คาดการณ์การปรับปรุงเรือชุดเรือหลวงปัตตานีในปีงบประมาณ 2565 งบ 3 พันล้านบาท

ปีงบประมาณ 2565 #กองทัพเรือ มีโครงการที่เสนอของบประมาณในการปรับปรุงเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุดเรือหลวงปัตตานีจำนวน 2 ลำ มุลค่า 3 พันล้านบาท ซึ่งน่าจะเป็นการเปลี่ยนระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ และอาจรวมถึงการติดตั้งจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำด้วย

เรือชุดเรือหลวงปัตตานีเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุดแรกของกองทัพเรือไทย ขึ้นระวางประจำการในปี 2548 โดยดำเนินการต่อที่อู่ในประเทศจีน แต่เครื่องยนต์และระบบอาวุธทั้งหมดเป็นของตะวันตกทั้งสิ้น แต่ก็ถือว่าเป็นเครื่องยนต์และระบบอาวุธที่ค่อนข้างแปลกใหม่สำหรับกองทัพเรือไทยในยุคนั้นที่นิยมใช้เครื่องยนต์ของ MTU และระบบอิเล็กทรอนิกส์บนเรือของ Thales เนื่องจากตัวเรือใช้เครื่องยนต์ Ruston 16RK270 จำนวนสองเครื่อง เรดาร์ตรวจการณ์ใช้ RAN-30X/I ของ Selex หรือ Leonardo ในปัจจุบัน เรดาร์และระบบออปทรอนิกส์ควบคุมการยิงใช้ TMX/EO ของ Oerlikon ระบบอำนวยการรบใช้ COSYS ของ Atlas Elektronik ปืนเรือใช้ปืนอัตโนมัติ 20 มม. GI-2 ของ Denel Land Systems แต่ระบบอาวุธหลักยังใช้ระบบอาวุธที่คุ้นเคยอย่างปืนเรือ OTO Melara 76/62 Super Rapid นอกจากนั้นยังมีพื้นที่เผื่อเอาไว้สำหรับการติดตั้งจรวดต่อต้านเรือรบอีกด้วย แต่ยังไม่ได้มีการติดตั้งจริงมาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยอายุการใช้งานราว 20 ปี ก็สมควรแก่เวลาในการปรับปรุงและปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งก็คล้าย ๆ การทำ Mid-life Upgrade นั่นเอง โดย ณ ตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดของการปรับปรุงเปิดเผยออกมา แต่ทั้งนี้ TAF ได้เคยนำเสนอข่าวของการปรับปรุงเรือชุดนี้จากงาน Defense and Security 2019 ซึ่ง TAF เป็น Media Partner อย่างเป็นทางการของงาน และได้รับข้อมูลจากผู้ผลิตที่มีความเป็นไปได้ที่จะนำเสนอระบบเพื่อปรับปรุงเรือในรอบนี้


อนึ่ง TAF คาดการณ์ว่า การปรับปรุงในครั้งนี้น่าจะเป็นการเน้นที่การเปลี่ยนระบบเรดาร์และระบบอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ รวมถึงการติดตั้งจรวดต่อต้านเรือรบเพิ่มเติม โดยยังใช้ปืนเรือ 76/62 Super Rapid และปืนรอง GI-2 20 มม. อยู่เช่นเดิม และสำหรับท่านที่สอบถามมานั้น แน่นอนว่าน่าจะไม่มีการติดตั้งโซน่าร์หรือตอปิโดว์สำหรับค้นหาและปราบเรือดำน้ำค่อนข้างแน่ เนื่องจากเรือไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับการทำภารกิจปราบเรือดำน้ำ โดย TAF คาดการณ์ว่ากองทัพเรืออาจเปลี่ยนไปใช้ระบบที่คล้ายกับระบบที่ติดตั้งบนเรือชุดเรือหลวงกระบี่เพื่อลดแบบของอุปกรณ์ ยกเว้นเรดาร์ตรวจการณ์

ใน Defense and Security 2019 นั้น TAF ได้พูดคุยกับ #Thales ซึ่งเป็นพันธมิตรกับกองทัพเรือไทยมายาวนาน โดย Thales ยืนยันว่ากองทัพเรือให้ความสนใจเรดาร์ NS50 ซึ่งเป็นเรดาร์ 4D AESA รุ่นเล็กสุดในตระกูล NS series ใช้ความถี่ X-band แม้ว่าเรดาร์ Variant dual-band แบบที่ใช้กับเรือ OPV ชุดเรือหลวงกระบี่-ประจวบคีรีขันธ์ ยังคงมีผลิตอยู่ก็ตาม

NS50 มีขนาดเล็กและถูกออกแบบมาสำหรับการติดตั้งกับเรือตรวจการณ์และเรือขนาดเล็กที่ใช้การออกแบบให้มีการควบคุมโดยซอฟต์แวร์ (Software defined) ที่เพิ่มความอ่อนตัวและฟีเจอร์มากกว่าระบบเดิม และเป็นการทำให้เรือขนาดเล็กสามารถที่จะใช้งานเรดาร์ 4D AESA ประสิทธิภาพสูงแทนที่จะต้องใช้เรดาร์ 2D ที่มีขนาดเล็กแต่ประสิทธิภาพต่ำกว่าเนื่องจากให้ข้อมูลแค่ทิศทางและตำแหน่งเท่านั้น ซึ่ง NS50 สามารถตรวจจับเป้าหมายทั้งเป้าหมายอากาศและพื้นน้ำ พร้อมประมวลผลข้อมูลเป้าหมายแบบ 4D ที่สามารถส่งให้กับระบบ Fire Control เพื่อใช้ในการควบคุมการยิง หรือแม้แต่สามารถควบคุมคุมการยิงปืนเรือหรือจรวดต่อสู้อากาศยานพิสัยใกล้ได้โดยตรง โดย NS50 มีระยะจรวจจับเป้าหมายบนอากาศที่ 180 กิโลเมตร เป้าหมายบนพื้นน้ำที่ 80 กิโลเมตร ทำงานแบบสองแกนและให้คลื่นเรดาร์หลายคลื่น (Multi Beams) ซึ่งถ้ากองทัพเรือเลือก NS50 มาติดตั้งบนเรือชุดเรือหลวงปัตตานีจริง ก็จะเป็นระบบเรดาร์ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดแบบหนึ่งของกองทัพเรือไทย

Thales ใน Defense and Security 2019

สำหรับระบบควบคุมการยิงนั้น อาจเป็นการถอดระบบควบคุมการยิง TMX/EO และติดตั้งระบบควบคุมการยิง STIR 1.2 EO Mk.2 ที่ Thales เสนอ โดย STIR 1.2 นั้นมีขีดความสามารถในการควบคุมการยิงจรวดต่อสู้อากาศยานแบบพื้นสู่อากาศได้ทั้ง Sea Sparrow หรือ ESSM เนื่องจากเรดาร์สามารถควบคุมการยิงได้ไกลถึง 120 กิโลเมตร แต่ในกรณีของเรือหลวงปัตตานีที่ไม่ได้มีการติดตั้งจรวดดังกล่าว การควบคุมการยิงจึงเป็นการควบคุมการยิงปืนเรือเท่านั้น ซึ่งที่จริงแล้วถ้ากองทัพเรือจะประหยัดงบประมาณ ก็สามารถเลือกติดตั้งระบบควบคุมการยิงแบบ Lirod Mk.2 ที่มีระยะควบคุมการยิงที่ 36 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะที่ครอบคลุมปืนเรือแบบ 76/62 Super Rapid แล้ว เช่นเดียวกับที่ติดตั้งบนเรือชุดเรือหลวงกระบี่

สำหรับระบบอำนวยการรบน่าจะเป็นการถอดระบบ COSYS ออกและแทนที่ด้วย TACTICOS ที่มีใช้งานในเรือหลายแบบของกองทัพเรือซึ่งน่าจะช่วยในด้านความคุ้นเคยและการฝึกมากกว่า


ในส่วนของระบบอาวุธที่อาจมัการเพิ่มเข้ามานั้น TAF ได้พูดคุยกับ #MBDA ในงาน Defense and Security 2019 ซึ่งได้รับข้อมูลว่า MBDA พร้อมหากกองทัพเรือประสงค์จะจัดหาจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำ Exocet เพื่อติดตั้งบนเรือรบผิวน้ำของกองทัพเรือไทย โดยเฉพาะในโครงการอัพเกรดเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (OPV) ชุด ร.ล.ปัตตานี ทั้ง 2 ลำ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา

จรวดต่อต้านเรือผิวน้ำหลักของกองทัพเรือไทยปัจจุบันเป็นจรวด Harpoon จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งติดตั้งบนเรือรบหลัก 5 ลำ และมีทั้งรุ่น block 1C และ block 2 ขณะที่จรวด Exocet รุ่น MM38 ชุดสุดท้ายของกองทัพเรือไทย ปลดประจำการไปพร้อมกับเรือเร็วโจมตีติดจรวดนำวิถี ชุดเรือหลวงราชฤทธิ์ 3 ลำ อันแสดงให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือของจรวด ซึ่งสามารถบำรุงรักษาให้คงความพร้อมใช้ได้อย่างยาวนาน ตั้งแต่จัดหามาครั้งแรกพร้อมกับเรือชุดดังกล่าวตั้งแต่ปี 1979


จรวด Exocet รุ่นล่าสุด คือ MM40 block 3C มีระยะยิงไกล 200+ กิโลเมตร ตั้ง waypoint ได้หลายจุด ยิงเป้าหมายบนฝั่งได้ เรดาร์นำวิถีและระบบประมวลผลทันสมัยสามารถแยกแยะเป้าหมายเรือผิวน้ำได้ เทียบเท่าจรวด NSM หรือ LRASM เพียงแต่ไม่มีระบบ datalink เพื่อรับส่งข้อมูลหลังจากยิงจรวดออกไปแล้ว

MBDA ใน Thales ใน Defense and Security 2019


เมื่อเทียบกับจรวด Harpoon block 2 นั้น MM40 block 3 ได้เปรียบที่ระยะยิงไกลกว่า โดย Harpoon รุ่นยิงจากเรือผิวน้ำมีระยะยิงเพียง 120 กิโลเมตร ส่วนข้อได้เปรียบอีกด้านจะเป็นเรื่องการบำรุงรักษาจรวด ซึ่งผู้ใช้อย่างกองทัพเรือไทยสามารถจัดการด้วยตัวเองได้ทั้งหมด ไม่มีข้อผูกมัดใด ๆ ต่างจาก Harpoon ที่จะต้องส่งไปยังสหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่ของ MBDA ยังให้ข้อมูลเพิ่มว่า Harpoon นั้นอยู่ในช่วงท้ายของการใช้งานบนเรือผิวน้ำของสหรัฐอเมริกาแล้ว ทำให้อาจจะมีปัญหาได้ในอนาคต (สหรัฐอเมริกาเลือกจรวด NSM สำหรับเรือ LCS และ FFG(X) ส่วนเรือประเภทอื่นยังไม่คัดเลือกแต่ไม่มี Harpoon ในตัวเลือก) ส่วน Exocet ยังคงใช้งานต่อไปบนเรือผิวน้ำของกองทัพเรือฝรั่งเศสอยู่

เจ้าหน้าที่ของ MBDA ยังกล่าวอีกว่า กองทัพเรือไทยได้ให้ความสนใจจรวด Marte ER เพื่อติดตั้งบนเรือตรวจการณ์ขนาดเล็กด้วยเช่นกัน โดยเปรียบ Marte ER ว่าเป็น Exocet ขนาดเล็ก เนื่องจากขีดความสามารถไม่ได้ต่างกัน เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่า ยิงได้ใกล้กว่า

เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่าโครงการนี้จะมีการดำเนินการได้จริงหรือไม่ และการปรับปรุงจะออกมาในรูปแบบใด ซึ่งถ้ามีข้อมูลเพิ่มเติมเราจะนำมาเสนอให้ทุกท่านได้อ่านกันอีกครั้งครับ

พูดคุยเกี่ยวกับประเด็นนี้ได้ที่โพสในกลุ่มของเรา https://www.facebook.com/groups/thaiarmedforce/permalink/2888522808059057

อ่านเพิ่มเติม

“DefenseThailand2019: #MBDA พร้อมเสนอจรวด #Exocet ให้ตามที่ ทร.ไทย ต้องการ และ ทร.ไทย ยังให้ความสนใจจรวด #Marte ด้วย”

“DefenseThailand2019: กองทัพเรือสนใจเรดาร์ NS50 สำหรับเรือ OPV ชุดปัตตานี”

โพสนี้ในเพจของเรา

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.