ไม่ครับ พม่าหรือเมียนมาร์ไม่ได้จะซื้อเรือดำน้ำจากญี่ปุ่นจำนวน 4 ลำครับ
วันนี้ในระหว่างอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล นายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ลุกขึ้นชี้แจงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือว่า มีความจำเป็นเพื่อเอาไว้ป้องกันประเทศ นอกจากนั้นประเทศในภูมิภาคยังมีการจัดหาเรือดำน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยคำพูดในตอนหนึ่งของนายกรัฐมนตรี ที่อ่านตามสคริปที่เจ้าหน้าที่ส่งมาให้ โดยกล่าวว่า
“สถานการณ์โดยรอบของประเทศของเรา ผมไม่ได้ไปแข่งกับเขานะครับ แต่ผมอยากอธิบายเรียนให้ทราบว่าวันนี้อาเซียนมีเรือดำน้ำทั้งหมด 18 ลำ ประกอบด้วยเวียดนาม 6 ลำ อินโดนีเซีย 5 ลำ และกำลังซื้อเพิ่มเติมอีก 4 ลำเป็น 9 ลำ สิงคโปร์อีก 4 ลำ กำลังซื้อเพิ่มเติมอีก 4 ลำ เป็น 8 ลำ มาเลเซีย 2 ลำ เมียนมาร์ 1 ลำ และกำลังซื้ออีก 4 ลำจากญี่ปุ่นเข้าประจำการ”
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ท่านที่อยากฟังด้วยหูของท่านเอง สามารถเข้าไปฟังได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้ ตั้งแต่นาทีที่ 23.15 เป็นต้นไป
ข้อความนี้มีจุดผิดพลาดหลายจุด เราขอนำเสนอข้อเท็จจริงดังนี้ครับ
ด้านล่างนี้คือเรือดำน้ำของชาติอาเซียนทั้งหมด ทั้งจำนวนและชื่อของเรือ เรียงตามประเทศได้ดังนี้
เวียดนาม 6 ลำ เป็นเรือดำน้ำชั้น Kilo ผลิตจากรัสเซียคือ
182 Ha Noi
183 Ho Chi Minh City
184 Hai Phong
185 Khanh Hoa
186 Da Nang
187 Ba Ria-Vung Tau
อินโดนีเซียมีเรือดำน้ำ 5 ลำคือ
ชั้น Nagapasa ซึ่งเป็นเรือชั้นชั้น Jang Bogo หรือ U209/1400 จากเกาหลีใต้ที่ได้สิทธิบัตรจากเยอรมนี
403 KRI Nagapasa
404 KRI Ardadedali
405 KRI Alugoro
ชั้น Cakra หรือ U209/1300 จากเกาหลีใต้ที่ได้สิทธิบัตรจากเยอรมนี
KRI Cakra (401)
KRI Nanggala (402)
และลงนามสัญญาจัดหาเพิ่มเติมแล้ว 3 ลำ รวมเป็นจะมีเรือดำน้ำทั้งหมด 8 ลำ โดยยังไม่รวมเรือดำน้ำมือสองจากบราซิลที่ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะจัดหาหรือไม่อีก 2 ลำ
สิงคโปร์มีเรือดำน้ำ 5 ลำ
ชั้น Challenger ซึ่งเป็นเรือดำน้ำมือสองชั้น Sjoormen จากสวีเดน ปัจจุบันมีใช้งาน 2 ลำคือ
RSS Conqueror
RSS Chieftain
ชั้น Archer ซึ่งเป็นเรือดำน้ำมือสองชั้น Vastergotland จากสวีเดน ปัจจุบันมีใช้งาน 2 ลำคือ
RSS Archer
RSS Swordsman
ชั้น Invincible หรือ Type 218SG ซึ่งเป็นเรือดำน้ำใหม่ที่กำลังต่ออยู่จากประเทศเยอรมนี มีพื้นฐานเรือชั้น U216 โดยสั่งต่อจำนวน 4 ลำ และปล่อยเรือลงน้ำแล้ว 1 ลำคือ
RSS Invincible
รวมแล้วจะมีทั้งหมด 8 ลำ โดยหลังจากได้รับมอบเรือชั้น Invincible แล้วจะทะยอยปลดประจำการเรือเก่าออกไป
มาเลเซียมีเรือดำน้ำ 2 ลำ
ชั้น Tunku Abdul Rahman ซึ่งเป็นเรือชั้น Scorpene จากประเทศฝรั่งเศสคือ
KD Tunku Abdul Rahman
KD Tun Abdul Razak
เมียนมาร์มีเรือดำน้ำ 1 ลำ
ชั้น Min Ye Theinkhathu ซึ่งเป็นเรือชั้น Kilo จากประเทศรัสเซีย ที่เมียนมาร์ซื้อต่อมาจากกองทัพเรืออินเดียคือ
UMS Min Ye Theinkhathu
ซึ่งรวมแล้วอาเซียนจะมีเรือดำน้ำ 19 ลำ ไม่ใช่ 18 ลำตามข้อมูลของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ในอีกประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมระบุว่าเมียนมาร์กำลังจัดซื้อเรือดำน้ำอีก 4 ลำจากประเทศญี่ปุ่น
ข้อความนี้ไม่เป็นความจริงอย่างมากครับ
เรือดำน้ำลำแรกของเมียนมาร์คือ UMS Minye Theinkhathu เป็นเรือดำน้ำชั้น 877EKM Kilo ที่ผลิตในรัสเซีย โดยเมียนมาร์ได้จัดหามาจากอินเดียที่ในอดีตประจำการในชื่อ INS Sindhuvir ที่ประจำการมาตั้งแต่ปี 1988 และทำการปรับปรุงโดยอู่ Hindustan Shipyard ก่อนส่งมอบให้กับกองทัพเรือเมียนมาร์ พร้อมทั้งอาวุธประจำเรือคือตอร์ปิโดว์แบบ Fizik-1 ของรัสเซียและขีปนาวุธต่อต้านเรือผิวน้ำแบบ 3M-54 Kalibr ของรัสเซียเช่นกัน
การจัดหาเรือดำน้ำมือสองเพื่อใช้งานนั้นเป็นแนวทางที่นิยมใช้สำหรับประเทศที่ยังไม่มีเรือดำน้ำเข้าประจำการมาก่อน เนื่องจากการสร้างขีดความสามารถในด้านการใช้งานและการซ่อมบำรุงเรือดำน้ำนั้นมีความซับซ้อนและต้องใช้เวลาหลายปี หลายประเทศจึงนิยมจัดหาเรือดำน้ำมือสองมาใช้งานเพื่อฝึกฝนและหาความชำนาญในการใช้งานเรือดำน้ำก่อนที่จะจัดหาเรือดำน้ำที่ทันสมัยกว่าเข้ามาเป็นเรือดำน้ำหลักต่อไป
แต่ทั้งนี้ แทบเป็นไปไม่ได้ที่กองทัพเรือเมียนมาร์จะจัดหาเรือดำน้ำเพิ่มเติมจากญี่ปุ่น เนื่องจาก
- เมียนมาร์ถูกคว่ำบาตรด้านการขายอาวุธจากประเทศตะวันตกและประเทศในกลุ่ม NATO มานาน ดังนั้นจึงแทบเป็นไปไม่ได้อย่างสิ้นเชิงที่เมียนมาร์จะซื้อเรือดำน้ำที่ใช้เทคโนโลยีจากประเทศตะวันตก ซึ่งเรือดำน้ำของญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีของชาติตะวันตกจำนวนมากอยู่ในนั้นไม่ว่าจะเป็นเรือชั้น Oyashio หรือ Soryu ดังนั้นจึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่เมียนมาร์จะสามารถจัดหาเรือดำจาญี่ปุ่น หรือแม้แต่ญี่ปุ่นจะขายเรือดำน้ำให้เมียนมาร์
- ตัวญี่ปุ่นเอง แม้หลายปีที่ผ่านมาจะมีนโยบายยกเลิกการห้ามส่งออกอาวุธ และเริ่มทำตลาดอาวุธแล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังมีข้อจำกัดอยู่มากในการขายอาวุธ โดยเฉพาะเรือดำน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาญี่ปุ่นเข้าแข่งขันในโครงการจัดหาเรือดำน้ำที่ประเทศออสเตรเลียเป็นที่แรกเท่านั้น ซึ่งสุดท้ายไม่ได้รับเลือก โดยออสเตรเลียได้เลือกเรือดำน้ำที่ปรับปรุงมาจากเรือดำน้ำชั้น Barracuda ของฝรั่งเศสเป็นผู้ชนะแทน นอกจากนั้นในภูมิภาคอาเซียน สัญญาแรกที่ญี่ปุ่นชนะในโครงการจัดหาทางทหารคือระบบเรดาร์ตรวจการณ์ในฟิลิปปินส์เท่านั้น
- ราคาของเรือดำน้ำชองญี่ปุ่นก็ค่อนข้างสูง อย่างเรือดำน้ำชั้น Soryu ก็มีราคาราวลำละ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าจัดหาเรือดำน้ำมือหนึ่ง 4 ลำ ก็จะเป็นเงิน 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นจำนวนมากพอ ๆ กับงบประมาณของกระทรวงกลาโหมของเมียนมาร์ทั้งกระทรวง แม้จะเป็นการจัดหาแบบผ่อนจ่าย ก็ยังถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากจนไม่น่าจะเป็นไปได้อยู่ดี ส่วนถ้าเป็นเรือดำน้ำมือสองนั้น ในตอนนี้ญี่ปุ่นยังไม่มีโครงการปลดประจำการเรือดำน้ำในระยะเวลาอันใกล้นี้ และถึงมีจริงก็เป็นไปได้ยากมากที่ญี่ปุ่นจะเสนอขายให้กับเมียนมาร์
- การจัดหาถึง 4 ลำก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากโครงการจัดหาเพิ่มเติมถ้ามีจริง น่าจะอยู่ที่ราว ๆ 2 ลำ หรืออาจจะจัดหาเพิ่มเติมอีกลำ ซึ่งโดยตรรกะแล้วเมียนมาร์ก็น่าจะจัดหาเรือดำน้ำชั้น Kilo มาเพิ่มเติมเพื่อให้ใช้งานร่วมกันได้ทั้งอะไหล่และการฝึก หรือถ้าเมียนมาร์ตั้งใจให้เรือ UMS Minye Theinkhathu เป็นแค่เรือฝึกและเตรียมความพร้อมเพื่อจัดหาเรือดำน้ำใหม่ ก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะเป็นการจัดหาเรือดำน้ำชั้น Kilo รุ่นใหม่หรือแม้แต่เรือดำน้ำ S20 หรือ S26 ของจีน รุ่นที่ไล่เลี่ยกับที่กองทัพเรือไทยจัดหา
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ค่อนข้างเปิดเผย และเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปในแวดวงด้านความมั่นคงทั่วอาเซียนและทั่วโลก ดังนั้นการตรวจสอบข้อมูลไม่ใช่เรื่องยาก โดยเฉพาะถ้าพิจารณาเหตุและผลก็จะพบว่าข้อมูลเหล่านี้สามารถตรวจสอบได้ง่ายเพราะไม่ใช่ข้อมูลที่ลึกลับหรือเป็นความลำอะไร ตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาจจะไม่ได้รู้ข้อมูลทุกเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ดังนั้นผู้ที่ควรต้องถูกตำหนิด้วย และต้องถูกตำหนิเป็นส่วนใหญ่คือ ฝ่ายเสนาธิการหรือทีมงานประจำตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ขาดความรอบคอบในการเตรียมข้อมูล ซึ่งไม่เหมือนกับเมื่อครั้งที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมชี้แจงเมื่อครั้งทำการพิจารณางบประมาณที่ชี้แจงได้ดีกว่านี้มาก
ยกเว้นแต่ว่า ทีมงานเตรียมข้อมูลมาดีแล้ว แต่ตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกลับชี้แจงผิดหรือพูดนอกสคริปเอง ซึ่งถ้าแบบนั้นก็ถือเป็นความรับผิดชอบของตัวรัฐมนตรีเองครับ
สมาชิกที่สนใจในประเด็นนี้สามารถร่วมพูดคุยกันได้ที่โพสนี้ในกลุ่มของเรา ที่ตั้งโดยสมาชิกคุณ Chamnan Xuto ครับ
https://www.facebook.com/groups/thaiarmedforce/permalink/2894268637484474/
อ่านเพิ่มเติม
“รู้จัก กองทัพและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของ เมียนมาร์ หนึ่งในชาติชั้นนำของอาเซียน นำหน้าไทย 10 ปี”
https://thaiarmedforce.com/2021/02/02/introduction-to-myanmar-armed-force-defense-industry/
“สรุป การซื้ออาวุธ-รับมอบอาวุธ ในปีงบประมาณ 2563”
https://thaiarmedforce.com/2021/01/03/myanmar-submarine-and-rtn-adaptation/
“เรือดำน้ำลำใหม่ของเมียนมาร์ร่วมงานวันก่อตั้งกองทัพเรือ”
https://thaiarmedforce.com/2020/12/26/mynamar-navy-73-anniversary/
“Thai Submarine Procurement Chronicle | ประวัติการจัดหาเรือดำน้ำไทย”
https://thaiarmedforce.com/2020/12/30/thai-submarine-procurement-chronicle/