เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการ ส่งกำลังบำรุง และ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ระหว่างกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงกลาโหมแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (MoU on Logistics and Defense Industry Cooperation between the Ministry of Defence of the Kingdom of Thailand and the Department of national Defense of the Republic of the Philippines) และหากมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของร่างบันทึกความเข้าใจฯ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจ ให้กระทรวงกลาโหมพิจารณาดำเนินการได้ตามความเหมาะสม โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ร่วมลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจนี้ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ
วัตถุประสงค์ของร่างบันทึกความเข้าใจนี้คือ เพื่อขยายและเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านการทหารระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยการยกระดับความร่วมมือและประสานงานด้านการส่งกำลังบำรุงและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งกำลังบำรุง พร้อมกับการส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศระหว่างประเทศ โดยอาจมีความร่วมมือในการพัฒนา การผลิต การปฏิบัติการ และการบริหารจัดการ สิ่งอุปกรณ์ทางทหาร/ความร่วมมือในการจัดหาหรือถ่ายโอนหรือแลกเปลี่ยนยุทโธปกรณ์ และการบริการ/การแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ด้านการส่งกำลังบำรุงและด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ/ความร่วมมือด้านการส่งออกไปยังประเทศที่สาม รวมทั้งการให้ได้มาซึ่งสิ่งอุปกรณ์ทางทหารร่วมกัน
ซึ่งตามร่างบันทึกความเข้าใจนี้ ไทยและฟิลิปปินส์อาจจัดทำสัญญาแยกต่างหากสำหรับการจัดหายุทโธปกรณ์ โดยระบุการควบคุมและรับรองคุณภาพของยุทโธปกรณ์ดังกล่าว ตลอดจนการฝึกอบรมการใช้งานยุทโธปกรณ์เหล่านั้น


พูดเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายก็คือ ภายใต้ข้อตกลงแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลนี้ ไทยและฟิลิปปินส์อาจขายยุทโธปกรณ์ให้กันได้ โดยให้การรับรองคุณภาพและให้การฝึกอบรมระหว่างกัน รวมถึงมีความร่วมมือในการส่งกำลังบำรุงเช่นการจัดหาอะไหล่หรือการซ่อมบำรุงต่าง ๆ รวมถึงสามารถสร้างการร่วมมือกันในด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ทั้งการขายยุทโธปกรณ์ให้กันหรือแม้แต่การร่วมมือกันขายยุทโธปกรณ์ให้กับประเทศอื่น
ทั้งนี้ในปัจจุบัน ฟิลิปปินส์มีบริษัทผลิตอาวุธคือ Armscor Philippines ที่ผลิตปืนแบบต่าง ๆ ส่วนไทยนั้นมีบริษัทเอกชนที่เข้าแข่งขันในโครงการจัดหาอาวุธให้กับฟิลิปปินส์จำนวนสองโครงการคือ โครงการจัดหายานเกราะล้อยาง 4×4 ซึ่งบริษัท ชัยเสรี ของไทยซึ่งเชื่อว่าเข้าแข่งขันกับ GAIA Automotive Industries ของอิสราเอล และโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจำนวน 6 ลำ ซึ่งบริษัท BAE System ของสหราชอาณาจักร ร่วมมือกับบริษัท อู่กรุงเทพ ของไทย เข้าร่วมแข่งขันกับบริษัท Austal ของออสเตรเลีย
ทั้งนี้บันทึกข้อตกลงนี้ยังไม่ได้แสดงว่าบริษัทไทยได้รับสัญญาการจัดหาจากรัฐบาลฟิลิปปินส์แล้ว แต่จากมติคณะรัฐมนตรีนี้ จะทำให้รัฐบาลไทยและบริษัทไทยสามารถนำเสนอการขายยุทโธปกรณ์ผ่านกลไกการขายแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (Government to Government: G2G) ได้ ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญอันหนึ่งในการจัดหาและขายยุทโธปกรณ์ให้กับต่างประเทศ และหลังจากรัฐบาลทั้งสองประเทศลงนามในบันทึกความเข้าใจนี้ บริษัทก็สามารถลงนามในสัญญาขายยุทโธปกรณ์ให้กับฟิลิปปินส์ได้ ถ้าบริษัทไทยได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะในการแข่งขัน
ผู้ที่สนใจสามารถอ่านมติ ครม. ฉบับเต็มได้ที่
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39516
อ่านเพิ่มเติม
“TAF on Tour #2 – เยี่ยมโรงงานชัยเสรี ลองนั่ง First Win กับบริษัทผลิตยานเกราะของคนไทย”
โพสนี้ใน Facebook