ในปีงบประมาณ 2564 นี้ กองทัพไทยทุกกองทัพยังต้องปรับลดงบประมาณในการจัดหายุทโธปกรณ์ลงจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของ #โควิด19 ที่ทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินหลายแสนล้านบาทมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ การจัดหายุทโธปกรณ์จึงเป็นโครงการแรก ๆ ของรัฐที่ถูกตัดออกไป
ทั้งนี้ หนึ่งในนั้นมีงบประมาณของกองทัพอากาศเกี่ยวกับเครื่องบินขับไล่ Gripen จำนวน 11 ลำ (จากเดิม 12 ลำ เพราะประสบอุบัติเหตุตก 1 ลำ) นั้นเป็นการพัฒนารับปรุงขีดความสามารถในการส่งกำลังบำรุง และปรับสมรรถนะในเรื่องเทคโนโลยีและอุปกรณ์การฝึกของตัวอากาศยาน โดยใช้งบประมาณราว 631 ล้านบาท
ซึ่งคงจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากการอัพเกรดตัวอากาศยานให้เป็นมาตรฐาน MS20 โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับปรุง Software มากกว่า Hardware โดยเพิ่มขีดความสามารถของระบบ Datalink แบบ CDL-39 ให้รองรับภารกิจการสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิด เพิ่มการรองรับ Link-16 ซึ่งเป็นระบบ Datalink มาตรฐานของ NATO เพิ่มระบบป้องกันการชนพื้นดินแบบอัตโนมัติ (Automatic Ground Collision Avoidance System: Auto GCAS) และการป้องกันตนเองจากสงครามนิวเคลียร์ เคมี ชีวะ การพัฒนาความสามารถของระบบเรดาร์และเซนเซอร์ต่าง ๆ การเพิ่มการรองรับจรวดอากาศสู่อากาศพิสัยกลางแบบ Meteor และระเบิดนำวิถีขนาดเล็ก GBU-39 Small Diameter Bomb เป็นต้น

อย่างที่เราทราบกันดีคือ เมื่อปี 2561 กองทัพอากาศได้เปิดเผยผลการสอบสวนการตกของ Gripen C 1 ลำ ซึ่งส่งผลให้นักบินเสียชีวิต และเป็นการเสียชีวิตกรณีแรกตั้งแต่มีการใช้ Gripen มาในทุกประเทศว่า เป็นผลมาจากการหลงสภาพการบินชั่วคราว ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถรับรู้ทิศทางหรือความสูงปัจจุบันของตัวเครื่อง ดังนั้น การติดตั้งระบบ Auto GCAS น่าจะช่วยลดโอกาสในการเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ได้ เพราะเมื่อเครื่องกำลังเข้าสู่สถานะที่นอกเหนือการควบคุมจนอาจทำให้ตกกระทบพื้น คอมพิวเตอร์ของเครื่องจะเข้าควบคุมเครื่องและแก้ไขอาการของเครื่องให้กลับมาเป็นปกติโดยอัตโนมัติ นอกจากนั้นยังทำให้นักบินสามารถทำท่าทางการบินในการหลบหลีกคู่ต่อสู้ได้ดีขึ้นเพราะไม่ต้องกังวลมากจนเกินไปนักว่าเครื่องจะเข้าสู่ภาวะที่แก้ไขไม่ได้
การทำงานของระบบ Auto GCAS นั้นจะเตือนนักบินถ้าบังคับเครื่องไปในทิศทางจะชนพื้น (Controlled Flight Into Terrain: CFIT) หรือนักบินหมดสติ แล้วเครื่องเสียการควบคุม ถ้านักบินยังไม่ตอบสนอง ระบบจะบังคับเครื่องเองเพื่อหลบให้พ้น แล้วพอนักบินตอบสนองจึงจะคืนการบังคับกลับไปให้นักบิน

ซึ่งเครื่องบินขับไล่ฝูงใหม่ที่จะทดแทน F-16 ฝูง 102 และ 103 นั้นจะมีระบบนี้ ไม่ว่าเราจะเลือก Gripen หรือ F-16 ก็ตาม โดย F-16 มีระบบนี้มาระยะหนึ่งแล้ว และได้ช่วยชีวิตนักบินมาหลายกรณีแล้ว รวมถึง Gripen ก็มีการใช้งานระบบนี้อยู่แล้ว โดยสวีเดนและอเมริกาวิจัยและพัฒนาระบบ Auto GCAS ร่วมกันมาก่อนหน้านี้หลายปี
เนื่องกองทัพสหรัฐ ศึกษามาแล้วว่าการลงทุนระบบ Auto GCAS มีความคุ้มค่า เทียบกับการต้องสูญเสียเครื่องบินรบราคาแพง และอาจต้องสูญเสียนักบินไปด้วย ส่วนสวีเดนนั้นมียุทธวิธีในการบินต่ำเพื่อทำการรบทางอากาศ ระบบ Auto GCAS จึงมีความสำคัญและสามารถช่วยชีวิตนักบินและรักษาเครื่องบินไว้ได้
ทั้งนี้สิ่งสำคัญอันหนึ่งของ Auto GCAS คือ ฐานข้อมูลภูมิประเทศ (Terrain Database) เพื่อให้ระบบรู้ว่าตอนนี้ เครื่องบินมีความเสี่ยงจะชนพื้นหรือไม่ และควรจะหลบไปทางไหนดี โดยอเมริกาใช้การถ่ายภาพเรดาร์จากอวกาศเพื่อทำฐานข้อมูลนี้ ส่วนของกองทัพอากาศไทยนั้นไม่แน่ใจว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะใช้ DA-42 M-NG ที่มีเซ็นเซอร์ LiDAR ซึ่งเพิ่งมีการสั่งซื้อเข้าประจำการจำนวน 3 ลำ
นอกจากนั้น การปรับปรุง MS20 ของ Gripen นั้นจะทำให้ Gripen มีขีดความสามารถในการใช้งานจรวดอากาศสู่อากาศพิสัยกลางแบบ Meteor ซึ่งมีข่าวว่ากองทัพอากาศให้ความสนใจ โดยการปรับปรุงนั้นจะเป็นการปรับปรุงเรดาร์ PS-05/A ให้เป็นรุ่น Mk.4 ที่จะมีขีดความสามารถในการตรวจจับเพิ่มขึ้น 100% ซึ่งจะมีความเหมาะสมในการใช้งานกับ Meteor ที่มีระยะยิงไกล โดยทำการเปลี่ยนเพียง Processing Unit เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนจานเรดาร์หรืออุปกรณ์อื่นแต่อย่างใด”
จรวดอากาศสู่อากาศพิสัยกลางแบบ Meteor นั้นเป็นจรวดที่มีประสิทธิภาพสูงมากที่สุดแบบหนึ่งของโลก มีค่าความเป็นไปได้ในการยิงถูกข้าศึกสูงที่สุดแบบหนึ่ง เนื่องจากจรวดใช้เครื่องยนต์ Ramjet ที่ช่วยเพิ่มพิสัยในการบินและความคล่องตัวของตัวจรวด แทนการใช้เชื้อเพลิงแข็งแบบจรวดทั่วไปที่มักจะเผาไหม้หมดภายในเวลาอันรวดเร็วและจรวดต้องพึ่งพลังงานจลน์ในการเคลื่อนที่เข้าหาเป้าหมาย พร้อมกับระบบ Datalink ระหว่างตัวจรวดและตัวอากาศยานที่ยิงเพื่อทำให้อากาศยานที่ยิงสามารถปรับปรุงเป้าหมายให้เป็นปัจจุบันที่สุด ระยะยิงที่ไกลทำให้อากาศยานที่ยิงปลอดภัยจากการโจมตีตอบโต้ของอากาศยานข้าศึก
แต่ปัญหาสำคัญของ Meteor คือราคา ซึ่งสูงถึงเกือบ 70 ล้านบาทต่อนัด แพงกว่า AIM-120C-5 AMRAAM ราว 2 – 3 เท่า ทำให้การจัดหาอาจเป็นไปได้ยาก หรือถ้าจัดหาจริงอาจจะเป็นการจัดหาเพียงไม่กี่นัดเท่านั้น ทั้งนี้ ถ้ามีการจัดหาจริง กองทัพอากาศอาจเลือกติดตั้ง Meteor ควบคู่กับ AMRAAM ที่มีราคาถูกกว่าแต่มีพิสัยใกล้กว่า เพื่อใช้งานตามความจำเป็นโดยไม่ต้องจัดหา Meteor ใหม่จำนวนมาก
แต่ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีโครงการจัดหา Meteor แต่อย่างใด ซึ่งต้องรอกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้ว กองทัพอากาศจะตัดสินใจจัดหาและสามารถหางบประมาณมาจัดหา Meteor มาเข้าประจำการจริง ๆ หรือไม่ครับ
อ่านเพิ่มเติม
SingaporeAirshow2020: การปรับปรุง MS20 และโอกาสในการจัดหา Gripen เพิ่มเติมของกองทัพอากาศไทย
DefenseThailand2019: #MBDA เผย ทอ.ไทย ยังพิจารณาจรวด Meteor สำหรับ Gripen อยู่ และพร้อมนำเสนอจรวด Brimstone ให้เช่นกัน
TAF Editorial: วิเคราะห์งบประมาณซื้ออาวุธกองทัพ (1) โครงการพัฒนาปรับปรุงขีดความสามารถในการส่งกำลังบำรุง และปรับสมรรถนะในเรื่องเทคโนโลยีและอุปกรณ์การฝึกของ Gripen
สรุปภาพรวมการ #ซื้ออาวุธ ขนาดใหญ่ของกองทัพปี 2564 มีอะไรบ้าง
โพสในกลุ่มของเราที่
https://www.facebook.com/groups/thaiarmedforce/permalink/2877298259181512/
โพสนี้ใน Facebook