ส่องงบประมาณปี 65 หลังผ่านครม. งบซื้ออาวุธลดอีก 6 พันกว่าล้าน

เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 มูลค่า 3.1 ล้านล้านบาท ลดลง 1.8 แสนล้านบาท แต่ก็ยังเป็นการขาดดุลงบประมาณถึง 7 แสนล้านบาท และจะส่งผลให้งบประมาณในหน่วยงานต่าง ๆ ส่วนใหญ่ลดลงอย่างแน่นอน

ในส่วนของกระทรวงกลาโหมนั้น รัฐบาลจะเสนอรัฐสภาเพื่อของบประมาณจำนวน 2.03 แสนล้านบาท ลดลง 1.1 หมื่นล้านบาท หรือลดลงราว 5.4% ซึ่งเป็นการปรับลดทุกหน่วยงานในกระทรวงกลาโหม สำหรับประเด็นที่เชื่อว่าทุกท่านน่าจะอยากทราบก็คืองบประมาณของกองทัพทั้งสามเหล่าทัพและโครงการจัดหาอาวุธนั้นจะลดลงเพียงใดนั้น มีรายละเอียดดังนี้ครับ

  1. กองทัพบก งบจัดหาอาวุธลดลง 5.9 พันล้านบาท คือลดจาก 2.83 หมื่นล้านบาทเหลือ 2.23 หมื่นล้านบาท
  2. กองทัพเรือ งบจัดหาอาวุธลดลง 460 ล้านบาท คือลดจาก 1.5 หมื่นล้านบาทเหลือ 1.46 หมื่นล้านบาท
  3. กองทัพอากาศ งบจัดหาอาวุธลดลง 1.14 พันล้านบาท คือลดจาก 2.07 หมื่นล้านบาทเหลือ 1.96 หมื่นล้านบาท

ซึ่งงบประมาณกลาโหมนั้นมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องมา 2 – 3 ปีแล้ว ซึ่งก็สมเหตุสมผลเพราะประเทศกำลังเผชิญภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องลดงบประมาณรายจ่ายลง ซึ่งรายจ่ายของกระทรวงกลาโหมนั้นไม่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะงบซื้ออาวุธที่เป็นการซื้ออาวุธจากต่างประเทศ ดังนั้นจึงเป็นเป้าหมายในการถูกปรับลดลงเป็นส่วนแรก ๆ

แน่นอนว่าจะต้องมีโครงการหลายโครงการถูกตัดออกไปค่อนข้างแน่ แต่มีข้อสังเกตุคืองบประมาณการจัดหาของกองทัพเรือลดลงน้อยกว่ากองทัพอื่นอย่างมีนัยยะสำคัญคือลดลงเพียง 460 ล้านบาท ซึ่งอาจจะมาจากการที่ปีงบประมาณ 2564 นี้ กองทัพเรือมีงบซื้ออาวุธน้อยอยู่แล้วเพราะไม่ได้ดำเนินการจัดหาเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 จึงทำให้ในปี 2565 นั้นถูกปรับลดไม่มากนัก

งบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่ผ่าน ครม. และเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

ทั้งนี้เรายังไม่มีข้อมูลว่าแต่ละเหล่าทัพจะต้องตัดโครงการใดออกไปบ้าง แต่เราอาจจะพอคาดเดาคร่าว ๆ จากกระแสข่าวได้ดังนี้ครับ

  1. กองทัพบก ซึ่งเป็นกองทัพที่ถูกตัดงบประมาณจัดหาอาวุธมากที่สุด โดยในปีงบประมาณ 2565 นั้น กองทัพบกเสนอขอจัดหาอาวุธรายการใหญ่หลายรายการ ซึ่งโครงการที่เป็นงบประมาณผูกพันมาตั้งแต่ปี 2564 นั้นคงจะตัดลดไม่ได้เพราะผูกพันสัญญาไปแล้วเช่น โครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ AH-6 โครงการจัดหายานเกราะ Stryker โครงการจัดหาปืนใหญ่ 105 มม. และ 155 มม. หรือโครงการจัดหารถถัง VT-4

แต่กองทัพบกน่าจะมีการตัดลดโครงการใหม่ ซึ่งกองทัพบกมีโครงการจัดหาที่เป็นโครงการเริ่มใหม่เช่น โครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ UH-60 Black Hawk มูลค่า 3,500 ล้านบาท โครงการปรับปรุงรถถัง M60 มูลค่า 720 ล้านบาท ซึ่งอาจจะต้องตัดออกทั้งหมด ทำให้เราคิดว่าปี 2565 โครงการจัดหายุทโธปกรณ์ใหม่ที่เป็นรายการใหญ่ ๆ จะเกิดขึ้นได้น้อย ยกเว้นกองทัพบกจะตัดรายการเล็ก ๆ ออกเพื่อรวบรวมงบประมาณมาจัดหายุทโธปกรณ์รายการใหญ่ ซึ่งหลังจากนี้ต้องรอติดตามกันต่อไป

  1. กองทัพเรือ ถูกตัดลดงบประมาณเพียง 460 ล้านบาทในปี 2565 ซึ่งที่่ผ่านมากองทัพเรือส่งสัญญาณเลื่อนจัดหาเรือดำน้ำ S26T ลำที่ 2 และ 3 โดยไม่ได้เสนอของบประมาณตรงนี้ตั้งแต่ต้นแล้ว แต่โครงการอื่นก็มีการของบประมาณด้วยเช่น โครงการปรับปรุงเรือหลวงปัตตานี มูลค่า 3,500 ล้านบาท โครงการปรับปรุงเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล Do228 มูลค่า 800 ล้านบาท โครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงขนาดใหญ่มูลค่า 3,500 ล้านบาท โครงการจัดหายานเกราะ VN-16 มูลค่า 800 ล้านบาท โครงการจัดหาเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการจัดหาเรือหลายรายการเช่น โครงการจัดหาเรือ OPV ชุดใหม่จำนวน 1 ลำ มูลค่า 6.5 พันล้านบาท หรือโครงการจัดหาเรือฟริเกตุชุดเรือหลวงภูมิพลลำที่สองมูลค่า 1.65 หมื่นล้านบาท ซึ่งโครงการ OPV นั้นเป็นการต่อเรือในประเทศ น่าจะสมเหตุสมผลพอในการดำเนินโครงการต่อเพื่อให้อู่ในประเทศได้งาน แต่โครงการจัดหาเรือฟริเกตุชุดเรือหลวงภูมิพลลำที่สองนั้นยังไม่แน่ชัดว่าจะมาต่อในประเทศตามที่เคยมีแผนไว้หรือไม่

การปรับลดลงเพียง 460 ล้านบาท ทำให้กองทัพเรืออาจเลือกตัดออกเพียง 1 โครงการก็เพียงพอแล้ว หรืออาจจะตัดโครงการที่จำเป็นน้อยเช่น โครงการจัดหาดาวเทียมสื่อสารมูลค่า 400 ล้านบาทที่ดูไม่มีความจำเป็นและกองทัพเรือไม่มีขีดความสามารถในการใช้งานอย่างเต็มที่ รวมถึงดาวเทียมสื่อสารนั้นควรจะเป็นหน้าที่ของกองบัญชาการกองทัพไทยมากกว่า หรือแม้แต่อาจจะใช้วิธีกระจายการตัดงบประมาณไปทุกโครงการซึ่งจะทำให้แต่ละโครงการถูกตัดลดไปไม่กี่สิบล้านบาท ก็จะทำให้สามารถรักษาโครงการเอาไว้ได้ทั้งหมด

  1. กองทัพอากาศ ถูกตัดลดงบประมาณ 1.14 พันล้านบาท ซึ่งกองทัพอากาศมีหลายโครงการที่ดำเนินการอยู่และคาดว่าจะไม่ได้ถูกตัดออกไปเช่น โครงการจัดหาเครื่องบินโจมตีแบบ AT-6TH อีก 4 ลำ ทดแทน L-39ZA/ART ที่จัดหาในปี 2564 แล้ว 8 ลำ จะต้องจัดหาอีก 4 ลำในปี 2565 ซึ่งก็น่าจะไม่ถูกตัด รวมถึงโครงการที่เป็นงบประมาณผูกพันมาตั้งแต่ 2564 เช่น โครงการจัดหาเครื่องบิน T-50 ระยะที่ 4 จำนวน 2 ลำสุดท้าย โครงการจัดหาดาวเทียม Micro Satellite จำนวน 2 ดวง มูลค่า 1.4 พันล้านบาท หรือโครงการจัดหาเครื่องบินโจมตี AT-6 จำนวน 8 ลำแรก ก็น่าจะดำเนินต่อไป

ทั้งนี้ กองทัพอากาศมีโครงการใหญ่คือโครงการจัดหาเครื่องบินลำเลียงทดแทนเครื่องบินลำเลียงแบบ C-130 ที่มีอายุใช้งาน 40 ปี ซึ่งตามแผนเดิมจะเริ่มโครงการในปี 2565 นี้ แต่จากภาวะนี้น่าจะทำให้โครงการต้องเลื่อนออกไปแน่ เพราะเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณทั้งโครงการในหลัก 4 หมื่นล้านบาทต่อ 12 ลำ โดยแบ่งเป็นสามระยะ ระยะละ 4 ลำ ซึ่งถ้าเลื่อนจริงก็น่าจะทำให้โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ทดแทนเครื่องบินขับไล่แบบ F-16ADF ก็น่าจะต้องเลื่อนออกไปอีกด้วยแน่นอน


โดยรวมแล้ว TAF คิดว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้และจริง ๆ เราเห็นด้วยกับรัฐบาลด้วยซ้ำที่เลื่อนหรือตัดลดงบประมาณในโครงการจัดหาอาวุธออกไป เพราะจากภาวะปัจจุบัน ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าสุขภาพ เศรษฐกิจ และการดำรงชีวิตของประชาชนแน่นอน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่กองทัพจำเป็นต้องปรับตัว แต่ทั้งนี้ ถ้ากองทัพสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ เช่น เลือกจัดหาอาวุธภายในประเทศ ก็น่าจะช่วยให้มีเหตุผลเพียงพอที่จะทำการจัดหาในภาวะเช่นนี้ได้ครับ

ด้านล่างนี้คือรายละเอียดงบประมาณปี 2565 ที่ผ่านคณะรัฐมนตรีแล้วครับ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.