อินโดนีเซียอาจซือ U209 จากบราซิล/รีวิวเรือดำน้ำอินโดนีเซีย

กองทัพเรืออินโดนีเซียกำลังมีความเคลื่อนไหวเดินหน้าเจรจากับกองทัพเรือบราซิล เพื่อขอจัดซื้อเรือดำน้ำชั้น U-209 จำนวน 2 ลำจากทั้งหมด 4 ลำของกองเรือดำน้ำบราซิล ที่บราซิลกำลังเสนอขายต่อประเทศต่าง ๆ โดยเป็นเรือดำน้ำเยอรมันที่ได้รับการปรับแต่งตามความต้องการใช้งานของบราซิล

อินโดนีเซียปฏิบัติงานด้วยเรือดำน้ำรุ่น U-209/1300 ในชั้น Cakra จำนวน 2 ลำ โดยเข้าประจำการในช่วงต้นของปี พ.ศ. 2543 และ ต่อมาอินโดนีเซียได้ทำสัญญาจัดหาเรือดำน้ำ U-209/1400 ชั้น Nagapasa จำนวน 6 ลำ ที่จัดหาจาก DSME ของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งผลิตภายใต้สิทธิบัตรจากผู้ผลิตในเยอรมัน โดยอินโดนีเซียได้รับมอบแล้วจำนวน 3 ลำในปี 2017-2019 และกำลังรอรับมอบอีก 3 ลำซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2026

โครงการจัดหาเรือดำน้ำจากเกาหลีใต้ครั้งนี้เป็นสัญญาในการซื้อเรือดำน้ำและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างและต่อเรือดำน้ำในประเทศอินโดนีเซีย โดยในสัญญามูลค่า 1.07 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 3.3 หมื่นล้านบาทระหว่างทั้งสองประเทศนั้นจะเป็นการจัดหารเรือดำน้ำ U-209/1400 จำนวน 3 ลำ ซึ่งกำหนดให้ต่อเรือสองลำแรกในเกาหลีใต้ โดยมีวิศวกรของบริษัท PT PAL ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจต่อเรือของรัฐบาลอินโดนีเซียเข้าร่วมทำงาน รับเทคโนโลยี และฝึกงานการต่อเรือ โดยเรือลำที่สามนั้นดำเนินการต่อในอินโดนีเซียซึ่งเป็นการใช้บล็อคชิ้นส่วนที่ผลิตในเกาหลีใต้ และส่งมาประกอบเข้าด้วยกันที่อู่ต่อเรือของบริษัท PT PAL ในอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการต่อเรือดำน้ำในอาเซียน

ซึ่งจะสังเกตุได้ว่า แม้ว่า U-209/1400 ของอินโดนีเซียจำนวน 3 ลำมูลค่า 3.3 หมื่นล้านบาทนั้นมีราคาถูกกว่า S26T ที่กองทัพเรือไทยจัดหาจำนวน 3 ลำมูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาทเสียเอก แน่นอนว่าส่วนต่างคือระบบ AIP ที่มีใช้ใน S26T แต่ไม่มีใช้ใน U-209/1400 แต่อินโดนีเซียได้รับเทคโนโลยีในการต่อเรือดำน้ำเองในประเทศ รวมถึงยังมีส่วนที่บริษัทของอินโดนีเซียรับงานเอง โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ PT PAL ของรัฐบาลซึ่งสุดท้ายเงินบาทส่วนก็จะกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและกลับไปยังรัฐบาล ซึ่งทำให้เมื่อคิดแล้วมูลค่าเรือดำน้ำ 3 ลำนั้นน่าจะถูกลงกว่า 3.3 หมื่นล้านด้วยซ้ำ ในขณะที่ประเทศไทยไม่มีบริษัทหรือรัฐวิสาหกิจของคนไทยเข้าร่วมรับงานหรือเทคโนโลยีในกาต่อจากจีน และเป็นการดำเนินงานโดยจีนในประเทศจีนทั้งหมด


สำหรับเรือดำน้ำอีก 3 ลำนั้นมีการลงนามในสัญญาในปี 2019 ซึ่งมูลค่า 1.02 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 3.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งลำที่สี่นั้นกำหนดให้บริษัท PT PAL ดำเนินการผลิตบล็อคชิ้นส่วนอย่างน้อยสองบล็อคด้วยตัวเอง แต่ดำเนินการประกอบในเกาหลีใต้ ส่วนลำที่ห้านั้นกำหนดให้อินโดนีเซียผลิตบล็อคชิ้นส่วนสี่ชิ้น แต่คาดว่าจะประกอบในเกาหลีใต้เช่นกัน ส่วนลำที่หกซึ่งเป็นลำสุดท้ายนั้น อินโดนีเซียจะผลิตบล็อคชิ้นส่วนจำนวนหกบล็อค และคาดว่าจะเป็นการต่อและประกอบในอินโดนีเซียอีกครั้ง

ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้อินโดนีเซียมีเรือดำน้ำประจำการจำนวนแปดลำ ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของอินโดนีเซียนั้นกำหนดให้กองทัพเรืออินโดนีเซียมีเรือดำน้ำอย่างน้อย 10 ลำภายในปี 2024 ทำให้อินโดนีเซียอาจมีความต้องการเรือดำน้ำเพิ่มเติมอีกสองลำ และเมื่อพิจารณาจากปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ที่ทำให้งบประมาณกลาโหมของอินโดนีเซียลดลงค่อนข้างมาก จึงมีความเป็นไปได้ที่อินโดนีเซียจะเลือกจัดหาเรือดำน้ำมือสองจากต่างประเทศแทน


ทั้งนี้ อ้างอิงรายงานจากสื่อบราซิลที่ได้รับการยืนยันจากกองบัญชาการกองทัพเรือในกรุงบราซิเลียถึงความสนใจในเรือดำน้ำบราซิลของรัฐบาลจาการ์ต้าที่มีการระบุถึงคณะนายทหารระดับสูงของชาติในอาเซียนทีได้เดินมาเยี่ยมชมศักยภาพในการปฏิบัติงานและซ่อมบำรุงเรือดำน้ำที่ใช้เทคโนโลยีของเยอรมัน ในที่ตั้งของกองเรือดำน้ำบราซิล

สำหรับกองทัพเรือบราซิลนั้นมีเรือดำน้ำ U-209 ประจำการจำนวน 5 ลำในชั้น Tupi โดยหนึ่งลำนั้นมีคุณลักษณะแตกต่างจากลำอื่น ซึ่งปัจจุบันบราซิลกำลังจัดหาเรือดำน้ำชั้น Scorpene จากฝรั่งเศสที่ดำเนินการต่อในบราซิลจำนวน 4 ลำเข้าประจำการ และกำลังอยู่ในระหว่างการออกแบบและต่อเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำแรกของบราซิลและอเมริกาใต้ซึ่งเป็นการซื้อเทคโนโลยีจาก Naval Group ของฝรั่งเศสและใช้แบบเรือดำน้ำ Scorpene นำมาพัฒนาเพื่อติดตั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ซึ่งจะส่งผลให้บราซิลเป็นประเทศที่ 7 ของโลกที่มีเรือดำน้ำนิวเคลียร์เข้าประจำการ ทำให้เมื่อรวมทั้งหมดแล้ว บราซิลจะมีเรือดำน้ำจำนวน 10 ลำ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่บราซิลอาจจะขายเรือดำน้ำสองลำออกไปเพื่อลดจำนวนลงมา

เรือดำน้ำ U-209 ของบราซิลนั้นเข้าประจำการในช่วงต้นของทศวรรตที่ 1990 โดยลำที่เก่าที่สุดมีอายุการใช้งานราว 30 ปี แต่ได้รับการปรับปรุงระบบอำนวยการรบของ Lockheed Martin และติดตั้งตอปิโดว์แบบ Mk.48 ที่ผลิตโดย Lockheed Martin เช่นกัน ซึ่งน่าจะทำให้เรือยังใช้งานต่อไปได้อีกราว 10-15 ปี และ U-209 ในชั้น Tupi นี้ยังมีพื้นฐานอยู่บนเรือ U-209/1400 ที่อินโดนีเซียมีประจำการอยู่ น่าจะทำให้สามารถลดปัญหาในการซ่อมบำรุงลงไปได้

ก็ต้องตามดูกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้วอินโดนีเซียจะประสบความสำเร็จในการจัดหาเรือดำน้ำมือสองจากบราซิลหรือไม่ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้กองเรือดำน้ำของอิสโดนีเซียก็ถือว่าเป็นกองเรือดำน้ำอันดับหนึ่งของอาเซียนทั้งในแง่ของจำนวนและเทคโนโลยี และน่าจะเป็นแกนหลักในการดูแลน่านน้ำจำนวนมหาศาลของอินโดนีเซียได้ครับ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.