารถในการต่อเรือทุกขนาดตั้งแต่เรือตรวจการณ์ขนาดเล็ก เรือยกพลขึ้นบก เรือเร็วโจมตี ไปจนถึงเรือฟริเกต ซึ่งโดยรวมแล้วเรือราว ๆ ครึ่งหนึ่งที่ใช้งานในกองทัพเรือเมียนมาร์นั้นเป็นการออกแบบและต่อในประเทศทั้งสิ้น โดยนอกจาก เรือฟริเกต ชั้น Type-053H1 Jianghu-II จากจีนจำนวน 2 ลำแล้ว เรือฟริเกตอีก 3 ลำล้วนเป็นเรือที่ออกแบบและต่อในเมียนมาร์ทั้งสิ้นคือเรือชั้น Aung Zeya และเรือชั้น Kyan Sittha หรือเรือคอร์แวตต์ชั้น Anawratha เรือเร็วโจมตี เรือยกพลขึ้นบกชนิดต่าง ๆ ทั้ง LCU LCM หรือ LST ก็เป็นการออกแบบและผลิตเองทั้งสิ้น

เรือ UMS Sin Phyu Shin เรือฟริเกต F14 ชั้น Kyan Sittha

อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของเมียนม่าร์เปิดตัวต่อสายตาชาวโลกเป็นครั้งแรกในงาน Defense and Security 2019 ในประเทศไทยนี่เอง โดยเมียนมาร์ได้เปิดเผยถึงขีดความสามารถและศักยภาพในระดับสูงเทียบเท่ากับประเทศชั้นนำของอาเซียน และได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก TAF ในฐานะพันธมิตรด้านสื่อสารมวลชนอย่างเป็นทางการของ Defense and Security 2021 จึงได้มีโอกาสพูดคุยกับนายทหารจากเมียนมาร์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศด้วย

พันเอก เน โม โค เสนาธิการประจำสำนักงานผู้บัญชาการทหารบกของเมียนม่าร์เล่าให้ TAF ฟังว่า “เมียนม่าร์ได้รับเชิญมาร่วมงาน Defense and Security มาหลายครั้ง ครั้งนี้เราจึงต้องการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น โดยการมาเข้าร่วมในครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกของเรา เมียนม่าร์มีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศมาตั้งแต่ปี 1949 หรือ1 ปีหลังจากได้รับเอกราช และมีนโยบายที่ชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่าทั้งกองทัพและรัฐบาลจะผลักดันและสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศตั้งแต่ต้น”

ปัจจุบันเมียนมาร์มีโรงงานอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ 20 โรงงาน มีเจ้าหน้าที่รวมถึง 2.5 หมื่นคน มีขีดความสามารถในการผลิตกระสุนตั้งแต่กระสุนปืนเล็กไปจนถึงปืนใหญ่ ยานยนต์ทางทหาร เรือรบ และการซ่อมบำรุงอากาศยาน

“ทุก ๆ ปีกองทัพจะให้ความต้องการในการใช้งานมา และทางโรงงานจะดำเนินการผลิตให้ เรามีขีดความสามารถในการผลิตได้ค่อนข้างหลากหลายและครอบคลุมอาวุธที่ใช้งานในกองทัพของเรา ทั้งหมดผลิตตามมาตรฐานสากล และบางระบบก็เป็นระบบที่ได้รับเทคโนโลยีหรือปรับปรุงมาจากระบบอาวุธของต่างประเทศ”

หนึ่งในผลงานที่นำมาจัดแสดงใน Defense and Security 2019 ก็คือปืนเล็กยาว ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่าง Galil และ Kalashnikov ปืนกลขนาด .50 จรวด RPG และกระสุนแบบต่าง ๆ ตั้งแต่ 5.56 มม. จนถึง 30 มม. สามารถผลิตชิ้นส่วนย่อยคือดินระเบิด ดินขับและชนวนได้เองทั้งหมด ซึ่งพันเอก เน โม โคกล่าวว่าอาวุธที่นำมาจัดแสดงนี้ี่เป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น

“การมาในครั้งนี้เป็นก้าวแรก ถ้ามีการสั่งซื้อและส่งออกอาจจะยังต้องดำเนินการด้านเอกสารและการขออนุญาตอีกหลายขั้นตอน ยังไม่ได้สามารถขายได้ทันที แต่เรามีความตั้งใจในการร่วมมือกับประเทศอาเซียน การมาร่วมงาน Defense and Security ในครั้งนี้ก็เปิดโอกาสให้เราได้พูดคุยและแสวงหาความร่วมมือกับบริษัทจากนา ๆ ประเทศด้วย” พันเอก เน โม โคกล่าว

สำหรับยานยนต์ทางทหารนั้น ปัจจุบันเมียนม่าร์สามารถผลิตยานยนต์ทางทหารได้เองแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการผลิตรถบรรทุก รวมถึงมีแผนในการพัฒนายานเกราะล้อยาง และการพัฒนายานเกราะ 8×8 ในประเทศ

“เรามีแนวทางในการพัฒนาที่ชัดเจน เพราะปัจจุบันเรายังผลิตอาวุธแยกชิ้นได้เท่านั้น ตอนนี้เรากำลังมองไปที่การพัฒนาระบบอาวุธ ซึ่งหมายถึงการพัฒนาเรดาร์ และระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเซนเซอร์ต่าง ๆ ที่จะพัฒนาเข้ามาใช้งานร่วมกับอาวุธในปัจจุบัน โดยทั้งหมดเป็นเทคโนโลยีในเมียนม่าร์ และผลิตในเมียนมาร์ทั้งสิ้น และรัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่” พันเอก เน โม โคกล่าว


ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของกองทัพเมียนมาร์ในมุมมองอื่นนอกจากบทบาทด้านการเมืองหรืออาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งถือว่าน่าสนใจและเป็นข้อมูลที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจไม่มากก็น้อยครับ

One thought on “รู้จัก กองทัพและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของ เมียนมาร์ หนึ่งในชาติชั้นนำของอาเซียน นำหน้าไทย 10 ปี

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.