ครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์กราดยิงโคราช เราเรียนรู้อะไร แก้ไขอะไร และป้องกันอะไรไปบ้าง?

1 ปีก่อนหน้านี้ ประเทศไทยได้เผชิญหน้ากับ Active Shooter เป็นครั้งแรกจากเหตุการณ์กราดยิงโคราช ในห้าง Terminal 21 จังหวัดนครราชสีมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

เราขอไม่ท้าวความอีกแล้วว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อเชื่อว่าทุกท่านน่าจะทราบกันแล้ว และเราคงไม่ลำดับเหตุการณ์ให้ฟัง เพราะนอกจากทุกท่านจะทราบกันแล้วอีกเหมือนเดิม เราก้ไม่อยากจะขุดขึ้นมาเป็นความทรงจำที่ทำร้ายจิดใจหลาย ๆ คนอีก

แต่ประเด็นที่ไม่ขุดก็ไม่ได้ก็คือ เราจะทำอย่างไรที่จะแก้ไขและสำคัญที่สุดคือป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น


กองทัพบก โดยผู้บัญชาการทหารบกท่านที่แล้วคือพลเอกอภิรักษ์ คงสมพงษ์ก็ยอมรับว่า สาเหตุเกิดจากการทุจริตที่มีบุคคลในกองทัพเข้ามาเกี่ยวข้อง และในวันที่ 11 ก.พ. หรือ 3 วันหลังจากเหตุการณ์ ผู้บัญชาการทหารบกท่านที่แล้วได้ประกาศมาตรการมากมาย

แต่คำถามก็คือ ได้มีการดำเนินการเหล่านั้นหรือยัง เช่นประเด็นที่ประกาศว่าผู้ที่เกษียณอายุราชการหรือออกจากกองทัพบกแล้วจะต้องออกจากบ้านของกองทัพบกภายในกุมภาพันธ์ ซึ่งที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่าทำไม่ได้จริง และแทบไม่ได้ดำเนินการด้วยซ้ำ หลักฐานก็คือคดีที่ปรากฎตามหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ส่วนมาตรการที่มีการดำเนินการ แต่ดูแล้วไม่เข้าท่าแน่ ๆ เช่น การไม่ให้ยามรักษาการพกอาวุธหรือพกกระสุน ที่ดูยังไงมันก็ไม่ใช่ทางแก้ และเป็นทางก่อปัญหาด้วยซ้ำ อยากทราบว่าตรงนี้มีการดำเนินการไปแล้วหรือไม่ ถ้าไม่ดำเนินการก็อย่าดำเนินการเลย หรือถ้าดำเนินการแล้วก็เลิกดำเนินการเถิด

นอกจากนั้นบางประเด็นที่มีการดำเนินการให้เห็นบ้าง เช่น การลงนามกับกรมธนารักษ์ในการจัดการทรัพย์สินบางส่วนของกองทัพบกนั้น ตรงนี้มีความคืบหน้าใด ๆ หรือไม่ หรือจริง ๆ แล้วมันเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นหรือไม่ หรือแค่บังเอิญเท่านั้น

ทั้งหมดนี้เราเข้าใจดีกว่าการดำเนินการต้องใช้เวลา แต่เวลาก็ผ่านมา 1 ปีแล้ว ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษี ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ และที่สำคัญคือประชาชนที่กองทัพบอกว่าจะปกป้อง เราคิดว่าเราควรมีสิทธิ์ที่จะได้รับทราบว่า กองทัพดำเนินการอย่างไรไปบ้าง กำลังดำเนินการอะไรอยู่ และจะดำเนินการอะไรต่อไป ซึ่งในวาระครบรอบ 1 ปีเหตุโศกนาฎกรรมนี้ น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่กองทัพควรจะแถลงควาบคืบหน้าให้ได้ทราบกัน อย่าปล่อยให้เป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วผ่านไป หรือเป็นเรื่องที่พยายามจะลืม ทั้ง ๆ ที่มันควรจะเป็นเหตุการณ์ที่ควรจดจำและเรียนรู้มากที่สุด


นอกจากนั้น ถ้าปัญหาการ #ทุจริตในกองทัพ คือสาเหตุหนึ่ง เราคิดว่าปฏิเสธไม่ได้ที่ปัญหาด้าน #สุขภาพจิต ของกำลังพลคืออีกสาเหตุสำคัญ

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การโพส Facebook ของคนร้าย มีเค้าลางอย่างชัดเจนที่จะก่อเหตุร้าย ถ้าแม้มีใครสักคนนำไปแจ้งเจ้าหน้าที่ และให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดูแล ก็จะสามารถป้องกันเหตุการณ์แบบนี้ได้

เรื่องนี้จะแบ่งเป็นสองส่วนนะครับ

การมีปํญหาสุขภาพจิต #ความเครียด #โรคซึมเศร้า #โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง หรือ #PTSD หรือปัญหา #สุขภาพจิต อื่น ๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญ และสังคมไทยตื่นตัวมากขึ้นมากในปัจจุบัน แต่สำหรับหลายคน ยังมองว่านี่ไม่ใช่ปัญหา เครียดก็ไปไหว้พระ โรคเครียดนั้นไม่มีจริง และความเข้าใจผิดอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งล้วนแต่ซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่ให้หนักหนาขึ้น

เพื่อนสมาชิก TAF ให้ข้อมูลว่า ที่จริงแล้วกองทัพมีการตรวจสุขภาพจิตทุก 6 เดือน แต่กลับกลายเป็นว่าการตรวจนั้นดำเนินการเหมือนพอเป็นพิธี กำลังพลพยายามตอบคำถามตามที่กองทัพอยากได้ยิน เพราะกังวลว่าถ้าตอบตามความจริงจะมีความผิด ถูกลงโทษทางวินัย หรือถูกปลดออกจากราชการ ทั้ง ๆ ที่การเป็นโรคทางจิตเวชนั้นไม่ใช่ความผิดแต่อย่างใด กลับกัน #โรคทางจิตเวช ถือเป็น “โรค” ที่ต้องได้รับการรักษา และสามารถหายได้เหมือนหายหวัด ดั้งนั้น กระบวนการที่มีอยู่จึงค่อยข้างเห็นได้ชัดว่าไม่ได้ผล

ปัจจุบันดูเหมือนกองทัพจะยังไม่ค่อยตื่นตัวเรื่องนี้ การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคจิตเวช หรือการปฏิบัติตัวต่อผู้ป่วยนั้นยังน้อยอยู่มาก ประกอบกับการกดดันทางสังคมว่า การเป็นโรคทางจิตเวชแสดงให้เห็นว่าคน ๆ นั้นอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง ไม่สมกับเป็นทหาร ซึ่งก็ทำให้กำลังพลที่มีปัญหาสุขภาพจิตยิ่งต้องปิดบัง และปัญหาที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคเหล่านั้นจะไม่ได้รับการแก้ไขเข้าไปใหญ่

เมื่อสิบกว่าปีก่อน กองทัพเคยตื่นตัวเรื่อง #โรคลมแดด หรือ Heat Stroke เป็นอย่างมาก หลังจากพบว่ามีทหารเสียชีวิตจากการฝึกแทบทุกปี กองทัพมีการให้ความรู้กับกำลังพลอย่างต่อเนื่อง ผู้บังคับบัญชาตื่นตัวกวดขันการฝึก ปรับแบบของการฝึกให้เหมาะสม ครูฝึกและเพื่อนกำลังพลต้องมีหน้าที่สังเกตุว่าใครจะมีอาการของโรคลมแดด ถ้าพบก็จะมีการเร่งนำไปปฐมพยาบาลตามที่ได้รับการฝึกมา

ผลปรากฎว่าหลังจากนั้น แทบไม่มีกำลังพลเสียชีวิตจากโรคลมแดดอีกเลย นี่คือความสำเร็จที่น่าชื่นชมของกองทัพ และเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่า ถ้าทุกคน “ตระหนัก” ถึงปัญหาและดำเนินการแก้ไขและป้องกันอย่างจริงจัง เราก็สามารถควบคุมและลดการสูญเสียได้แทบทั้งหมด

โรคทางจิตเวชก็ถือเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษา แอดมินเองก็เป็นหนึ่งในผู้ป่วยโรคนี้ที่พบกับความเครียด โรคซึมเศร้า มีความพยายามในการฆ่าตัวตาย แต่แอดมินก็เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาหลายปี จนสามารถดำรงชีวิตได้เป็นปกติ เพราะโรคทางจิตเวชคือโรคที่ต้องได้รับการรักษา ไม่สามารถปล่อยให้หายเองหรือไปไหว้พระสวดมนต์ก็หาย (เพราะพระก็มารักษาและพบจิตแพทย์เหมือนกับแอดมินเช่นกัน)

ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่กองทัพจะต้องตื่นตัวกับโรคทางจิตเวชให้เหมือนกับตื่นตัวกับโรคลมแดด กองทัพต้องปรับทัศนคติต่อโรคทางจิตเวชว่าเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษา ไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ ไม่ใช่คนบ้า ไม่ใช่ความอ่อนแอ แต่เป็นผู้ที่กองทัพต้องให้ความช่วยเหลือ ต้องพยายามสร้างบรรยากาศให้กำลังพลกล้าที่จะเปิดเผยว่าตนเองกำลังรู้สึกเครียดหรืออาจมีปัญหาทางจิตเวช ผู้บังคับบัญชาต้องถือว่ากำลังพลเหล่านี้คือผู้ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือดูแล ไม่ใช่ผู้กระทำความผิดและต้องถูกลงโทษ กองทัพต้องพยายามจัดการความเสี่ยงและต้นเหตุที่ทำให้กำลังพลเกิดความเครียดให้ได้มากที่สุด พยายามสร้างเครื่องมือและช่องทางที่จะให้ความช่วยเหลือกำลังพลในทุกระดับให้ได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุด กองทัพต้องตระหนักว่านี่คือปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อกำลังพลซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าเป็นอย่างยิ่งของกองทัพ และยิ่งไปกว่านั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นและสังคม ดังเช่นที่มีตัวอย่างมาแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

อีกส่วนหนึ่งคือประชาชนทั่วไป ถ้าพวกเราพบเห็นบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน ญาติมิตร หรือใครก็ตาม มีลักษณะที่อาจจะมีความเสี่ยง การแจ้งให้ญาติหรือแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องถือเป็นทางเลือกที่ดีและควรทำ ถ้าเป็นคนรู้จัก การเลือกเข้าไปรับฟัง ให้กำลังใจ และส่งต่อเพื่อการดูแลจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด นี่ไม่ใช่การยุ่งเรื่องชาวบ้าน แต่เป็นการปกป้องดูแลเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองครับ


นอกจากนั้น เรายังมีมาตรการที่อยากให้กองทัพพิจารณา โดยด้านล่างนี้คือสิ่งที่ TAF เสนอว่าควรจะมีการปรับปรุงหรือพัฒนาเมื่อหนึ่งปีที่แล้ว เราขอย้ำข้อเสนอนี้อีกครั้ง เพราะเราไม่สามารถถามได้แล้วว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่เป็นเหตุการณ์จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ครับ

  • มาตรการป้องกัน #คลังอาวุธ

แม้กรณีนี้จะเป็นกรณีที่ค่อนข้างร้ายแรงและค่อนข้างเฉพาะ ทั้งการที่ผู้ก่อเหตุคือกำลังพลของหน่วย ความคุ้นเคยกันอาจทำให้ทหารเวรนึกไม่ถึง การจู่โจมของคนร้ายที่เราก็ยังไม่เห็นภาพที่เกิดขึ้นจริงว่าคืออะไร แต่การที่ทหารเวรที่เฝ้าคลังอาวุธถูกสังหารทั้งหมดก็น่าจะร้ายแรงมากทีเดียว

กรณีนี้ควรมีการทบทวนถึงมาตรการการรักษาความปลอดภัยคลังอาวุธ โดยเฉพาะทหารเวรที่รับหน้าที่เฝ้าคลังอาวุธ จากเดิมที่ให้พกอาวุธและกระสุนบ้างไม่พกบ้าง ต้องเปลี่ยนเป็นการให้พกอาวุธพร้อมกระสุนในทุกกรณี ทั้งนี้อย่างแรกสุดก็คือเพื่อสวัสดิภาพของทหารเวรเอง ซึ่งมันควรจะเป็นหน้าที่ของทหารเวรในการใช้อาวุธเพื่อปกป้องคลังอาวุธ ไม่ใช่เอาอาวุธออกจากมือทหารเวร เพราะไม่อย่างงั้นทหารเวรจะปกป้องคลังอาวุธได้อย่างไร

รวมถึงมาตรการและขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งเราไม่เห็นหน้างานจริง คงพูดอยากว่าจะต้องปรับปรุงอะไร แต่ที่พูดได้ก็คือ หลังจากนี้ทุกคนจะต้องตระหนักแล้วว่า เรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ มันสามารถเกิดขึ้นได้แล้ว และเกิดขึ้นจริง ไม่สามารถปล่อยปะละเลย หรือคิดว่า มันไม่น่าจะมีอะไร ได้อีกต่อไป


  • การตอบโต้สถานการณ์

เราเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำได้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว ในภาวะที่ไม่มีใครจะคิดว่าบ้านเราจะเกิดกรณีกราดยิงจาก Active Shooter แบบนี้ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบางท่านได้รับการส่งไปฝึกอบรมการรับมือ Active Shooter ในต่างประเทศ แต่หลังจากนี้ อาจจะต้องกลายเป็นว่า เราต้องมีแผนในการรับมือ Active Shooter ในประเทศไทยแบบจริงจังแล้ว

เข้าใจว่าบุคลากรที่มีความรู้ในการรับมือ Active Shooter ในประเทศไทยน่าจะมีอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เดียว จึงอยากให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นแกนนำในการจัดการฝึกให้กับตำรวจหน่วยต่าง ๆ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเห็นว่าเหมาะสม

ที่สำคัญที่สุด อยากให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเริ่มการฝึกและให้ความรู้กับประชาชน โดยในเบื้องต้นอาจจะไปทำการฝึกตามโรงเรียนต่าง ๆ โดยฝึกอบรมตำรวจชุมชนสัมพันธ์ให้มีความรู้เพื่อที่จะได้ถ่ายทอดได้ครับ โรงเรียนคือจุดที่อ่อนไหวที่สุด แต่ก็เป็นจุดที่สามารถขยายผลการให้ความรู้ได้ดีที่สุด เพื่อที่เด็กถ้ามีความรู้แล้วจะได้กลับไปบอกครอบครัวว่า คุณตำรวจบอกว่าให้ทำตัวอย่างไรถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ที่ผ่านมาได้เห็นสถานีตำรวจและบางหน่วยงานเริ่มทำแล้ว เราอยากให้ทำกันให้มากขึ้น และทำการอย่างแพร่หลายมากกว่านี้ครับ

มันคงต้องใช้เวลา ไม่ใช่สำเร็จเลยใน 3 วัน 7 วัน แต่มันไม่ใช่สิ่งไกลตัวอีกต่อไปแล้วครับ คงต้องให้เวลาสำนักงานตำรวจแห่งชาติสักพักครับ


  • เทคนิคและ #ยุทธวิธี

ณ ตอนนี้ที่รับมือกับเหตุการณ์ เราไม่คิดว่าจะมีอะไรให้ตำหนิได้มากนัก เมื่อพิจารณาว่านี่คือครั้งแรกที่เราต้องรับมือกับสถานการณ์แบบนี้ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทำได้ดีที่สุดเท่าที่มันจะเป็นไปได้แล้วครับ ซึ่งในอีกแง่ เราก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า มันมีช่องว่างที่จะพัฒนาและปรับปรุงได้ในหลายจุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสับสนบางอย่าง การปิดกั้นพื้นที่ หรือการที่ต้องใช้เวลากว่า 17 ชั่วโมงกว่าที่เหตุการณ์จะยุติลงได้

หลังจากนั้น ประเทศไทยควรจะมีการทบทวนและออกแบบยุทธวิธี รวมถึงเรียนรู้ยุทธวิธีจากประเทศที่ประสบปัญหาเรื่องนี้มาบ่อย ๆ และนำมาประยุกต์ใช้ให้กับำลังพลในประเทศไทย ซึ่งสังเกตุได้ว่าหลายหน่วยงานมีการดำเนินการไปแล้ว เราก็อยากจะให้ดำเนินการให้ต่อเนื่อง เพราะเหตุการณ์นี้มันพร้อมจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ


  • การปิดกั้นพื้นที่

นี่อาจเป็นสิ่งที่ค่อนข้างเห็นได้ชัดว่าเรายังทำได้ไม่ดี การที่มีสื่อมวลชนที่สามารถก่อกวนและสร้างความเสียหายใหักับปฏิบัติการได้แบบนี้ ส่วนหนึ่งก็คือการที่เรายังไม่สามารถปิดกั้นพื้นที่ได้ดีพอ ไม่ว่าจะด้วยกำลังพล ด้วยแผนเผชิญเหตุ หรือด้วยความเกรงใจ และความอะลุ่มอะล่วยก็ตาม แต่ชัดเจนว่า นอกจากเจ้าหน้าที่จะต้องรับมือกับคนร้ายแล้ว ยังต้องมารับมือกับสื่อ ที่ไป ๆ มา ๆ ก็สร้างความเสียหายให้กับสถานการณ์ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

เราเข้าใจดีว่า นี่คือครั้งแรกที่เราต้องรับมือกับเหตุ Active Shooter มันคงไม่มีอะไรสมบูรณ์ แต่เรื่องนี้น่าจะเห็นไฮไลท์สำคัญที่เราสามารถนำไปพัฒนาได้ในอนาคต ทั้งอำนาจหน้าที่เจ้าหน้าที่ควรจะมีในการกั้นสื่ออกจากพื้นที่ กำลังพลและแผนเผชิญเหตุที่ต้องขยายมาทำแผนการรับมือกับสื่อมวลชน ซึ่งเราเชื่อว่าในกรณีแบบนี้ ถ้าปิดกั้นไม่ให้สื่อเข้าไปใกล้เกินไป ประชาชนคงเข้าใจเจ้าหน้าที่ดีแน่นอนครับ

เรื่องนี้อาจจะต้องฝากเจ้าหน้าที่ครับ เพราะเราคงหวังอะไรกับ #สื่อมวลชน ไทยไม่ได้เท่าไหร่ครับ


  • การตื่นตัวของประชาชน

หมายถึงพวกเราทุกคนครับ พวกเราต้องตระหนักแล้วว่า การ #กราดยิง ของ #ActiveShooter ไม่ใช่เรื่องไกลตัวของพวกเราอีกต่อไป มันเกิดขึ้นจริง และเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทยครับ

ภาครัฐอาจจะต้องทำงานเชิงรุกมากกว่านี้ ด้วยการจัดการระบบแจ้งเตือนให้ดีกว่านี้ อาจจะขยายภารกิจให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเข้ามามีบทบาทในการเตือนภัยที่มาจากฝีมือมนุษย์แบบนี้ และการเตือนภัยต้องดีกว่านี้มาก ๆ ๆ ๆ ไม่ใช่แบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ หรืออาจจะต้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดตั้งมาตรการและช่องทางในการแจ้งเตือนและเตือนภัยในลักษณะนี้ขึ้นมา ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่หวังว่าคงมีการดำเนินการอะไรสักอย่างครับ ถ้าดำเนินการน้อยไป เดี๋ยวเราค่อยมาวิจารณ์กันครับ

สำหรับประชาชนทั่วไป เรายังแนะนำให้อ่านคู่มือการรับมือเหตุกราดยิงจาก Active Shooter ของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐครับ ซึ่ง TAF แปลมาให้ได้อ่านกันตั้งแต่วันที่เกิดเหตุการณ์แล้วที่นี่

หรือเข้าไปอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่นี่

https://www.ready.gov/active-shooter?fbclid=IwAR2CJ1sEx0_mrLvU3brKaaBlgXZ8f4ieqUd275wT_9Jmzj0qXz7mlX0-7W4

และจำมันให้ขึ้นใจนะครับ หลักการ Run>Hide>Fight ว่าต้องทำอะไรบ้าง ในคู่มือข้างต้นมีหมดแล้วครับ อ่าน ศึกษา และปฏิบัติตาม อย่างน้อยน่าจะช่วยลดเหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้ครับ


หวังว่าเหตุการณ์นี้จะไม่ผ่านมาและผ่านไป และเราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะนี้ได้ หรือช่วยลดความเสียหายถ้ามันเกิดขึ้นได้ครับ

พวกเราต้องช่วยกันครับกราดยิงโคราช จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก

อ่านเพิ่มเติม

TAF ขอสรุปสั้น ๆ จากการแถลงข่าวของผู้บัญชาการทหารบกต่อกรณีกราดยิงโคราช ครับ

ความเครียดของกำลังพล ปัญหาที่รอวันปะทุอีกครั้ง

https://thaiarmedforce.com/2020/09/13/service-member-mental-health/

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.