สองวันที่ผ่านมามีคำชี้แจงจากกองทัพเรือและกองทัพอากาศในประเด็นการจัดหาอะไหล่ยุทโธปกรณ์จากบริษัท Avia Satcom ซึ่งเป็นบริษัทที่เคยเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT-200 ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าใช้งานไม่ได้ โดยกองทัพเรือและกองทัพอากาศมีคำชี้แจงคล้าย ๆ กันว่าเนื่องจาก ณ วันประมูลบริษัท Avia Satcom ยังมิได้เป็นบริษัทที่ถูกขึ้นบัญชีดำในการจัดซื้อจัดจ้าง
ทั้งนี้ บริษัท Avia Satcom เป็นบริษัทไทยที่บริษัท Saab AB ถือหุ้นอยู่ 25% และ Saab AB แต่งตั้งเป็นตัวแทนของบริษัทในประเทศไทย ซึ่งบริษัท Saab AB เป็นบริษัทผลิตยุทโธปกรณ์ของประเทศสวีเดน ซึ่งกองทัพไทยมียุทโธปกรณ์ที่บริษัทนี้ผลิตอยู่หลายรายการเช่น
กองทัพบก
- ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง Carl Gustaf
กองทัพเรือ
- ระบบอำนวนการรบ 9LV (บนเรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือชุดหลวงนเรศวร)
- เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศ Sea Giraffe AMD 3D
- ระบบควบคุมการยิง CEROS 200 (เรือชุดหลวงนเรศวร)
- ระบบควบคุมการยิง EOS 500 (เรือชุดหลวงนเรศวร)
- เรดาร์ตรวจหาที่ตั้งอาวุธ Arthur
กองทัพอากาศ
- เครื่องบินขับไล่ Gripen
- เครื่องบินแจ้งเตือนล่วงหน้า Saab 340 AEW
- เครื่องบินลำเลียง Saab 340
- ระบบบัญชาการและควบคุม ACCS
เนื่องจาก Avia Satcom เป็นบริษัทตัวแทนเพียงบริษัทเดียวของ Saab AB ในประเทศไทย การจัดหาอะไหล่ในการซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์เหล่านี้จึงมักดำเนินการผ่านบริษํท Avia Satcom โดยจัดหาแบบเฉพาะเจาะจงเนื่องจาก Avia Satcom เป็นผู้ขายเพียงรายเดียวในประเทศไทย
ทั้งนี้ โดยปกติแล้วบริษัทผู้ขายพัสดุให้กับหน่วยงานราชการนั้นจะต้องลงทะเบียนในระบบ e-GP ของกรมบัญชีกลาง ซึ่งจะสามารถตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขายได้ ซึ่งคุณสมบัติก็มักจะกำหนดให้เป็นผู้ที่ประกอบกิจการการค้าขายพัสดุเหล่านั้นอยู่แล้ว ไม่เป็นผู้ปฏิเสธไม่ยอมขึ้นศาลไทย ไม่อยู่ในบัญชีผู้ทิ้งงาน โดยผู้ทิ้งงานก็คือบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงที่เป็นหนังสือกับทางราชการ หรือมีพฤติกรรมฮั้วประมูล หรือเป็นที่ปรึกษาและรับจ้างออกแบบควบคุมงานก่อสร้างแล้วเกิดข้อบกพร่องอย่างร้ายแรง ซึ่งถ้าบริษัทใดอยู่ในรายชื่อของผู้ทิ้งงาน ก็จะไม่สามารถค้าขายกับหน่วยงานราชการได้
อนึ่ง ในปี 2561 ผู้บริหารของบริษัท Avia Satcom ได้ถูกศาลตัดสินจำคุก 9 ปีด้วยข้อหาฉ้อโกงในคดีขายเครื่องตรวจจับระเบิด GT-200 ให้กับกองทัพบกและกรมราชองค์รักษ์ ส่วนตัวบริษัท Avia Satcom ศาลสั่งปรับ 18,000 บาท ซึ่งเชื่อว่าปัจจุบันคดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ซึ่งแปลว่าคดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด อีกทั้งยังไม่แน่ใจว่า การขายของที่ใช้งานไม่ได้จริงอย่าง GT200 (แต่หน่วยงานราชการหลายหน่วยเซ็นตรวจรับไปหมดแล้ว) นั้นจะถือว่าเป็นผู้ทิ้งงานได้หรือไม่ ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลที่ในปัจจุบัน บริษัท Avia Satcom ยังไม่ถูกขึ้นบัญชีดำห้ามค้าขายกับทางราชการ
ดังนั้นคำชี้แจงของกองทัพเรือและกองทัพอากาศจึงน่าจะฟังขึ้นอยู่บ้าง เพราะ ณ วินาทีนี้ คดีฟ้องร้องยังไม่ถึงที่สุด และถ้ากรมบัญชีกลางยังไม่ขึ้นบัญชีดำกับ Avia Satcom บริษัทก็ยังคงทำมาค้าขายได้ปกติ การที่กองทัพเรือและกองทัพอากาศจะซื้ออะไหล่จากบริษัทนี้จึงยังทำได้ปกติโดยไม่ได้มีความผิดตามกฎหมาย
แต่ TAF เห็นว่า ถ้าไม่ได้พิจารณาตามกฎหมาย ไปพิจารณาถึงธรรมาภิบาลว่าการสั่งซื้ออะไหล่จาก Avia Satcom นั้นมีความเหมาะสมหรือไม่ คงต้องตอบว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากบริษัท Avia Satcom เคยมีประวัติขาย GT200 ซึ่งถือเป็นความล้มเหลวในการจัดหายุทโธปกรณ์ครั้งใหญ่ของกองทัพไทยอีกครั้งหนึ่ง การยังคงดำเนินธุรกิจกับ Avia Satcom นั้น ถึงแม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่มันไม่เหมาะสมแน่นอน โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่กองทัพพยายามจะสร้างบรรยากาศว่าการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพนั้นมีความโปร่งใส
ทั้งนี้ ตามกฎหมายแล้ว แม้กองทัพเรือและกองทัพอากาศจะไม่มีอำนาจบังคับให้บริษัท Saab AB เปลี่ยนบริษัทตัวแทนในไทยได้ แต่เรื่องแบบนี้ก็สามารถ “คุยกันทางข้าง” ได้ โดยแจ้งบริษัท Saab AB ว่าภาพลักษณ์ของบริษัท Avia Satcom ซึ่งเป็นตัวแทนในไทยนั้นเสียหายและไม่เหมาะสม ขอให้เปลี่ยนตัวบริษัทตัวแทน ซึ่งจะเป็นใครก็ได้ ให้ผู้บริหาร Avia Satcom ที่ศาลยกฟ้องมาตั้งบริษัทใหม่แล้ว Saab AB ขอแต่งตั้งเป็นตัวแทนก็ยังได้ แต่ต้องคุยกันตรง ๆ หรือใช้กลไกการเขียน TOR ในการซื้ออะไหล่ตรงจาก SaaB AB ไม่ต้องผ่านบริษัทตัวแทน ซึ่งทั้งสองกองทัพก็เคยทำมาในการจัดซื้อจัดจ้างรายการอื่นกับบริษัทในหลายประเทศก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร หรือแม้แต่การดำเนินการซื้ออะไหล่ผ่าน FMV หรือ FXM ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลสวีเดนในการขายยุทโธปกรณ์ให้กับต่างประเทศได้
TAF เห็นว่า เรื่องนี้คือภาพเล็กที่มีผลกระทบมาจากกรณี GT200 ที่เป็นแผลที่สำคัญของกองทัพและรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นแผลที่ทุกฝ่ายทุกสีทางการเมืองมีกันทั้งนั้น เพราะรัฐบาลฝั่งไหนขึ้นมาก็ซื้อทั้งหมด ดังนั้นการดำเนินการเพื่อเอาผิดหรืออย่างน้อยที่สุดเพื่อนำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อไปพิสูจน์กันว่าเป็นแค่เจ้าหน้าที่ถูกเอกชนหลอก หรือเจ้าหน้าที่บกพร่องในหน้าที่และไม่มีความสามารถพอจะพิสูจน์ได้ว่าเครื่องใช้งานได้จริงหรือไม่ จึงเป็นเรื่องยากลำบากอย่างยิ่ง เวลาผ่านมากว่าสิบปี จึงมีแต่คดีที่หน่วยงานรัฐฟ้องบริษัทเอกชนที่เป็นตัวแทน ซึ่งมีทั้งแพ้และชนะด้วยซ้ำ แต่ยังไม่มีนักการเมือง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่คนใดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเลยแม้แต่คนเดียว โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงกลาโหมที่มีการใช้งาน GT200 แทบทุกหน่วย และแม้ผลทดสอบจะออกมาว่าเครื่องใช้ไม่ได้ ก็พยายามยืนยันหลายครั้งว่าเครื่องมือประสิทธิภาพ จนในภายหลังที่กระแสสังคมต่อต้านอย่างรุนแรงจึงมีการเลิกใช้ไปอย่างเงียบ ๆ
ถ้ากองทัพหรือรัฐไม่จัดการกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ผี GT200 ก็คงจะต้องตามหลอกหลอนให้สังคมกังขาการจัดหาอาวุธของกองทัพไปอีกนานครับ