เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา TAF ได้จัดเสวนาในคลับเฮ้าส์ในหัวข้อ โควิดระบาดแบบนี้ กองทัพจะช่วยอะไรได้บ้าง ซึ่งได้รับเกียรติจากคุณหมอท่านหนึ่งมาให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์กับพวกเรา เสริมกับความเห็นของคณะทำงาน TAF ทุกท่าน ซึ่งมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมาย วันนี้เราสรุปการสนทนาในวันนั้นมาให้อ่านกันครับ
โรงพยาบาลสนาม
- โรงพยาบาลสนามเกิดมาเพื่อรับสถานการณ์ที่เตียงในโรงพยาบาลปกติไม่เพียงพอ จึงมาตั้งโรงพยาบาลสนามเพราะโรงพยาบาลปกติเต็มแล้ว โรงพยาบาลสนามจะรองรับผู้ป่วยที่แข็งแรง ส่วนผู้ที่มีอาการมากจะไปหอผู้ป่วย สถานที่จะเป็นที่เปิดและอากาศถ่ายเทดี เหมือนจุดสำหรับคนไข้ที่อาการไม่หนักเท่านั้น ตอนนี้ผู้ป่วยกว่า 80% ไม่มีอาการอะไรเลย ส่วนเหตุผลที่ควรไปอยู่โรงพยาบาลสนามเพราะถ้าเกิดอาการเปลี่ยนแปลงจะสามารถย้ายเข้าโรงพยาบาลได้ง่าย และเป็นการควบคุมโรค เหตุผลที่ไม่อยากให้กักตัวที่บ้านเพราะไม่มั่นใจว่าทุกคนที่ป่วยเป็นโควิดจะไม่แพร่เชื้อให้คนใกล้เคียงได้
- ตอนนี้ขั้นตอนของการรับผู้ป่วยที่ช้าเพราะมีขั้นตอนมาก ต้องเตรียมทรัพยากรในการรับผู้ป่วยเยอะมากเลยทำให้ช้า และยังมีปัญหาด้านการสื่อสาร เพราะไม่ใช่แค่โรงพยาบาลเมื่อตรวจเสร็จแล้วโทรไปบอกว่าเป็นโควิดนะ แต่ต้องประเมินอาการว่าเป็นอย่างไร ต้องรีบมาเลยหรือไม่ และยังไม่นับว่ามีคิวซ้อนอยู่ ซึ่งระบบนี้ทำอยู่แล้วแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำได้ดีเพราะผู้ป่วยเข้ามาในระบบมาก ตอนที่ยังไม่หนักขนาดนี้ยังไม่มีการสื่อสารระหว่างโรงพยาบาลด้วยซ้ำ มันมีการสื่อสารหลายทอดมาก ยังไม่บูรณาการณ์ ซึ่งฟังดูแล้วเหมือนปัญหาของระบบ C2 ของกองทัพเลย
- ตอนนี้หมอเจอคนไข้ไม่ได้ ต้องใช้วิธีซักอาการผ่านกล้องวิดีโอ ฟังปอดก็ไม่ต้องฟังแล้ว ข้ามไปใช้ X-Ray เลย เพราะจะได้ไม่ต้องแตะตัวและเครื่องมือก็ค่อนข้างแม่นยำอยู่แล้ว
- คนที่ยังรอผลว่าจะป่วยโควิดหรือไม่เราจะให้ Isolate ตัวเอง แต่ถ้าเป็นโควิดอยู่แล้วก็จะไปอยู่ที่โรงพยาบาลสนามเลย เพราะเป็นแล้วคงไม่เป็นซ้ำ ยกเว้นแต่ป้องกันการเกิดโควิดข้ามสายพันธุ์หรือผู้ป่วยสายพันธุ์ใหม่ อันนั้นจะพยายามไม่ให้เจอกันเพื่อป้องกันการสร้างเชื้อพันธุ์ใหม่ โดยรวมแล้วคลัสเตอร์เดียวกันให้อยู่ด้วยกันได้
- จุดที่มีจำกัดคือหอผู้ป่วยวิกฤต ซึ่งมีจำกัดทั้งบุคลากรและเครื่องมือ ซึ่งจะมีผลต่อผู้ป่วยวิกฤต 1-3% ที่อาการหนักและเสี่ยงเสียชีวิต แต่สำหรับคนในกลุ่ม 80% ที่ไม่แสดงอาการนั้น ความขาดแคลนนี้ไม่ส่งผล เพราะโรงพยาบาลสนามเป็นแค่ที่พักคอยเพื่อดูอาการ ถ้าไม่หนัก ครบ 14 วันก็กลับบ้าน แต่ถ้าหนักก็เข้าโรงพยาบาล และถ้าออกจากโรงพยาบา แล้ว แข็งแรงแล้ว แต่ยังไม่พ้นช่วยกระจายเชื้อก็จะส่งกลับมาที่โรงพยาบาลสนามเพื่อรอให้หายขาด ซึ่งจะทำให้การบริหารเตียงในโรงพยาบาลดีขึ้น
- ตอนนี้หน่วยงานรัฐกำลังไปตรวจดูตามโรงแรม หรือคอนโด และอพาร์ทเมนต์ว่าจะรองรับการเป็น Hospitel ได้หรือไม่ ซึ่งต้องมีเกณฑ์ในการทำ ถ้ายอมให้มีการเอาโรงแรมหรือคอนโดมาทำ Hospitel ก็น่าจะพอ ขึ้นอยู่กับว่าจะยอมทำกันหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็น Hospitel รัฐจะจ่ายให้ห้องละ 1,500 ถ้าให้อยู่กัน 2 คนต่อห้องก็จ่าย 3,000 ซึ่งโรงแรมน่าจะเอา เพราะช่วง SQ นั้นจ่ายต่ำกว่า 1 พันบาท
กองทัพกับแนวทางในการสนับสนุน
- กองทัพกับตำรวจเริ่มดูแลพวก SQ มานานแล้วตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงตอนนี้ ส่วนเรื่องโรงพยาบาลสนามเองก็มีการใช้กำลงัทหารจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และจริง ๆ หมอกับพยาบาลก็ต้องดูแลโรคอื่นด้วย เพราะเราห้ามคนเส้นเลือดในสมองแตกหรือประสบอุบัติเหตุไม่ได้ ดังนั้นเราไม่ควรพูดถึงขีดความสามารถทั้งหมดและมาคิดว่านี่คือขีดความสามารถที่รับมือโควิดได้ แต่ต้องคำนึงถึงว่าเราต้องไปดูแลโรคอื่นด้วย และตอนนี้คนไข้วิกฤตเยอะ และต้องแบ่งทรัพยากรกัน เช่นจะมีหมอกลุ่มหนึ่งที่จบโดยตรงที่ดูแลคนไข้ ICU ได้ ซึ่งถ้าเอาหมอทุกคนมาดูแลคนไข้ ICU โควิด ก็ไม่มีคนไปดูคนไข้ ICU โรคหัวใจ โรคสมอง และโรคอื่น ๆ
- เสนารักษ์นั้นมีความสามารถใกล้เคียงกับพยาบาล บางเรื่องอาจทำได้มากกว่า บางเรื่องอาจทำได้น้อยกว่า กลุ่มนี้คือผู้ช่วยแพทย์ ซึ่งหมอหนึ่งคนจะดูคนไข้โควิดได้จำนวนหนึ่ง โดยทุกเช้าหมอจะซักอาการคนไข้โควิดทุกคน ให้คนไข้วัดไข้ วัดออกซิเจน ถ้ามีคนไข้ 100 คน ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง และตอนเย็นต้องทำอีกครั้ง ซึ่งมีปัญหาคืออาจมีความผิดพลาดได้เพราะคนไข้เยอะมาก และต้องตั้งคำถามคุยกับคนไข้ทีละคน ต้องวิเคราะห์อาการจากกล้องวิดีโอ
- ผู้ป่วยเป็นพัน ๆ แบบนี้ โรงพยาบาลรับไม่ไหวแน่ จะใช้ทรัพยากรของกองทัพได้หรือไม่ เช่นพวกรถทหาร หรือใช้กำลังพลมาสนับสนุนได้หรือไม่ คำตอบคือถ้าเป็นรถที่ปิดหน่อยก็ใช้ได้แล้ว แต่ถ้าคนขับกับผู้ป่วยอยู่ด้วยกัน คนขับต้องใช้ PPE ในระดับป้องกันการระบาด และถ้าการขนส่งใช้เวลานานมาก ชุดต้องไม่ร้อน ซึ่งอากาศขนาดนี้ ใส่ไม่กี่ชั่วโมงก็เก่งแล้ว เพราะร้อนมาก อีกประเด็นคือการลำเลียงด้วยแคปซูลก็ใช้ได้ แต่ถ้าคนไข้ขยับตัวเองได้ แต่ถ้าให้ไปอยู่ในที่แคป ๆ เชื่อว่าคนไข้ทนไม่ได้แน่นอน ดังนั้นแคปซูลเหมาะกับเคลื่อนย้ายคนไข้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ถ้าคนช่วยเหลือตัวเองได้และกลัวที่แคบและอึดอัดจะลำบากมาก และการเคลื่อนย้ายถ้าสถานที่ไม่พร้อมหรือลิฟต์แคบก็ลำบาก ยังไม่รวมว่ามีกำลังพลที่จะยอมไปเสี่ยงติดโควิดรับส่งหรือไม่ และต้องออกแบบ Procedure ดี ๆ ให้แยกคนไข้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเรื่องนี้มีหลายมิติมาก
- ดูเหมือน โรงพยาบาล สนามจะเพิ่มจำนวนได้ไม่ยาก แต่สำหรับ โรงพยาบาลต่าง ๆ โดยเฉพาะ โรงพยาบาลเล็ก ๆ นั้นมีขีดความสามารถหรือไม่ คำตอบคือ ในโรงพยาบาลระดับอำเภอสามารถดูแลได้ในระดับที่ใกล้กับโรงพยาบาลสนามเท่านั้น ถ้าหนักกว่านี้ต้องส่งต่อ เพราะหมออายุรกรรมมีน้อย และถ้ากระจายหมอออกไปจะสิ้นเปลืองทรัพยากรมากกว่า ถ้าสามารถรวมคนไข้โควิดมารวมกันในแต่ละจังหวัดน่าจะดีกว่า เพราะใช้ทรัพยากรน้อยลงในการดูแล
- กองทัพมีโรงพยาบาลค่ายต่าง ๆ ซึ่งเทียบเท่ากับโรงพยาบาลอำเภอเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นดูแลได้จำกัด ทั้งนี้บทบาทของกองทัพควรจะเป็นหน่วยสนับสนุนและช่วยเหลือตามร้องขอ เพราะตามแผนป้อนกันและบรรเทาสาธารณภัย กองทัพเป็นได้แค่ส่วนสนับสนุนเท่านั้น การควบคุมต้องมาจากสาธารณสุข เพราะจะเกินขีดความสามารถของกองทัพ
12 .ตามกฎหมาย คนป่วยโควิดต้องอยู่ในที่ตัวเอง ห้ามออกไปที่อื่น สองต้องแจ้งรัฐเพื่อให้รัฐรักษา ในกรณีของคอนโด ไม่ได้จำเป็นต้องแจ้งนิติบุคคล แต่ต้องแจ้งรัฐ ตามกฎหมายมีแค่นั้น แต่ถ้าเรากังวลว่าเราไปใช้พื้นที่สาธารณะหรือกังวลว่าเรารับเชื้อจากใครหรือเราแพร่เชื้อไปให้ใคร การแจ้งนิติบุคคลให้ทราบจะได้ระมัดระวัง อย่างนี้ดี จะได้ประโยชน์ นิติอาจจะแจ้งให้ลูกบ้านทราบว่าตอนนี้มีคนติดโควิดอยู่ในคอนโด ให้ลูกบ้านระวัง อาจจะทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลาง และถ้ามี Timeline ว่าผู้ป่วยไปใช้ส่วนกลางตอนไหนก็บอกได้ แต่ต้องระวัง ถ้าบอกมากไปจะละเมิดกฎหมาย
สถานการณ์โควิดของไทย
- ระลอกแรกประเทศเราจัดการปัญหาได้ดีมากจนทุกคนตั้งคำถามว่าทำได้จริงหรือ ซึ่งสุดท้ายมันก็พิสูจน์แล้วว่ามันทำได้จริง และจากระลอกแรกจนถึงระลอกสาม ศักยภาพในการตรวจของประเทศไทยพัฒนามาไกลมากแล้ว และจริง ๆ เรื่องการตรวจนั้นโรงพยาบาลเอกชนก็ชอบเพราะทำกำไรได้ดีมาก ยังไงโรงพยาบาลเอกชนก็อยากให้ตรวจเยอะ ๆ ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องการจัดสรรเตียงของเอกชนก็เชื่อว่าเอกชนยังเปิดรับเตียงได้จำนวนมาก ดังนั้นอย่าไปกลัวเรื่องตัวเลขผู้ติดเชื้อเหนือน้ำหรือใต้น้ำหรือซ่อนตัวเลข เพราะมันสามารถคำนวณทางระบาดวิทยาย้อนกลับได้ เช่นจำนวนคนตายจากโควิดมีกี่คน ก็คำนวณกลับไปได้ว่าผู้ติดเชื้อจริง ๆ จะมีกี่คน เพราะอัตราการตายของโควิดอยู่ที่ 1 – 3% ของจำนวนผู้ติดเชื้อ
- กลุ่มผู้ป่วยที่แสดงอาการราว 20% คือกลุ่มที่ต้องตรวจและต้องมาเก็บตัวไว้เพราะแพร่เชื้อได้ง่ายมาก ในกลุ่มนี้ประมาณ 5% จะอาการหนัก 3% จะเสียชีวิต ถ้าเอากลุ่มคนที่มีอาการมาตรวจและรักษาได้เร็วก็จะควบคุมการตัดเชื้อได้เร็วอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าจะมาสนใจเรื่องต้องตรวจให้เยอะนั้นอาจไม่ใช่ประเด็นหลัก ประเด็นหลักคือการเว้นระยะห่าง การใส่หน้ากาก แค่นี้ก็ควบคุมการระบาดได้แล้ว และถ้ามีอาการก็เก็บคนกลุ่มนี้เข้ามารักษา ถ้าทำได้อย่างดีการระบาดก็จะลดลงทันที อย่างการระบาดรอบที่สองและสามเกิดจากคนที่มาจากต่างประเทศ แปลว่าในประเทศควบคุมได้ดีแล้ว แต่เราไปรับเชื้อจากต่างประเทศและคนในประเทศก็การ์ดตกกันเอง
- น้่ำยาที่ใช้ตรวจในประเทศไทยมี 5 บริษัท ซึ่งผลิตได้เอง เดิมปัญหาไม่ได้อยู่ที่น้ำยาแต่เป็นห้องแล็ปวิเคราะห์ผล เดิมมีแค่ 12 ที่ แต่ตอนนี้ทุกจังหวัดมีแล็ปตรวจแล้ว บางจังหวัดมีหลายที่ด้วยซ้ำ ดังนั้นการตรวจไม่มีปัญหาเหมือนระลอกแรกแล้ว แต่ปัญหารอบนี้คือการประสานงานและหาเตียง
- สายพันธุ์ในระลอกก่อนและระลอกนี้นั้น เกิดจากโควิดพยายามพัฒนาตัวเองให้มีชีวิตรอด และจริง ๆ มันก็ไม่ได้อยากฆ่าเรา เพราะถ้าเราตายมันก็ตาย แต่มันคือพัฒนาการของเชื้อที่จะอยู่ในคนให้นานที่สุดและมากที่สุด ระลอกแรกเป็นสายพันธุ์จีน ระลอกนี้เป็นสายพันธุ์อังกฤษที่ติดง่าย เจาะเนื้อเยื่อได้ง่ายขึ้น ซึ่งกระบวนการป้องกันเดิมคือการล้างมือและใส่หน้ากากของเรา ถ้าทำก็จะยังได้ผลเท่าเดิม แต่ตอนนั้นเราการ์ดตกพอดี เราชะล่าใจ เพราะเราคิดว่าเราปลอดภัยแล้ว เกิดที่สมุทรสาครก็คุมได้ บางคนไม่ใส่หน้ากากด้วยซ้ำ เวลาไปเที่ยวก่อนรอบสามคนระวังตัวน้อยมาก ทุกอย่างเหมือนกับมันประจวบเหมาะกันพอดีคือมีเชื้อแรงเข้ามา เราระวังตัวกันน้อย รัฐพยายามชดเชยเศรษฐกิจด้วยการคลายล็อค แต่จริง ๆ ถ้าเชื้อติดง่ายนั้นไม่ค่อยมีปัญหาถ้าเราทำตัวเหมือนตอนที่เรายกการ์ดก็จะป้องกันได้ แต่เราชะล่าใจเพราะเราเพิ่งฉลองชัยชนะจากสมุทรสาครที่เราแก้ปัญหาได้เร็ว จนทำให้เปิดช่องให้ข้าศึกคือเชื้อโจมตีได้พอดี มันคือความโชคร้ายที่มาประจวบเหมาะกัน เป็น Swiss Cheese Model
- สำหรับมนุษย์นั้นก็มีความพยายามในการสู้กับโรค เป็นทั้งการปรับตัวโดยธรรมชาติและปรับตัวโดยการจัดการ มีหลายประเทศพยายามจะทำ Herd Immunity แต่มันเกิดช้าเกินไป ตรงนี้ถ้าเรายอมรับได้ว่าคนไทย 60 กว่าล้านคน คนตายสัก 1 ล้านคน ตามอัตราการตาย 1-3% ถ้ารับได้จริง ๆ ก็ไม่ต้องทำแบบที่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็ได้ แต่เรายอมรับไม่ได้แน่นอน เพราะวันนี้เราก็มีเทคโนโลยี จะปล่อยให้คนตายเป็นล้านมันก็ไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องพยายามจัดการและสู้กับมัน
- จริง ๆ สายพันธุ์อังกฤษไม่ได้ทำให้คนตายเยอะกว่าเดิม อัตราคนตายยังเท่าเดิม แค่คนติดมากขึ้น จริง ๆ นี่คือสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นในระลอกแรกด้วยซ้ำ แต่ระลอกแรกเราหยุดได้
วัคซีน
- Sinovac คือการเอาเชื้อตายมาทำวัคซีน AstraZeneca เป็น Vactor Virus คือบางชิ้นส่วนมาทำวัคซีน แต่ Pfizer และ Moderna คือใช้ mRNA เอามาให้ร่างกายสรัางภูมิ ซึ่งวัคซีนเชื้อตายอย่าง Sinovac แม้จะสร้างภูมิได้ไม่มาก แต่ภูมิจะสู้กับไวรัสกลายพันธุ์ได้ง่ายกว่า AstraZeneca มีประสิทธิภาพระหว่างกลาง แต่มีปัญหาเรื่องลิ่มเลือด ส่วนวัคซีน mRNA นั้นยังไม่รู้ว่า mRNA ไปสั่งให้ผลิตแต่ภูมิอย่างเดียวหรือเปล่า หรือไปสั่งให้ผลิตอย่างอื่น ในระยะยาวอาจทำให้เกิดการผ่าเหล่าได้ เพราะตอนนี้ยังไม่รู้ว่าถ้ามีคำสั่งให้เซลล์ผลิตภูมิคุ้มกันแล้วมีคำสั่งหยุดหรือไม่ และจะจบเมื่อไหร่ แต่ทัง้นี้โดยรวมแล้ว การฉีดวัคซีนจะทำให้ความรุนแรงของโรคน้อยลง และประสิทธิผลของวัคซีนจริง ๆ ก็ราว ๆ นี้ แบบวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้ผลแค่ 60% ก็ยังฉีดกันได้ แต่ 60% ก็สามารถควบคุมโรคได้แล้ว
- ตอนนี้ถ้าเราทำในสิ่งที่บอกไว้วันแรกที่โควิดระบาดคือ รักษาระยะห่างทางสังคมไว้ได้ การระบาดรุนแรงจะลดไปเองโดยไม่ต้องมีมาตรการอะไร สองอัตราการตายถ้าอยากให้ลดลง คนที่ต้องรักษาจริง ๆ ต้องได้รับการรักษาก่อน คนที่รอได้ต้องรอก่อน ภาคส่วนอื่นอาจจะสนับสนุนอุปกรณ์ โดยเฉพาะของที่จำเป็นคือหน้ากาก N95 ที่หายากมาก รวมถึง อสม. อสส. ควรจับตาดูเหมือนเดิมว่าคนนอกพื้นที่ต้องกักตัว ประชาชนไม่ควรออกไปไหน สุดท้ายคนที่เป็นโควิด ถ้าไม่มีเหตุใด ๆ ต้องรอในบ้าน ถ้าไม่ไหวโทรแจ้งก่อน อย่าออกจากบ้านถ้าไม่จำเป็นสูงสุด เพราะการที่ออกมาหมายถึงการระบาดที่เพิ่มขึ้น กลไกที่ทำให้เรารอดในระลอกแรกคือ อสม. และ อสส. ที่เป็นลักษณะเฉพาะของประเทศไทย ถ้ากลไกนี้ทำงานได้เราก็น่าจะรอด