“ตายหมู่ที่ตากใบ” ประวัติศาสตร์เลือดในเหตุการณ์สามจังหวัดชายแดนใต้

จากเมื่อวานนี้ใน clubhouse ที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้เข้ามาพูดคุยและแลกเปลี่ยนกับผู้ใช้งาน ClubhouseTH ซึ่งมีคำถามหนึ่งของผู้ใช้งานที่ถามเรื่องตากใบ และดร.ทักษิณตอบกลับเพียงสั้น ๆ ว่า ผมจำไม่ได้ แต่เสียใจ รวมถึง นพ.สุรพงศ์ สืบวงศ์ลี ได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น โดยยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่กล่าวว่ากองทัพดูแลทั้งหมด รัฐบาลไม่เกี่ยว

วันนี้ TAF ขอย้อนอดีตสั้น ๆ ถึงโศกนาฎกรรมที่ตากใบ ซึ่งเป็นรอยด่างพร้อยที่สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ของรัฐบาลไทยและกองทัพไทยกันครับ


เหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ รอบล่าสุดในประวัติศาสตร์ไทยเกิดขึ้นในวันที่ 4 มกราคม 2547 จากเหตุการณ์บุก ปล้นปืน ที่กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้อาวุธปืนไป 413 กระบอก และได้ใช้อาวุธปืนเหล่านั้นเป็นเครื่องมือในการเปิดปฏิบัติการครั้งใหญ่หลายครั้งเช่น การโจมตีหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 38 หรือเหตุการณ์โจมตี ฐานพระองค์ดำ ในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาสที่ทำให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้ปืนไปอีก 60 กระบอก

เเหตุการณ์สำคัญและใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในวันที่ 28 เมษายน 2547 ซึ่งเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ “กบฏดุซงญอ” ที่มาจากการที่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเริ่มระบบมณฑลเทศาภิบาลและลดอำนาจเจ้าผู้ครองนครในภาติใต้ลง ส่งผลมาสู่การต่อต้านรัฐเรื่อยมา โดยเฉพาะจากชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ และนำมาซึ่งการที่รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามจับกุม “หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์” แกนนำต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องสิทธิพลเมืองของชาวมุสลิมคนสำคัญไปยังสถานีตำรวจที่จังหวัดสงขลา และถูกอุ้มหายไปไม่มีใครทราบชะตากรรมของหะยีสุหลงอีกเลยจนถึงปัจจุบัน

เชื่อว่าสองสามวันก่อนวันที่ 28 เมษายน 2547 นั้น แกนนำก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ได้เข้าพื้นที่เตรียมปฏิบัติการ และเปิดฉากโจมตีจุดตรวจและฐานปฏิบัติการทั่วพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะจุดตรวจกรือแซะที่ ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานีจนทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บ 4 นาย และเกิดการปะทะกันจนฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบได้ล่าถอยเข้าไปยัง มัสยิดกรือแซะ และการใช้แก๊สน้ำตาและการกดดันเพื่อให้มอบตัวไม่เป็นผล จนทำให้เจ้าหน้าที่ตัดสินใจใช้อาวุธหนักบุกเข้าเคลียร์มัสยิดกรือเซะจนสามารถสังหารกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้ 34 คน ซึ่งเมื่อรวมการโจมตีหลายจุดในวันเดียวกัน ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบสูงกว่า 100 คน ฝ่ายเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 5 นาย


การสลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ

วันที่ 25 ตุลาคม 2547 ได้เกิดเหตุชาวบ้านจัดการชุมนุมที่หน้า สถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จากความไม่พอใจในการจับกุมชาวบ้าน 6 คนด้วยข้อหาสนับสนุนและจัดหาอาวุธปืนให้กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เหตุการณ์ชุมนุมเริ่มบานปลายจนกลายเป็นจลาจล มีการปาก้อนหินและพยายามบุกยึดสถานีตำรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตอบโต้ด้วยการยิงแก๊สน้ำตา ผลจากเหตุการณ์ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 คน ถูกจับกุมมากถึงราว 1,300 คน ซึ่งทั้งหมดถูกนำตัวไปยังค่ายทหารเพื่อสอบสวน

แต่ระหว่างการนำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดเดินทางไป ค่ายอิงคยุทธบริหาร และค่ายต่าง ๆ ทั่วทั้งภาคใต้นั้น กลับทำด้วยวิธีที่ให้ผู้ต้องหานอนซ้อนกันในท้ายรถทหาร หรือแออัดเข้าไปที่บนท้ายรถบรรทุกและเดินทางหลายชั่วโมง หลายคนต้องอยู่ในสภาพแบบนั้นเกือบ 6 ชั่วโมง ซึ่งทำให้ในระหว่างการนำตัวไปสอบสวนนั้นผู้ต้องหาเสียชีวิตถึง 78 ราย โดยผลจากการชันสูตรศพพบว่าขาดอากาศหรือถูกกดทับอย่างรุนแรง ส่วนการสอบสวนนั้นมีการตั้งข้อหา 58 ราย นอกนั้นได้รับการปล่อยตัวทั้งหมด

การเคลื่อนย้ายผู้ต้องหา

เหตุการณ์นี้ถูกสอบสวนโดยคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีตากใบ และพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงปฏิบัติไม่ถูกหลักสากล ใช้ทหารเกณฑ์และทหารพรานที่ไม่ได้ถูกฝึกมาให้รับมือกับการชุมนุมในการสลายการชุมนุม ผู้บังคับบัญชาล้มเหลวในการควบคุมดูแลการปฏิบัติ

ซึ่งทำให้มีข้อสรุปว่าแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้นคือ พลโทพิศาล วัฒนวงษ์คีรี ในฐานะผู้บังคับบัญชาหลัก ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ในขณะนั้นคือพลตรีเฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ในฐานะผู้ควบคุมการสลายการชุมนุม และ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้นคือ พลตรีสินชัย นุตสถิตย์ ผู้ควบคุมการลำเลียงและสอบสวนผู้ต้องหานั้นบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ ขาดการใช้วิจารณญาณอย่างรุนแรง ละเลยการดูแลในการเคลื่อนย้ายผู้ต้องหา ปล่อยให้ทหารชั้นผู้น้อยที่ขาดประสบการณ์ปฏิบัติโดยไม่ถูกต้อง มุ่งแต่ความสำเร็จของภารกิจโดยไม่สนใจปัจจัยอื่น แซึ่งแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้บังคับบัญชาที่สูงที่สุดที่ต้องขึ้นศาล

แต่ทั้งนี้ ไม่ได้มีการดำเนินการไปถึงผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นคือพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคือพลเอกสัมพันธ์ บุญญานันต์ และนายกรัฐมนตรีคือ ดร. ทักษิณ ชินวัตรแต่อย่างใด


พิธีศพของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ

แม่ว่ากรณี กรือเซะ เราอาจจะพูดได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีความชอบธรรมในการตอบโต้และสังหารกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เพราะกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเป็นฝ่ายโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐก่อน แต่ในกรณี ตากใบ ถือว่าเป็นความรับผิดชอบโดยชัดเจนของเจ้าหน้าที่รัฐ กองทัพ และรัฐบาล ซึ่งหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในเหตุการณ์นี้ไมได้ และกรณีตากใบนั้นได้ถูกนำไปขยายผลต่อโดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบซึ่งทำให้สามารถสร้างมวลชนและก่อเหตุรุนแรงได้ต่อเนื่องยาวนานกว่าสิบปี

ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญ และเป็นประวัติศาสตร์เลือดที่ควรจะต้องมีการศึกษา พูดคุย และหาแนวทางป้องกันเพื่อให้ไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคตครับ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.